การสัมมนาเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต
กรุงเทพฯ / พอช.จัดงานสัมมนาผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต ระดมความเห็นการขับเคลื่อนป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโดยใช้ชุมชนและภาคประชาชนเป็นแกนหลัก ผสานพลังภาคีทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งหน่วยงานรัฐ นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน ฯลฯ เพื่อให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยจะขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับตำบลถึงประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขโครงสร้างระบบอุปถัมภ์โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตรวจสอบ ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเสนอใช้เว็บ actai.co ‘จับโกง’ ค้นเบาะแสโครงการทุจริตภาครัฐ
ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘การสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต’ ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 80 คน
พลังประชาชน-ชุมชนต่อต้านการทุจริต
นายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะผู้แทนคณะจัดงานสัมมนา กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พอช.ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตมาตลอด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดประกวดรางวัลสีขาวในปี 2565 เครือข่ายภาคประชาชนก็ได้รับรางวัล จำนวน 11 รางวัล จากการประกวดทั้งหมด 23 รางวัล
ส่วนการจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทาง วิธีการขับเคลื่อน ที่จะให้มีการขับเคลื่อนการป้องกันทุจริตโดยชุมชนเป็นแกนหลัก 2.ต้องการเห็นพลังการขับเคลื่อน movement ของภาคประชาชน โดยมีกลไก ส่วนกลาง ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับภาค และ 3.เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่
นายสิน สื่อสวน ประธานคณะทำงานสนับสนุนดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า บทเรียนจากต่างประเทศ การที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตได้ ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ ถ้าจะทำเรื่องปราบทุจริตให้ได้ต้องให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ประชาชนมีส่วนร่วม หากประชาชนไม่ตื่นตัวเป็นพลเมืองจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตได้
“สิ่งที่เห็นวันนี้ คือ ความคิดของคนรุ่นใหม่ พวกเราตระหนักเรื่องนี้ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี ฉะนั้นเราต้องสร้างสังคมสุจริต ต่อต้านการทุจริต การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้จะเป็นเวทีการวางรากฐานยกระดับการป้องกันการทุจริต สิ่งที่เราทำคือ ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลังพลเมือง” นายสินกล่าว
เขาบอกด้วยว่า การขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชน ไม่ได้ทำเพราะได้รับงบประมาณ แต่จะทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในพื้นที่ ตำบล จังหวัด ประเทศ สิ่งที่เราทำจะทำเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ การสร้างสังคมสุจริต อีกด้านคือ การต่อต้านทุจริต
ทั้งนี้ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนได้ทำ 4 เรื่อง คือ 1.สร้างสำนึกประชาชน 2.สร้างพื้นที่โปร่งใส 3.ทำเรื่องธรรมาภิบาลให้เข้มข้น 4.ต่อต้านทุจริต โดย พอช.ได้สนับสนุนเรื่องนี้ และกำลังจะยกระดับเพื่อทำเรื่องนี้ให้ใหญ่ขึ้น
ปลุกพลังทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนคนไทยทุกคน โครงการขนาดใหญ่ที่โกงกินกัน กระทบพวกเราทุกคน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ปัญหาความไม่ยุติธรรม ไม่ปลอดภัย เรื่องการศึกษา การดูแลคนพิการ การดูแลสาธารณสุข เพื่อนร่วมชาติของเราทุกคน ทำอย่างไรให้ทุกคนใส่ใจ
นายวิเชียร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
เขาบอกว่า หากย้อนกลับไปจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้ทั่วประเทศ ไปเชิญชวนคนเหล่านี้ ต้องคาดหวังว่าในอนาคตเราจะมีสังคมที่มีคุณภาพ สังคมคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ต้องทำให้คนตระหนักรู้ ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน ร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข เป็นหูเป็นตา มีช่องทางติดตามพฤติกรรม
เช่น นักการเมืองที่เข้าสู่การบริหารท้องถิ่น นักธุรกิจ พ่อค้า องค์กรต่างๆ ผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าทำหน้าที่ถูกต้องหรือเปล่า โดยจะต้องมี 1.ข้อมูลที่สามารถเข้าถึง ความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเหล่านี้ จึงจะมีการเฝ้าระวัง 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง 3.ช่องทางในการแจ้งเหตุ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน และ 4.ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรุ่นใหม่
“หน่วยงานต่าง ๆ พอช. ป.ป.ช. สตง. ภาคธุรกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน ภาคประชาชน ต้องร่วมมือ เสริมพลังซึ่งกันและกัน เครื่องมือที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมี คือการผลักดันข้อกฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Act AI ข้อมูลภาครัฐจัดแยกเป็นประเภทของโครงการ ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คู่สัญญา มีกลไก AI ในการวิเคราะห์ปัญหา” นายวิเชียรกล่าว และย้ำว่า เรื่องสำคัญ คือ พลังประชาชนต้องขับเคลื่อน โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ
เว็บไซต์ actai.co ‘จับโกง’
ในงานสัมมนาครั้งนี้ผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้นำเสนอเว็บไซต์ actai.co ขององค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือการตรวจสอบหรือค้นหาเบาะแสการทุจริตในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการจัดจ้างต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยผู้ค้นสามารถใส่คำค้นหาชื่อหน่วยงาน พื้นที่โครงการ หรือบริษัท จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลและค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็น นอกจากนี้ในแต่ละโครงการจะมีสัญลักษณ์ สีเหลือง เขียว แดง ที่บ่งบอกสถานะว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตมากน้อยแค่ไหนด้วย
พอช.-ขบวนองค์กรชุมชนพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย หากมีการปฏิรูปภาษีใหม่ อาจจะนำภาษีมาดูแลผู้สูงอายุได้เพียงพอ จะทำให้เราหวงแหนเรื่องภาษี ผลงานที่เราทำได้รับรางวัลจาก ป.ป.ท. ถือเป็นกำลังใจ ทำเรื่องนี้เพื่อให้รู้ว่าต้องปกป้องภาษีของพวกเรา ป้องกันเรื่องทุจริตให้ลดน้อยลง จากตัวเลขสถิติไม่ดีขึ้น แนวโน้มกลับรุนแรงมากขึ้น และการทำเรื่องต่อต้านการทุจริตนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับ พอช. เพราะที่ผ่านมา พอช. ทำงานพัฒนามิติต่าง ๆ พอทำเรื่องต่อต้านทุจริตก็ทำได้ดีด้วย ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคตนั้น ตนมีข้อเสนอดังนี้
นายวิชัย รอง ผอ.พอช.
1.ใช้ต้นทุนที่ทำมา 2-3 ปี จะขยายเต็มพื้นที่ได้อย่างไร เป็นเรื่องร่วมเป็นวาระของชาติ หน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2.ต้องสร้างเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมร้อยให้เป็นขบวนการ เคลื่อนร่วมกันทั้งประเทศ 3.เรื่องการป้องกันต่อต้านทุจริตต้องเป็นภารกิจของทุกประเด็นงาน ทำให้เป็นเรื่องร่วมของขบวนองค์กรชุมชน
4.การสานพลังความร่วมมือที่เป็นพลังของสังคม เครือข่ายอื่น ๆ เช่น สภาเด็กและเยาวชน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน 5.สร้างพื้นที่รูปธรรมระดับตำบล จังหวัด เครือข่ายต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูล Mapping พื้นที่ และสื่อสารสู่สาธารณะ 6.การจัดสมัชชา การรณรงค์ ประกาศตัวตน จัดร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง บทบาทของภาคีและการขับเคลื่อนสังคมสุจริตร่วมกัน
“สิ่งสำคัญ ในส่วนของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน การสร้างระบบธรรมาภิบาล ต้องทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย ประเด็นงานที่อยู่อาศํย สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการองค์กรชุมชน เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทั้งหมดเป็นเครื่องมือ กระบวนการที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สร้างคน สร้างขบวน ให้เกิดการตั้งหลักจากพื้นที่และมีภูมิคุ้มกัน เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้” นายวิชัย รอง ผอ.พอช. กล่าวทิ้งท้าย
ทิศทาง-เป้าหมายสู่สังคมสุจริต
การจัดงาน ‘การสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต’ ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น และกำหนดทิศทาง-เป้าหมายการสร้างสังคมสุจริต โดยมีข้อเสนอเริ่มต้นการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับตำบล-ประเทศ ดังนี้
ระดับตำบล 1.มีคณะทำงานที่มีความโปร่งใส 2.มีกระบวนการสร้างการรับรู้ เรียนรู้ ตระหนักถึงปัญหาการทุจริต และมีเวทีแลกเปลี่ยนการทำงาน 3.มีข้อตกลง กติการ่วมในการทำงาน 4.ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทรัพยากร ทุนเครื่องมือการพัฒนา ในการทำงาน ขยายผลพื้นที่รูปธรรม 5.สร้างช่องทางการสื่อสารของภาคประชาชน ยกระดับความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานภาคี และเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีให้มากขึ้น
ระดับจังหวัด 1.สร้างประเด็น วาระร่วมระดับจังหวัด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม 2.มีกลไกที่เป็นทางการ ( มีผวจ.เป็นประธาน) และกลไกที่ไม่เป็นทางการ ออกแบบการทำงานหนุนเสริมกัน 3.มีระบบป้องกันการทุจริต 4.มีช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ
ระดับภาค 1.สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส ยุติธรรม นำสู่ความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชน 2.มีเวทีเรียนรู้การทำงาน พัฒนาศักยภาพคนในชุมชน หนุนเสริมการทำงานร่วมกัน 3.มีศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชน สร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริต 4.สมัชชาภาคประชาชนสร้างสังคมสุจริต มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและระดับประเทศ
ระดับประเทศ 1.แก้ไขโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด 2.รัฐมีช่องทางการแลกเปลี่ยนสะท้อนข้อมูล และแนวทางการดำเนินงานป้องกันการทุจริต 3.สร้างเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันและต่อต้านการทุจริต ฯลฯ
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันกำหนดแผนการขับเคลื่อนงานในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2566 เช่น 1.รวบรวมกลุ่มแกนนำผู้ก่อการดี 2.วิเคราะห์พื้นที่ปัญหา 3.สร้างพันธมิตรความร่วมมือ 4.วางแผนปฏิบัติการ ฯลฯ โดยมีแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เช่น จัดทำเวทีเสนอผลการดำเนินงาน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมืองภายในเดือนเมษายนนี้ ฯลฯ
ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต