“Better Regulation for Better Life” หรือพัฒนาให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นวิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ ที่ได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานไปสู่ปี 2025 (เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2020 หรือปี พ.ศ. 2563) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานของสำนักงานฯ ให้มีความรวดเร็ว สามารถบริการ หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยี สารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมกันพัฒนา การนำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการงานด้านการรับส่งเอกสารหนังสือราชการระหว่างหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 4.0 ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลัก สำหรับในส่วนของสำนักงานฯ ได้ใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ในชื่อ [email protected] และนอกจากนั้นประชาชนยังสามารถติดต่อสำนักงานฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกหนึ่งช่องทางที่เว็บไซต์ www.ocs.go.th
สำหรับในห้วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการพัฒนางานด้านกฎหมายของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงความต้องการหรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น การที่จะมีกฎหมายที่มีคุณภาพและส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศชาตินั้น กระบวนการในการจัดทำร่างกฎหมายจึงมีส่วนสำคัญ โดยสำนักงานฯ ได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด โดยเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น และกำหนดให้มีการจัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” ขึ้น เพื่อใช้ในการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นและเป็นศูนย์กลางข้อมูลกฎหมาย โดยที่ผ่านมามีประชาชนได้ให้ความสนใจและให้ความร่วมมือมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทาง www.law.go.th มาโดยตลอด
กฎหมายสำคัญที่สำนักงานฯ ได้ดำเนินการทั้งในส่วนของการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ อาทิ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พระราชกำหนดแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 แก้กฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในรอบระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมานั้น สำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 493 เรื่อง แบ่งเป็น 1) ร่างกฎหมาย จำนวน 82 เรื่อง 2) งานให้ความเห็นทางกฎหมาย จำนวน 411 เรื่อง (ความเห็นทั่วไป 120 เรื่อง และความเห็นต่อ ครม. 291 เรื่อง) โดยมีกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาทิ
พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนของผู้ประกันตน ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนได้ หลักเกณฑ์รับเงินสงเคราะห์ เงินทดแทน และประโยชน์ทดแทนจากกรณีต่าง ๆ แก้ไขหลักเกณฑ์การรับเงินบำนาญชราภาพหรือบำเหน็จชราภาพ โดยให้ผู้ประกันตนขอรับเงินบำนาญชราภาพล่วงหน้าได้ อีกทั้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีเงินสมทบกรณีชราภาพขอรับเงินชราภาพบางส่วนก่อนอายุครบ 55 ปี หรือก่อนสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรืออาจนำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีพ รวมถึงเพิ่มเติมโทษทางอาญาแก่นายจ้างที่ไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบเป็นเท็จ
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนที่ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้นั้นถูกร้องทุกข์ กล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการให้ถ้อยคำดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี เช่น จัดหาทนายความ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือการให้ความช่วยเหลือในการปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากยิ่งขึ้น
ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ หรือจากการทำความผิดอาญาของผู้อื่น อีกทั้งยังสามารถยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ผลงานต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากความทุ่มเทในการทำงานของบุคลากรสำนักงานฯ ความมุ่งมั่นในการพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้รับรางวัล “สำเภา - นาวาทอง” ประจำปี 2565 จากผลงาน “การปรับร่างพระราชบัญญัติ การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น” และ “โครงการ OCS goes paperless” โดยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่สอดรับกับสังคมโลกในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนและประเทศชาติสามารถก้าวไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และมีความยั่งยืนตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘กนก’ สะท้อน ปัญหาความยุติธรรมโดยกฎหมาย บังคับใช้ กม.มากกว่าตัวบทของ กม.
ประเด็นที่เกิดคำถามต่อไป คือกฏหมายมุ่งเน้นบังคับไม่ให้คนกระทำผิด มากกว่าการทำให้คนกระทำผิดเป็นคนดี ใช่หรือไม่
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้
แห่หนุนร่างกฎหมาย 'จัดระเบียบกลาโหม' ฉบับเพื่อไทย ตัดท่ออำนาจเหล่าทัพสกัดยึดอำนาจ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ในส่วนของการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน