‘ตลาดลานร่มสัก’ แหล่งรองรับสินค้าจากเกษตรกรตำบลป่าอ้อและใกล้เคียง โดยนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แถวหน้าที่ 5 จากซ้าย) มาเยี่ยมชมตลาดเมื่อเร็วๆ นี้
จ.อุทัยธานี / คนตำบลป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เดินหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างพื้นที่สีเขียว สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู ปลา ส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนรุ่นใหม่ มี ‘ตลาดลานร่มสัก’ เป็นตลาดรองรับผลผลิตจากชุมชน
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทเพื่อสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนต่างๆ จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เช่น สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เปิดตลาดชุมชนรองรับผลผลิต เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย พอช.สนับสนุนชุมชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
‘คนป่าอ้อ’ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต
สมบัติ ชูมา เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี บอกว่า เครือข่ายทรัพยากร ฯ ได้ร่วมกับกลุ่มและองค์กรอื่นๆ ในตำบล ในนามของสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าอ้อ จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลป่าอ้อ’ ขึ้นมาในปี 2565 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. จำนวน 135,000 บาท มีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนบนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ โดยการสร้างและส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว สร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพ ครอบคลุมพื้นที่ 11 หมู่บ้าน รวม 1,871 ครัวเรือน
โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินงาน เช่น 1.การสำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งข้อมูลทุนทางสังคม ระบบเศรษฐกิจของชุมชน 2.นำข้อมูลมาจัดทำแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างอาชีพ 3.การเปิดตลาดชุมชนสีเขียว เพื่อรองรับผลผลิต และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ฯลฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
ตลาดชุมชน ‘ลานร่มสัก’ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เช้าถึงค่ำ
“อำเภอลานสักอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีชุมชนและหมูบ้านต่างๆ เป็นแนวกันชน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรทำไร่ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ตง หน่อไม้ฝรั่ง ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี แต่เมื่อปลูกไปแล้ว ผลผลิตขายได้ไม่คุ้มทุน ราคาพืชผลตกต่ำ แต่ต้นทุนสูง และไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ชาวบ้านมีหนี้สิน เพราะต้องกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบมาลงทุนและใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้หลายชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เราจึงชักชวนพี่น้องให้หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เหลือจึงขาย เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้” นายสมบัติบอกความเป็นมา
สร้าง ‘ไร่ 3 ชู’ เป็นต้นแบบเกษตรผสมผสาน
ไวพจน์ ชูมา อายุ 54 ปี ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลป่าอ้อ บอกว่า เมื่อก่อนตนมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ มีรายได้ดี แต่ต้องเดินทางไปรับงานทั่วประเทศ ต้องอยู่ในไซต์งานที่มีแต่ฝุ่นควัน เมื่ออายุมากขึ้นจึงไม่อยากทำงานรับเหมา จึงกลับมาทำไร่ของครอบครัวที่ตำบลป่าอ้อ อ.ล่านสัก จ.อุทัยธานี เนื้อที่ทั้งหมด 28 ไร่เศษ โดยทำเกษตรผสมผสานร่วมกับพี่สาวและน้องชาย (สมบัติ ชูมา) จึงใช้ชื่อว่า “ไร่ 3 ชู” เป็นไร่ “เปลี่ยนวิถี” เพราะต้องการเปลี่ยนวิถีการเกษตรจากเดิมที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรอินทรีย์แทนเกษตรเคมี รวมทั้งสร้างให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ให้เกษตรกรในตำบลได้มาเรียนรู้
ตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลป่าอ้อ
ในพื้นที่ 28 ไร่ มีแปลงไม้สักของครอบครัวที่ปลูกมานานกว่า 30 ปี (ปัจจุบันเป็นตลาดสีเขียว ‘ตลาดลานร่มสัก) ประมาณ 300 ต้น มีพืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร พืชอาหารต่างๆ เช่น บวบ ฟักทอง น้ำเต้า พริก มะเขือ ผักกาด คะน้า กล้วย ข้าวโพด โกโก้ ฯลฯ มีสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ ปลานิล ปลาดุก หอมขม ฯลฯ และแบ่งพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ปลูกข้าวเอาไว้กิน เรียกว่าไม่ต้องซื้อหาเพราะมีอาหารต่างๆ อยู่ครบ
เสน่ห์ อุทัยศิริ เกษตรกรตำบลป่าอ้อ บอกว่า ครอบครัวมีที่ดินทำกินเพียง 1 ไร่ จึงทำเกษตรผสมผสานแบบไร่ 3 ชู โดยปลูกผักต่างๆ เอาไว้กิน เช่น ผักกูด เลี้ยงปลาหมอชุมพรในบ่อซีเมนต์ 3 บ่อ เป็นปลาหมอที่โตเร็ว ตัวใหญ่ เลี้ยงประมาณ 3 เดือนก็นำมาเป็นอาหารและขายได้ ขนาดประมาณ 5 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม น้ำและเศษอาหารจากบ่อปลาจะนำมารดต้นไม้ ใช้แทนปุ๋ยได้ผลดี
เสน่ห์กับทุเรียนในพื้นที่เพียง 1 ไร่
รอบๆ บ้านปลูกทุเรียนหมอนทองเอาไว้กิน 8 ต้น เก็บกินและขายได้แล้ว 1 ต้น ปีที่แล้วได้ผลประมาณ 80 ลูก ชาวบ้านรู้ข่าวก็จะมาซื้อถึงบ้าน ขายกิโลฯ ละ 150 บาท มีรายได้ปีที่แล้วเกือบ 2 หมื่นบาท และมีมะยงชิดอีกหลายต้นกำลังจะให้ผล ตั้งเป้าว่าพื้นที่ 1 ไร่นี้จะทำรายได้ให้ครอบครัวปีละ 1 แสนบาท
เสน่ห์เป็นครอบครัวหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยฯ จาก พอช. โดยได้รับการสนับสนุนเป็นลูกพันธุ์ปลาหมอชุมพร นอกจากนี้ยังมีครอบครัวอื่นๆ ที่มีรายได้น้อยได้รับการสนับสนุนกลุ่มละ 10,000 บาท เพื่อนำมาจัดซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็ดไข่ ไก่ และหมู ทำให้มีอาหารเลี้ยงดูครอบครัว และยังเหลือขายเป็นรายได้
เกษตรกรตำบลป่าอ้อกับผลผลิตที่ได้จากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ
‘Madame Cocoa’ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่
สมบัติ ชูมา บอกว่า ตลาดชุมชนสีเขียว ‘ลานร่มสัก’ ตั้งอยู่ริมถนนในตำบลป่าอ้อ ห่างจากตัวอำเภอลานสักมาทางทิศตะวันตกประมาณ 7 กิโลเมตร เปิดตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ของ พอช.
เปิดจำหน่ายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า- 2 ทุ่ม เพื่อให้เกษตรกร ชาวบ้าน ในตำบลป้าอ้อและใกล้เคียงนำผลผลิตในไร่นา ครัวเรือน เน้นผลผลิตอินทรีย์ ปลอดสารเคมี อาหาร เครื่องดื่ม ขนม ตลอดจนงานฝีมือ เช่น ผ้าทอพื้นบ้าน เครื่องจักสานมาจำหน่าย ฯลฯ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ด้วย เช่น ผู้ปลูกและแปรรูปโกโก้
พรรณเพ็ญ ใจสุข เจ้าของผลิตภัณฑ์ ‘Madame Cocoa’ ผู้ปลูกโกโก้เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เล่าว่า เดิมเธอทำงานกับบริษัทผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปอีสานชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท พบว่าพืชโกโก้มีความน่าสนใจ เพราะโตไว ให้ผลผลิตเร็ว นำเมล็ดมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่ม ทำช็อกโกแลต เครื่องสำอาง ฯลฯ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเมล็ดโกโกมีสารฟลาโวนอยด์ ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ช่วยให้กระปี้กระเปร่า คลายเครียด บำรุงผิวพรรณ ฯลฯ
พรรณเพ็ญกับโกโก้แปรรูปที่ตลาดลานร่มสัก
ปี 2563 เธอเช่าที่ดินที่อำเภอห้วยคต (อยู่ติดกับอำเภอลานสัก) จำนวน 14 ไร่ ปลูกโกโก้ประมาณ 500 ต้น ปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาว โกโก้จะให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ประมาณ 2 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตสูงขึ้น ประมาณ 100 กิโลกรัม/ต้น/ปี และมีอายุยืนยาวถึง 60 ปี ผลโกโก้เมื่อสุกจะมีสีเหลือง รูปร่างและขนาดคล้ายมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ใช้เวลาตั้งแต่ติดผลจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 5 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี เดือนละ 2 ครั้ง ราคารับซื้อผลโกโก้สุกทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท หากปลูกแบบอินทรีย์ราคา 8 บาท
เมื่อผลโกโก้สุกประมาณ 80 % จะเก็บผลเพื่อนำเมล็ดข้างในมาหมัก ใช้เวลาประมาณ 7 วัน แล้วนำเมล็ดไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปคั่ว แล้วกะเทาะเปลือกออก จะได้เมล็ดโกโก้ที่พร้อมจะนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ทำโกโก้ผงเพื่อชงดื่ม ผสมทำอาหาร ขนม นำไปทำช็อกโกแลต หรือสกัดเอาน้ำมันจากเมล็ดที่คั่วเพื่อทำเครื่องสำอาง มีสรรพคุณบำรุงผิว เปลือกจากเมล็ดนำมาทำสบู่ ทำชาชงดื่ม ฯลฯ
“ตอนนี้ Madame Cocoa มีสบู่จากเมล็ดโกโก้ บัตเตอร์โกโก้ โกโก้ดาร์ก ผงโกโก้ เป็นโกโก้ 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายขนาด 200 กรัม ถุงละ 150 บาท มีขายที่ตลาดลานร่มสัก ออกบูธ ขายทางออนไลน์ และไลฟ์สด ยอดขายเดือนหนึ่งประมาณ 6-7 หมื่นบาท และมีแผนจะปลูกโกโก้ให้ได้มาตรฐานออร์แกนิค เพื่อให้โกโก้ของเราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รองรับตลาดโกโก้เมืองไทยที่ยังโตได้อีกมาก” พรรณเพ็ญบอก และว่า ในอนาคตจะพัฒนาสวนโกโก้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของจังหวัดอุทัยธานีด้วย (ผู้สนใจติดต่อได้ที่ facebook มาดามโกโก้ จ.อุทัยธานี)
นี่คือตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวตำบลป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร มีผลผลิตนำมาจำหน่ายที่ตลาดชุมชน...และยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วย...!!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา