‘2 ปีโควิด-19’ (2)พอช. –ขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่าย : ถอดบทเรียนการจัดการโควิดโดยชุมชน “ชุมชนจัดการได้ อยู่ร่วมกันได้”

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนแออัด กรุงเทพฯ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564  ประมาณ 300 ชุมชน  มีชาวชุมชนเข้ารับการตรวจประมาณ 200,000 คน 

กรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563  ก่อนจะลุกลามไปทั่วประเทศ   เมื่อมีการปิดประเทศ  ปิดห้างร้าน  สถานบริการ  แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้วงจรธุรกิจหยุดชะงัก  ผู้คนตกงาน  ขาดรายได้  โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง  อยู่ในภาคบริการต่างๆ เช่น  แม่บ้านทำความสะอาดสำนักงาน  รปภลูกจ้างร้านอาหาร  ผับ  บาร์  ร้านค้า  วินมอเตอร์ไซค์  ขับแท็กซี่  รถรับจ้าง  ฯลฯ  และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ 

ข้อมูลจากการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปี 2561 ระบุว่าในกรุงเทพฯ มีชุมชนทั้งหมดจำนวน  2,071 ชุมชน ในจำนวนนี้เป็นชุมชนแออัดจำนวน 638 ชุมชน  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน  ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ เหล่านี้มีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่ระบาด  การจัดมาตรการป้องกันและช่วยเหลือกันในชุมชน  เช่น  แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน  หน้ากากอนามัย  เจลล้างมือ  ประสานการตรวจหาเชื้อ-ฉีดวัคซีน  จัดทำที่กักตัวในบ้าน (Home Isolation - HI) ศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation - CI) ฯลฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน  ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนแออัดที่มีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงผ่อนคลายลง

ประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนชุมชนเหล่านี้  ได้นำมาสรุปเป็น บทเรียนการจัดการโควิดโดยชุมชน  โดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายคนไร้บ้าน  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์  เครือข่ายผู้ติดเชื้อ  และคลินิกพริบตา / IHRI โดยมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

แพทย์ชนบทตรวจโควิดให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยถึงบ้าน

บทบาทชุมชนในการจัดการโควิด-19

นพพรรณ  พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  กล่าวว่า  การทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค   คนไร้บ้าน  งานที่ทำทำ 3 เรื่องใหญ่  คือ   1.เรื่องการจัดระบบชุมชนในการรับมือ Covid-19  2.การสนับสนุนเรื่องอาชีพ เรื่องอาหาร  การลดรายจ่าย  ปลูกผักสวนครัว  การทำตลาดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในชุมชน  และ 3.สำรวจข้อมูล  โดยทำหลายรอบ   ภายหลังจะจัดทำฐานข้อมูลและสำรวจขนาดใหญ่ครั้งเดียว  เพื่อนำไปใช้ได้เลย  และต่อไปจะพัฒนาเป็น Application ในการเก็บข้อมูล

จากการถอดบทเรียน  พบว่า บทบาทชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลจัดการ Covid-19  ต้องดำเนินการ ดังนี้  1.การสร้างความเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันแบบเข้าใจ ไม่ตีตรากัน  2.การส่งเสริมให้เข้าถึงวัคซีนในชุมชน  3.การดูแลคนและเข้าถึงคนที่เสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ  4.ดูแลคนที่ติดเชื้อเพื่อเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว  เน้นไปที่ระบบ Home Isolation กรณีรุนแรงส่งต่อไปที่สถานพยาบาล  ทำงานร่วมกับภาคีที่เราจับคู่ คือ คลีนิคพริบตา และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายเข้าถึงเอดส์มาร่วมทำงานด้วย เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยบอก

นพพรรณ  พรหมศรี

นอกจากนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของชุมชน  คือ  1.เตรียมแกนนำชุมชน  ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง Covid-19  ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง  เพราะความรู้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปเรื่อยตามสถานการณ์   2.วิเคราะห์สถานการณ์  ความเสี่ยงของชุมชน  ทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนการรับมือ  

3.ประชุมทำความเข้าใจกับชุมชนและชุมชนรอบข้างด้วย  4.สำรวจพื้นที่ในชุมชนว่าในชุมชนมีพื้นที่ในการจัดทำศูนย์พักคอย  เพื่อแยกคนที่มีความเสี่ยงสูงออกมา   โดยใช้พื้นที่ชุมชนให้เกิดประโยชน์  5.ต้องมีคลังยาหรืออุปกรณ์สำรองไว้ที่ชุมชน  6.มีการพัฒนาศักยภาพแกนนำ  ทีมดูแลผู้ป่วย  ทีมสนับสนุนอาหาร  ทีมรับ-ส่งผู้ป่วย ทีมประสานงานหน่วยงาน  การทำความสะอาดเรื่องสถานที่

7.จัดให้มีระบบการคัดกรอง โดยวิธีการตรวจแบบเร็ว ATK โดยฝึกให้ชุมชนตรวจได้เอง จะได้รู้ว่าใครเสี่ยง จะได้นำมาแยกตัว   จัดการเข้าถึงระบบการรักษา   ลดการแพร่กระจายเชื้อ  ชุมชนสามารถควบคุมเรื่องการติดเชื้อได้  8.ต้องมีช่องทางการเข้าถึงการรักษาผู้ติดเชื้อ 

ส่วนการทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้น  จะต้องพัฒนาช่องทางที่จะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงการช่วยเหลือ การบริการ การรักษาพยาบาลได้โดยง่าย จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งจุดประสานงานคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ  ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงได้ง่าย มีเรื่องอาหาร อุปกรณ์การป้องกัน Covid-19 ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การคัดกรอง หากเจ็บป่วยจะเข้าถึงสถานพยาบาลอย่างไร  โดยจัดทำขึ้นในหลายจังหวัด  เช่น  ระยอง  กาญจนบุรี  ขอนแก่น  เชียงใหม่ 

นอกจากนี้กลุ่มคนไร้บ้านยังมีปัญหาเรื่องอาชีพ  เรื่องรายได้  เราจึงสนับสนุนเรื่องอาชีพ  เช่น  การปลูกผักสวนครัว ให้เขามีพื้นที่ในการขายของ  ตอนนี้อาชีพที่สำคัญที่ทำได้ คือ อาชีพยาม  ทำให้คนไร้บ้านมีอาชีพมากขึ้น 

คนไร้บ้านที่ศูนย์สุวิทย์  วัดหนู  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพฯ  รับการตรวจหาเชื้อโควิด

นพพรรณบอกด้วยว่า  จากการทำงานพบว่า  ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ได้  หากหน่วยงานในระบบสาธารณสุขให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการเรื่องนี้  จะทำให้จัดการชุมชนได้เป็นอย่างดี  ลดภาระของหน่วยบริการได้ และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว 

ปัญหาสำคัญ  คือ เรื่องความคิดความเชื่อของคนในชุมชน รวมทั้งในฝั่งผู้ให้บริการด้วย  ว่าหากเจ็บป่วยต้องไปสถานพยาบาล ไปหาหมอ หรือบุคลากรทางวิชาชีพเท่านั้นที่จะต้องดูแลเรื่องนี้  เวลาที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการก็จะไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่  หรือการทำงานร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานสาธารณสุขอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ จะเจอกับวิธีคิดแบบเดิมๆ  ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์ในการขยายผล และต่อสู้กับวิธีคิดในเรื่องนี้   เพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็งและลุกขึ้นมาจัดการตัวเองได้  หากเขาจัดการเรื่องนี้ได้เขาก็จัดการในหลาย ๆ เรื่องได้”  นพพรรณย้ำถึงบทบาทของชุมชนในการรับมือกับโควิด

อุปสรรคการทำงานของชุมชน  

นอกจากบทสรุปจากนพพรรณดังกล่าวแล้ว  แกนนำชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  และเครือข่ายคนไร้บ้านได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของภาคประชาชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา   มีเนื้อหาบางส่วน  เช่น

อยากให้มีหน่วยงานที่เราโทรไปปรึกษาแล้วอธิบายให้เราเข้าใจได้  ถามไว  ตอบไว  คุยกับเราด้วยท่าทีที่เป็นมิตร  ไม่ดุ

วัคซีนเข้าถึงยากสำหรับคนบางกลุ่ม  เช่น  แรงงานข้ามชาติ  และคนในชุมชนยังมีความคิดความเชื่อเรื่องวัคซีน

ความไม่เชื่อมั่นของคนในชุมชนในระยะแรกว่าแกนนำจะสามารถทำงานและจัดการเรื่องการดูแลรักษาโควิดเบื้องต้นได้  ยังมีการต่อต้านหรือกังวลหากมีการดูแลที่บ้านหรือชุมชน

หน่วยบริการที่เข้าใจการทำงานกับชุมชนมีน้อย  ทั้งในเชิงแนวคิดและการบริหารจัดการ

ในหลายพื้นที่ยังไม่สนับสนุนการทำ CI, HI เพราะกังวลเรื่องการอยู่ร่วมบ้าน  คิดว่าอยู่ร่วมบ้านทำไม่ได้  รวมทั้งคิดว่าผู้ติดเชื้อไม่มีวินัย  และยังไม่เห็นบทบาทว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

เจ้าหน้าที่รัฐ (ศูนย์สาธารณสุข  กทมฝ่ายปกครองไม่ให้ความร่วมมือในการทำ CI / HI  ไม่เชื่อว่าแกนนำชุมชนจะทำเรื่องศูนย์การดูแลรักษาชุมชนได้  เพราะไม่ได้เป็นหมอ’  กลัวไม่มีความรู้ในการจัดการโรคระบาด  ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่ม

เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ครบวงจร  เช่น  มาตรวจคัดกรอง  แต่เมื่อพบเจอผู้ติดเชื้อแล้วไม่ช่วยรับผิดชอบในการดูแลรักษาหรือส่งต่อ  หรือส่งต่อแล้วไม่มีการติดตามอาการ

เกณฑ์เรื่อง CI ของรัฐไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในชุมชน  ต้องมีการสนับสนุนให้เกิด CI ของชุมชน  จัดการโดยชุมชน

 ข้อค้นพบจากการทำงาน ความรู้ความเข้าใจใหม่เรื่องโควิด

1.จากโรคระบาดสู่โรคติดต่อที่สามารถดูแลรักษา  ป้องกัน  อยู่ร่วมกันได้  โดยไม่ต้องใส่ชุด PPE หรือเสื้อกันฝน  แค่หน้ากากและสเปรย์ก็ป้องกันได้  ไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่ม (ถ้าคนมีองค์ความรู้ว่าเชื้ออยู่ที่ไหน  ส่งต่ออย่างไร  ป้องกันอย่างไร  ปิดทางเข้าทางออก  จัดการเรื่องการระบายอากาศ  และเว้นระยะห่าง)

2.จากการ SWAB ATK  หรือการให้อ๊อกซิเจนเป็นเรื่องของหมอหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  กลายเป็นเรื่องที่ชุมชนสามารถทำได้

3.การทำงานโควิดต้องปะทะกับความคิดความเชื่อของคน  เราต้องรับฟัง  ทำความเข้าใจ โลกของเขา  ไม่ใช่แค่ โรค เท่านั้น

4,จากศูนย์พักคอยสู่ศูนย์ดูแลรักษาโควิดในชุมชน  (ติดโควิดไม่ต้องคิดถึงโรงพยาบาล  สามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชนได้)

5.กักตัวแค่ 10 วันเท่านั้น  และหลังกักตัวครบสามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้  ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ  เพราะอาจเจอซากเชื้อซึ่งให้ผลบวก

6..ATK ไม่ใช่เครื่องมือในการป้องกัน   กีดกัน  หรือบังคับตรวจ  แต่ใช้เพื่อให้คนเข้าถึงการรักษา

ข้อเสนอจากชุมชน : การสื่อสารสาธารณะ

1.ให้ความหมายใหม่  โดยไม่ใช้เลนส์โรคระบาด  หรือไปจดจ่ออยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (เป็นมลภาวะทางความคิด)  แต่ต้องเน้นว่าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น  เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันได้

2.สื่อสารเรื่องการอยู่ร่วมกันได้ทั้งที่บ้านและชุมชน   เด็ก  ผู้ใหญ่  โควิดป้องกันได้  รักษาได้  อยู่ร่วมกันได้” 

3.หน้าที่ป้องกันเป็นของทุกคน  ไม่เฉพาะคนที่ติดโควิด  เราต้องป้องกันเสมือนว่าทุกคน  รวมถึงตัวเรามีเชื้อโควิด 

4.ใช้ภาษาที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์  ซึ่งให้ความเคารพ  และไม่จำกัดสิทธิคน  ตีตรา  เลือกปฏิบัติ

5.การตรวจ ATK สำหรับผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง (สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง) หรือมีอาการเท่านั้น  เพื่อให้เข้าถึงการรักษา  ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการกีดกัน

6.รณรงค์ให้คนกลับไปทำงานได้หลังกักตัวครบ 10 วัน  โดยไม่ต้องกักตัวเพิ่มหรือตรวจซ้ำ

7.การสื่อสารเรื่องวัคซีนควรเน้นเรื่องการช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต  และป้องกันคนรอบข้างด้วย  ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนที่มีไม่มาก

ข้อเสนอการสนับสนุนคนและชุมชนในการดูแลตัวเอง

1.รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการโควิดในชุมชน  ด้วยการทำ HI, CI ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่  และเป็น ‘CI ชุมชน’  

2.จัดให้คนที่สามารถจัดการตัวเองได้อยู่ที่บ้านได้โดยคนรอบข้างเข้าใจ  ไม่กลัวกังวล  และคนที่อยู่ที่บ้านรู้สึกปลอดภัย  มั่นใจ  สบายใจ  (กระบวนการเตรียมคนในบ้าน  คนข้างบ้าน  ชุมชน)

3.กรณีที่ไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้  ควรจัดให้มีพื้นที่กลาง หรือ CI ชุมชน                                                                                   4.จัดให้มีกลไกในการรับมือหรือให้ความช่วยเหลือ  กรณีผู้ติดเชื้อโควิดถูกเลือกปฏิบัติ  การเผชิญความเครียด  การตีตราตนเอง  พร้อมทั้งมีกระบวนการในการสร้างความเข้าใจกับชุมชน  โรงเรียน  ที่ทำงาน  ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอบางส่วนของชาวชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือกันในการดูแลและป้องกันโควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา  จึงสมควรยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟัง  และนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ชุมชนสามารถรับมือกับโควิดต่อไปได้ ที่สำคัญคือจะช่วยลดภาระของหน่วยบริการด้านสาธารณสุข  และจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในระยะยาว  เพราะวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า...โควิด-19 จะยืดเยื้อยาวนานไปอีกเพียงใด !!

ชุมชนในเขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  จัดอาสาสมัครในชุมชนดูแลครอบครัวผู้ติดเชื้อ  ช่วยลดภาระบุคลากรสาธารณสุข

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา