ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ประมาณ 300 คนร่วมงานสัมมนาระหว่างวันที่ 26-28 มกราคมนี้ที่ จ.สระบุรี
สระบุรี / ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคมนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสัมมนาองค์กรประจำปี มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ทั่วประเทศประมาณ 300 คนเข้าร่วม ที่โรงแรมศุภาลัยป่าสักรีสอร์ท อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทบทวนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาผ่านระบบสื่อออนไลน์ โดยให้แนวทางการทำงานแนวใหม่ เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ได้นำแนวคิดไปปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชนและประเทศต่อไป
“เปลี่ยนผ่าน สานต่อ คน พอช. กับการทำงานแนวใหม่”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ คน พอช. กับการทำงานแนวใหม่” มีใจความสำคัญว่า เศรษฐกิจไทยที่นับวัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนจะมากขึ้นเรื่อยๆพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หากเราไม่ช่วยเขา เขาก็จะอ่อนแอ มีความทุกข์ ในพื้นที่ก็เหลือแต่คนแก่และเด็ก อยู่อย่างยากแค้นแสนลำบาก เป็นผลพวงของการพัฒนา 10-30 ปีที่ผ่านมา ที่มุ่งพัฒนาเมืองเป็นหลัก มุ่งอุตสาหกรรม คนต่างจังหวัดและภาคเกษตรก็มุ่งหน้าเข้ามาอยู่ในเมือง คนรวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ สินทรัพย์ที่มีก็เต็มไปหมด ทำให้เรามุ่งเน้นการพัฒนาจากบนสู่ข้างล่าง แต่ข้างล่างวิ่งไล่ตามไม่ทัน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ที่ดินที่อยู่ในมือชาวบ้านก็หลุดมือไปเรื่อยๆ ไปอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางในชุมชน นายทุน แล้วก็หลุดมาอยู่ในมือของคนรวย 20% ที่เป็นคนรวยถือครองที่ดิน 80% แต่คนส่วนมากถือครองที่ดินเพียง 0.25% ห่างกันเกือบ 300 เท่าตัว เงินในบัญชีมีเพียง 4,000 บาทจากฐานคนส่วนใหญ่ นี่คือความจริงในประเทศไทย ที่เราพัฒนาเป็นอย่างมาก แต่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นจำนวนมาก และต่อไปประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ไม่มีความสุข
“อยากทำงาน พอช. เพราะคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานของเรา จากบนลงล่าง แตะคนรวย สู่คนจน เราต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เวลาเราเจอแต่ละชุมชน เช่น ชุมชนไม้เรียง ชุมชนหนองสาหร่าย สุขสำราญ ตำบลดงขี้เหล็ก ทุกที่มีการรวมตัวกันของชาวบ้าน มีผู้นำเข้มแข็ง ก็จะทำให้พวกที่เอาเปรียบชาวบ้านหายไปได้ ยิ่งเรารวมตัวกันเข้มแข็งยิ่งขึ้น นำระบบใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการมีนวัตกรรม การมีอีคอมเมิร์ช กลุ่มไหนมีผู้นำดี ชุมชนก็จะเข้มแข็ง พอช.เป็นองค์กรที่รวบรวมผู้นำที่เข้มแข็งทั่วไทย และนำพาความคิดในการพึ่งพาตนเอง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยไปได้ หากจะสร้างบ้านก็ต้องให้ฐานรากของบ้านเข้มแข็ง พอช. ไปส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง จะเกิดชุมชนเข้มแข็งทั่วไป ทุกพื้นที่ ทุกตำบล ชุมชนเข้มแข็ง จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่เป็นอย่างยิ่ง” ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายในการเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด พอช.ของตน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงนโยบายเรื่องป่าชุมชนที่พอช. กำลังขับเคลื่อนทั่วประเทศว่า ได้มีการประสานและจะมีความร่วมมือกับกรมป่าไม้ เพื่อให้ชุมชนสามารถรักษาต้นไม้ เกิดภาพเกษตร 3 มิติ ในพื้นที่ 20,000 กว่าชุมชน จะทำให้เกิดพื้นที่ที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ป่าชายเลน ที่สามารถอนุรักษ์ป่าชายเลน อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ มีธนาคารปูม้า มีการจัดการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชีวิตคนก็จะสมบูรณ์มากขึ้น
“ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของชาวบ้านทั้งหมด เราจะนำแนวทางของ พอช. มาร่วมขับเคลื่อน สร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดพลังด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น การใช้ระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทำสื่อออนไลน์ ให้ พอช. ทำคลิป เว็บไซต์ เพจ เป็นแหล่งความรู้เพื่อกระจายความรู้ ความคิด ขยายสู่พื้นที่ชุมชนต่างๆ นำเสนอรูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่นั้นให้รู้จัก เป็นโรงเรียนผู้นำชุมชนในอนาคตต่อไป เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการวางระบบข้อมูลชุมชน มีระบบรายงานภาพรวมงานพัฒนา” ประธานบอร์ด พอช.กล่าว
รวมไปถึงการปรับแนวคิด เดิมเรามีงบประมาณเท่าไหร่ก็ทำแบบนั้น เป็นการทำงานแนวใหม่ สานต่อ เราต้องคิดว่าเราจะมีงานแนวใหม่แบบไหน เมื่อก่อนเรามีเงินกองทุน เรานำเงินกองทุนไปช่วยชาวบ้าน แต่พอเงินหมด ก็จะต้องไปขอสนับสนุนงบ ประมาณ แต่ทิศทางในการขอสนับสนุนงบประมาณก็ยากขั้นเรื่อยๆ แต่ก็ได้คุยกับผู้บริหาร พอช. ในการคิดและมองถึงโครงการในการให้หน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน หรือที่เขามีงบประมาณอยู่แล้วก็ไปเชื่อมโยง
เช่น กองทุนโรงไฟฟ้า ที่อาจจะต้องหาพื้นที่และโครงการที่จะไปขอสนับสนุนกองทุนดังกล่าว กองทุนพลังงาน กองทุนคนพิการ ฯลฯ มีหลายส่วนที่มีงบประมาณ พอช.ต้องออกแบบตัวเองเพื่อไปส่งเสริมให้พี่น้องชาวบ้านไปใช้งบประมาณกับเพื่อนภาคีให้ได้ ทำอย่างไรจะแสวงหางบประมาณทั้งจากหน่วยงานและเอกชนมาสมทบ บริจาคเงินเข้ามา เพื่อให้มาสนับสนุนชาวบ้าน สร้างบ้าน เช่น โครงการเก็บขยะปากแม่น้ำ ทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แล้วให้ชุมชนนำขยะคัดแยก สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้
ตั้งเป้าพัฒนา ‘คน’ ตั้งแต่เด็ก-ผู้นำชุมชน
โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เราจะต้องทำศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพ ตั้งใจทำกับชุมชนทั่วประเทศไทย หากเราทำแบบนี้ได้เราก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้ อย่างภาคเอกชน เช่น เซ็นทรัล ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ที่พร้อมสนับสนุนทั้งหนังสือ และงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นขับเคลื่อนได้เต็มแผ่นดินไทย รวมถึงแหล่งทุนจากต่างประเทศก็สามารถที่จะไปเชื่อมโยงได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) มองถึงการสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า หากทำได้เอกชนก็อยากมาร่วมสนับสนุนเราต่อไป
โรงเรียนผู้นำชุมชน เราต้องสร้างผู้นำแถว 2 แถว 3 เพื่อสร้างฐานทัพของพวกเรา นอกจากนั้นเรามีหลากหลายโครงการที่เรามองถึงการทำงานร่วม เช่น ตลาดทุน ที่จะมาส่งเสริมโครงการบ้านมั่นคง และสุดท้ายเรื่องการทำตลาดชุมชน พอช. ต้องส่งเสริมการพัฒนาสินค้าชุมชน และการตลาดชุมชน รวมถึงการทำอีคอมเมิร์ชชุมชน วิสาหกิจชุมชน ร้านค้าชุมชน ตลาดชุมชน เป็นการผนึกกำลังกับ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เป็นการทำตลาดออนไลน์ เป็นการพัฒนาแนวใหม่ เราก็จะทำให้การค้าออนไลน์นั้นดำเนินการได้ เพราะระบบเทคโนโลยีเปลี่ยน ถือเป็นแนวคิด 2 – 3 โครงการที่กำลังหารือร่วมกัน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงวาระการดำรงตำแหน่งบอร์ด พอช.ที่เหลืออยู่ประมาณ 3 ปีว่า คิดว่า 3 ปีเป็นเวลาที่ไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป ถ้าเราตั้งใจทำให้เกิดโครงการดีๆ อย่างน้อยโครงการละเดือน จะทำให้เกิด 30 โครงการ/เดือนได้เลยทันที บางโครงการพวกเรารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น ป่าชุมชน ฝายมีชีวิต ร้านค้าชุมชน สินค้าออนไลน์ บ้านมั่นคง ชุมชนริมคลอง ฯลฯ ทำอย่างไรให้โครงการของ พอช. ไปเพิ่มโอกาส และเดินหน้าไปเรื่อยๆ ถ้าทำได้ใน 2-3 ปี เราสามารถสร้างการพัฒนาแนวใหม่ เป็นการพัฒนาจากฐานราก
“อยากให้พวกเราภูมิใจที่เป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง และทั่วโลกมาดูงาน และดูสิ่งที่พวกเราทำไปนั้นเกิดประโยชน์และคุณค่ากับสังคม สิ่งที่พวกเราทำนั้นมีคุณค่าแค่ไหน ถ้าเราส่งเสริมให้พี่น้องปลูกต้นไม้ เป็นธนาคารต้นไม้ได้ เราจะสามารถตอบโจทย์ของคนเกษียณอายุ ในการสร้างความเป็นอยู่ มีเงินออมในวัยเกษียณอายุได้ หากทำให้รัฐบาลตอบโจทย์เงินบำนาญ 20 ล้านคนได้ในอนาคต อยากให้พวกเราเห็นคุณค่าของโครงการที่พวกเราส่งเสริมและดำเนินการ เพื่อเปลี่ยนผ่าน สานต่อ คน พอช. กับการทำงานแนวใหม่ต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด พอช. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอความเห็นชอบ มีวาระคราวละ 3 ปี ดร.กอบศักดิ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน และตลาดทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ฯลฯ มีความสนใจการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก
ดร.กอบศักดิ์มักได้รับเชิญจากสื่อมวลชนให้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ใช้หลัก SMART CODI พัฒนา พอช.
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวในประเด็น “การเปลี่ยนผ่าน สานต่อ คน พอช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 และการตอกย้ำแนวปฏิบัติการคนดีมีจริยธรรมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน พอช.” ตนได้มาอยู่ที่บ้านหลังนี้ (พอช.) ครบ 6 เดือน รู้สึกอบอุ่นมาก มีการต้อนรับ ดูแลเอาใจใส่ บ้านของเราบ้านไม่ใหญ่มาก ครอบครัวเราขนาดกำลังดีพอเหมาะ 300 กว่าชีวิตอยู่ 5 ภาค ได้เห็นการทำงานของพวกเราอย่างหามรุ่งหามค่ำ ได้เห็นความทุกข์จากความเจ็บป่วยของพวกเรา ตนอาสามาทำงานที่นี่ เพราะอยากเห็น พอช.เป็นศูนย์กลางขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมในการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตสู่ความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
พอช. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเกื้อหนุนพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน ในการบริหาร พอช.นั้น ตนอยากเห็นองค์กรในแบบ SMART CODI ประกอบด้วย S : ผสานพลังร่วม (Synergy) อย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic) เพื่อความยั่งยืน (Sustainable) M : กำลังคน (Manpower) มีทั้งคุณภาพและปริมาณ รวมถึงคุณธรรม (Morale) A : มุ่งผลสัมฤทธิ๋ (Achievement) และปรับตัว(Adapt) ตามบริบทของชุมชน R : สอดคล้อง (Relevant) กับชุมชน บนฐานของการปฏิบัติได้จริง (Realistic) T : มีความโปร่งใส (Transparency) ทำงานเป็นทีม (Teamwork) และใช้เทคโนโลยี (Technology)
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช.
นอกจากนี้ พอช. จะต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เราพร้อมที่จะเติบโตกับการพัฒนาประเทศไปสู่สากล เราจะทำให้ พอช. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ศึกษาดูงาน การบริการวิชาการกับสังคม ปี 2566 ตน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เริ่มจากพวกเรา และผู้นำชุมชน โดยเฉพาะพวกเรา ในช่วงแรกที่คนมาทำงานนั้นเขาต้องรู้อะไรบ้าง แล้วเมื่อเขาลงไปทำงานแล้ว เราให้น้องๆ มาคุยกันว่าได้เรียนรู้ ได้พบ ได้เจอบทเรียนอะไรแล้วนำมาสู่การพัฒนาคนต่อ รวมถึงการส่งคนของเราไปร่วมศึกษากับหน่วยงานภายนอก เช่น ไปอยู่กับกรมการพัฒนาชุมชน การไปร่วมเรียนรู้กับกรมพัฒาท้องถิ่น เป็นการวางจังหวะก้าวในการให้เห็นถึงการเจริญเติบโต
ในส่วนของผู้นำชุมชน รัฐบาลได้เปิดโอกาสและให้ภาคประชาชนได้เข้าไปร่วมในกลไก เช่น กรรมการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะต้องมีการเติมศักยภาพความรู้กับพี่น้องผู้นำนั้น เพื่อไปทำหน้าที่ร่วมกับภาครัฐในระดับจังหวัด การเป็นแหล่งดูงานจะเชื่อมโยงกับศูนย์ชุมชน ซึ่งเราจะมีการออกแบบหลักสูตรกับมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาคน
การพัฒนาข้อมูล ระบบข้อมูล เราทำไปได้เยอะแล้ว แต่ก็มีหลายเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ช่วยกันพัฒนา เราร่วมวางโครงสร้างและระบบในการทำงานที่เอื้อให้เราทำงานและเอื้อต่อการทำงานร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม ที่ถือเป็นภารกิจที่มองถึง พอช. ร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลาย และนำมาสู่การวางระบบการ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงการพัฒนา
“เรากำลังคุยเรื่องการปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่เหมาะสมมากที่สุด พอช. เป็นองค์กรแห่งความสุข ในการหนุนเสริมศักยภาพของขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมได้ เราไปด้วยกัน ไปหลายคน ไปได้ไกล พวกเราจะเดินไปด้วยกัน แบบพี่ น้อง เพื่อน มีอะไรคุยกัน คุยกันมากๆ ใช้ตัวหนังสือให้น้อยลง เปิดโอกาสให้พี่น้องได้เข้าถึงกันได้ตลอด” นายกฤษดา ผอ.พอช. กล่าวทิ้งท้าย
พอช.เดินหน้าพัฒนาชุมชนปี 2566 ใช้งบกว่า 1,200 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ 2566 (เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2565) พอช.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ รวม 1,272 ล้านบาทเศษ ประกอบด้วย 5 โครงการ คือ 1.โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย รวม 959 ล้านบาทเศษ จำนวน 29,850 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง บ้านพอเพียง การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ฯลฯ)
2.โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน รวม 233. ล้านบาทเศษ จำนวน 780 กองทุน (พัฒนาและสมทบงบกองทุนสวัสดิการชุมชนครอบคลุมสมาชิก 600,000 คน) 3. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท รวม 32. ล้านบาทเศษ จำนวน 500 ตำบล/เมือง (สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิตอาหารเพื่อยังชีพ-เลี้ยงชีพ) พัฒนาความรู้/ทักษะด้านอาชีพ
4.ผลผลิตชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง รวม 32.5500 ล้านบาท 1,050 ตำบล : (สนับสนุนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบล) 5.โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน รวม 14 ล้านบาทเศษ จำนวน 210 ตำบล/เมือง 35 เครือข่าย 7 จังหวัด ฯลฯ
ทั้งนี้โครงการต่างๆ พอช. อยู่ในระหว่างการดำเนินการสนับสนุนงบประมาณลงไปสู่ชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน และบางโครงการดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2565
การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในภาพเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจชุมชนในคลองลาดพร้าว กรุงเทพฯ ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเสร็จแล้วเกือบ 4 พันครัวเรือน
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต