‘ดร.กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. ชวน 4 หน่วยงานสานพลัง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาความยากจน-ลดเหลื่อมล้ำ

การประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหาร 4 หน่วยงาน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อาคารจามจุรีสแควร์  เขตปทุมวัน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดประชุมเพื่อวางแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน

4 พลังภาคีจับมือส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากว่า  ทุกวันนี้ประชาชนในชุมชนยังประสบปัญหาอยู่ 2 – 3 ประการ  ทำให้เกิดความยากจน

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.

ประการแรก เรื่องหนี้สิน ประการที่สอง  มีคนกลางมาแบ่งรายได้ จากที่คนจนหรือเกษตรกรจะมีรายได้จากการผลิตในสัดส่วนที่เหมาะสม  แต่มีคนกลางมาแบ่งสัดส่วนรายได้นั้นไป  ประการสุดท้าย ที่ผ่านมา  หน่วยงานมักบอกว่าให้ชุมชนทำหรือบังคับให้ทำทุกอย่างเกินไป  หากเราหาองค์ประกอบที่ใช่ ผสานพลัง และทุน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชน แล้วผลักดันสู่ตลาดสากล เมื่อเราช่วยกันทำ จะทำให้ขับเคลื่อนและขยายผลต่อไปได้ และเมื่อทำสำเร็จแล้วอาจจะเก็บเงิน ประมาณ 5% เพื่อสร้างกองทุน ให้เกิดการหมุนเวียน หากทำได้จะปิดช่องว่างต่างๆ ของหน่วยงานได้  สามารถพลิกโฉมประเทศไทยได้

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า  ประเด็นที่คิดว่าจะเป็นการสานพลังในการทำงานร่วมกัน เช่น 1. การสร้างนวัตกรรมเพื่อชาวบ้านในการเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย และงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องนี้  2.การให้คนรุ่นใหม่เป็นฐานการพัฒนา ดึงให้กลับบ้าน เพาะบ่มหลักสูตรผู้นำชุมชนและผู้นำที่ดี  กลับไปพัฒนาในพื้นที่บ้านเกิดตนเอง  3.การบูรณาการในประเด็นวิสาหกิจชุมชน ตามงบ Agenda ร่วมกับ สสว. โดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชนที่เน้นการช่วยเหลือชุมชน 

และ 4. การสร้างต้นแบบพื้นที่นำร่องตามรูปธรรมชุมชน เช่น  ป่าชุมชน  ป่าชายเลนชุมชน  ธนาคารปูม้า สถาบันการเงินชุมชน  เป็นต้น  เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  สร้างรายได้คนในชุมชน  และร่วมคิดค้นนวัตกรรมจากสิ่งที่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว  โดยใช้ฐานงานวิจัยให้ดี  เช่น  ธนาคารปูม้าจะทำอย่างไรให้ปูตัวโตขึ้น และเพิ่มจำนวนปู  เพื่อส่งเสริมการเพิ่มฐานการผลิตที่มากขึ้น

“เป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา ในการสานพลัง จะเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ทำเป็นพื้นที่ต้นแบบ แล้วค่อยๆ ขยายและกระจายพื้นที่ไป โดยมีการทำบทเรียนของชุมชนที่มีรูปธรรมทั้งคลังความรู้  จะมี สสว. ผนึกพลังกับมหาวิทยาลัยในงานวิจัย โดยมี ผอ.พอช.ประสานกับหน่วยงาน พื้นที่  และขบวนองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้องในการทำเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป”  ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช. กล่าว

การนำปูม้าไข่มาขยายพันธุ์ที่  อ.อ่าวลึก  จ.กระบี่

ใช้จีนเป็นโมเดลขจัดความยากจน

ดร.ธีรภัทร  ประยูรสิทธิ  กรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  กล่าวว่า ในการสร้างความร่วมมือ เรื่องของพื้นที่สำคัญ  โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป  ตนมองว่าเรื่องการท่องเที่ยวสำคัญ ที่ผ่านมาหลายๆ หน่วยงาน สิ่งที่จะขับเคลื่อนร่วมกันคือ 1. พื้นที่  2.ผู้นำชุมชน  ต้องมีการพัฒนาให้เป็นนักธุรกิจในตัวเพิ่มขึ้น  3.จะปรับคนกลางได้อย่างไร  เพื่อให้ชาวไร่ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น  4.นวัตกรรม อว. หรือหน่วยนวัตกรรมต้องเข้ามาสนับสนุน   และ 5. การสื่อสารประชาสัมพันธ์  เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความหวัง กำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

ดร.ธีรภัทร (ซ้าย)  และนายกฤษดา  สมประสงค์   ผอ.พอช.(ขวา)

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่  หรือ ‘บพท’  เป็นหน่วยจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่  การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่  ธุรกิจขนาดจิ๋ว  วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน  และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่  

“การขจัดความยากจนได้นำโมเดลของประเทศจีนมาใช้ในการวางทิศทางที่จะทำนโยบาย ข้อมูล และอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะทำให้ Local Business ดำเนินการได้  ภายใต้ฐานทุนของชุมชน  แล้วประสานภาคเอกชนเข้าไปหนุนเสริมในส่วนที่ชาวบ้านทำไม่ได้”  ดร.กิตติ  ผอ.บพท. กล่าว

 ดร.กิตติกล่าวด้วยว่า  สิ่งที่ บพท. จะดำเนินการคือ ระบบข้อมูล TPMAP นำมาสู่การวิเคราะห์ฐานทุนครัวเรือน แล้วนำมาสอบทาน ในแพลตฟอร์มระดับจังหวัด  ดำเนินการใน 20 จังหวัดยากจน  มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อน  รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Local Enterprises เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการชุมชน ใช้ฐานทุนวัฒนธรรม  ที่เป็นฐานทุนที่รายใหญ่ไม่เล่น  ทำให้ Value Chain หมุนเวียนในพื้นที่เป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการจัดการห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่มีการกระจายรายได้อย่างมีธรรมาภิบาล  และเกิดการจ้างงานในชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน

ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

นาวาอากาศเอกอธิคุณ  คงมี  ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า อพท. มีภารกิจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ พื้นที่เตรียมประกาศ และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว  มีการดำเนินการบูรณาการจากทุกภาคส่วน  เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน  ดำเนินการใน 4 มิติ  คือ เศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม  มีการใช้เครื่องมือในการขับเคลื่อน  

ประกอบด้วย  การพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากล ใช้เครื่องมือ GSTC การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ตามแนวทางของ UNESCO การพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ตามมาตรฐานระดับสกล ใช้เครื่องมือ CBT Thailand ซึ่ง อพท. ทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ชวนชุมชนที่มีศักยภาพคิดค้นศักยภาพและของดีขึ้นมา ในรูปแบบ Co-Creation & Co-Own ร่วมเป็นเจ้าของ หรือ  Co-Own เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความหวงแหนร่วมกัน  ทั้งนี้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่ดี  สิ่งที่ อพท. มีเป้าหมายสำคัญคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

ตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชนที่บูนาดารา  อ.ยะริ่ง  จ.ปัตตานี  ทำรายได้เข้าสู่ชุมชนปีละหลายล้านบาท

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช. มีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรชุมชนและเครือข่ายดำเนินงาน  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม และสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทุกระดับ การขับเคลื่อนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสู่การแก้ปัญหาความยากจน ให้เครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ในการหล่อหลอมการอยู่ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น  มีการขับเคลื่อนงานผ่านประเด็นยุทธศาสตร์  

เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ  พร้อมทั้งขับเคลื่อนตามประเด็นงานสำคัญ อาทิ สวัสดิการชุมชน เช่น จ.ภูเก็ต ต่อเชื่อมกับ จ.ชัยภูมิ  ในสร้างระบบเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจและหารายได้ในการจัดสวัสดิการให้กับชุมชน  มีการซื้อข้าว แล้วขายข้าว  กำไรจากการขายข้าวก็นำมาจัดสวัสดิการชุมชน  เป็นต้น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  รวมถึงการส่งเสริมสัมมาชีพชุมชนในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนยกระดับการสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้

“การทำงานของ พอช. ทำงานหลายมิติ แต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ เช่น การท่องเที่ยว รวมถึงเศรษฐกิจ แต่เรามีต้นทุนสำคัญ  คือคน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานร่วม ตั้งแต่ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ที่ผสานพลังสำคัญ คือ รัฐ ภาคประชาชน เอกชน และท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การสานพลังความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการหนุนเสริมพี่น้องในพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญของ พอช. เพื่อหนุนเสริมให้องค์กรชุมชนมีศักยภาพเพื่อให้หลุดพ้นปัญหาสังคมและความยากจน”  ผอ.พอช. กล่าว   และว่า  นอกจากนี้  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวบ้านได้หันมาใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาตนเอง แต่ต้องเฟ้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

โครงการบ้านมั่นคงของ พอช. ช่วยลดความเหลื่อมล้ำปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย

เตรียมจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบเพื่อขยายผล

นายวชิระ  แก้วกอ  รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า SME มีการลงไปถึงวิสาหกิจชุมชน  ผู้ประกอบการชุมชน ที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง  มีการเชื่อมโยงและผลักดันให้ไปสู่จุด Micro ให้ได้  มีการปรับบทบาทหน่วยงานในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายมากขึ้น  สิ่งที่ให้ความสำคัญคือ  การทำระบบข้อมูล SME ให้มีบัตรประชาชนสำหรับ SME เพื่อให้ทราบถึงตัวตนจริงๆ ของเขา และมีการเติบโตในขั้นไหนบ้าง จะทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน

“สิ่งสำคัญที่ทำคือ SME ONE ID มีการทำให้เกิดสิทธิประโยชน์  มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ SME ACCESS การดำเนินงานของ SME ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการฐานราก  มีการ Mapping ข้อมูลฐานรากจากหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการ  มีการผลักดันให้เกิดมาตรการในสิ่งที่จะให้เกิดการเสริมความรู้ที่จำเป็นในการให้ผู้ประกอบการเป็นมืออาชีพ  มีการดำเนินการนำร่อง  มีกิจกรรมและพัฒนาที่ปรึกษาเฉพาะ  มีการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตลาด ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์”  รอง ผอ. สสว.ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำ

ทั้งนี้การประชุมร่วมกันของ 4 หน่วยงานในครั้งนี้  จะมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนร่วมกัน เช่น  การกำหนดแนวทางนโยบาย  รวมถึงทีมปฏิบัติการร่วมระหว่าง 4 หน่วยงานภาคี ซึ่งจะต้องมีการเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินการร่วมกัน  เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบและนำไปขยายผลต่อไป

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต