การช่วยเหลือสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น มอบเงินช่วยเหลือแม่คลอดบุตร รับขวัญเด็ก
กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ในระดับตำบล เทศบาล และระดับเขตในกรุงเทพฯ จำนวน 5,915 กองทุน สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (มีเงินกองทุนเฉลี่ยแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ) ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน 1,970,314 ราย เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ
ทำให้สมาชิกกองทุนฯ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ผู้ด้อยโอกาส ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการหรือพนักงานเอกชนได้เข้าถึงการช่วยเหลือ บางกองทุนฯ ส่งเสริมอาชีพ ซ่อมบ้านผู้ยากไร้ ให้ทุนเด็กยากจนเรียนปริญญาตรี ฯลฯ ช่วยลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม !!
ขณะที่อีกหลายกองทุนยกระดับการช่วยเหลือทางการเงินไปสู่การดูแลสุขภาพอนามัย ดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ สร้างแหล่งอาหาร ปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญ เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ลดภาวะโลกร้อน จัดการขยะ นำขยะมาสร้างรายได้ ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นสวัสดิการที่ส่งผลยั่งยืนในระยะยาว เป็นสวัสดิการที่ไม่มีวันหมดสิ้น เป็นการสร้างสรรค์...นวัตกรรมทางสังคมขึ้นมา !!
สวัสดิการภาคประชาชน
หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล หรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) จะต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา คัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงาน ยกร่างระเบียบข้อบังคับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ www.codi.or.th)
ขณะที่สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท โดยรัฐบาลจะสมทบเงินผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ อปท. หรือภาคเอกชนอาจร่วมสมทบ เพื่อให้กองทุนเติบโต แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน
เช่น คลอดบุตรช่วยเหลือ 500-1,000 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100-200 บาท (ปีหนึ่งไม่เกิน 10-15 คืน) ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต 3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิกและสถานะของกองทุน) ช่วยทุนการศึกษาเด็ก ช่วยไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยพิบัติ ฯลฯ
แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย ยิ่งเมื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ยิ่งทำให้เกิดพลัง ช่วยเหลือกันได้มาก เช่น เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดมข้าวของจำเป็นต่างๆ ไปช่วยชาวเกาะสมุยที่ตกงานในช่วงโควิด หรือช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อสม. ฯลฯ จัดทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายประชาชนในท้องถิ่นรวมกันประมาณ 1 ล้านชิ้น
สวัสดิการที่มากกว่าเงิน
นอกจากการช่วยเหลือสมาชิกเป็นเงิน หลายกองทุนยังช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนในรูปแบบอื่นๆ แตกต่างกันไปตามสภาพปัญหาและความต้องการของสมาชิก เช่น ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผัก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการขยะ ดูแลป่าชุมชน แหล่งน้ำ สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติในป่า ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา ดูแลและปกป้องท้องทะเลหน้าบ้าน อนุรักษ์สัตว์น้ำ ฯลฯ ทำให้มีแหล่งอาหารเอาไว้ให้ลูกหลาน เป็นสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลออย อ.ปง จ.พะเยา ช่วงกลางปี 2557 พื้นที่ในอำเภอปงเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ชาวบ้านไม่มีน้ำในการทำนา แกนนำกองทุนสวัสดิการฯ ร่วมกับชาวบ้านสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยนำไม้ไผ่และกระสอบทรายมากั้นทำเป็นฝาย ในช่วงฤดูฝนน้ำที่หลากมาจะไม่ไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฝายจะช่วยชะลอทำให้น้ำไหลล้นไปอย่างช้าๆ และน้ำที่ถูกกักเอาไว้จะค่อยๆ ซึมลงไปอยู่ใต้ดิน
ในฤดูแล้งจะช่วยให้ชาวบ้านทั้งตำบลมีน้ำใช้ เป็น “ฝายมีชีวิต” เพราะเกิดแหล่งอาหารทั้งในน้ำและริมห้วย เช่น มีผักกูด สาหร่าย ตะไคร่น้ำ มีฝูงปลามาอาศัย และสร้างเขตอภัยทานบริเวณลำห้วยหน้าวัด เพื่อให้ปลาได้แพร่พันธุ์ ฝายชะลอน้ำยังทำให้ผืนดินชุ่มชื้น เกิดเห็ดป่า ป่าไม่แห้งแล้ง ป้องกันการเกิดไฟป่า ป้องกันโรคที่เกิดจากควันไฟป่า เช่น โรคทางเดินหายใจในเด็กและคนชรา เป็น “สวัสดิการที่มากกว่าตัวเงิน”
ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้าง ‘ตาข่าย’ รองรับทางสังคม
กองทุนสวัสดิการชุมชน แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบโครงสร้างทางสังคมโดยตรง แต่เป็นกองทุนที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘ตาข่าย’ (social safety net) รองรับผู้ที่มีความยากลำบาก มีความทุกข์ยากในชุมชนและสังคม
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อตั้งในปี 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,200 คน เงินกองทุนประมาณ 4 ล้านบาทเศษ
สุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง บอกว่า กองทุนกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี โดยเทศบาลสมทบเงินเข้ากองทุนประมาณปีละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้กองทุนยังหารายได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เดิน-วิ่งการกุศล และมีภาคเอกชน-ประชาชนร่วมบริจาคเข้ากองทุน
การช่วยเหลือสมาชิก เช่น เจ็บป่วย นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือ 1,000-3,000 บาท, คลอดบุตร 2,000 บาท, ประสบอุบัติเหตุ แขน ขาขาด ตาบอด ช่วย (ข้างละ) 10,000 บาท, หมา แมว งูกัด ช่วย 500-1,000 บาท, เสียชีวิตช่วยเหลือ 30,000 บาท ฯลฯ
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนฯ มีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนทั่วไป เช่น ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 40,000 ชิ้น แจกจ่ายทั่วอำเภอเวียงสระ นอกจากนี้กรรมการและสมาชิกกองทุนฯ ร่วมกับ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เฝ้าระวัง ติดตาม คัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อและแพร่เชื้อ
“หากสมาชิกติดเชื้อโควิด กองทุนจะช่วยเหลือรายละ 3 พันบาท เพราะต้องกักตัว ไม่สามารถไปทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ แต่เมื่อมีคนติดเชื้อมากขึ้นเราจึงลดเงินเหลือรายละ 1 พันบาท ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เราจะเอาข้าวสาร อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 เราใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการไปช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส รวมเป็นเงินทั้งหมดเกือบ 2 ล้านบาท” ประธานกองทุนฯ บอก
“นอกจากนี้กองทุนยังช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คนยากไร้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น สร้างบ้าน ช่วยตอนน้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ เป็นข้าวของ เครื่องใช้จำเป็น ไม่เกินครอบครัวละ 3 พันบาท และช่วยทุนการศึกษาเด็ก ช่วยกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล” สุวัฒน์ยกตัวอย่างบทบาทกองทุนสวัสดิการที่เสมือนเป็นตาข่ายรองรับทางสังคม
สภาพบ้านเดิมผู้ด้อยโอกาสและหลังก่อสร้างใหม่ (สุวัฒน์ ประธานกองทุน ฯ ยืนด้านซ้าย)
กองทุนสวัสดิการ ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ยังคิดค้นการจัดสวัสดิการแนวใหม่ นอกเหนือจากการช่วยเหลือเรื่องพื้นฐาน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถือเป็นการสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชาวชุมชน
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว คิดค้นรูปแบบการหารายได้เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ โดยการปลูกไม้มีค่า ‘มะฮอกกานี’ ในพื้นที่ป่าชุมชนตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วประมาณ 4,000 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่
ขณะนี้ไม้มีอายุประมาณ 7-8 ปี นำมาใช้ประโยชน์ได้บางส่วน เช่น ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมหลังละ 2 หมื่นบาท บางหลังซ่อมหลายอย่าง งบไม่พอ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงนำไม้มะฮอกกานีที่ปลูกมาแปรรูปเพื่อทำวงกบหน้าต่าง ประตู ทำให้ประหยัดงบไปได้มาก ที่ผ่านมาใช้ไม้มะฮอกกานีซ่อมบ้านไปแล้ว 7 หลัง และตอนนี้กองทุนฯ ทำไม้ล้อมด้วยเพื่อขายเป็นไม้ประดับ ราคาต้นละ 500 บาท หากไม้โตขึ้นก็จะมีค่ามากกว่านี้ เพราะเนื้อไม้มีความสวยงาม เนื้อแข็ง ใช้ทำเครื่องดนตรีและเฟอร์นิเจอร์ สามารถขายนำเงินเข้ากองทุน หรือแปรรูปใช้สร้างบ้านได้
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2560 กองทุนฯ ได้ส่งเสริมให้นักเรียนที่จบชั้น ม.6 ที่มีฐานะยากจนได้เรียนต่อ โดยส่งเรียนวิชาพยาบาลชุมชนระดับปริญญาตรีที่ มศว.องครักษ์ จ.นครนายก โดยกองทุนฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายเทอมละ 2 หมื่นบาทต่อคน ตอนนี้มีเด็ก 7 คนที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และที่ รพ.สต.ทับพริก
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว จ.นครศรีธรรมราช หนุนสมาชิกปลูกไม้มีค่า
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณกองทุนฯ จำนวน 10,000 บาท ซื้อกล้าไม้มีค่า เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง พะยูง สะเดาเทียม ฯลฯ จำนวน 1,000 ต้น แจกจ่ายให้สมาชิกปลูกตั้งแต่ปี 2560 เมื่อต้นไม้เติบโตก็จะมีราคา สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์เพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วได้
โดยกำหนดว่า ต้นไม้ที่มีเส้นรอบวง 1 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 100 บาท หากมีเส้นรอบวง 100 ซม. หรือ 1 เมตร จะมีมูลค่า 10,000 บาท ถ้ามี 10 ต้นสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์เพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนฯ ได้ถึง 100,000 บาท
หากเริ่มปลูกต้นไม้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เมื่อต้นไม้อายุได้ 30 ปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าต้นละ 20,000-30,000 บาท หากปลูก 100 ต้นก็จะมีเงินล้านเอาไว้ใช้ในยามสูงวัย และยังเป็นการเติมพื้นที่สีเขียว เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ชุมชนด้วย
‘ขยะทองคำ’ สร้างรายได้-ผลิตน้ำมันจากพลาสติก
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี สนับสนุนการจัดการขยะในตำบล โดยใช้ ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ เป็นฐาน ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่ครู นักเรียน ชาวบ้าน พระ และจัดกิจกรรม เดิน ปั่น จักรยาน เพื่อรณรงค์คัดแยกขยะ โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) สามารถจัดเก็บขยะรีไซเคิลได้ 2,627 กิโลกรัม ขายได้เงิน 10,203 บาท นำเงินดังกล่าวไปเป็นกองทุนหมุนเวียนในการซ่อมแซมบ้านให้สมาชิกที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม
ขยะถุงพลาสติกและหลอดดูดน้ำพลาสติกล้างให้สะอาดแล้วนำไปขายให้แก่ ‘วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี’ ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซินใช้ในการเกษตร (เริ่มผลิตน้ำมันตั้งแต่ปี 2562) โดยวันหนึ่งจะใช้ขยะพลาสติกจำนวน 600 กิโลกรัม นำพลาสติกไปเข้าเตาหลอมผ่านกระบวนการความร้อน เปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน ครั้งหนึ่งจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 300 ลิตร ขายให้แก่เกษตรกรและสมาชิกในราคาลิตรละ 20 บาท
สมาชิกกองทุนฯ เสวียดสร้างรายได้จากขยะ ช่วงโควิดมีปัญหาเศรษฐกิจ กองทุนจึงให้สมาชิกเอาขยะมาแลกเป็นเงินสมทบเข้ากองทุน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ คัดแยกขยะในครัวเรือน ขยะรีไซเคิลเอาไปขาย ขยะเปียกทำปุ๋ยอินทรีย์ ในช่วงโควิด-19 สมาชิกกองทุนฯ ส่วนหนึ่งขาดรายได้ เพื่อลดภาระการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ปีละ 365 บาท จึงให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสมทบ โดยในช่วงปี 2563-2565 สมาชิกเปลี่ยนขยะเป็นเงินสมทบได้รวม 25,550 บาท
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้สมาชิกปลูกผักอินทรีย์ โดยนำขยะเปียกในครัวเรือนมาทำปุ๋ย มีสมาชิกปลูกผัก 30 คน มีรายได้จากการขายผักรวมกันประมาณเดือนละ 15,000 บาทหรือปีละ 180,000 ฯลฯ
สวัสดิการ ‘ควายออกลูก-วัวออมบุญ’
กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่สร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยการมอบสวัสดิการ ‘ควายออกลูก’ ให้แก่สมาชิกที่เลี้ยงควาย เมื่อควายออกลูกจะให้เงินตัวละ 200 บาท (แม่คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท)
วิเชียร สัตตธารา เลขานุการกองบุญฯ บอกว่า ‘สวัสดิการควายออกลูก’ เป็นกุศโลบายที่กองบุญฯ คิดขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกอนุรักษ์ควายไทย เพราะควายไทยนับวันจะสูญพันธุ์ ชาวบ้านหันไปใช้ควายเหล็ก และจ้างควายเหล็กทำนา ควายไทยจึงตกงาน หรือถูกส่งเข้าโรงเชือด จึงส่งเสริมการเลี้ยงควายไทย แม้ไม่ได้ใช้ไถนา แต่ก็เป็นทรัพย์สินในยามเดือดร้อนจำเป็น เช่น ขายควายส่งลูกเรียน ฯลฯ และยังนำมูลควายมาใช้ทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์
“จังหวัดสุรินทร์มีข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง หากเราปลูกข้าวอินทรีย์ก็จะทำให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น เราจึงส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงควาย แล้วเอามูลควายมาทำปุ๋ย ช่วยลดรายจ่าย เพราะปุ๋ยเคมีทุกวันนี้มีราคาแพง ตอนนี้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยงควายรวมกันประมาณ 2 พันตัว ที่ผ่านมาเราจ่ายสวัสดิการให้เจ้าของควายที่ออกลูกไปแล้วประมาณ 700 ตัว เป็นเงินกว่า 1 แสนบาท” วิเชียรบอก
นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา กองบุญ ฯ ได้จัดทำโครงการ ‘วัวออมบุญ’ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองบุญ ฯ มีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงวัวพันธุ์เนื้อหรือวัวขุน โดยใช้เงินกองบุญ ฯ จำนวน 900,000 บาท ซื้อแม่วัวพันธุ์ผสม (พ่อพันธุ์สายเลือดวากิว) ตัวละ 30,000 บาท จำนวน 30 ตัว เพื่อนำมาให้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยง โดยกองบุญฯ จะคัดเลือกสมาชิกที่มีความพร้อม มีคอกวัว มีแปลงหญ้า มีอาหารเสริม ไม่ใช่เลี้ยงปล่อยแบบวัวไล่ทุ่ง
“ถ้านำเงินกองบุญฯ 1 ล้านบาทไปฝากธนาคารเพื่อจะเอาดอกเบี้ยมาเข้ากองบุญฯ เราจะได้ดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 2,500 บาท เราจึงเอาเงินนี้มาซื้อแม่วัวเพื่อให้สมาชิกเลี้ยง แล้วเอามาผสมเทียม ปีหนึ่งวัวจะออกลูก 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ตัว ลูกวัวเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 6 เดือน น้ำหนักได้ 110 กิโลฯ ก็จะขายได้ เอาไปเลี้ยงเป็นวัวขุน ราคาประมาณตัวละ 15,000 บาท หรือจะเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ก็ได้ จะได้ราคาสูงขึ้น เมื่อขายวัวแล้ว คนเลี้ยงจะต้องแบ่งเงินให้กองบุญฯ ครึ่งหนึ่งเพื่อเอาเข้ากองบุญ” วิเชียรบอกถึงวิธีหารายได้เข้ากองบุญฯ
เขาบอกว่า ตอนนี้มีสมาชิกกองบุญฯ 5 ราย นำวัว 30 ตัวที่ซื้อไปเลี้ยงแล้ว ได้วัวไปรายละ 2-6 ตัวตามแต่ความพร้อมของคนที่เลี้ยง เพราะจะต้องดูแลวัวให้ดี มีแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ มีอาหารหยาบ อาหารข้น อาหารเสริมให้วัวกิน แม่วัวจะได้แข็งแรงสุขภาพดี เมื่อลูกออกมาจะได้ลูกวัวที่มีคุณภาพ ขายได้ราคา
สมาชิกกองบุญฯ ที่นำวัวไปเลี้ยง
ทั้งหมดนี้...คือตัวอย่างบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ...เป็นสวัสดิการที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือดูแลกัน ลดความเหลื่อมล้ำ...เป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนทุกข์ยาก และยังสร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมาด้วย !!
**********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา