ตลาดลานร่มสักเริ่มเปิดตลาดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา บรรยากาศรมรื่น อากาศเย็นสบายใต้ต้นสัก
‘ตลาดลานร่มสัก’ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอลานสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นตลาดที่จำหน่ายสินค้าจากชุมชน เน้นอาหาร พืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมี หรือปลูกแบบอินทรีย์ เป็น ‘ตลาดสีเขียว’ ที่ให้ชาวบ้านนำผลผลิตของตนมาวางจำหน่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังมีเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า ผ้าทอกะเหรี่ยง ฯลฯ เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
จากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์
สมบัติ ชูมา เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน จ.อุทัยธานี บอกว่า อำเภอลานสักอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ประกาศเขตฯ เมื่อปี 2515) ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มะม่วงหิมพานต์ หน่อไม้ไผ่ตง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ แต่ยิ่งปลูกยิ่งมีหนี้สิน เพราะพืชพวกนี้ต้องใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ขณะที่พืชผลราคาตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านขายพืชผลไม่คุ้มทุน ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทั้ง ธ.ก.ส. และพ่อค้านายทุนเพื่อนำเงินมาจับจ่ายหมุนเวียนในครอบครัว
เขาบอกว่า ครอบครัวของเขาก็ไม่ต่างจากชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวมานานหลายสิบปี จนเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน เขาและพี่น้องในครอบครัวจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยวที่จำเป็น ต้องใช้สารเคมีหันมาทำวนเกษตร ปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี โดยแบ่งเนื้อที่บางส่วนจากพื้นที่เกษตรทั้งหมดประมาณ 28 ไร่มาทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ชื่อไร่แห่งนี้ว่า ‘ไร่เปลี่ยนวิถี’
สมบัติ ชูมา ในไร่เปลี่ยนวิถี
“ผมเน้นทำเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายก็เพื่อทำแปลงเกษตรให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เป็นแหล่งเรียนรู้ และขยายผลไปยังชาวบ้านรายอื่นๆ เพราะแถวนี้ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือข้าวโพดและมันสำปะหลังกันเยอะ แต่พืชพวกนี้ ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้ ต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาลงทุน นานวันดินก็เสื่อม หนี้ก็เพิ่ม ผมจึงอยากจะเปลี่ยนวิธีคิด จึงมาทำ ‘ไร่เปลี่ยนวิถี’ ให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง” สมบัติพูดถึงการเปลี่ยนวิถีการผลิต
ในไร่เปลี่ยนวิถี มีต้นสักใหญ่โตพอที่จะทำเสาเรือนได้ประมาณ 300 ต้น ครอบครัวของเขาปลูกเมื่อราว 30 ปีก่อน และยางนาขนาดพอๆ กันอีก 90 ต้น ส่วนแปลงเกษตรด้านล่าง มีสมุนไพรต่างๆ ที่สำคัญ คือ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่เพาะเอาไว้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะแพร่กระจายในปี 2563-2564 ประมาณ 3,000 ต้น เขาขายกล้าฟ้าทะลายโจรไปแล้วกว่า 1,000 ต้น ในราคากล้าละ 10 บาท
นอกจากนั้นก็มีผักที่ปลูกเพื่อกินและขาย เช่น ผักกาด คะน้าฮ่องกง ผักสลัด ฟัก แฟง น้ำเต้า บวบ มะระขี้นก แตงกวา ฟักทอง ผักกูด ไผ่ หน่อไม้ กระทือ ขิง ข่า พริกขี้หนู มะนาว ตะไคร้ มีไม้ผล เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ส้มโอ ทุเรียน มะยงชิด ลำไย แก้วมังกร มะขามยักษ์ สับปะรด โกโก้ และแปลงนาที่พี่สาวของเขาปลูกข้าวเอาไว้กินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ
นั่นเป็นอาหารบนพื้นดิน ส่วนในน้ำก็มีปลาดุก ปลานิลที่เลี้ยงในบ่อ อยากจะกินเมื่อไหร่ก็แค่เอาสวิงมาตัก จะปิ้งย่าง ต้ม แกง ก็กินได้สนิทปาก เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่มีหัวอาหารหรือสารเคมีไปเร่งให้โต มีเป็ด ไก่พื้นบ้านหลายสายพันธุ์ มีหอยขมที่เลี้ยงในตาข่ายไนล่อน 30 ตาข่าย เอาทางมะพร้าวใส่ลงไปเพื่อให้เป็นบ้านหอย มัดปากถุงแล้วแช่ลงในบ่อ หอยขมจะกินเศษซากพืชที่เน่าเปื่อย ราวๆ 3 เดือนก็จับมากินหรือขายได้ ราคาขายกิโลกรัมละ 40-50 บาท
“เรื่องรายได้ยังไม่แน่นอน เพราะผมเพิ่งจะมาฟื้นฟูไร่เปลี่ยนวิถีได้ไม่กี่ปี แต่ผมมองว่าเรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง เพราะเรามีอาหารกินอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อหา ยกเว้นพวกกะปิ น้ำปลา น้ำมัน น้ำตาล ข้าวไม่พอเราก็ต้องซื้อ แต่ที่สำคัญคือเราได้กินอาหารที่เราปลูกเอง เป็นอาหารจากธรรมชาติ ได้อยู่กับธรรมชาติ เน้นความสุขมากกว่าเรื่องเงิน” สมบัติบอกถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
สมาชิกในไร่เปลี่ยนวิถีและเพื่อนบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์
นอกจากสมบัติจะทำไร่เปลี่ยนวิถีให้เป็นไร่ตัวอย่างแล้ว เขายังชักชวนเพื่อนบ้านคนอื่นๆ เช่น ‘เสน่ห์ อุทัยสิริ’ หนุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งมีพื้นที่ทำกินเพียง 1 ไร่ และอยู่ห่างจากไร่เปลี่ยนวิถีเพียง 1 กิโลเมตร ให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบเขาด้วย
เสน่ห์ บอกว่า เขาใช้พื้นที่ 1 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางของไร่เปลี่ยนวิถี เช่น ปลูกมะยงชิด มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียนหมอนทอง เลี้ยงปลาหมอชุมพร 1 บ่อซีเมนต์ (บ่อวง) และปลาดุก 3 บ่อ เอาไว้กินและขาย น้ำจากบ่อเลี้ยงปลาที่มีมูลปลาและเศษอาหารก็จะนำมาใช้รดต้นทุเรียน เป็นปุ๋ยชั้นดี ไม่ต้องใช้สารเคมี
“ผมตั้งเป้าว่า พื้นที่ 1 ไร่ ปีนึงจะทำเงินให้ได้ 1 แสนบาท แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำให้ครอบครัวเราอยู่ได้ อยากจะกินอะไรก็ปลูกหรือเลี้ยงเอาเอง หน้าฝนก็จะเข้าป่าไปเก็บเห็ดโคนเอามากิน ถ้ามีมากก็เอาไปขาย โลละหลายร้อยบาท ทุเรียนก็มี มะยงชิดก็เพิ่งออก ได้ผลผลิตยังไม่มากเพราะไม่ได้ใช้สารเคมีเร่ง ปีต่อไปคงจะได้มากกว่านี้” หนุ่มกะเหรี่ยงตั้งเป้าหมาย
เสน่ห์ หนุ่มกะเหรี่ยง อยากปลูกทุเรียนเอาไว้กินเอง เพราะเคยควักเงินซื้อลูกละ 500 บาทแต่ไม่พอกินทั้งครอบครัว ตอนนี้เขามีรายได้จากทุเรียนปีละหลายหมื่นบาท
จากแปลงเกษตรสู่ ‘ตลาดลานร่มสัก’
ในปี 2563 หลังจากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอาจตกงาน ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ต้องกลับภูมิลำเนาเดิม ฯลฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีโครงการสนับสนุนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย พอช.จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง สร้างแหล่งอาหาร เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
ในปี 2565 หลังจากที่แนวคิดการทำเกษตรผสมผสาน เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแพร่หลายในพื้นที่ตำบลป่าอ้อแล้ว สมบัติจึงร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในตำบล เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบลป่าอ้อ เครือข่ายวนเกษตรตำบลป่าอ้อ เครือข่ายเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน ฯลฯ จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลป่าอ้อ’ ขึ้นมา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. จำนวน 135,000 บาท
โครงการดังกล่าวมีกิจกรรมต่างๆ เช่น 1.การสำรวจข้อมูล การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน กลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย/กลุ่มเปราะบาง และผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่นๆ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลทุนทางสังคม ระบบเศรษฐกิจชุมชน 2.การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่ในทุกมิติ 3.การพัฒนาพื้นที่รูปธรรมบนฐานทรัพยากรและเศรษฐกิจสีเขียว และการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพในชุมชน 4.การจัดการตลาดชุมชนสีเขียว และพื้นที่รูปธรรมต้นแบบด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพในชุมชน ฯลฯ เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2565 (ตลาดสีเขียวเปิดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน)
สมบัติ ชูมา ในฐานะคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ บอกว่า โครงการดังกล่าวนี้ถือเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ คือ 1.ต้นน้ำ คือ ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เอาไว้กินและขาย เป็นการลดรายจ่าย
2.กลางน้ำ คือสร้างตลาดสีเขียวหรือ ‘ตลาดลานร่มสัก’ ให้ชาวบ้านนำเอาผลผลิตทางการเกษตรหรือในครัวเรือนมาขาย และแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และ 3.ปลายน้ำ คือ การพัฒนาช่องทางการการตลาด การขาย การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อกระจายสินค้า ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรแปรรูป เช่น กระชายดำ ว่านสาวหลง
สมบัติบอกว่า เป้าหมายของโครงการนี้และการสร้างตลาดสีเขียว เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยในตำบลเกิดการพัฒนาด้านการเกษตร สู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนอย่างน้อย 100 ครัวเรือน และเกิดผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ 20 คน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นที่รูปธรรมต้นแบบและครัวเรือนต้นแบบ ด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน รวม 100 ครัวเรือน
“ตลาดลานร่มสักเปิดขายทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น วันธรรมดาใครที่สะดวกก็มาค้าขายได้ มีอาหารหลากหลาย พืชผักตามฤดูกาล เราจะเน้นให้ปลูกแบบอินทรีย์ มีการไปตรวจแปลงปลูก เพื่อออกใบรับรองผลผลิตว่าเป็นผลผลิตอินทรีย์ เราจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแลนด์มาร์คของอำเภอลานสัก คนที่มาเที่ยวชมธรรมชาติที่ห้วยขาแข้งก็มาเที่ยวที่นี่ได้” สมบัติบอกถึงแผนงานและเป้าหมายที่วางเอาไว้
สมบัติ ชูมา (ที่ 4 จากซ้าย) และผู้มาเยี่ยมชมตลาด
ภาพ : ตลาดลานร่มสัก
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต