8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (6) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน จ.ปัตตานี “ซ่อม-สร้างบ้านผู้ยากไร้ แก้ไขปัญหาที่ดิน”

แกนนำกองทุนสวัสดิการชุมชนเมืองตะลุบัน  และผู้แทนภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการฯ ให้กลับมาเข้มแข็ง  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เดือดร้อนเรื่องบ้านและที่ดิน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน  สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย  ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (มิถุนายน 2564) ระบุว่า มีเกษตรกรไทยไร้ที่ดินทำกินจำนวน 889,022 ราย  มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอจำนวน 517,263 ราย  มีที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 811,279 ราย  ฯลฯ

ขณะเดียวกัน  ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน   ต้องอาศัยอยู่ในที่ดินรัฐหรือเอกชน  เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  สภาพที่อยู่อาศัยชำรุดทรุดโทรม  ฯลฯ เป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน  เพราะมีครัวเรือนที่มีรายได้น้อย  มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  มีความต้องการที่อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ !!

ในปี 2560 รัฐบาลได้เห็นชอบ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ ( พ.ศ.2560-2579) ที่เสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศจำนวน 3.2 ล้านครัวเรือน  โดยแยกเป็น  1.การเคหะแห่งชาติ  ดำเนินการประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน  2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการประมาณ 1.05 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2546 ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ทั้งในเมืองและชนบท โดยชาวชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ พอช.สนับสนุนสินเชื่อ  งบประมาณ (บางส่วน)  และกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา

ปัจจุบันดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท และ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ เพื่อซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย  การแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน  ชุมชนที่ประสบอัคคีภัย  ภัยพิบัติ  ฯลฯ   รวมผลการดำเนินการสะสมทั่วประเทศประมาณ 250,000 ครัวเรือน !!

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศดังกล่าวแล้ว  พอช.ยังสนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย  สถาบันการศึกษา  องค์กรชุมชน   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ฯลฯ  เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยด้วย  ดังเช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  อ.สายบุรี  จ.ปัตตานี

แม่น้ำสายบุรี  เส้นเลือดของชาวตะลุบัน  เชื่อมกับทะเลอ่าวไทย

กองทุนสวัสดิการฯ เทศบาลเมืองตะลุบัน

“ถ้าบ้านไม่ดี  ชีวิตก็ยังไม่มั่นคง”

เทศบาลเมืองตะลุบัน  อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ  55  กิโลเมตร  มีพื้นที่ประมาณ  11,600  ไร่  มี 20  ชุมชน  ประชากรทั้งหมดประมาณ 14,500 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา  สวนมะพร้าว  ประมง  ทำนา  เลี้ยงสัตว์   ค้าขาย  รับจ้าง   รับราชการ  ฯลฯ

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553  แต่การดำเนินงานในระยะแรกไม่

ค่อยประสบความสำเร็จ  ต่อมาในปี 2558 ภาคีเครือข่ายคือ  ‘ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานี’ ได้เข้ามาช่วยฟื้นฟู  เป็นที่ปรึกษา  จัดกระบวนการบริหารจัดงานใหม่  คัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่  โดยเทศบาลเมืองตะลุบันได้เข้ามาสนับสนุนการฟื้นฟูกองทุนฯ ด้วย   มีการจัดเวทีพูดคุยสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน  เพื่อพัฒนากองทุนสวัสดิการให้มีความเข้มแข็ง  เป็นกองทุนที่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนได้จริง  ทำให้สมาชิกเริ่มเกิดความเชื่อมั่น  ประชาชนเข้ามาสมาชิกเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น

เมื่อกองทุนสวัสดิการฯ เริ่มฟื้นตัว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สมทบงบประมาณเข้ากองทุนจำนวน 700,000 บาทเพื่อสนับสนุนให้กองทุนฯ เติบโต  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงเริ่มคึกคัก  กลับมามีชีวิตชีวา  และเดินหน้าขับเคลื่อนงานอีกครั้ง  (ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 4,090 คน  มีเงินกองทุนประมาณ   5,700,000 บาท)

ธนกร  ไชยภักดี  ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  บอกว่า  ระเบียบกองทุนฯ กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 35 บาท  หรือปีละ  420 บาท  เมื่อเป็นสมาชิกครบ 6 เดือน  จึงมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการตามระเบียบของกองทุน   โดยมีสวัสดิการทั้งหมด 10  ด้าน

 เช่น  คลอดบุตร  รับขวัญ 300 บาท  แม่นอนโรงพยาบาลคืนละ 100 บาท  ไม่เกิน  5 คืน,  เจ็บป่วย  นอน รพ.คืนละ 100 บาท  ไม่เกินปีละ 1,500 บาท.  เสียชีวิต (ตามอายุการเป็นสมาชิก) ตั้งแต่ 1,500-4,000 บาท.  กู้ยืมเพื่อจัดงานตามประเพณีไม่เกิน 20,000 บาท.   ผู้พิการกู้ยืมเพื่อซ่อมบ้านไม่เกิน 10,000 บาท  ฯลฯ

ธนกร  ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการฯ  มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกองทุนฯ

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น   ธนกร บอกว่า  เริ่มดำเนินการในปี 2563  เริ่มจากการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  มีความยากลำบาก  กลั่นกรองข้อมูล คัดเลือกครอบครัวที่จะช่วยเหลือโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกกองทุน  เพราะบางครอบครัวมีฐานะยากจน  ไม่มีเงินจะสมทบเข้ากองทุน  แต่หลังจากช่วยซ่อมสร้างบ้านแล้วเราจะสนับสนุนให้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อจะได้ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

“เราเห็นว่าเรื่องบ้านเป็นเรื่องแรกที่เราต้องยกระดับชาวบ้าน  เพราะเรื่องอาหารการกินพี่น้องยังหากินได้  แต่เรื่องบ้านเป็นปัจจัย 4 เป็นเรื่องสำคัญ   เราจึงสำรวจข้อมูลร่วมกับท้องถิ่น  อสม.  อพม. และเทศบาลฯ   สำรวจกันทั้งปี  สุดท้ายมีพี่น้องที่อยากได้เรื่องบ้านจริง ๆ  108 ครอบครัว  ยังไม่นับครอบครัวขยาย ไม่นับบ้านเช่า  และหลังจากทำเรื่องบ้านแล้ว ต่อไปก็จะต้องทำเรื่องคุณภาพชีวิต  เพราะหากบ้านยังไม่ดี  แสดงว่าชีวิตเขายังไม่มั่นคง”  ที่ปรึกษากองทุนในฐานะหัวขบวนกองทุนสวัสดิการบอก

ขณะที่ รอฮีหม๊ะ สะแลแม  ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อำเภอสายบุรี  บอกเสริมว่า  อพม.ทำงานในชุมชนในเขตเทศบาลเมืองตะลุบันทั้ง 20 ชุมชน  ทำตั้งแต่ปี 2546  โดยการสำรวจข้อมูลเด็ก  กลุ่มเปราะบาง  คนพิการ  ครอบครัวที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย  ฯลฯ  โดยมีกลุ่มเยาวชนในตำบลมาช่วยเก็บข้อมูล  แล้วนำข้อมูลไปเชื่อมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป  เช่น  เทศบาลเมืองตะลุบัน  รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ที่นำเอาข้อมูลเรื่องที่อยู่อาศัยไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตกึ่งชนบท  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม

กระบวนการซ่อม-สร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจน

เมื่อได้ข้อมูลผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จะนำข้อมูลมาประสานงานกับเทศบาลเมืองตะลุบัน   สภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  และ อพม.อำเภอสายบุรี  เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เมื่อได้งบประมาณมาจะนำมาจัดซื้อวัสดุ  อุปกรณ์ก่อสร้าง  ซ่อมแซม  (หลังหนึ่งไม่เกิน 20.000 บาท)โดยมีแรงงานจิตอาสาจากช่างชุมชนประมาณ 30 คน  ทหารช่าง 12 คน  ช่างจากเทศบาล 2 คน  และเจ้าของบ้านช่วยกันซ่อมสร้างบ้าน  บางหลังที่สภาพทรุดโทรมมาก  ไม่สามารถซ่อมได้ก็ต้องสร้างใหม่  โดยเจ้าของบ้านจะต้องสมทบวัสดุเพิ่มเติม  หรือกองทุนสวัสดิการฯ หางบประมาณมาสนับสนุน

การซ่อมสร้างบ้านที่ดำเนินการในช่วงปี 2563 และ 2565   คือ  1.ซ่อมบ้านผู้ยากไร้  งบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จำนวน 3 หลัง  2.บ้านเทิดไท้องค์ราชัน  จำนวน 6 หลัง  3.บ้านทักษิณ ผอส. จำนวน 10 หลัง (หลังละ20,000 บาท) 4.ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้  บ้านพึ่งตนเอง  พม. จำนวน 10 หลัง   5.บ้านผู้เปราะบาง งบ ศอ.บต. ผ่านทหารพรานในพื้นที่  จำนวน 5 หลัง

ดำเนินการในช่วงปี  2564–2565  คือ  1. กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบันสนับสนุน รื้อ  ซ่อม สร้าง จำนวน 3 หลัง   งบประมาณ 100,000 บาท   2. กองทุนสวัสดิการฯ สมทบเพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการบ้านพอเพียง รื้อซ่อม สร้าง จำนวน 14 หลัง  งบประมาณ 200,000 บาท  3. กองทุนสวัสดิการฯ สนับสนุน  รื้อ  ซ่อม สร้าง จำนวน 3 หลัง วงเงินงบประมาณ 100,000 บาท  

4.กองทุนสวัสดิการฯ สมทบเพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการบ้านพอเพียง รื้อ ซ่อม สร้าง  จำนวน 10 หลัง งบประมาณ 130,000 บาท  5. กองทุนสวัสดิการฯ สมทบการสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ    บ้านพระราชทาน  งบประมาณ 10,000 บาท  6..กองทุนสวัสดิการฯ สมทบการสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบวาตภัย    งบประมาณ 20,000 บาท   ฯลฯ

ช่างชุมชนจิตอาสา  ทหารช่าง  และช่างเทศบาล เป็นแรงงานหลักในการซ่อมสร้างบ้าน

ส่วนในปี 2566   ธนกร บอกว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจนตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จำนวน 13 หลัง  งบประมาณหลังละ 20,000 บาท  รวมเป็นเงินประมาณ 260,000 บาท  ขณะที่กองทุนสวัสดิการชุมชนมีเป้าหมายสนับสนุนเพิ่มอีก 7 หลัง  โดยเทศบาลเมืองตะลุบันสนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000  บาท   เพื่อซ่อมสร้างบ้านให้ครัวเรือนที่ยากจนในปีนี้รวมทั้งหมด 20 หลัง

“จำนวนผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในเมืองตะลุบันมีทั้งหมด 108 ครอบครัว  ตอนนี้เราซ่อมสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 90 หลัง   โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณจำนวน   4 แสนบาท  ส่วนคนที่ซ่อมบ้านเสร็จแล้วก็จะไปช่วยบ้านหลังอื่น  เป็นการช่วยเหลือกัน  สร้างความสัมพันธ์คนในชุมชน  การซ่อม  สร้างบ้าน  ถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น  ไม่ใช่เราจะสร้างบ้านอย่างเดียว  เพราะเขาอาจจะมีปัญหาอื่นๆ  เช่น  เรื่องอาชีพ    รายได้  เราจึงต้องยกระดับเรื่องอาชีพ  เพื่อให้เขามีรายได้  เช่น  ส่งเสริมกลุ่มอาชีพทำพริกแกง  ทำแกงส้ม  ไตปลาแห้ง”  ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอก

เขาบอกด้วยว่า   ที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบันได้ศึกษาแนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคมของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  และนำมาเป็นแนวทางในการจัดสวัสดิการชุมชนให้แก่คนตะลุบัน  รวม 10 ด้าน  ส่วนเรื่องบ้านเป็นเรื่องที่ 11 นอกจากนี้ยังทำเรื่องโรงเรียนผู้สูงอายุ  ทำเรื่องสุขภาพ  เป็นสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  ตามแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  ของดร.ป๋วย  โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา  กองทุนสวัสดิการฯ ได้ใช้งบประมาณไปช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกประมาณ 400,000 บาท

นอกจากนี้ที่ผ่านมา  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (สนับสนุนผ่านสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน)  ในปี 2564  จำนวน 400,000 บาท  ปี 2565 จำนวน  75,000 บาท และปี 2566 จำนวน 50,000 บาท  โดยได้นำมาสนับสนุนกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในขณะนี้  เช่น  ปลูกผัก  พริก  ข่า  ตะไคร้  ขมิ้น  ฯลฯ  ส่งขายให้กับกลุ่มทำพริกแกง  และสนับสนุนกลุ่มพริกแกงทำสินค้าออกมาขาย

บ้านบางหลังทรุดโทรมมากต้องรื้อสร้างใหม่

ปี 2566  เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

ธนกรบอกด้วยว่า  นอกจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยชำรุดทรุดโทรมแล้ว  จากการสำรวจข้อมูลในเมืองตะลุบันยังพบว่า  ชาวบ้านประมาณ 300 ครอบครัวยังไม่มีส้วมหรือห้องสุขา  ซึ่งไม่ใช่มีสาเหตุมาจากความยากจนเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังเคยชินกับการ “ไปทุ่ง”  ดังนั้นในปี 2566 นี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย

ส่วนปัญหาหาเรื่องที่ดินทำกินนั้น ธนกร บอกว่า ตำบลตะลุบันมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 11,625 ไร่ มีที่ดิน 3 ประเภท คือ ที่ดินส่วนบุคคล  ที่ดินรัฐ และที่ดินทับป่าสงวน (ป่าไม้แก่น) กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯ จึงได้สำรวจข้อมูล ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสมาชิกกองทุน  พบปัญหาหลายอย่าง  เช่น  บ้านเรือนอยู่ในที่ดินสาธารณะ หรือทับป่าสงวนฯ  ป่าไม้แก่น (เนื้อที่ป่าประมาณ 4,000 ไร่) จึงไม่สามารถขอบ้านเลขที่ได้

ส่งผลต่อการขอใช้น้ำประปา  ไฟฟ้าของรัฐ เช่น  ชุมชนหวายขม  ลาเมาะทะเล  อุเมะ  ตะพาบน  ตะพาล่าง  เป็นพื้นที่ที่ทางป่าไม้ประกาศเป็นป่าไม้แก่น (ป่าทับซ้อน) ประกาศเมื่อปี 2530  แต่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อน  จึงเกิดปัญหาประกาศที่ป่าไม้ทับซ้อนกับที่ชาวบ้าน

นอกจากนี้บางส่วนปลูกบ้านเรือนในที่ดินสาธารณะ  ปลูกบ้านในที่ดินคนอื่น (เจ้าของอนุญาต) ทำให้ไม่มีความมั่นคงในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย  รวมแล้วมีผู้เดือนร้อนมากกว่า 200 หลังคาเรือน  

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้นำเสนอข้อมูลปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคต่อหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  สภาสันติสุขตำบล  และได้แก้ไขปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค  น้ำประปา  ไฟฟ้า  ไปแล้วประมาณ 50 หลัง 

ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนได้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านเวที ‘สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน’  ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้  เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี  กรณีป่าไม้แก่น   โดยขณะนี้สมาชิกวุฒิสภาได้ส่งข้อมูลปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไปแล้ว

ก้าวเดินต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชน

นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบันจะเดินหน้าต่อไปในปีนี้แล้ว   ธนกร บอกว่า กองทุนสวัสดิการฯ  มีแผนงานต่างๆ  เช่น 1.การเพิ่มจำนวนสมาชิก  2.การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ  ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว  และยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เช่น  กลุ่มอาชีพทำพริกแกง น้ำแกงส้ม ไตปลาสำเร็จรูป  มีสมาชิกมาทำประมาณ 20 คน

สายบุรีเป็นเมืองเก่า  มีวังเจ้าเมืองและวังเจ้านายที่ก่อสร้างสวยงามหลายแห่ง

3.การจัดงานระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  การจัดงานวิ่งเหมือนกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  จ.สุราษฎร์ธานี  ที่สามารถระดมทุนได้เกือบ 1 ล้านบาท ,  การจัดทำร้านค้าชุมชน  รีสอร์ทชุมชน  เพราะอำเภอสายบุรีมีประวัติศาสตร์ยาวนาน    มีวังเจ้าเมืองเก่า  ขณะที่เทศบาลเมืองตะลุบันก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมขึ้นมา  เช่น  ถนนคนเดิน  กิจกรรมชายหาด  วอลเล่ย์บอลชายหาด  แข่งม้า  แข่งว่าว  ชกมวย  ฯลฯ  เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา

“ส่วนบ้านมั่นคง มีแผนที่จะขยับให้เห็นเป็นรูปธรรมจริง ๆ  เพราะยังมีพี่น้องอีกมากกึ่งชนบทที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย   บ้านเล็กนิดเดียวอยู่กัน 7 คน..พ่อแม่ลูก...เขาอยู่อย่างไร  เขาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะไปกู้มาขยายบ้านได้ วันนี้สามีออกเรือหาปลาจะได้เงินมาหรือไม่...บ้านจึงเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาจะต้องทำ  เพราะเรื่องปากท้องสำคัญกว่า” ธนกร     ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการฯ บอกถึงแผนงงานที่จะทำต่อไป... 

ด้วยผลงานการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินดังกล่าวนี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน  อ.สายบุรี  จ.ปัตตานี  จึงได้รับรางวัลจากการประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ประจำปี 2566  รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ประเภทที่ 8  :  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัล  (รวมทั้งหมด 8 กองทุน 8 ประเภท) จะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณในงานธรรมาภิบาลดีเด่น  แห่งปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ  ในวันที่  9 มีนาคมนี้ !!

                                               ************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา