‘2 ปีโควิด-19’ (1) พอช. –ขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายสานพลังสู้วิกฤติโควิด

ชมรมแพทย์ชนบทโดยการประสานงานของภาคีเครือข่ายส่งแพทย์ตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. (ขวา) ลงมอบความช่วยเหลือชาวชุมชนแออัดในช่วงสถานการณ์โควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เวียนมาใกล้ครบ 2 ปี  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ผู้นำชุมชน  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ร่วมกัน สานพลังต่อสู้เพื่อผ่านวิกฤติร้ายนี้  ได้ร่วมกันสรุปและถอดบทเรียนการทำงานในช่วง 2   ปีที่ผ่านมา  เพื่อรวบรวมเป็นประสบการณ์-ความรู้  และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคร้ายที่ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่ามันจะสิ้นสุดลงในวันใด!!

 ย้อนรอยโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ‘COVID-19’  เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2562  โดยพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น  เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์  ประเทศจีน  หลังจากนั้นโควิดจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก

ในประเทศไทย  กรมควบคุมโรค ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) เมื่อวันที่  4 มกราคม 2563  เพื่อรับมือกับโควิด-19  และพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 มกราคม  

ต่อมาในวันที่ 31 มกราคม  มีรายงานพบผู้ป่วยชาวไทยรายแรก  อาชีพขับรถแท็กซี่  มีประวัติขับรถแท็กซี่ให้บริการกับผู้ป่วยชาวจีน  นับจากนั้นเชื้อโรคร้ายเริ่มแพร่กระจายออกไป

ถัดมาอีกเพียง 1 เดือนเศษ   มีข่าวใหญ่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศไทย  นั่นคือ การติดเชื้อโควิดจากการจัดแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี’  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563  และมีรายงานในเวลาต่อมาว่า  มีผู้ที่ติดเชื้อจากการแข่งขันมวยในวันนั้นประมาณ 18 ราย !!

ชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด !!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ที่เหมือนไฟเริ่มลุกลาม  ทำให้รัฐบาลตื่นตัว  มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม  และต่อมาในวันที่ 2 เมษายน  มีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 4 ทุ่ม-ตี 4  และตอกย้ำด้วยคำสั่งของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 9 เมษายน  ให้ปิดร้านอาหาร  ร้านค้า  ร้านจำหน่ายสุราในช่วงเคอร์ฟิวส์  ฯลฯ  ส่งผลกระทบไปทั่ว  โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำ  ทำงานรับจ้าง

นุชจรี  พันธ์โสม  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  และผู้นำชุมชนรุ่งมณี  ย่านวัดเทพลีลา  กรุงเทพฯ  เล่าว่า  ในช่วงเดือนมีนาคม 2563  หลังจากมีข่าวโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด  ชุมชนรุ่งมณีรู้ข่าวว่ามีชาวชุมชนใกล้เคียงติดเชื้อโควิด  จึงเกิดความตื่นกลัว  ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  เพราะตอนนั้นโควิดยังเป็นเรื่องใหม่  พอดีกับทาง สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) จัดทำโครงการ พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’  ให้ความรู้แก่ชุมชนในการสร้างมาตรการป้องกันโควิด  โดยใช้ธรรมนูญตำบลหรือข้อตกลงของชุมชนเป็นเครื่องมือ  ชุมชนรุ่งมณีจึงนำความรู้นี้มาใช้ในชุมชน

เราได้สร้างธรรมนูญชุมชนหรือออกมาตรการป้องกันโควิดขึ้นมาในชุมชน  เช่น  ให้ชาวบ้านสวมแมสก์  เว้นระยะห่าง  ล้างมือ  มีชุมชนที่เป็นเครือข่ายสภาองค์ชุมชนเขตวังทองหลางเข้าร่วม 6 ชุมชน  เช่น  ชุมชนรุ่งมณี   ชุมชนวัดเทพลีลา  ชุมชนน้อมเกล้า  ฯลฯ  พอดีกับช่วงนั้นแมสก์ขาดตลาด  มีราคาแพง  เราจึงหาซื้อผ้ามาตัด  แต่ผ้าที่จะใช้ทำแมสก์ก็ขาดตลาดอีก  แต่เรามีกลุ่มผู้สูงอายุที่ตัดเย็บเสื้อผ้าและของใช้จากผ้าขาวม้าอยู่แล้ว  จึงเอาผ้าขาวม้ามาตัดเป็นแมสก์  แจกจ่ายกันใช้ไปก่อน   นุชจรีเล่าถึงจุดเริ่มต้นสร้างเกราะป้องกันชุมชนตั้งแต่เดือนมีนาคม  2563

ชาวชุมชนรุ่งมณีช่วยกันเย็บหน้ากากผ้าแจกจ่ายก่อนผ้าจะขาดตลาด

หลังจากที่ทางราชการมีมาตรการต่างๆ  ออกมาในช่วงต้นเดือนเมษายน  เช่น  ประกาศเคอร์ฟิวส์  ปิดห้างร้าน  ร้านอาหาร  ร้านข้าวต้ม  คาราโอเกะ  ฯลฯ  ทำให้ชาวชุมชนต่างๆ  ที่ทำงานรับจ้างเหล่านี้ตกงาน  วินมอเตอร์ไซค์  แท็กซี่ไม่มีคนนั่ง  ขาดรายได้  บางครอบครัวไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ 

ชุมชนรุ่งมณีซึ่งมีกองทุนในชุมชนอยู่แล้ว  เช่น  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  สถาบันการเงินชุมชน  กองทุนสวัสดิการชุมชน (ออมเงินวันละ 1   บาทเพื่อเอามาช่วยเหลือสมาชิกยามเจ็บป่วย-เสียชีวิต)  และกองทุนของสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  จึงนำเงินจากกองทุนเหล่านี้มาจัดทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารปรุงสุกให้แก่ชาวชุมชนที่เดือดร้อน  คนตกงาน  คนแก่  ฯลฯ 

เราเอาเงินจากกองทุนต่างๆ มาลงขันกันประมาณ  1 แสนบาท  แต่พอทำๆ ไป  สถานการณ์ไม่ดีขึ้น  มีคนตกงาน  คนว่างงานมากขึ้น  เงิน 1   แสนบาทเห็นท่าจะไม่พอ  เราจึงนึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ พอดีกับที่ชุมชนอาศัยอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  และมีที่ว่างเหลืออยู่ประมาณ 1   ไร่  เราจึงใช้พื้นที่ตรงนี้ปลูกผักต่างๆ เพื่อเอามาทำกับข้าว  มีถั่วฟักยาว  มะเขือเปราะ  ผักคะน้า  ผักกาด  กวางตุ้ง  พริก  กะเพรา  โหระพา  ตะไคร้ฯลฯ  และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์  เพราะโตไว  3 เดือนก็เอามาทำอาหารได้  นุชจรีขยายความ

บ่อเลี้ยงปลาดุกที่ชุมชนรุ่งมณี  มี 6 บ่อๆ หนึ่งเลี้ยงได้เกือบ 100 ตัว  ปัจจุบันเลี้ยงไปแล้วประมาณ 10 รุ่น

ปฏิบัติการ พม.เราไม่ทิ้งกัน

จากการตื่นรู้ของชุมชนรุ่งมณีและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางที่ได้ตัดเย็บหน้ากากผ้าแจกจ่ายไปยังสมาชิก  ทั้งยังเผื่อแผ่ไปให้สำนักงานเขตวังทองหลางแจกจ่ายชุมชนอื่นๆ  รวมทั้งหมดประมาณ 50,000 ชิ้น  รวมทั้งการทำครัวกลางแจกจ่ายอาหาร  จึงมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐเริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชน  ทั้งข้าวปลาอาหาร  แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ  ฯลฯ 

รวมทั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำครัวกลางและมาตรการป้องกันโควิด  ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ  เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด (งบประมาณรวม 144.25 ล้านบาท)  

ขณะเดียวกัน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำโครงการ  พม.เราไม่ทิ้งกันในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563   ภายใต้แนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน เพื่อเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย  คือ  เด็ก เยาวชน สตรี  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส  รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ  และ พอช. รวม 286 ชุมชน

โดยกระทรวง พม.ได้จัดกิจกรรม Kick off ที่ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง  เมื่อวันที่ 19 เมษายน  โดยมีนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.เป็นประธานในการจัดกิจกรรม  หลังจากนั้นในวันที่  20 เมษายน  มีการปล่อยขบวนคาราวาน พม.เราไม่ทิ้งกัน ลงไปสำรวจผู้เดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือชุมชน  286 ชุมชน  รวม  166,097 ครอบครัว  ประชากร  507,660 คน 

รมว.พม. (ที่ 2 จากซ้าย) ที่ชุมชนรุ่งมณี

โดยแบ่งทีมงานลงพื้นที่  7 ทีมๆ ละ 10-12 คน  แต่ละทีมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ พม. กรมอนามัย  การเคหะแห่งชาติ  และ พอช.  ลงพื้นที่ 4 ชุมชนต่อวัน   เริ่มตั้งแต่วันที่ 20-30 เมษายน   เพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชน  เช่น  ให้ความรู้การป้องการติดและแพร่เชื้อ  แจกอุปกรณ์ป้องกัน  สนับสนุนการจัดตั้งครัวกลาง  มอบอาหารสด-แห้ง  ข้าวสาร  น้ำดื่ม  นมผงสำหรับเด็ก  ผ้าอ้อม  ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง  คนชรา  ผู้พิการ  ฯลฯ

พอช.จัดงบ 206 ล้านบาทหนุนชุมชนสู้ภัยโควิด

กล่าวได้ว่า  การลุกขึ้นมาสร้างเกราะป้องกันโควิดของชุมชนรุ่งมณีและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง (จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ดูรายละเอียดได้ที่ www.codi.or.th) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563  เป็นการจุดประกายให้พี่น้องชุมชนต่างๆ  เกิดความตื่นตัวในการป้องกันและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โดยเฉพาะชุมชนที่มีกองทุนของชุมชนอยู่แล้ว  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ  ก็สามารถนำกองทุนมาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้ทันที  โดยไม่ต้องความช่วยเหลือหรืองบประมาณจากหน่วยงานรัฐและเอกชน  เช่น  แจกข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  หน้ากากอนามัย  เจลล้างมือ  ฯลฯ

ขณะที่ พอช.ได้จัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงปัจจุบัน  รวมทั้งหมด 206.25 ล้านบาท  แม้ว่างบประมาณจะไม่สูงมากนัก  แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์และทันท่วงที  ชุมชนสามารถนำไปบริหารจัดการเอง  ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก  โดยแยกเป็น 1.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง  (โควิดระลอกแรก ปี 2563) งบประมาณรวม 72 ล้านบาท   เป้าหมายเครือข่ายชุมชนเมือง 300 เครือข่าย/เมือง  รวมทั้งชุมชนเดี่ยวที่ยังไม่มีเครือข่าย  และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน (กรุงเทพฯ  ปทุมธานี  ขอนแก่น  เชียงใหม่)  งบประมาณโครงการละ 30,000 -300,000 บาท 

เช่น   สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  วางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งกรณีเฉพาะหน้าและระยะยาว   จัดทำและแจกอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ  ให้ความรู้  จัดทำครัวกลาง  แจกข้าวสาร  อาหารแห้งให้ผู้เดือดร้อน  ตกงาน  คนป่วย   ปลูกผักเพาะเห็ด  เลี้ยงไก่ไข่ 

ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง  เขตบางบอน  กรุงเทพฯ  นำงบสนับสนุนจาก พอช. ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพร  เช่น  กระชายสร้างภูมิป้องกันโควิด

2.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชนบท (โควิดระลอกแรก ปี 2563)  งบประมาณ 72 ล้านบาท  พื้นที่เป้าหมาย 1,500 ตำบล  เฉลี่ยตำบลละ 45,000 บาท  โดยเน้นให้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  สวัสดิการชุมชน  ที่ดินที่อยู่อาศัยชนบท  ร่วมกับท้องที่ท้องถิ่น  จัดทำข้อมูล  แผนพัฒนาคุณภาพชีวิต  แผนพัฒนาที่อยู่อาศัย /ที่ดินทำกิน  การสร้างความมั่นคงทางอาหาร  แบ่งปันเมล็ดพันธุ์  ปลูกพืชผัก  พัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับสถานการณ์    เชื่อมโยงสินค้าชนบทสู่เมือง ฯลฯ         

โควิดระยะที่ 3 (กลางปี 2564-ปัจจุบัน) พอช. อนุมัติงบประมาณ 62  ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อส่งความช่วยเหลือเข้าถึงชุมชนที่ตกหล่น (ชุมชนบุกรุก)  ชุมชนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการ   ครอบคลุมทั้งเขต/เมืองในกรุงเทพฯ ปทุมธานี  นนทบุรี และสมุทรปราการ  ระดับเครือข่ายเมือง รวม 89 เมือง  และระดับชุมชน 865 ชุมชน    ผู้รับประโยชน์ 206,916 ครัวเรือน

รวมทั้งยังมีกิจกรรมการป้องกันโรคและจัดการผู้ป่วยติดเชื้อ  เช่น  จัดตั้งศูนย์ประสานงานโควิดระดับพื้นที่  ทำบ้านเป็นที่กักตัว  (Home Isolation – HI)  ศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation - CI) ระดับชุมชน/เขต  ปัจจุบันมีชุมชนที่จัดทำ CI ไปแล้วจำนวน 12 แห่ง

นุชจรี  พันธ์โสม  ผู้นำชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง  สอนวิธีใช้เครื่องวัดค่าอ๊อกซิเจนให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อ

ปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการ  พอช.  (รักษาการ ผอ.พอช.) กล่าวว่า  จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา  ตนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำงานของชุมชน  หน่วยงานรัฐ  และภาคีเครือข่าย  แต่จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกันใน 5 เรื่องสำคัญ คือ  1. สังคมต้องปรับวิธีคิดให้เชื่อมั่นในคนเล็กคนน้อย   2 .ปรับระบบโครงสร้าง  เจ้าของปัญหาต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเพื่อมากำหนดทิศทางการพัฒนาในพื้นที่   

3.นโยบายและแผนในส่วนของภาคประชาชนที่มีแผนงานและเรื่องราว  4.ระบบวิธีงบประมาณเปิดโอกาสและช่องทางของรัฐเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมกัน  และ 5.ระบบกติกาของรัฐที่เอื้อต่อการพัฒนา สู่เป้าหมายในการกระจายอำนาจให้พื้นที่เกิดการจัดการตนเอง

เสียงสะท้อนและมุมมองในการแก้ไขปัญหา

จากประสบการณ์การทำงานของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศในช่วงสถานการณ์โควิด-19  พอช.และภาคีเครือข่าย  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สปสช.  สสส.  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดเวทีสรุปและถอดบทเรียนการทำงานตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 พบว่ายังมีอุปสรรคและปัญหาในการทำงานของภาคประชาชนและชุมชน  โดยเฉพาะกฎระเบียบ  ขั้นตอนของทางราชการ  รวมทั้งทัศนคติด้านลบ ฯลฯ 

นพพรรณ  พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  บอกเล่าประสบการณ์ว่า  จากการทำงาน  พบว่าชุมชนมีศักยภาพในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ได้  หากหน่วยงานในระบบสาธารณสุขเปิดโอกาสให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการเรื่องนี้  จะทำให้จัดการชุมชนได้เป็นอย่างดี  ลดภาระของหน่วยบริการได้  และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว 

นพพรรณ  พรหมศรี

ปัญหาสำคัญ  คือ เรื่องความคิดความเชื่อของคนในชุมชน รวมทั้งในฝั่งผู้ให้บริการด้วย  ว่าหากเจ็บป่วยต้องไปสถานพยาบาล ไปหาหมอ หรือบุคลากรทางวิชาชีพเท่านั้นที่จะต้องดูแลเรื่องนี้  เวลาที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการก็จะไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่  หรือการทำงานร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานสาธารณสุขอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ อาจเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ จะเจอกับวิธีคิดแบบเดิม ๆ  ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์ในการขยายผล และต่อสู้กับวิธีคิดในเรื่องนี้  เพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็งและลุกขึ้นมาจัดการให้ได้  หากเขาจัดการเรื่องนี้ได้เขาก็จัดการในหลาย ๆ เรื่องได้   เช่น  ชุมชนจะทำศูนย์พักคอย  ทางราชการบอกว่าผิดระเบียบ  แต่ไม่ได้บอกว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ?”  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยยกตัวอย่างอุปสรรคที่เกิดขึ้น

อัมพร  แก้วหนู  อดีตรอง ผอ.พอช.  เสนอความเห็นจากเวทีการถอดบทเรียนดังกล่าวว่า  ประสบการณ์จาก พอช.และเครือข่ายชุมชนจัดการโควิดทั่วประเทศในการบริหารจัดการโควิดในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563-2564  มีบทเรียนหลากหลายแง่มุม  เมื่อผสมผสานเข้ากับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ  และประสบการณ์ของตนเอง  ได้ข้อคิดและความรู้ดังนี้

1.องค์กรชุมชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้ แต่ช้า-เร็ว  ต่างกันตามประสบการณ์และ ทุน ที่มีอยู่ของชุมชน  2. ทุน ที่ว่ามีมากมายหลายอย่าง  โดยเฉพาะความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนที่มีมาแต่เดิม  ความร่วมมือ -ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาคี  เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรชุมชนด้วยกันเอง  และขีดความสามารถของผู้นำในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามสถานการณ์  ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน  (โดยเฉพาะที่ดินสำหรับการผลิตอาหาร)

3.กิจกรรมในการรับมือ มีมากมายหลายอย่างรายงานของคณะประเมินระบุว่าโครงการปี 2563 (งบประมาณ144.25 ล้านบาท) มีกิจกรรมต่างๆมากกว่า 7,800 กิจกรรม (ใน 1,800ตำบล/เมือง) เมื่อรวมกับกิจกรรมที่ชุมชนริเริ่มขึ้นเองก่อนหน้าและหลังโครงการก็นับเป็นหมื่นๆ กิจกรรม  ตั้งแต่การตั้งจุดตรวจคัดกรอง  ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ  ไปจนถึงการแจกถุงยังชีพ  ตั้งครัวกลาง  ส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล  จัดที่พักคอย  ดูแลกลุ่มเสี่ยง  ปลูกและผลิตยาสมุนไพร  ทำสวนผักและส่งข้าวปลาอาหารไปช่วยเพื่อนที่อื่น  ฯลฯ

4.อุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์ของชุมชนคือกฎ-ระเบียบของหน่วยราชการที่ขัดขวางไม่ให้ชุมชนบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการกักตัวที่บ้าน (Home isolation - HI) และการกักตัวในชุมชน (Community isolation - CI) ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีขีดความสามารถที่จะรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ผู้แทนชุมชนจากคลองเตยซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงที่สุดของประเทศสรุปว่า "คนจนทำอะไรก็ผิดกฏหมายหมด"

การจัดทำ CI โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง ช่วงกลางปีนี้  ปัจจุบันไม่ได้ใช้การเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยในชุมชน

5.การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการแพร่ระบาดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำเรื่อง HI และ CI ได้  เพราะถูกต่อต้านจากความไม่เข้าใจและความหวาดระแวง  คนที่กลับมาจากการรักษาพยาบาลแล้วก็ไม่ได้รับการต้อนรับในชุมชน

6.การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารสถานการณ์ ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะถัดไป  ระยะเฉพาะหน้าอาจหมายถึง ครัวกลาง ถุงยังชีพ  ตู้ปันสุข  คูปองอาหาร  ระยะต่อมาหมายถึงสวนผัก  ธนาคารอาหาร  ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าทุกครอบครัวมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในยามที่วิกฤติที่สุด  ความมั่นคงด้านอาหารเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองและชนบท  เพราะชนบทการแพร่ระบาดต่ำ  มีพื้นที่  มีทักษะในการผลิตข้าวปลาอาหาร  ในขณะที่ชุมชนแออัดไม่มีพื้นที่และมีการแพร่ระบาดสูง

7.สมุนไพรมีบทบาทสำคัญในชุมชนส่วนใหญ่ที่รับมือกับโควิด เพราะการดูแลรักษาโดยระบบสาธารณสุขปกติไม่เพียงพอและไม่ทันสถานการณ์ ชุมชนสามารถจัดการได้ตั้งแต่การปลูกสมุนไพรไปจนถึงการผลิตยา  รัฐบาลควรบรรจุการดูแลรักษาด้วยสมุนไพรไว้ในระบบการดูแลรักษาปกติของรัฐและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถดูแลและรักษาตนเองได้ด้วยสมุนไพรซึ่งหาได้ทั่วไป

8.ชุมชนใช้ประสบการณ์การบริหารโครงการต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการบริหารสถานการณ์โควิด ใช้เครือข่ายและระบบการจัดการขององค์กรมาช่วยจัดระบบชุมชนรับมือกับสถานการณ์ โดยเฉพาะชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบการบริหารชุมชนเป็นกลุ่มย่อยๆ อยู่แล้ว

9.หลายชุมชนใช้ประสบการณ์การทำแผนที่ การทำผังชุมชน (เรียนมาจากโครงการบ้านมั่นคง) มาทำแผนที่คนติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง  เพื่อบริหารสถานการณ์และประสานการช่วยเหลือจากภายนอก  ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ข้อมูล สำคัญที่สุดในการบริหารสถานการณ์และคนที่รู้ข้อมูลดีที่สุดคือชุมชน

10.การรับมือกับวิกฤติการณ์ใหญ่แบบนี้ต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับหน่วยงานท้องถิ่น 11. วิกฤติโควิดสร้างนวัตกรรมทางสังคมในชุมชนขึ้นจำนวนมาก  ชุมชนแออัดหลายแห่งมีสวนผักคนเมืองไว้ผลิตอาหาร ชุมชนเข้าใจวิธีว่าจะ lockdown ชุมชนได้อย่างไรให้ผลกระทบน้อยที่สุด  หลายแห่งผลิตสมุนไพรใช้เอง  ทำ HI  และ CI เอง  ตรวจคัดกรองและดูแลผู้ป่วยเอง  การจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ  ร้านค้าราคาถูก ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนมุ่งไปสู่ชุมชนล้มแล้วลุกเร็ว

ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น  จ.ขอนแก่น  จัดทำคูปองซื้อสินค้า-อาหารช่วยผู้เดือดร้อนและกระจายเงินสู่ร้านค้าในชุมชน

  1. ผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนงานโควิดคือคนในชุมชนติดเชื้อน้อยลง รอดชีวิตมากขึ้น   ผู้นำและองค์กรชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการบริหารสถานการณ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   คนเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและยา  และลงมือสร้างความมั่นคงนั้นด้วยตนเอง  สัมพันธภาพระหว่างองค์กรชุมชนเมืองและชนบทงดงามและแน่นแฟ้นกว่าเดิม  (ผู้นำหลายคนยืนยันตรงกันว่า เราสู้ได้เพราะเรามีครือข่าย) ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานต่างๆ  ดีขึ้นมาก  
  2. หลังจากขบวนชุมชนประกาศขับเคลื่อนงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น (ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง) ในปี 2547 องค์กรชุมชนก็จัดการดิน น้ำ ป่า ทะเล จัดการออมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน  เกษตรยั่งยืน ที่อยู่อาศัย  สุขภาพ ฯลฯ  

จุดเปลี่ยนสำคัญ (turning point) น่าจะเป็นปี 2548 ที่มีการบริหารจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่คือสึนามิ (ปลายปี2547 ) ตามมาด้วยสารพัดน้ำท่วม  ดินโคลนถล่มจนถึงแผ่นดินไหว  จุดเปลี่ยนครั้งที่สองน่าจะเป็นการจัดการโควิดในปี 2563-2564 นี้เอง  ที่ขบวนชุมชนสามารถจัดการภัยพิบัติโรคระบาดได้  ซึ่งพิสูจน์สมมติฐานใหญ่ว่า ชุมชนทัองถิ่นจัดการตนเอง’  นั้นเป็นไปได้  และเป็นไปแล้ว  และจะขยายขอบเขตไปทั้งทางลึก  ทางกว้างอย่างรวดเร็ว  ถ้า...ระบบราชการที่ล้าหลังทั้งวิธีคิด  วิธีทำและเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น  เลิกขัดขวางการก้าวเดินของประชาชนและชุมชนทัองถิ่นเหล่านี้เสียที!!

(หมายเหตุ : ติดตามอ่านตอนต่อไป (2) บทเรียนการจัดการโควิดโดยชุมชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา

รมว.พม.เล็งซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติเชียงรายต่อเนื่อง

'รมว.พม.' เผยเตรียมซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติเชียงรายต่อเนื่อง จ่อลงพื้นที่ เชียงใหม่-ลำปาง ดัน ศบปภ.ภาคเหนือ ช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยากลุ่มเปราะบาง หลัง คกก.บ้านมั่นคงฯ เห็นชอบกรอบงบโครงการแล้ว