8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (5 ) กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี กรุงเทพฯ “สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในช่วงโควิด-19”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี   ได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นด้านการสร้างความมั่นคง  ความปลอดภัย  ประจำปี 2566

“ช่วยเหลือสมาชิกและชาวบ้านที่ติดเชื้อโควิด  จำนวน 496 ราย   ผู้ที่กักตัวและกลุ่มเสี่ยง  จํานวน 1,578 ราย  ผู้ที่ว่างงาน  ถูกเลิกจ้าง และขาดรายได้  จํานวน 1,343 ราย  

นอกจากนี้ได้ร่วมกับ สช., สปสช.เขตธนบุรี  ฯลฯ  จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิดในชุมชน จํานวน 30 ชุมชน ๆ ละ 5 คน  รวม 150 คน   ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในชีวิต  โดยการทําเกษตรปลอดภัยในชุมชนในพื้นที่ 10 แห่ง  ฯลฯ

นี่คือส่วนหนึ่งของผลงาน ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี’ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา  และผลงานดังกล่าวได้นำไปเสนอในการประกวดรางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ปูชนียบุคคลของเมืองไทย  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี  ได้รับรางวัลประเภทที่ 7  ‘ด้านการสร้างความมั่นคง  ความปลอดภัย

รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’

‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานรัฐ  บริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง 

โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือสมทบเป็นรายปี  จำนวน 365 บาท  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือดูแลสมาชิกตามข้อตกลง  เช่น  ช่วยยามคลอดบุตร  เจ็บป่วย  เสียชีวิต  ทุนการศึกษาเด็ก  ยามประสบภัยพิบัติ ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือที่ไม่เป็นตัวเงิน  เช่น  ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม  อนุรักษ์แหล่งน้ำ  ป่าชุมชน  ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์  หรือปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา สร้างแหล่งอาหาร  ฯลฯ  เป็นสวัสดิการชุมชนในระยะยาว

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)

ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขต(ในกรุงเทพฯ) แล้ว  จำนวน 5,915 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย  มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน  1,970,314 ราย  เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ

ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน  เช่น  สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds.tu.ac.th/puey )

การจัดประกวดครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2559 เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  โดยในปีนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 6  ซึ่งจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.ป๋วยกับนักศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์  ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558

สวัสดิการของคนธนบุรีในช่วงโควิด-19

เขตธนบุรี  แบ่งพื้นที่เออกเป็น 7 แขวง คือ 1.แขวงวัดกัลยาณ์ 2.แขวงหิรัญรูจี  3.แขวงบางยี่เรือ  4.แขวงตลาดพลู 5.แขวงบุคคโล  6.แขวงสำเหร่ และ 7. แขวงดาวคะนอง  มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ในเขตธนบุรี  รวม  43 ชุมชน  เช่น  ตากสินสัมพันธ์  บางใส้ไก่บ้านสมเด็จ  ซอยศรีภูมิ  สี่แยกบ้านแขก  ข้างสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่  โกวบ๊อพัฒนา  ตรอกเทวดา  กุฎีจีน  ฯลฯ

ณัฐวดี  มิ่งชัย  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี  เล่าว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  ก่อตั้งในเดือน เมษายน 2555  ปัจจุบันมีสมาชิก 898 คน มีเงินกองทุนจำนวน 1,250,149 บาท แยกเป็นเงินสมทบจากสมาชิกกองทุน จำนวน 295,920 บาท เงินสมทบจากกรุงเทพมหานคร (สมทบ 3 รอบ) จำนวน 516,880 บาท เงินสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (สมทบ 5 รอบ) จำนวน 419,386 บาท  และรายได้อื่น ๆ จำนวน 17,963 บาท 

มีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก 10 ด้าน คือ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/การคลอด 2.การเจ็บป่วยรักษาพยาบาล 3.สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ 4.การเสียชีวิต 5.การจัดงานศพ  6.สวัสดิการให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ 7.สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษา 8.สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย (ซ่อมบ้าน) 9.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโรคโควิด-19 และ 10.สวัสดิการสำหรับเด็กและเยาวชน 

ส่วนหนึ่งของแกนนำคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัว  เพราะมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเพิ่มขึ้นทุกวัน คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีและเครือข่ายได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลในพื้นที่  พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 496 คน ผู้กักตัว 1,578 คน และผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ว่างงาน ถูกเลิกจ้าง และขาดรายได้ จำนวน 1,343 คน  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น  ขาดยารักษาโรคโควิด สถานรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อไม่เพียงพอ ผู้ป่วยต้องรักษาหรือกักตัวเองอยู่ในบ้าน ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป

ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ เล่าต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี จึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคี เครือข่ายชุมชนในพื้นที่  เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยการสนับสนุนการปลูกพืชผักสวนครัว  เพาะและแปรรูปเห็ด เลี้ยงปลาเป็นอาหาร  เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยไม่ขาดแคลนและมีเพียงพอต่อการบริโภค

นอกจากนี้ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัยจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง เพราะปลูกโดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งผลระยะยาวจะทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี  เจ็บป่วยน้อยลง ช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน ฯลฯ

การรวมตัวสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารนี้ มีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เขตธนบุรีเข้าร่วมจำนวน 30 ชุมชน ดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

แผนงาน 3 ระยะ “สู้โควิด”

แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ ประชาชนทั่วไปไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคร้ายนี้ แต่จากการรวมตัวกันทำงานพัฒนาชุมชน  โดยเฉพาะการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน จึงทำให้กองทุนฯ มีเพื่อน  มีเครือข่ายพร้อมที่จะเผชิญกับภาวะวิกฤตในครั้งนี้

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีเป็นแกนนำร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี ประสานงานกับภาคีเครือข่ายเพื่อขอรับการสนับสนุนในส่วนที่ชุมชนขาดแคลน เช่น จัดทำโครงการเสนอไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ซึ่งในขณะนั้น พอช. มีโครงการ ‘พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนงบประมาณไปสู่ชุมชน เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เช่น ให้ความรู้ป้องกันการติดเชื้อ การสร้างแหล่งอาหาร  ปลูกผัก  เลี้ยงไก่  เลี้ยงปลา  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  (กศน.) ฯลฯ เป็นเครือข่ายร่วมให้ความรู้ ซึ่งการดำเนินงานแม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัดไม่มีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารมากนัก แต่ชุมชนต่างๆ ในเขตธนบุรีก็สามารถจัดสรรพื้นที่ได้เหมาะสมกับสภาพชุมชน  พอเพียงต่อการสร้างแหล่งอาหาร รวม 10 พื้นที่  เช่น  ปลูกผักสวนครัว  เพาะเห็ด  แปรรูปเห็ด  ฯลฯ

ณัฐวดี ประธานกองทุนฯ ขยายความว่า การเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีได้ดำเนินการร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรีและเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่  แบ่งแผนการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือ 

บทบาทระยะที่ 1 เป็นระยะของการเฝ้าระวัง โดยจัดอุปกรณ์ป้องกันและให้ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับสมาชิกในชุมชน มีการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อลดการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของโรค จัดทำหน้ากากผ้าอนามัย ทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จัดทำจุดล้างมือตามสถานที่ต่าง ๆ  ในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19

บทบาทในระยะที่ 2 เป็นระยะที่ชุมชนมีมาตรการในการปฏิบัติร่วมกันในชุมชน โดยกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมค้น ร่วมตัดสินใจ และจัดทำข้อมูลเพื่อเป็นการกำหนดมาตรการและกติกาในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของธรรมนูญชุมชนป้องกันโควิด-19

บทบาทในระยะที่ 3 เป็นระยะของการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยร่วมกันจัดหาข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ยา  และสิ่งของจำเป็น  เข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ  เช่น หยุดงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชน โดยสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนปลูกพืชผัก  เพาะเห็ด

เช่น ปลูกผักสวนครัว ปลูกผักในกระถางหน้าบ้านตัวเอง  ส่งเสริมการปลูกเห็ด  แจกเชื้อเห็ดนางฟ้าที่ปลูกได้ง่ายให้กับสมาชิกในชุมชน   จนได้เห็ดนางฟ้าเหลือกิน  จึงนำมาแปรรูป  ทำเป็นเห็ดหยอง แหนมเห็ด ห่อหมกเห็ด น้ำยาขนมจีนเห็ด ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อวง (บ่อซีเมนต์)  ทำให้มีอาหารในครัวเรือน  ช่วยลดรายจ่าย

ส่วนการทำครัวชุมชนที่ต้องแจกจ่ายคนจำนวนมาก ยังมีข้อจำกัดเรื่องผลผลิต  เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย  วัตถุดิบบางส่วนต้องซื้อจากตลาด

ด้านการจัดสรรอาหาร  อาหารที่ปรุงสุกแล้ว คณะกรรมการแต่ละชุมชนจะนำส่งให้ผู้ติดเชื้อ  และมอบถุงยังชีพ  เช่น  ข้าวสาร  อาหารแห้ง   ไข่ไก่  ผัก  น้ำดื่ม  ฯลฯ ให้กลุ่มเสี่ยงที่กักตัวอยู่ในบ้านซึ่งจะสามารถใช้ทำอาหารได้ประมาณ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ในปี 2564 กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรียังจัดทำโครงการเพื่อเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง   โดยได้รับการสมทบงบประมาณ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมือง’ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อหนุนเสริมต่อยอดการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยในชีวิตให้กับชุมชนต่างๆ ในเขตธนบุรี  มีการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายผล  ทำให้มีชุมชนเข้าร่วมกว่า 30 ชุมชน

บทบาทในการบริหารจัดการครัวชุมชน  กองทุนสวัสดิการฯ มีคณะกรรมการที่กระจายตัวอยู่ในทุกชุมชน  จึงทำให้การทำงานมีลักษณะโครงข่าย  ช่วยเหลือและหนุนเสริมกัน   โดยกรรมการกองทุนฯ แต่ละชุมชนจะจัดทำข้อมูล  สำรวจข้อมูล  จำนวนผู้ติดเชื้อ  จำนวนกลุ่มเสี่ยง เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะนำมาจัดสรรอาหาร ถุงยังชีพ ให้เพียงพอแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ  เช่น  อาหารปรุงสุกวันละ 2 มื้อ  และแยกครัวสำหรับพี่น้องมุสลิม

“ฟ้าทะลายโจร ปลูกเดือนแม่ เก็บเดือนพ่อ” เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อนำมาใช้รักษาอาการติดเชื้อโควิดเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว  โดยจะเริ่มปลูกในเดือนสิงหาคม (วันแม่ 12 สิงหาคม) แล้วเก็บนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเดือนธันวาคม (วันพ่อ 5 ธันวาคม)

เมื่อฟ้าทะลายโจรเติบโตงอกงาม จึงต้องหาวิธีนำมาแปรรูปเป็นแคปซูลเพื่อนำไปช่วยเหลือคนอื่นๆ  โดยกองทุนสวัสดิการฯ ประสานงานกับ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อมาให้คำแนะนำและดูแลการผลิตแคปซูลฟ้าทะลายโจรให้สะอาดได้มาตรฐาน  แล้วนำไปแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน  พร้อมหน้ากาก เจล ครบทุกครัวเรือนในชุมชน  รวมถึงศูนย์พักคอยในพื้นที่และวัด  ทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยทางด้านชีวิต ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง 

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีสร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในชีวิตชาวชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิดดังกล่าวได้ จากการวิเคราะห์พบว่า  เกิดจากพื้นฐานความเข้มแข็งของแกนนำชุมชนที่มีคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีคุณภาพ  สามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสมาชิกในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการรับรู้ปัญหาและร่วมกันแก้ไข

มีการตรวจสอบความโปร่งใส มีการพัฒนากองทุนสวัสดิการ โดยเฉพาะการปรับปรุงระเบียบกติกาให้มีความเท่าทันกับสถานการณ์  เช่น  มี ‘สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโรคโควิด-19’  ช่วยสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือแค่เพียงยาหรืออาหาร  แต่ยังมอบสวัสดิการผู้ป่วยติดเชื้อ รายละ 2,000 บาท จำนวน 30 ราย ช่วยบรรเทาความเดือดจากการหยุดงานเพื่อรักษาตัว

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ศูนย์สาธารณสุข รวมถึงการเชื่อมโยงวัดและโรงเรียนในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และมีการออกแบบและวางบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีกับสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี มีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาและความต้องการร่วมของชุมชน จนสามารถประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรจากภาคีเครือข่าย มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจแก่สมาชิกในชุมชน

ชุมชนตรอกสะพานยาว ในช่วงโควิดได้ต่อยอดปลูกเมล่อน และนำผลผลิตไปขายที่ห้างสรรพสินค้าใกล้ชุมชน

ดังที่ ‘ณัฐวดี’  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ฯ บอกว่า “เวลาเราจะทำอะไร เราจะร่วมกันทำ คณะกรรมการกองทุนฯ จะปรึกษาหารือกันก่อน  โดยเอาข้อมูลของแต่ละชุมชนมาดู มาวิเคราะห์ออกแบบแก้ไขปัญหาร่วมกัน  และประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง”

นอกจากนี้ ด้วยผลงานเชิงประจักษ์ของกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีนี้เอง  จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนชุมชน  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ข้ามาสนับสนุนการจัดทำธรรมนูญชุมชนเขตธนบุรีขึ้นมา  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างระเบียบ  กฎติกา  ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโควิด-19  และส่งเสริมสุขภาวะชุมชน

สรุปปัจจัยความเข้มแข็งในการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตของกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี คือ

1.แกนนำและคณะกรรมการกองทุนฯ มีศักยภาพ มีการกระจายตัวครอบคลุมในแต่ละชุมชน ทำหน้าที่ประสานงาน สื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงในลักษณะโครงข่ายการทำงาน พร้อมกับเปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

2.ความสามารถของกองทุนฯ ในการประสานเชื่อมโยงหน่วยงาน  เพื่อระดมทรัพยากรและความรู้ต่าง ๆ เข้ามาในชุมชนเพื่อประโยชน์ให้แก่คนทุกกลุ่มในชุมชน  ไม่เพียงแต่สมาชิกของกองทุนฯ เท่านั้น แต่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มทุกวัยในชุมชน

เช่น การเชื่อมโยง ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและ ม.ราชภัฏธนบุรี เข้ามาช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ออกแบบโลโก้สินค้า และบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน รวมถึงการตลาด การส่งเสริมการขายผ่านโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย

การเชื่อมโยงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเขียนโครงการ การทำเอกสารเสนอขอรับงบประมาณโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะสามารถเข้ามาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน

3.การจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมความต้องการของสมาชิก และเท่าทันต่อสถานการณ์ทางสังคม เช่น  การจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย การซ่อมบ้านครัวเรือนที่ยากจน  บ้านทรุดโทรม ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’ ของ พอช.

4.การบริหารจัดการข้อมูล พบว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี เกิดจากการที่มีข้อมูลในการทำงาน มีรายละเอียดในการบริหารจัดการและการตัดสินใจของคณะกรรมการกองทุนฯ รวมถึงการที่สามารถนำข้อมูลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่มานำเสนอและแลกเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที

โดยทุกชุมชนที่มีคณะกรรมการกองทุนฯ จะเป็นผู้ดูแลประสานงาน จัดเก็บข้อมูลของชุมชนให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์ที่สำคัญ รวมถึงระบบการส่งต่อและรวบรวมข้อมูล  ซึ่งจะมีคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้รวบรวมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกในชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง

ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี’ ในช่วงที่ผ่านมา  โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน  ทำให้สมาชิกกองทุนฯ และชาวชุมชนต่างๆ ในเขตธนบุรีฝ่าวิกฤตร้ายนี้มาได้...!!

จนนำไปสู่รางวัล...ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ ประจำปี 2566 ประเภทที่ 7  ‘ด้านการสร้างความมั่นคง  ความปลอดภัย  โดยจะมีพิธีมอบรางวัลร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  รวม 8 กองทุน  ในวันที่ 9 มีนาคมนี้  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา