คุยเรื่องเพศกับ’ลูก’ไม่ยาก แค่เปิดใจ

เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มพ่อแม่เห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างเปิดใจ พร้อมกับรับฟังโดยไม่ตัดสินเพื่อให้ลูกๆ อยากคุยเรื่องเพศ เมื่อพบปัญหาจะได้ไม่รู้สึกเคว้งคว้างหรือตัดสินใจพลาด ลดตัวเลขพ่อแม่วัยใส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดวงเสวนาเรื่อง “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” แนะนำวิธีให้พ่อแม่ ครู สื่อสารสร้างความเข้าใจเรื่องเพศกับเยาวชนได้ดี ณ ห้องประชุม Thaihealth เมื่อวันก่อน

“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยยากในสังคมไทย ให้ปฏิเสธไว้ก่อน ถูกปลูกฝังว่า เป็นเรื่องน่าอาย หยาบคาย โป๊ เมื่อเด็กเติบโตสามารถเรียนรู้ได้เอง ทำให้กลายเป็นประเด็นที่ปกปิดในวงสนทนาของครอบครัว ถ้าลูกคุยเรื่องเพศถูกมองว่า หมกมุ่น ความท้าทายการคุยเรื่องเพศต้องเปิดใจ ฟังอย่างเข้าใจ และมีทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เด็กบางคนเลือกที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องเพศจากสื่อต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งเพื่อน ซึ่งไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่ได้รับถูกต้องหรือเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ความไม่รู้หรือไม่เท่าทัน เรื่องเพศของเด็ก ส่งผลกระทบตามมา พ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด หากทำให้ลูกไว้ใจ จะเล่าทุกปัญหา ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากพ่อแม่ ช่วยให้ลูกไม่ไปทำแท้ง ป้องกันติดเชื้อ HIV “ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. สะท้อนปัญหา

ชาติวุฒิระบุข้อมูลอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 24 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน อีกทั้งความชุกการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างซิฟิลิส อยู่ในช่วงขาขึ้น ปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปีแสนคน พุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2560 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ต่ำ หรือตัวเลขแม่วัยใสปี 2565 มีกว่า 5 หมื่คน การเสวนาครั้งนี้ต้องการให้พ่อแม่เข้าใจปรากฎการณ์นี้และจะทำอย่างไรให้ลูกหลานไม่เกิดกำแพง วิ่งหนีเมื่อพบปัญหา หรือสร้างความไว้วางใจ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคเอดส์ โรคซิฟิลิส และลดตัวเลขการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สสส.ผลิตสื่อและความรู้เรื่องเพศมากมายผ่านช่องทางที่หลากหลายและเคมเปญต่างๆ เช่น มินิซีรี่ย์ ติ๊กตอก เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว

พ.ศ.2566 ความไม่รู้เรื่องเพศของวัยรุ่นก็ยังมีอยู่ เกียรติคุณ ศิริเวชมงคลชัย นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมชำนาญการพิเศษ สสส. กล่าวว่า 10 ปีที่แล้ว มีเคมเปญ”เรื่องเพศคุยกันได้” ทั้งที่จริงการคุยเรื่องเพศกับเยาวชนเป็นช่วงวัยที่เหมาะสม จากนั้นเป็นเคมเปญ เรื่องพูด ยิ่งพูด ยิ่งเข้าใจ เพื่อให้มีการคุยเรื่องเพศในทุกวัน ถัดมาเคมเปญ”สร้างโอกาสทองคุยเรื่องเพศ เปิดโอกาสคุย ปิดโอกาสพลาด ” จากบริบทของสังคมและครอบครัวที่เปิดรับเรื่องเพศมากขึ้น ปัจจุบันมีคำถามครอบครัวยังต้องมีบทบาทคุยเรื่องเพศกับลูกอยู่หรือไม่ ระหว่างปี 61-66 ยังเจอคำถามพื้นฐานเรื่องเพศ เช่น อวัยวะเพศเสียดสีกันจะท้องมั้ย ,ใช้น้ำล้างช่องคลอดหลังมีเซ็กข์ช่วยป้องกันไม่ท้องได้มั้ย ,แฟนไม่ยอมใช้ถุงยาง ทั้งที่มีข้อมูลความรู้ที่หาได้มากมาย แต่ในความเป็นจริง เด็กหยิบข้อมูลในอินเตอร์เน็ทไปใช้แบบผิดๆ ได้ ซึ่งการคุยเรื่องเพศยังลดโอกาสพลาดได้อยู่ ปัจจุบันเราสร้าง www.คุยเรื่องเพศ.com ตอบโจทย์คนยุคนี้ เพื่อให้มีทักษะ มีความพร้อมในการตัดสินใจ มีวุฒิภาวะ และเครื่องมือตลอดจนแบบทดสอบช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ได้

สำหรับเคมเปญใหม่“คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เกียรติคุณย้ำจะสื่อสาร 6 เทคนิคสำคัญคุยเรื่องเพศกับลูก เพื่อให้ลูกกล้าเข้ามาคุยเรื่องเพลง ประกอบด้วย รับฟัง…ไม่ตัดสิน, สอบ…ผ่านการตั้งคำถาม, ชื่นขม…ความคิดที่ดี, เสริม…ข้อมูลที่เป็นประโยชน์, เชื่อมั่น…และเคารพในตัวลูก และเป็นที่พึ่ง…เมื่อเกิดปัญหา

ในวงเสวนา ซาหดัม แวยูโซ๊ะ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง สะท้อนปัญหาว่า จากประสบการณ์ทำงานกับเยาวชน ส่วนใหญ่เยาวชนคุยเรื่องเพศกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะรู้สึกปลอดภัยและเก็บความลับได้ รวมถึงได้คำตอบที่สบายใจมากกว่าด้วย โดยเฉพาะบริบทพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุยเรื่องเพศเป็นเรื่องบาป ถูกตีตรา เยาวชนในพื้นที่ไม่กล้าพูด มีคำถามที่พบบ่อย มีเพศสัมพันธ์จะป้องกันอย่างไร การหลั่งนอกท้องมั้ย มีเซ็กซ์กับเพศเดียวกับจะรับมือกับความเสี่ยงอย่างไร กินยาคุมหรือเทคฮอร์โมนส่งผลอย่างไร เราต้องช่วยกันสร้างทัศนคติใหม่ ครอบครัวต้องคุยและดูแลลูกเรื่องเพศ นำมาพูดบนโต๊ะ สร้างทักษะพ่อแม่ที่กล้าคุยเรื่องเพศ แม้แต่ในสถานศึกษาพูดคุยและแนะนำการป้องกันเรื่องเพศน้อยมาก ถ้าครูกล้าพูดจะลดโอกาสพลาดเยาวชน นอกจากนี้ จะต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงสถานบริการทางสุขภาพและมีแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชน

ลูกหลากหลายทางเพศต้องทำอย่างไร อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำครอบครัวต้องมีบทบาทสิ่อสารเรื่องเพศ พ่อแม่ต้องเข้าใจ ตั้งสติ ไม่ใช่ผิดหวังหรือกังวลลูกเป็น LGBT ไม่อยากให้เป็น สังคมก็ยังเหยียด พ่อแม่ก็ไม่ยอมรับ ลูก LGBT ยิ่งกดดัน ซึ่งครอบครัวยอมรับสำคัญที่สุด เขาจะมีความสุข นอกจากนี้ ยังมีแบบเรียนที่ตีตราLGBT หรือแบบเรียนดี แต่ครูอาจารย์สอนเหมือนเดิม บางคนข้ามผ่าน ทั้งที่ต้องสอนให้เข้าใจความหลากหลายทางเพศ เพศหลากหลายเป็นเรื่องปกติ หยุดการบูลลี่ ต้องทลายกรอบความคิดเรื่องเพศในพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู สร้างห้องเรียนเรื่องเพศให้เกิดในบ้านและโรงเรียน

อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายรูปแบบ เดิมเป็นครอบครัวขยาย ครอบครัวพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกลดลง ครอบครัวแหว่งกลาง หรือครอบครัวแม่-พ่อเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณอันตรายของเด็กเยาวชน อีกทั้งครอบครัวไม่มีความสามารถในการดูแลเด็ก มีฐานะยากจน รวมถึงเด็กถูกกระทำความรุนแรง 52 คนต่อวัน เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ 245 คน แม้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง แต่เป็นสถานการณ์ที่สูงอยู่ จึงปรับเป้าให้ต่ำลง ขณะเดียวกันภัยออนไลน์กระทบเด็กเยาวชนอย่างมาก นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแต่ละช่วงวัยการพูดคุยเรื่องเพศจะต่างกัน กรมสนับสนุนการสร้างสุขภาวะทางเพศผ่านการสร้างครอบครัวที่มีความสามารถในการดูแลเด็ก รวมถึงทำงานร่วมกับแกนนำเยาวชนเพื่อพิทักษ์สิทธิทางเพศในวัยรุ่น ขยายเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน รณรงค์เพศวิถีศึกษาทั่วประเทศ และมีศูนย์ให้คำปรึกษาพ่อแม่และครอบครัว รวมถึงสายด่วน 1300

สำหรับข้อท้าทายในการทำงานกับพ่อแม่เพื่อส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศ ดิเรก ตาเตียว มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองมองตัวเองเป็นตู้เอทีเอ็ม มอบความรักลูกด้วยเงิน ส่วนลูกมองพ่อแม่เป็นระเบิด บ้านไม่น่าอยู่ ต้องทำให้พ่อแม่เข้าใจธรรมชาติเรื่องเพศ ช่วงวัยรุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงร่างกายเยอะ และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ท้อง แท้ง ซึ่งพ่อแม่ต้องคุยให้เหมาะกับช่วงวัย ใช้คำถามปลายเปิด เพราะเรื่องเพศอยู่ในวิถีชีวิต ลูกจะอยากพูดคุยเรื่องเพศ พ่อแม่ฝึกตั้งคำถาม รับฟังเพื่อเข้าใจความรู้สึกลูก อย่าเพิ่งปรี๊ด เตือนด้วยความหวังดีแทนตำหนิ แคมเปญ”คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เป็นการสื่อสารง่ายๆ ที่ทุกคนเข้าถึง พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น