นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและคนไทยมาชิมอาหารและเรียนรู้วัฒนธรรมอ่าข่าที่มหาวิทยาลัยอ่าข่า จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้
“คนอ่าข่ามีความเชื่อและภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า วิธีการรักษาโรคที่ดีที่สุด คือ การป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค โดยกินอาหารต่างๆ ตามธรรมชาติ กินอาหารให้เป็นยา เพราะในพืชผักสมุนไพรที่เรากินเข้าไปมันจะมีสรรพคุณ มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่จะช่วยปกป้องร่างกาย เช่น ผักพลูคาวเป็นธาตุไฟให้ความร้อน คนอ่าข่าเอามากินกับน้ำพริก ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือปรับสมดุลให้ร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย หรือหากเจ็บป่วยขึ้นมาเราก็มีวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน”
อาทู่ ปอแฉ่ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่าและ ‘อ่าข่าโฮย้า’ หรือการแพทย์พื้นบ้านแบบอ่าข่าที่ อ.เมือง จ.เชียงราย เกริ่นนำ (ดู ‘อ่าข่าโฮย้า’ ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวอ่าข่า (1) ที่ https://www. thaipost.net/public-relations-news/315745/)
ด้วยอาหารและการดูแลรักษาสุขภาพที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวอ่าข่า อาทู่จึงนำสิ่งเหล่านี้มาสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยบอกเล่าวิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญาของชาวอ่าข่า จากก้นครัว ผ่านอาหาร ผ่านการแพทย์พื้นบ้าน (อ่าข่าโฮย้า) รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวอ่าข่าผลิตสินค้าต่างๆ จากป่า จากดอยสู่เมือง เพื่อให้คนที่สนใจได้มาสัมผัสและศึกษาเรียนรู้...!!
อาทู่ ปอแฉ่
ภูมิปัญญาจากก้นครัวอ่าข่า
ในอดีตบ้านเรือนของชาวอ่าข่าจะปลูกสร้างด้วยไม้ ยกพื้น พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่สับฟาก หลังคามุงด้วยหญ้าคา ไม่กั้นห้อง แต่จะแยกที่นอนเป็นฝั่งผู้ชาย ผู้หญิง และตั้งครัว-ตั้งเตาฟืนอยู่บนบ้าน เพื่อความสะดวก รวมทั้งให้ความอบอุ่น เพราะส่วนใหญ่ชาวอ่าข่าจะตั้งหมู่บ้านอยู่บนพื้นที่สูง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี
ครัวอ่าข่าจะแยกกันคนละฝั่งเหมือนกับที่นอน ครัวผู้ชาย จะเอาไว้ต้มน้ำชาดื่มเพื่อคลายหนาวและเอาไว้รับแขก รวมทั้งทำอาหาร ครัวผู้หญิง จะใช้ทำกับข้าว ต้มเหล้า (ในอดีต) ต้มอาหารให้หมู บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่อาจมีถึง 3 ครัวหรือ 3 เตา
‘อาเบี่ย ปอแฉ่’ หรือ ‘ป้าเพ็ญ’ หญิงอ่าข่าอายุ 67 ปี ชาวอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรและวัฒนธรรมของอ่าข่า บอกว่า ครัวหรือเตาไฟแบบดั้งเดิมของอ่าข่าจะตั้งอยู่ในบ้าน เป็นครัวสามเส้า ทำด้วยเหล็กเส้น ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แล้วก่อกระบะไม้สี่เหลี่ยมรองด้วยขี้เถ้าหรือดินเพื่อไม่ให้ไฟลาม ยามอากาศหนาวก็จะได้ความอบอุ่นจากเชื้อฟืนในเตา เหนือเตาไฟจะแขวนหรือตากเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด พริก มะเขือ ผักกาด ผักชี ฯลฯ
ควันไฟจากเตาจะทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้แห้ง เชื้อราหรือมดแมลงไม่มากิน เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกจึงนำเมล็ดพันธุ์มาหว่าน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งเมล็ดพันธุ์บางส่วนมาตากเก็บเอาไว้ทำพันธุ์อีก ไม่ต้องซื้อหา แต่หากเป็นเมล็ดพันธุ์จากบริษัท แม้จะสะดวก แต่ก็ต้องเสียเงินซื้อ และนำมาเก็บไว้ทำพันธุ์อีกไม่ได้
“นอกจากนี้เรายังเอาอาหารต่างๆ มาตากหรือรมควัน เช่น มะแขว่น พริก กระเทียม ปลาแห้ง เนื้อหมู ไก่ หรือเอาหมูหมักเกลือใส่ในกระบอกไม้ไผ่แขวนไว้เหนือครัวเก็บไว้กินได้นานเป็นปีเหมือนกัน” อาเบี่ยบอกวิธีการถนอมอาหารของชาวอ่าข่า
อาเบี่ย ปอแฉ่
ชาวอ่าข่ากินข้าวเจ้าเป็นหลัก และจะทำอาหารมื้อใหญ่ 2 มื้อ คือ มื้อเช้ากินก่อนไปทำงานในไร่นา และมื้อค่ำหลังจากเสร็จภารกิจประจำวัน ส่วนกลางวันจะเตรียมข้าว น้ำพริกไปกินในไร่ เก็บพืชผักจากไร่มาทำอาหาร มีหม้อ กระทะ เตาเตรียมเอาไว้ในเพิงพัก เวลากินอาหาร ชาวอ่าข่าจะกินกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ให้พ่อแม่หรือผู้อาวุโสได้ตักอาหารก่อน ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ หากมีแขกมาเยี่ยม จะให้แขกตักอาหารก่อน เป็นการให้เกียรติแขก
อาหารของอาข่าถือเป็นอาหาร ‘คลีน’ ขนานแท้ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะจะกินผักสดที่ปลูกหรือขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ผักกาดเขียว น้ำเต้า ฟักเขียว ฟักทอง บวบ ผักกูด ผักโขม หน่อไม้ หอมชู มะเขือ พริก แตง ถั่ว ฯลฯ กินกับน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกมะแขว่น น้ำพริกถั่วลิสง น้ำพริกงาขาว น้ำพริกมะเขือเทศ น้ำพริกปลา ฯลฯ หรือนำผักสดมาต้ม ทำแกงจืด ผัดผัก
หากมีเนื้อสัตว์ก็จะนำมาปรุงเป็นอาหารต่างๆ ทั้งอาหารแบบดั้งเดิมของอ่าข่า หรือทำอาหารแบบชาวเหนือ เช่น ลาบ อ่อม คั่ว ฯลฯ เป็นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม
ส่วนหมูหรือไก่จะนำมาทำอาหารตอนมีพิธีต่างๆ ถือเป็นอาหารพิเศษ ไม่กินพร่ำเพรื่อ เพราะชาวอ่าข่าจะกินข้าวกับน้ำพริกและผักเป็นหลัก หากใครเคยไปเยือนหมู่บ้านอ่าข่าจะพบเห็นคนอ้วนน้อยมาก หรือแทบจะไม่เห็นเลย (ยกเว้นผู้หญิงหลังคลอด)
อาเบี่ย บอกด้วยว่า เตาไฟถือว่ามีความสำคัญกับชีวิตของชาวอ่าข่า เพราะใช้ประกอบอาหารและให้ความอบอุ่นภายในครัวเรือน ดังนั้นชาวอาข่าจึงมีพิธีไหว้เตาไฟ รวมทั้งไหว้เครื่องครัว เช่น ไห กระทะ หม้อ ในช่วงเดือนเมษายน (ประเทศจีนและเวียดนามก็มีความเชื่อเรื่องเทพประจำครัว เพื่อให้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ จะมีพิธีเซ่นไหว้ในช่วงวันตรุษหรือขึ้นปีใหม่-ผู้เขียน) เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ นอกจากนี้ยังมีพิธีไหว้เตาไฟในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ การจุดไฟครั้งแรกในเตาใหม่ โดยนำไข่ไก่ต้มมาตั้งบนเตาสามเส้า เพื่อเซ่นไหว้
“ถ้าไม่ไหว้เตาไฟ หรือลืมไหว้ ชาวอ่าข่าเชื่อว่าจะทำให้โชคไม่ดี ครอบครัวมีปัญหา หรือมีคนเจ็บป่วย และจะได้ยินเสียงไหใส่ข้าวร้องดัง ‘หวูดๆ’ ร้องแบบโหยหวน ถือเป็นลางไม่ดี ต้องรีบทำพิธีไหว้” อาเบี่ยบอกถึงความเชื่อของชาวอ่าข่า
นอกจากนี้ ชาวอ่าข่ายังมีธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ก่อนจะทำอาหารมื้อเช้า จะต้องล้างหน้าตาให้สะอาด จากนั้นจึงทำความสะอาดรอบๆ เตาไฟ แล้วจึงจุดฟืนทำอาหารได้ หากไม่ทำตามนั้น จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดี ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลของบรรพบุรุษชาวอ่าข่า เพราะเมื่อล้างหน้าล้างตา รวมทั้งล้างมือ จะทำให้สดชื่น หายง่วง อารมณ์แจ่มใส ร่างกายสะอาด ส่วนการกวาดครัวหรือรอบๆ เตาไฟ ก็เพื่อไล่แมลงหรือสัตว์มีพิษ เช่น แมงป่อง ตะขาบ งู ที่อาจจะมาอาศัยไออุ่นจากเตา
เหนือเตาไฟจะมีเนื้อสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช แขวนเอาไว้
เครื่องเทศและอาหารปรับสมดุลร่างกาย
อาทู่ ปอแฉ่ บอกว่า ด้วยอาหารของชาวอ่าข่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารจากธรรมชาติ ประกอบด้วยพืชผักต่างๆ ที่ปลูกเอง หรือขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี จึงทำให้มีผู้คนทั่วไป ทั้งคนไทยและต่างชาติให้ความสนใจ มีรายการโทรทัศน์ เช่น ไทยพีบีเอส มาถ่ายทำและเชิญไปสาธิตการทำอาหาร จึงทำให้เรื่องราวอาหารอ่าข่าได้รับการเผยแพร่ มีคนติดต่อมาเพื่อจะชิมอาหาร ตนจึงเปิดครัวอ่าข่าขึ้นมาเพื่อทำอาหารต่างๆ รองรับผู้สนใจ โดยจะทำอาหารเป็นชุดใส่ในโตก มีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตามจำนวนของผู้กิน ราคาตั้งแต่ 600-1,500-2,500 บาท
ส่วนอาหารมีหลายอย่างให้เลือก เช่น น้ำพริกมะแขว่น น้ำพริกรากชู น้ำพริกงา น้ำพริกมะเขือเทศ กินกับผักสดต่างๆ หรือผักนึ่ง ฟักทองนึ่ง มันนึ่ง หมกปลา หมกไก่ หมกไข่ แอบหมู ยำดอกดาหลา ยำผัก ยำผักกูด แกงฟักใส่ไก่ ไก่ทอดสมุนไพร ลาบ ฯลฯ ส่วนเครื่องดื่มมีน้ำหมักสมุนไพร ชาหมักหรือ Kombucha ชาร้อน
อาหารอ่าข่าจัดมาในโตก เน้นพืชผักตามธรรมชาติ
“พืชผักต่างๆ ที่เรากินเข้าไปมันจะมีธาตุต่างๆ แตกต่างกันไป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย เช่น ผักพลูคาวเป็นธาตุไฟให้ความร้อน คนอ่าข่าเอามากินกับน้ำพริก ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย บางอย่างมีสรรพคุณเป็นยา เช่น มะแขว่น ช่วยกำจัดพยาธิ คนภาคเหนือชอบกินลาบ หลู้ หรือลาบดิบ จึงเอามะแขว่นมาใส่ในลาบ หรือเอามะแขว่นสดมากินเป็นผักแกล้ม” อาทู่ยกตัวอย่างการกินอาหารให้เป็นยา
อาทู่ขยายความว่า เครื่องเทศที่สำคัญของอ่าข่า คือ ‘มะแขว่น’ (พืชสมุนไพรตระกูลเดียวกับหมาล่าของจีน) ชาวอ่าข่าถือเป็นเครื่องเทศในครัวเรือนที่กินกันมาช้านาน เรียกว่า ‘จ่องหละ’ ใช้ปรุงอาหารต่างๆ และทำเป็นน้ำพริก เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ในป่า ต้นสูงประมาณ 5-6 เมตร ก้านดอกและเมล็ดแห้งนำมาชงเป็นชาดื่มในยามอากาศหนาว รสเผ็ดร้อนช่วยให้ร่างกายอบอุ่น กำจัดพยาธิ และช่วยให้เจริญอาหาร
‘คาวตอง’ หรือพลูคาว ชาวอ่าข่านิยมนำมากินกับน้ำพริก ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายหรือปรับสมดุล ให้ความอบอุ่น ชาวล้านนานำมากินกับลาบ ส่วนในประเทศจีนคาวตองเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการไอ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ (ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรนำคาวตองมาบรรจุแคปซูลหรือทำน้ำคาวตองจำหน่าย มีสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ และสารเควอซิทิน ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบได้)
‘หอมชู’ หรือผักชู ชาวอ่าข่า รวมทั้งคนพม่า ไทใหญ่ นิยมนำรากของหอมชูมากินเป็นผักสด แกล้มกับน้ำพริก หรือนำมาดอง เป็นพืชตระกูลเดียวกับกุยฉ่าย รากมีสีขาวอวบ ช่วยบำรุงร่างกาย ฯลฯ
ชาวต่างชาติชิมอาหารอ่าข่า มีม้านั่งตัวเล็กและโตกใส่อาหารแบบพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ของอ่าข่า
ส่งเสริมชาวอ่าข่าผลิตสินค้าจากป่าสู่เมือง
ชาวอ่าข่ามีวิถีชีวิตที่หาอยู่หากินตามธรรมชาติ ปลูกข้าวไร่ ปลูกผักต่างๆ เลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ชา กาแฟ แต่ส่วนใหญ่จะขายวัตถุดิบให้แก่พ่อค้าหรือโรงงานเพื่อนำไปแปรรูป ส่วนคนปลูกได้ผลตอบแทนกิโลกรัมละไม่กี่บาท
อาทู่ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอ่าข่า จ.เชียงราย บอกว่า มหาวิทยาลัยอ่าข่าซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาอาชีพจากฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่จึงได้ส่งเสริมให้ชาวอ่าข่านำวัตุดิบต่างๆ มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เช่น นำชาป่ามาผลิตเป็นเจลอาบน้ำ ยาสระผม มีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณ เส้นผม ครีมบำรุงใบหน้าหรือครีมหน้าเด้ง มีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ
ผลิตภัณฑ์จากชาป่า
เขาบอกว่า ชาป่าหรือ ‘ชาอ่าข่า’ ไม่ใช่ชาพันธุ์อัสสัม หรือชาอู่หลง หรือชาที่นำมาหมักเป็นใบเมี่ยง แต่เป็นชาที่เกิดและเติบโตตามธรรมชาติ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากชาพันธุ์อื่นๆ คือ ใบอ่อนจะมีสีแดง เมื่อนำมาทำชาดื่ม จะมีรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อย ดื่มแล้วจะรู้สึกเปรี้ยวที่ปลายลิ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปี้กระเปร่า ชาวอ่าข่าเรียกชานี้ว่า “อ่าข่าล้อบ่อเน้” ส่วนชาทั่วไปจะมีใบอ่อนสีเขียว และไม่มีรสเปรี้ยว
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวอ่าข่ารุ่นใหม่ผลิตหรือแปรรูปวัตถุดิบที่ชุมชนมีอยู่เพื่อนำมาขายทางออนไลน์หรือที่ ‘Akha Shop’ โดยขณะนี้มีสินค้าต่างๆ มาวางจำหน่าย เช่น กาแฟคั่วบดอินทรีย์ ชาป่า ชาเจียวกู่หลาน (หรือ ‘ปัญจขันธ์ มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมัน ฯลฯ) น้ำหมักสมุนไพร ชาหมัก (Kombucha) ดอกเก๊กฮวยแห้งอินทรีย์ สบู่ดอกเก๊กฮวย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงานจักสานอ่าข่า ตะกร้า โตกใส่อาหาร ม้านั่ง เสื้อผ้า เครื่องประดับอ่าข่า
“เมื่อก่อน ชาวบ้านจะเด็ดใบชาป่าเอามาขายเป็นใบชาสดให้พ่อค้าหรือขายส่งเข้าโรงงานจะได้ราคาไม่เกินกิโลฯ ละ 25 บาท แต่ถ้านำมาแปรรูป นำมาคั่วทำเป็นใบชาแห้งบรรจุถุง จะเพิ่มราคาได้อีกหลายเท่าตัว เช่น ชาป่าขนาด 100 กรัม ราคาขาย 50 บาท หรือกิโลกรัมละ 500 บาท มหาวิทยาลัยอ่าข่าจึงส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เป็นนวัตกรชุมชน เพื่อผลิตสินค้าหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ไม่ใช่ขายของป่าแบบเดิม”
“ตอนนี้เรากำลังคิดค้นเครื่องสีกาแฟพลังน้ำขึ้นมา เพราะชาวบ้านที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่จะใช้เครื่องสีเปลือกกาแฟที่ใช้น้ำมันเบนซิน นอกจากต้นทุนจะสูงเพราะราคาน้ำมันแพงขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดควันจากเครื่องยนต์ที่ใช้ด้วย โดยเราจะใช้พลังงานน้ำจากลำธาร หรือลำห้วย นำมาเป็นพลังงานในการหมุนเครื่องยนต์เพื่อสีเปลือกกาแฟ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย ผมตั้งเป้าว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะผลิตเครื่องสีเปลือกกาแฟต้นแบบให้เสร็จเพื่อเอามาใช้งานจริง” อาทู่บอกถึงการคิดค้นวิธีการที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตเมล็ดกาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของชาวอ่าข่า
เขาบอกในตอนท้ายว่า สินค้าต่างๆ ของชาวอ่าข่าที่ยกตัวอย่างไปนั้น ปัจจุบันมีวางจำหน่ายที่ Akha Shop ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยอ่าข่า (ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย) ถือเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญา ความรู้ รวมทั้งเป็นลานแสดงวัฒนธรรมชาวอ่าข่า หรือ ‘อ่าข่าแดข่อง’ พร้อมทั้งมีอาหารอ่าข่า การรักษาดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านอ่าข่า หรือ ‘อ่าข่าโฮย้า’ ให้ผู้ที่สนใจมาศึกษา เรียนรู้ ชิม ช้อป และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบครบวงจร !!
(ผู้ที่สนใจติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Athu Akhahome และ facebook : Akha Life University)
แม้โลกจะเปลี่ยนไปเพียงใด แต่ชาวอ่าข่ายังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ภาพ : มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต