‘ดร.กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. : เดินหน้าเปลี่ยนประเทศไทย สร้างชุมชนเข้มแข็ง ใช้ศูนย์เด็กเป็นฐาน พัฒนาคนตั้งแต่ปฐมวัย นำร่อง 60 แห่งทั่วประเทศ

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.  เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กที่ตำบลบางคู้  อ.เมือง  จ.ลพบุรี  เมื่อเร็วๆนี้ (ภาพ facebook ดร.กอบศักดิ์)

“มหาวิทยาลัยมหิดลไปทำการศึกษาเรื่องเด็กๆ บอกว่า  เด็กไทยแรกเกิดไม่ได้แตกต่างจากเด็กต่างประเทศเลย  แต่พออายุ 6 ขวบ  ไปวัดเรื่องพัฒนาการ  ปรากฎว่าไอคิวของต่างประเทศอยู่ประมาณ 100 -110  ประเทศไทยอยู่ที่ 80 - 90 และพอไปวัดอีกตอนอายุ 12-13 ปี  ได้ผลเท่าเดิม  ทุกพื้นที่ใกล้เคียงกันหมด. 

คำถามคือว่า...ตอนเกิดเราโตเท่าเขา  และพอ 6 ขวบมีความแตกต่าง  เพราะหลังจาก 6 ขวบไปเรียนหนังสือก็ไปเข้าโรงเรียนเล็ก  อาจารย์น้อย  คุณภาพไม่ดี  พออายุ 18ปีก็ยิ่งแตกต่างกันไปใหญ่  แตกต่างกันขนาดนี้  แล้วชีวิตจะแตกต่างกันขนาดไหน ?  ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาตอนเด็กได้ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง...”  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล เปิดประเด็น

จากผู้บริหารแบงก์-ตลาดทุน...สู่งานพัฒนาชุมชน

ชื่อของ ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล’ อาจจะเป็นที่รู้จักของสังคมในหลายแง่มุม  หลายมิติ  เช่น  อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ (ลาออกเมื่อกรกฎาคม 2563) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ  ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย  นักเศรษฐศาสตร์  นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ  ตลาดทุนโลก  เศรษฐกิจไทย  ฯลฯ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ดร.กอบศักดิ์  เป็นผู้ที่สนใจการพัฒนาประเทศจากสังคมฐานราก  ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในปี 2559  โดยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นจัดขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.’ จัดขึ้น

ดร.กอบศักดิ์เยี่ยมสถาบันการเงินชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  เมื่อปี 2561

การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา  เรามาผิดทาง  เพราะยิ่งพัฒนายิ่งมีช่องว่างขึ้นเรื่อย ๆ  เจ้าสัวมีเงินเพิ่มขึ้น  แต่ประชาชนมีรายได้ลดลง  การพัฒนาเมืองไทยจึงเหมือนคนเป็นโรคตานขโมย   คือ  หัวโต  พุงโร  ก้นปอด   ภาคตะวันออกโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนอื่นที่เป็นแขนขา  หมู่บ้านต่างๆ  ลีบไปเรื่อย ๆ  หมู่บ้านมีแต่คนแก่และผู้สูงอายุ...

ที่ดินก็ยิ่งหายไป  ยิ่งพัฒนาคนส่วนใหญ่ยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน  คนรวย 20  เปอร์เซ็นต์  มีที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ  รายได้ห่างกัน 10 เท่า  หากพัฒนาอย่างนี้ไม่สำเร็จ  การพัฒนาที่คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”  ดร.กอบศักดิ์กล่าวในงานสัมมนาครั้งหนึ่งที่จัดขึ้นที่ พอช. สะท้อนมุมมองและตัวตนของเขา

ในเดือนกันยายน 2565  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เสนอชื่อ ดร.กอบศักดิ์  เป็นประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘ประธานบอร์ด พอช.’ คนใหม่  แทนประธานคนเดิมที่หมดวาระ

นับแต่ย่างก้าวสู่ พอช.  ดร.กอบศักดิ์ในฐานะประธานบอร์ด  พร้อมด้วยผู้บริหาร พอช.  ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน  รวมทั้งภาคีเครือข่าย  ได้ริเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในมิติใหม่ๆ หลายด้าน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำแนวทางการพัฒนาจาก  ล่างขึ้นบน ที่ พอช.ยึดโยงชาวบ้านและชุมชนเป็นแกนหลักในการทำงานมาตลอด  ไม่ใช่จาก บนลงล่าง เหมือนการพัฒนาประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังประสานงาน  เชิญชวนภาคเอกชน  หน่วยงานรัฐ องค์กรต่างประเทศ  มาร่วมกันสนับสนุนชุมชน เช่น  โครงการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต  สร้างพื้นที่สีเขียว ลดภาวะโลกร้อน  ปลูกต้นไม้เป็นบำนาญยามชรา  การจัดการขยะ  การนำนวัตกรรม  เทคโนโลยี  การสื่อสารออนไลน์มาใช้  การสร้างผู้นำชุมชน  การพัฒนาคนตั้งแต่ปฐมวัย  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงประเทศ

ใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน  พัฒนาคนตั้งแต่ปฐมวัย 

ดร.กอบศักดิ์  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน  โดยมีแนวคิดในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ ให้มีความรู้  สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาชุมชน  นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน  สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องเริ่มพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก  โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต  เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการ  ทั้งด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคม  หากมีการส่งเสริม  สร้างสิ่งแวดล้อม  จัดการเรียนรู้  การเล่น  ให้เหมาะสม  เด็กๆ ก็จะมีพัฒนาการที่ดี  มีไอคิวไม่ต่างจากเด็กต่างประเทศ

“ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาตอนเด็กได้ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง  เด็กจะมีพื้นฐานตอนอายุ 6 ขวบเท่ากัน  หลังจากนั้นไปจัดการตอนเรียนหนังสืออีกที  ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก็จะทำให้ทุกคนโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพ  พอเข้าสู่ตลาดแรงงานก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก  ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยก็จะลดลงโดยปริยาย...  

นี่คือหนึ่งโครงการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความร่ำรวยให้กับชุมชนอย่างแท้จริง   เพราะหากเด็กเรามีศักยภาพ  สติปัญญาดี  พัฒนาการดี  ในอนาคตเขาจะเป็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป  และจะเป็นคนหารายได้ที่สำคัญ  และที่สำคัญคือชุมชนจะมีความสุข”  ดร.กอบศักดิ์บอกถึงแนวคิดและเป้าหมายในการพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก

เพื่อทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง  ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ดร.กอบศักดิ์  พร้อมผู้บริหาร พอช. และผู้นำชุมชนได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบางคู้  อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  โดยครั้งหลังนี้มีผู้แทนจากภาคธุรกิจคือกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด  และธนาคารกรุงเทพ  เดินทางไปด้วยเพื่อดูช่องทางการสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็ก  เช่น  ด้านสื่อการเรียนรู้  ของเล่น  หนังสือภาพ  นิทาน  ฯลฯ 

ดร.กอบศักดิ์และคณะเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กที่ลพบุรี  เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้  เปิดรับเด็กช่วงอายุ 3-6 ขวบ  ดำเนินการโดย อบต.บางคู้  ถือเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบแห่งหนึ่งที่นายแพทย์สันติ  ลาภเบญจกุล  ผอ.รพ.ท่าวุ้ง  และนางอุไรลักษณ์  ลาภเบญจกุล  ผู้บริหารโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) ได้นำรูปแบบการเรียนแบบ ‘ไฮสโคป’ มาใช้ที่นี่  

‘ไฮสโคป’ (High  Scope)  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย  โดยมีของเล่น  หนังสือ  สื่อ  อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย โดยปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง

“จากศูนย์เด็กแบบเดิมๆ เราสามารถจัดมุม  มีมุมนิทาน  มุมศิลปะ  มุมตัวต่อ และมุมวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ก็เล่นไป พอเล่นเสร็จก็ต้องมาเล่าให้เพื่อนฟัง  แล้วทุกคนต้องยกมือถาม  เชื่อไหมว่า...พ่อแม่เด็กๆ บอกว่าพอเข้ากระบวนการใหม่ภายใน 3 เดือนจำลูกตัวเองไม่ได้ การพัฒนาทางจิตใจ อารมณ์ และฝึกให้เด็กหยุดนิ่งเป็น การที่หยุดนิ่งได้...มันหมายถึงว่าในอนาคตเขาจะสามารถต่อสู้กับความปรารถนาในทางที่ไม่ถูกต้องได้  จะสามารถยับยั้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

หัวใจของการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป  

ไฮสโคป มีพื้นฐานแนวคิดมาจาก ‘ทฤษฎีของเพียเจท์’ (นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา) ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้  ผ่านการกระทำของตน  และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน

โดย ดร.เดวิด ไวคาร์ท ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคป ได้ร่วมทำงานกับคณะวิจัย  เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป  โดยใช้พื้นฐานจากโครงการเพอรี่พรีสคูลที่มีมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสมและประสบความสําเร็จในชีวิต

ในการศึกษาวิจัย มูลนิธิได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง 2.กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม  และ 3.กลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮสโคป ซึ่งจากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่า...

“กลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮสโคปนั้น  มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่มขั้นต้น จึงอนุมานได้ว่า  โปรแกรมนี้มีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเติบโตในอนาคต”

มุมอุปกรณ์เครื่องครัวและเสื้อผ้า  ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ  เมื่อเล่นแล้วต้องนำมาเก็บที่เดิม  เป็นการฝึกความรับผิดชอบ

มีกระบวนการ 3 กระบวนการสำคัญ  คือ 1.การวางแผน (Plan) เป็นการให้เด็กกำหนดแนวทางการปฏิบัติ  หรือดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ  โดยครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กสนทนากับครู  หรือสนทนาระหว่างเพื่อนด้วยกัน  เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอะไร อย่างไร ?

การวางแผนกิจกรรมนี้  เด็กต้องมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอาจจะบันทึกด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูช่วยบันทึกก็ได้  ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง  ทําให้เด็กสนใจในกิจกรรมที่ตนเองได้วางแผนไว้

2.การปฏิบัติ (Do) คือ การให้เด็กลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนด โดยเน้นให้เด็กได้ช่วยกันคิด  ทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย  ได้เรียนรู้ตามประสบการณ์ ค้นพบความคิดใหม่ๆ โดยคุณครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำมากกว่าจะลงไปจัดการด้วยตัวเอง 

3.การทบทวน (Review) คือกระบวนการที่ให้เด็กสะท้อนผลงานของตัวเองที่ได้ลงมือทำผ่านการพูดคุยหรือแสดงผลต่างๆ เพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ  รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

นำร่องพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 60 แห่งทั่วประเทศ

การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่องตามแนวทางไฮสโคปนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จะดำเนินการร่วมกับโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) และสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) โดยจัดทำ ‘โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน  โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเป็นฐาน’ ขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า  ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้  พอช. จะเปิดเวทีทำความเข้าใจกับชุมชนที่มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กตามแนวทางไฮสโคป  โดย พอช.จะดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ 1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่แล้ว 60 ศูนย์  จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกับท้องถิ่น  และ 2.พื้นที่กลางของชุมชน  จะมีการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ทั้งนี้ตามแผนงานของ  พอช. และคณะทำงาน  หลังจากเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศูนย์เด็กในชุมชน/ตำบลแล้ว  ในเดือนมีนาคม-เมษายน  จะจัดประชุมเพื่อประเมินชุมชนที่มีความสนใจ  เพื่อคัดเลือกชุมชนนำร่องที่มีความพร้อมจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ

หลังจากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ  สร้างความเข้าใจกับบุคลากร  ครู  และฝึกปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปเป็นเวลา 10 วันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางคู้   อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  เพื่อนำมาพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่องภายในปี 2566 จำนวน 10 แห่ง  และขยายเป็น 60 แห่งทั่วประเทศต่อไป  (ภาคละ 12 ศูนย์  จำนวน 5 ภาค  รวม 60 ศูนย์)

สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนั้น  1.เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนขยายผลการทำงาน  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาเด็กปฐมวัย  2.สนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนในศูนย์เด็กเล็กร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  และภาคีเครือข่าย  ภาคเอกชน  3.พัฒนาความรู้การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน  4.สร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมะสมกับวัย

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. กล่าวเสริมว่า  การนำร่องจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป  ขณะนี้มีภาค เอกชน  เช่น  ธนาคารกรุงเทพ  กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล  จำกัด  สำนักพิมพ์ประพันสาส์น  ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านของเล่น  หนังสือ  อุปกรณ์การเรียนรู้  ฯลฯ ให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็ก  คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาทต่อ 1 ศูนย์

“พอช. และภาคีเครือข่ายจะเข้าไปหนุนเสริมด้านการพัฒนาบุคลากร  ครู  พี่เลี้ยง  จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้  การเล่น  หนังสือภาพ  หนังสือนิทานมาสนับสนุนศูนย์เด็ก  และสามารถใช้ระบบหมุนเวียนหนังสือหรือของเล่นไปยังศูนย์อื่นๆ ได้  เช่น  เดิมมีหนังสือนิทาน 30 เล่มต่อ 1 ศูนย์  ใน 1 เดือนจะสามารถหมุนเวียนหนังสือไปยังศูนย์ต่างๆ ในภาค จำนวน 12 ศูนย์  ทำให้เด็กได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ตลอดปี  รวม 360 เล่ม”  ดร.กอบศักดิ์กล่าว

และย้ำว่า  “ผมคิดว่าถ้าเราให้การดูแลเด็กๆ ที่ดีทั่วประเทศได้ 10 ปีให้หลังคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ  และผู้นำชุมชนก็จะแฮปปี้ว่านี่คือสิ่งที่เราสนับสนุนเขาอย่างแท้จริง  ให้ลูกให้หลานเขา  และสามารถทำได้อีกเยอะเลย เช่น ทำเรื่องผัก  ปลูกผักให้เด็กทาน พวกนี้ใช้เงินน้อยและมีพื้นที่อยู่แล้ว  เราจะพยายามทำเรื่องนี้ประกอบกันไป  และผู้นำชุมชนก็พร้อมทำ  เพราะทำแล้วสามารถจับต้องได้  ระยะยาวจะเปลี่ยนแปลงประเทศ”

การเรียนรู้แบบไฮสโคปได้รับความนิยมทั่วโลก ในภาพเป็นเด็กชาวอินโดนีเซียเล่นบทบาทสมมุติเป็นหมอ

***

เรื่องและภาพ:  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต