นอกจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งมีการวางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว กฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะกฎหมายกลางต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รวมตลอดทั้งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งมีผลใช้บังคับทั้งฉบับเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ต่างก็ได้มีการวางหลักและกำหนดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ แก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหล่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคมและประเทศชาติโดยรวม อันเป็นหน้าที่และเป้าหมายสูงสุดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ดังที่มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 76 วรรคหนึ่งดังกล่าวเป็นการวางหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ก็มีฐานความคิด หรือ “ปรัชญา” (philosophy) มาจากหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเช่นเดียวกันโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและอย่างมั่นใจ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ อย่างไรก็ดี ในระยะเริ่มต้นอันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจประสบพบเจออุปสรรคและปัญหาประการต่าง ๆ อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ความคุ้นชินกับแนวทางปฏิบัติที่ทำอยู่เดิม ตลอดจนการที่ยังอาจขาดความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย หรือยังไม่ทราบแนวทางที่ชัดเจนของการปฏิบัติงานในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ ความรู้ความเข้าใจ (literacy) และทัศนคติ (mindset) ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ซึ่งจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ในการนี้ หน่วยงานกลางทั้งสี่ผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ อันได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่พระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเวียนตามมาตรา 22 ให้ทุกหน่วยงานทราบถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติทุกครึ่งเดือน การจัดการประชุม สัมมนา และการออกไปอบรมหรือบรรยายสร้างความเข้าใจให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งการจัดทำ รวบรวม และเผยแพร่คำถามที่พบบ่อย (FAQ) การจัดคลินิกให้คำปรึกษาเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์ และการจัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าว ตลอดจนการจัดทำคู่มือและวิธีปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใกล้จะดำเนินการแล้วเสร็จในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลและการให้บริการประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ หาใช่การขับเคลื่อนโดยหน่วยงานกลางทั้งสี่ดังกล่าวเท่านั้นไม่ รวมทั้งไม่ใช่การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย และการจัดทำระบบหรือแอปพลิเคชันขึ้นมาจำนวนมาก หากแต่คือ ความร่วมมือร่วมใจกันของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย ที่จะช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวภายในขอบหน้าที่และอำนาจของตนอย่างเต็มความสามารถ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยจิตใจบริการ (service mind) (เช่น การส่งต่ออีเมลที่ประชาชนส่งมาผิด ไปยังหน่วยงานหรือช่องทางที่ถูกต้องให้อย่างรวดเร็ว) ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐก็พึงขยายขอบเขตการดำเนินการดังกล่าวไปสู่การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วย เช่น การจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานราชการต่าง ๆ (ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบ
ด้วยกฎหมาย) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบที่รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ
กล่าวโดยสรุปแล้ว หากเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมใจกันปรับเปลี่ยนทัศนคติ (mindset) เปิดใจพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยทุกคนทุกฝ่ายต่างร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงปรับตัวหรือเปลี่ยนผ่านในระยะแรกนี้ โดยมุ่งยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ (people centric) กรณีย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ คือ มิติใหม่ของราชการที่อำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เสมอภาค ประหยัด โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะนำมาซึ่งสังคมที่น่าอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น (better life) ในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม
นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ