เครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายเปิดวงแลกแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำแก้ปัญหาความยากจนตรงจุดและมีส่วนร่วมต้องสร้างกลไกในพื้นที่

สวนโมกข์ กทม. : เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ เครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย จัดประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 1/2566 (กลุ่มสามพราน) ในประเด็น “การขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน” โดยมีการนำเสนอและเชื่อมโยงนโยบาย รูปธรรมการพัฒนาในพื้นที่เพื่อขจัดความยากจน ได้รับเกียรติจากนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมให้ความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึง “การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนและระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)” ว่า เป็นการดำเนินการตามแนวทางนโยบายภาครัฐบาลใน 3 แนวทาง คือ แนวทางที่หนึ่ง การดำเนินโยบายระดับมหภาพ เช่น นโยบายด้านการเกษตร ช่วยกลุ่มเกษตรก ลดต้นทุน กระจายรายได้ การประกันรายได้ การประกันราคา รวมถึงการลดความเสี่ยงปัจจัยการผลิต เช่น จำนำข้าว ประกันราคาข้าว ล้างหนี้ เป็นต้น แนวทางที่สอง นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น ประเด็นการขจัดความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และแนวทางที่สาม การขจัดความยากจนอย่างแม่นยำและพุ่งเป้า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นำข้อมูลมาออกแบบนโยบายโดยเฉพาะ เป็นการเสริมเติมเต็มจากนโยบายที่ 1-2 ออกแบบเฉพาะกลุ่มหรือพื้นที่

“การขจัดความยากจนอย่างตรงจุดและมีส่วนร่วม ซึ่งจากการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอในการพัฒนาร่วมกัน คือ 1. การมีระบบข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะต้องมีการนิยามความหมายของความยากจนรวมไปถึงเกณฑ์การบ่งชี้ความยากจน รวมถึงระบบการรายงานสรุปข้อมูล Dashboard รายงานภาพรวมร่วมกันได้   2. กลไกในการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ บูรณาการในระพับพื้นที่ เชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างนโยบายกลางและนโยบายหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ BCG อันหมายรวมถึงการกำหนดวาระระดับจังหวัดร่วมกัน ที่มีกลไกทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน พร้อมทั้งการกำหนดเป้าหมายร่วม และมีเจ้าภาพในการรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหความยากจน 3. การสร้างความหวังและโอกาส โดยการใช้ความรู้ ยกระดับศักยภาพคน พัฒนาอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG ทั้งด้านความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมอบถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานใกล้ชิดชุมชนที่สามารถสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีให้กับคนจนในพื้นที่ในการสร้างอาชีพได้ 4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเชิงกลไกฐานราก และมองถึงการขจัดความยากจนข้ามรุ่น ในมิติการศึกษาที่มีการขับเคลื่อนและออกแบบร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ ให้เยาวชนชายขอบหรือตกขอบการศึกษาได้เข้าถึงการศึกษาและมีอาชีพ รวมถึงกลุ่มแรงงาน เพื่อยกระดับให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น”

นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นำเสนอ “การบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการกับการลดความยากจน” ระบุว่า การแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ยังมีข้อติดขัดในการทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการทำงานที่ซ้ำซ้อน การทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนควรจะเป็นไปในรูปแบบของการทำเชิงลึกหรือ comprehensive มากกว่าการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า เพราะการทำงานแบบเชิงลึกจะเป็นการแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จตลอดกระบวนการ เช่น การช่วยเหลือระดับครัวเรือน ซึ่งสามารถทราบและระบุถึงปัญหาแล้วนำมาสู่การวิเคราะห์และแก้ไขร่วมกัน อาจจะดำเนินการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน และมองว่าการแก้ปัญหาให้คนจนนั้นสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี ต่อเนื่อง

สำหรับการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทําแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอําเภอและตําบล พ.ศ. 2562 (One plan) ที่มีปรับปรุงกลไกการจัดทำและประสานแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ กลุ่มจังหวัด ตำบล ให้เกิดประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่  ยกระดับคุณภาพแผนในระดับพื้นที่ ให้มีลักษณะเป็นแผนเดียว One Plan กำหนดแนวทางการสนับสนุน ควบคุม และกำกับติดตามการจัดทำและประสานแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งสามารถใช้แผนดังกล่าวกระจายไปสู่ตำบล-อำเภอใกล้เคียง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินโครงการ

นางปทุมทิพย์ ม่านโคกสูง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสกลนคร นำเสนอเรื่อง “กุดบากโมเดล” รูปธรรมการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ว่า ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของจังหวัดสกลนคร เพราะมีคนยากจนมากที่สุดอยู่ที่กุดบาก มีอาชีพทำนาเป็นหลัก พึ่งพาน้ำฝนเท่านั้น หนองน้ำมีจำกัด หาของป่า ที่ดินทำกินอยู่ในเขตอุทยาน ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน อาชีพเสริมน้อยมาก ทำงานรายวัน อาชีพหลักไม่มั่นคง เยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหายาเสพติดรุนแรงมาก ปัญหาสุขภาพ โรคจิต โรค NCD

“กุดบากโมเดล” รูปธรรมการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ดำเนินการใน 5 มิติการพัฒนา ประกอบด้วย 1. การพัฒนาคุณภาพชีวิต 2. การพัฒนาบ้านน่าอยู่ 3. การยกระดับรายได้ 4. ความมั่นคงด้านทรัพยากรเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 5. นโยบายชุมชนมีส่วนร่วม ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับข้อเสนอต้นแบบนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน จาก 25 ครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย”

เติมเต็มการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า การแก้ปัญหาประเทศต้องให้ทุกภาคมีส่วนช่วยกัน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พยายามเชื่อมโยงหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ทำแบบ area appose เป็นหลัก ต้องมุ่งพัฒนาคนในพื้นที่ ให้มีความรู้ความสามารถ พึ่งตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ และต้องไม่ใช้โมเดลเดียว สร้างสำนึกความพอเพียง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ทำแบบมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน สร้างเครื่องมือที่สอดคล้องกับพื้นที่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า เรากำลังทำสงครามกับความยากจน กับความเหลื่อมล้ำ วิธีการแก้คือ ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อะไรคือกลไกที่ทำให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อะไรคือจุดเริ่มต้น ซึ่งประเทศไทยเริ่มจากความเชื่อที่ผิด เราเชื่อมั่นในการทำจากข้างบนลงข้างล่าง(top down)มากเกินไป เพราะมีหลักคิดท่า หากเริ่มจากให้ข้างบนพัฒนาไปก่อนและข้างล่างจะดีตามมา แต่สรุปว่าข้างล่างก็ไม่ตามมา ข้างล่างก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ เราต้องมองที่ฐานราก ทำเสาเข็มให้เข้มแข็งกันอย่างแท้จริง เดิมภาคชนบทหรือเกษตรกรเข้มแข็ง แต่กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาไปทำให้ความเข้มแข็งที่อยู่ข้างล่างนั้นอ่อนแอ ซึ่งควรกลับไปสู่โครงสร้างเกษตรแบบเดิมๆ ที่เลี้ยงตนเองได้เป็นทางออกสำคัญ เราต้องเอาชนะความยากจนให้ได้ก่อน ความยากจนมาจาก หนี้นอกระบบ พ่อค้าคนกลาง และทำแบบเดิมๆ ไม่ชอบเปลี่ยน

“คำตอบอยู่ที่ชุมชน ต้องไม่รอ ฉันจะทำเอง” เช่น  สถาบันการเงินชุมชน ชาวบ้านคิดเอง กองทุนสัจจะออมทรัพย์ ปุ๋ยชุมชน ป่าชุมชน ธนาคารน้ำใต้ดิน ธนาคารที่ดิน บ้านมั่นคง ตำบลเป็นหน่วยที่ไม่ใหญ่เกินไปไม่เล็กเกินไป รู้จักว่าใครเป็นใคร สิ่งสำคัญคือหาภาคีร่วมในการทำงาน ต้องจับมือกับเอกชน 1 ตำบล 1 บริษัทเล็กๆ เข้มแข็งจากฐานราก เอาคนที่ใช่ไปช่วย ทำ e-commerce ชุมชน เป็นต้น”

ด้าน นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ทำงานกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ใน 10 จังหวัดนำร่อง และขยายผลไปอีก 10 จังหวัด รวมเป็น 20 จังหวัด ในการศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ใช้ TPMAP เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มีครัวเรือนตกหล่นจำนวนมาก ซึ่งได้ส่งต่อข้อมูลคนจนที่พบจากการศึกษาวิจัยในพื้นที่ร่วมกับภาคี และส่งต่อให้กับ พมจ. และหน่วยงานอื่นๆ ในการช่วยเหลือ และจากการศึกษาวิจัยมหาวิทยาลัยได้มีการสร้างโมเดลแก้จน เช่น การส่งเสริมสมุนไพร เช่น ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ส่งเสริมเรื่องมะระขี้นก จังหวัดบุรีรัมย์ ทำเรื่องรถพุ่มพวง เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้คนจนในพื้นที่ พืชกระจูดที่พัทลุง ที่ให้ผู้ประกอบการส่งเสริมให้คนจนทำอาชีพปลูกกระจูด ทำกระเป๋าจากกระจูดจำหน่าย รวมไปถึงการทำกองทุนข้าวปันสุข รื้อฟื้นระบบธนาคารข้าว ให้คนจนได้ยืมข้าวและเอามาคืน ลุงหุ้นข้าวกับโรงสีวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

“การทำงานต้องวิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stake holder) ในพื้นที่ และหาภาคีร่วมคือภาคเอกชน ว่าในจังหวัดนั้นๆ มีหน่วยงานอะไรขับเคลื่อนเรื่องความยากจนอยู่ นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญคือสถาบันวิชาการ เพราะมีงานวิจัย นวัตกรรมจำนวนมาก พอช. เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน พอช. ขาดงานวิชาการที่จะมาหนุนเสริม ขาดภาคเอกชน แต่เราจะสร้างแฟลตฟอร์มกลางมาทำงานด้วยกัน หลักการทำงานคือการเสริมพลังกัน”

จากเวทีวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 1/2566 (กลุ่มสามพราน) ในประเด็น “การขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน” โดยมีการนำเสนอและเชื่อมโยงนโยบาย รูปธรรมการพัฒนาในพื้นที่เพื่อขจัดความยากจน ทำให้เห็นถึงการถกวาระที่เชื่อมโยงตั้งแต่การกำหนดนโยบาย และนำมาสู่การขับเคลื่อน ซึ่งบทสะท้อนที่สำคัญในเวทีดังกล่าวคือ การใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อน ร่วมขับเคลื่อนกลไก ที่จะนำมาสู่การกำหนดวาระ กำหนดแผน กำหนดเป้าหมาย และสร้างรูปธรรมร่วมกันเพื่อขจัดความยากจนได้หลากหลายมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อให้สังคมหรือชุมชนไทยนั้นหลุดพ้นจากความยากจนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา