ชาวบ้านเขาไม้แก้วสุดทน ช้างป่าบุกทำลายพืชไร่ เหยียบคนเจ็บ-ตาย จัดงาน ‘คช RUN พาช้างกลับบ้าน’ ระดมทุน 25-26 ก.พ.นี้ที่ปราจีนบุรี

โขลงช้างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่เข้ามาหากินในตำบลเขาไม้แก้ว

จ.ปราจีนบุรี /  ชาวบ้านตำบลเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  สุดทน  โดนช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน บุกลงมากินพืชไร่  สร้างความเสียหาย  และเหยียบชาวบ้านบาดเจ็บ-เสียชีวิต  ร่วมกันจัดงาน ‘คช RUN พาช้างกลับบ้าน’  จัดงานและวิ่งมินิมาราธอน25-26 ก.พ.นี้  เพื่อระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายให้อาสาสมัครใช้เฝ้าระวังและผลักดันช้างกลับเข้าป่า

นายสุนทร  คมคาย   ผู้ประสานงาน  อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  กล่าวว่า  ตำบลเขาไม้แก้วเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่โขลงช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนเข้ามากินพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้  โดยช้างป่าเริ่มเข้ามาหากินเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว  ช่วงแรกๆ ช้างจะเข้ามาไม่เยอะ  แต่ในช่วงปี 2563-2564  ช้างเข้ามาเยอะ  มากันเป็นโขลง

สุนทร  คมคาย  แกนนำพัฒนาในตำบลเขาไม้แก้ว  ส่งเสริมชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์

“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนอยู่ห่างจากตำบลเขาไม้แก้วประมาณ  30-40 กิโลเมตร  มีช้างป่าเยอะ  อาหารจึงไม่พอกิน  ช้างป่าจึงออกหากินไปทั่ว  รวมทั้งที่เขาไม้แก้ว  เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกอ้อยส่งโรงงาน  พื้นที่ปลูกอ้อยเป็นหมื่นไร่  นอกจากนี้ยังปลูกแตง   มันสำปะหลัง  และทำนา  จึงเป็นอาหารอย่างดีของช้าง  ที่ผ่านมาพืชไร่เสียหายคิดเป็นเงินหลายล้านบาท  แต่ที่สำคัญคือในเดือนกุมภาพันธ์ 2565  ช้างเหยียบชาวบ้านตายไป 1 คน  บาดเจ็บ 4 คน  บ้านเรือนเสียหายประมาณ 10 หลัง”  สุนทรบอกผลกระทบที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน  จัดตั้งเมื่อปี 2520 มีเนื้อที่ประมาณ 643,750 ไร่ หรือ 1,030 ตารางกิโลเมตร  ตั้งอยู่ใจกลางของป่าผืนใหญ่ซึ่งเป็นรอยต่อ 5 จังหวัด  คือ  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง จันทบุรี  และปราจีนบุรี  จำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  จึงทำให้อาหารไม่พอกิน  ช้างป่าจึงออกตระเวนหากินไปรอบๆ ป่า  เช่น  ที่  อ.เขาชะเมา  จ.ระยอง  อ.แก่งหางแมว  จ.จันทบุรี  อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว  และที่ อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี

ไร่อ้อยในตำบลเขาไม้แก้วนับหมื่นไร่เป็นอาหารโอชะของโขลงช้าง  เกษตรกรบางรายต้องหันไปปลูกพืชที่ช้างไม่กิน  เช่น  ยูคาลิปตัส  แต่ก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในดิน

สุนทรบอกว่า  จำนวนช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนนั้น  เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่ามีอยู่ประมาณ 330 ตัว  แต่ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่า 600 ตัว  โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ มานี้ช้างจะออกมาหากินเป็นโขลงใหญ่  เฉพาะที่ตำบลเขาไม้แก้วจะมีช้างป่าอยู่หลายโขลงที่เข้ามาหากิน  รวมแล้วประมาณ 200 ตัว

เขาบอกด้วยว่า  ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนประมาณ 7 คนที่เข้ามาประจำการในตำบลเขาไม้แก้ว  และมีชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร ฯ ทสม.  และ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ประมาณ 30 คน  ร่วมกันจัดเวรยามเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า  โดยการจุดประทัดยักษ์ (ขนาดลูกปิงปอง)  และใช้รถยนต์ปิดกั้นหรือบล็อกเส้นทางไม่ให้ช้างผ่านเข้าทำลายพืชไร่  หรือเข้ามาในหมู่บ้าน

ส่วนหนึ่งของอาสาสมัครที่เฝ้าระวังช้างในยามค่ำคืน

“พอเราจุดประทัดไล่  ช้างก็จะหนีกลับออกไป  แต่พอ 2-3 วันก็จะกลับเข้ามาอีก   แต่ตอนหลังๆ นี้  ช้างเริ่มชินเสียงประทัดแล้ว  ไล่ไม่ค่อยไป  หรือไปแล้วก็มีช้างโขลงอื่นเข้ามาอีก  ชาวบ้านจึงอยากจะให้มีการแก้ไขปัญหาระยะยาว”  สุนทรบอก

เขาบอกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายอรรถพล  เจริญชันษา รักษาราชการอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ได้เดินทางมาดูพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้าน  ตนจึงได้เสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาช้างป่าลงมาหากินในพื้นที่ว่า  ควรใช้พื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทสวนป่ากิตติที่หมดสัมปทานแล้ว  บริเวณเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  อ.สนามชัยเขต   เนื้อที่ประมาณ 8,000-9,000 ไร่ 

เพื่อนำมาเป็นพื้นที่รองรับช้าง  โดยการปลูกพืชอาหาร  เช่น  อ้อย  หญ้า  ฯลฯ  แล้วขุดคูกั้นโดยรอบเพื่อไม่ให้ช้างออกมานอกพื้นที่  แต่ช้างยังสามารถกลับเข้าป่าได้  หากทำแบบนี้ได้จะทำให้ช้างมีแหล่งอาหาร  และยกระดับเป็นการท่องเที่ยวแบบซาฟารีได้  และควรจะทำในทุกพื้นที่ที่มีปัญหา  จะทำให้ลดผลกระทบ  ชาวบ้านสามารถทำมาหากินและใช้ชีวิตได้ตามปกติ  และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวแบบนี้ด้วย

ส่วนหนึ่งของช้างที่จับได้  เจ้าหน้าที่จะนำกลับคืนป่า

ส่วนการจัดงาน ‘คช RUN พาช้างกลับบ้าน’ สุนทรบอกว่า เนื่องจากที่ผ่านมา  ชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครคอยเฝ้าระวังและผลักดันช้างที่มีอยู่ประมาณ 30 คน  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจาก อบต.  , อปพร. และผู้บริจาค  เพื่อเป็นค่าเครื่องดื่ม  น้ำมันรถยนต์  จัดหาอุปกรณ์  เช่น  ประทัดยักษ์  วิทยุสื่อสาร แต่ยังไม่เพียงพอ  เงินที่มีผู้สนับสนุนร่อยหรอลงเรื่อยๆ  แกนนำในตำบลจึงร่วมกับ  อบต.  สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว  ฯลฯ จัดงานนี้ขึ้นมา  เพื่อระดมเงินเข้ากองทุนผลักดันช้าง

โดยจะมีการจัดงานตั้งแต่เย็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์  ที่บริเวณลานกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  โดยจะมีการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ  ผักอินทรีย์  ชมดนตรี  กางเต็นท์ดูดาวเคล้าลมหนาว  คิดค่าบริการกางเต็นท์คนละ 100 บาท

ส่วนเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์  จะจัดวิ่งมินิมาราธอน  ชาย-หญิง  ระยะทาง 5  และ 10 กิโลเมตร  เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 04.30 น.  ค่าสมัครคนละ 500 บาท  และประเภท VIP คนละ 1,000 บาท  ผู้สมัครจะได้รับเสื้อยืดสำหรับวิ่ง  ผู้ชนะแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยรางวัลจากพลเอกเฉลิมชัย  สิทธิสารท  องคมนตรี

ผู้สนใจร่วมงานติดต่อได้ที่  089-4940040  และ 094-6816635

ภาพ :  กองทุนพาช้างกลับบ้าน

เรื่อง :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุดสลด! 'ช้างภูหลวง' โดนกับดักสปริงรัดงวงจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบซากช้างป่าเพศผู้โตเต็มวัยเสียชีวิต หลังถูกกับดักสปริงรัดบริเวณงวง ในพื้นที่ห้วยน้ำริน บ้านสองคอน ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ