เวทีแลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ไทยพีบีเอส/ รวมพลังภาคี สช. สสส. พอช. สปสช. ไทยพีบีเอส ตั้งวงถอดบทเรียน “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พบประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตใหญ่มาได้คือ “พลเมืองอาสา” ด้าน นพ.ประทีป ระบุ เร่งยกระดับการทำงานสร้างเครือข่ายพลเมืองอาสาที่เป็นระบบและยั่งยืนรองรับภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนภาคียุทธศาสตร์ ไทยพีบีเอส สสส. สปสช. พอช. จัดกิจกรรม Side event ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่” และเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ปี 2564 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ โดยมีหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” เพื่อเปิดพื้นที่กลางให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันถอดบทเรียนการรับมือวิกฤตสุขภาพครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน
นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงที่สุดคือชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่อาศัยในชุมชนแออัด เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคส่วนบริการ เมื่อมีมาตรการควบคุมโรคและปิดสถานบริการ ร้านค้า โรงแรม คนกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบ
นายสยาม นนท์คำจันทร์
นายสยาม กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานครมีชุมชนอยู่ประมาณ 2,600 แห่ง ในจำนวนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน ประมาณ 2,016 ชุมชน ส่วนที่เหลือไม่มีการจดทะเบียน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐในลักษณะบุกรุก และเกินกว่า 60-70% เป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด แต่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ฉะนั้นเมื่อเกิดโควิด-19 คนกลุ่มนี้จึงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากรัฐ
“จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนผู้ที่ ‘จิตตก’ เป็น ‘จิตอาสา’ โดยชุมชน เกิดภาคชาวบ้านเข้ามาร่วมทีมดูแลโควิด-19 ในกรุงเทพฯ มากกว่า 600-700 ราย มีงบส่งตรงไปชุมชน เหล่านี้ช่วยทำให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเอง และวางแผนรับมือเฉพาะหน้าได้ มีการจัดตั้งครัวกลาง มีการจัดทำข้อมูลเป็นระบบที่ช่วยให้สามารถรับการสนับสนุนจากภายนอกได้ตรงจุด” นายสยามกล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดไประยะเวลาหนึ่ง พบว่า หน่วยบริการให้บริการเต็มศักยภาพ จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ทางสาธารณสุขที่เข้ามาช่วยรองรับสถานการณ์ เช่น ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือระบบการดูแลโดยชุมชน (Community Isolation : CI) ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น สปสช.เป็นเพียงกลไกการสนับสนุนงบประมาณ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นอยู่ในพื้นที่
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
“ขณะที่วิกฤติโควิด-19 รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระบบบริการสาธารณสุขต้องรับภาระหนัก มีประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงระบบสุขภาพไม่ได้ เราพบว่ามีกลุ่มจิตอาสา อาสาสมัคร หลากหลายกลุ่มได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือ ตรงนี้ถือเป็นกำลังที่เข้มแข็งที่ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดมาได้” ทพ.อรรถพรกล่าว
ดร.อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี นักบริหารแผนงานชำนาญการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า นอกเหนือจากผลกระทบและมุมลบจากสถานการณ์โควิด-19 เรายังเห็นโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ โดยพบว่ามีหลายคน หลายชุมชน หลายองค์กรที่มีศักยภาพ ได้ลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาในหลายระดับ ทั้งระดับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาสังคม โดยมีหลายภาคส่วนได้ลงพื้นที่ในลักษณะพี่เลี้ยง บูรณาการทรัพยากร องค์ความรู้ และเครือข่ายที่มีอยู่ หนุนเสริมการทำงานของชุมชน เพื่อให้แกนนำหรือผู้นำชุมชนสามารถให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนได้
ดร.อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี
“ความเข้มแข็งของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการพลิกวิกฤติในครั้งนี้ ชุมชนและแกนนำชุมชนต้องมีศักยภาพเพียงพอในการจะลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้ได้ ซึ่งการที่ชุมชนจะมีศักยภาพนั้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง ซึ่ งก็คือหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานประชาสังคมต่างๆ จากนี้จึงจำเป็นต้องหากลไกเชื่อมระหว่างประชาชน ผู้ป่วย หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะระบบบริการ” ดร.อนุสรณ์กล่าว
น.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส ThaiPBS กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สังคมไทยได้เปิดโอกาสให้นักสื่อสารพลเมืองร่วมสื่อสารภายใต้วิกฤตินี้อย่างแท้จริง โดยช่วงเดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงที่ประเทศไทยล็อคดาวน์ เราไม่รู้ว่าต่างจังหวัดเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขณะที่ กทม. เป็นศูนย์กลางแต่เราไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทันที เพราะมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง การเดินทาง ความกังวล และความไม่เข้าใจ นักสื่อสารพลเมืองจึงทำหน้าที่เป็นข้อต่อ เชื่อมต่อข้อจำกัดของการเดินทาง อยู่ตรงไหนก็สื่อสารกันเข้ามา ทำให้รู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
น.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง
“การสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ ทำให้เห็นประเด็นวาระที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวพลเมือง นักสื่อสารสาธารณะ แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน Facebook LINE ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากพลังสื่อโดยสมัครใจ” น.ส.วลัยลักษณ์กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากประสบการณ์ในช่วงโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สช. มีต้นทุนการทำงานกับภาคีเครือข่ายมากมาย จึงได้สานพลังการทำงานภายใต้ “แผนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” โดยการใช้มาตรการของภาคประชาชน ด้วยข้อตกลงหรือธรรมนูญที่จะมาช่วยหนุนเสริมมาตรการหลักของรัฐในการรับมือกับวิกฤต
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า แม้ระบบสุขภาพของไทยจะค่อนข้างมีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับ แต่เมื่อเกิดวิกฤตที่ซับซ้อนก็ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อน โดยเฉพาะปัญหาในเขตเมือง รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่การจัดการจะต้องบูรณาการกันมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้ต้นทุนทางทรัพยากรที่เรามี ทั้งพลังของเครือข่ายพลเมืองอาสา หรือกองทุนย่อยต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือเราจะใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรับมือปัญหาเฉพาะกิจในครั้งนี้ แปลงไปสู่การทำงานในภาวะปกติอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
“ไม่ว่าประเทศเราจะเผชิญวิกฤตอะไร ควรจะต้องมองปัญหาด้วยความหวังและอดทนที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินไปข้างหน้า และสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องใจเย็น ปล่อยให้ระบบเดินไป ผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจจะต้องไม่รีบร้อน หรือล้มกระดานกลางคัน แต่ต้องปล่อยกลไกความร่วมมือต่างๆ เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และเร่งยกระดับการทำงานสร้างเครือข่ายพลเมืองอาสาที่เป็นระบบและยั่งยืนรองรับภัยพิบัติ” นพ.ประทีปกล่าวปิดท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2
เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ
สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ