ดร.กอบศักดิ์ (ที่ 6 จากซ้าย) ร่วมพิธีเปิดสถาบันการเงินชุมชนฯ
จ.สระแก้ว / วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. พร้อมด้วยนายกิจจา เสาวรส นายอำเภอวังน้ำเย็น ร่วมพิธีเปิดสถาบันการเงินชุมชนตำบลตาหลังใน และศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมตำบลตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โดยมีนางกัญญารัตน์ จิรจินดา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว นายณัชฐปกรณ์ ดำเนินชาญวนิชย์ ผู้แทนกลุ่มบริษัทสวนกิตติ จำกัด นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง คณะทำงานเครือข่ายที่อยู่อาศัยชนบทภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก นายเทพฤทธิ์ ศรีนาค ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารออมสิน ภาค13 ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้ว และพี่น้องชาวชุมชนตำบลตาหลังใน เข้าร่วมงานประมาณ 600 คน
ทั้งนี้สถาบันการเงินชุมชนตำบลตาหลังใน ได้รับการพัฒนาและยกระดับจากกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนไปสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลตาหลังในตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 มีสมาชิก 541 คน มีเงินหมุนเวียน 1.2 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นำไปสู่การพลิกฟื้นระบบทุนภายในตำบลกลับมา โดยมีธนาคารออมสินเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแนวทางการดำเนินงาน การให้ความรู้ด้านการบริหารการเงิน การบริการด้านการฝาก - ถอนเงิน การสนับสนุนสินเชื่อประกอบอาชีพและใช้จ่ายยามฉุกเฉิน การจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน การจัดทำบัญชีที่ถูกต้องและโปร่งใส
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมระดับตำบล เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับคนในตำบล และบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคี หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรในตำบลตาหลังใน
ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘บอร์ด พอช.’ กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนจะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน ขอให้ทุกคนเชี่อมั่นว่าเราสามารถเก็บออมกันเองได้ ที่เราจนอยู่ทุกวันนี้คือมีหนี้นอกระบบเข้ามา แต่ถ้าเราสามารถช่วยเหลือกันเองได้จะทำให้องค์กรของเรายั่งยืน มีการช่วยเหลือกันในชุมชนแบบพึ่งพากัน
“การเก็บออมเงินแค่วันละ1 บาท จะเป็นทุนในการดูแลกันที่ยั่งยืนในอนาคต นำกำไรมาแบ่งปันกัน ทุกคนช่วยกันเก็บออม บริหารงานให้ดี และอยากเห็นบริษัทของคนไทย ที่ช่วยคนไทยแบบนี้อีกหลายๆ ที่ เพราะหาก ‘ไม่มีบ้านก็ไม่มีชีวิต’ กิจกรรมที่ตำบลดำเนินการเรื่องคุณภาพชีวิต ปลูกไม้เมืองหนาวเป็นกิจกรรมที่ดี สามารถส่งเสริมรายได้ การหาภาคีเข้ามาช่วยเหลือจะยิ่งทำให้ตำบลเรามีความเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนมากขึ้น” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
นายกิจจา นายอำเภอวังน้ำเย็น
นายกิจจา เสาวรส นายอำเภอวังน้ำเย็น กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เป็นปัญหาพื้นฐานของทุกชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยในพื้นที่ของอำเภอวังน้ำเย็น มีประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนทั้งด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่มีที่ดินทำกิน เช่นเดียวกับตำบลตาหลังใน ซึ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่อยู่ภายใต้ที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าโซน C ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของชุมชนตำบลตาหลังใน
ในนามอำเภอวังน้ำเย็น มีความยินดีที่จะร่วมให้การสนับสนุน และเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการมั่นคงชนบท ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการเชื่อมโยงหน่วยงานหลากหลายภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินชุมชนตำบลตาหลังใน จะเป็นองค์กรทางการเงินที่เป็นกลไกสำคัญในการจัดการตนเองของคนในตำบลให้เกิดความเข้มแข็ง และเกิดการประสานงานเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในตำบลผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลตาหลังใน ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลตาหลังใน และหวังว่ากลไกขับเคลื่อนงานดังกล่าวจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ตั้งไว้ และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ตำบลอื่นต่อไป
ชาวบ้านที่มาร่วมงาน
นางชูศรี แนวสุข ประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลตาหลังใน กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงชนบทเกิดจากกลุ่มผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 21 หมู่บ้านในตำบลตาหลังใน รวมตัวกันจัดตั้งเป็น ‘กลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลตาหลังใน’ มีแผนการจัดการที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย โดยพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชนบทแล้ว จำนวน 188 ครัวเรือน รูปแบบการพัฒนาปรับปรุงในที่ดินเดิม รวมถึงขยายผลเพิ่มเติม ในพื้นที่เดิมจำนวน 50 ครัวเรือน เนื่องจากชุมชนยังมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย จึงได้พัฒนาโครงการเพิ่มเติม โดยมีแนวทางก่อสร้างในที่ดินใหม่ ใช้พื้นที่ป่าสวนกิตติ 185 ไร่ในการพัฒนา จำนวน 98 ครัวเรือน
ส่วนการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับตำบล รวมถึงการยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนตำบลตาหลังใน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับคนในตำบล และบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคี หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรการเงินชุมชนของคนตาหลังใน
ในงานวันนี้ นายณัชฐปกรณ์ ดำเนินชาญวนิชย์ ผู้แทนกลุ่มบริษัทสวนกิตติ จำกัด ได้ส่งมอบที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่สวนป่ากิตติ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินตามแนวทางบ้านมั่นคงชนบทให้แก่กลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลตาหลังในเนื้อที่ 185 ไร่
ผู้แทนกลุ่มบริษัทสวนกิตติ จำกัด มอบที่ดินให้ชาวบ้านพัฒนาที่อยู่อาศัย
หลังจากนั้น ดร.กอบศักดิ์ และคณะได้มอบถุงกำลังใจให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 42 ชุด และได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ณ หมู่ 14 บ้านคลองตะขบ ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. มอบสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้สูงอายุ
ชมนิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัยในตำบลตาหลังใน
เรื่องและภาพ: สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา