ถอดบทเรียน “พลังองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19”

ชุมชนบ้านมั่นคงกัลญานมิตร  บางซื่อ  กรุงเทพฯ  แจกอุปกรณ์ป้องกันและอาหารให้ชาวชุมชน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ในประเทศไทย  ตั้งแต่ปี 2563  จนถึงปัจจุบัน  ทำให้หน่วยงาน  และองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านชุมชนและสังคม  ตลอดจนผู้นำชุมชนและท้องถิ่น  ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำด้านสุขภาวะ  ต้องลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาโควิด-19  แบบ “ตกกระไดพลอยโจน”  จากความไม่รู้  กลายเป็นการเรียนรู้  จากความตื่นตระหนก  กลายเป็นความตื่นรู้  และร่วมมือกันป้องกัน  ลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้

ประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานดังกล่าว  นำมาสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘พลังองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  ผ่านระบบการประชุม Zoom  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ผู้นำชุมชนและท้องถิ่นเข้าร่วม  

วทีถอดบทเรียนเมื่อ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา

สิ่งที่ได้และข้อสังเกตจากการทำงานของชุมชนในการรับมือโควิด-19

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ (รักษาการ ผอ.พอช.) เปิดประเด็นว่า  เรื่องโควิด-19  เป็นโจทย์ร่วมว่า  ทำอย่างไรจะให้เกิดการแก้ไขปัญหาของประชาชน ?  ส่วนโควิดระยะที่ 2-3 มองว่า ท่ามกลางวิกฤตจากความทุกข์ของพี่น้องประชาชน  จะใช้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงงานกับภาคีที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร

“เรื่องโควิด-19  ระยะแรก  มีการพูดคุยเรื่องการตั้งศูนย์ปฏิบัติการของประชาชน  ระยะที่ 2 แก้ไขปัญหาเข้าถึงชุมชน  มีการปรับงบประมาณ พอช. 144.25  ล้านบาท  เพื่อนำไปสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  ระยะที่ 3  แปลงงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท  จัดระบบข้อบังคับให้ยืดหยุ่น  ให้ประชาชนเป็นหลักในการขับเคลื่อน  การปรับงบประมาณงานประเด็นต่าง ๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”  นายปฏิภาณกล่าว

พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชมรมแพทย์ชนบทจัดตรวจคัดกรองโควิดให้แก่ชาวชุมชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564

นางสาวณัฐวดี  สัตนันท์  ผู้วิจัยโครงการศึกษาและประเมินผลการทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทในสถานการณ์ covid-19  ซึ่งได้ศึกษาพื้นที่ 12 ชุมชน  เช่น  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  เครือข่ายเมืองคลองเตย  กรุงเทพฯ  สภาองค์กรชุมชนตำบลไล่โว่  จ.กาญจนบุรี  สภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร  จ.สุราษฎร์ธานี  เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น   ฯลฯ   กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการศึกษาโครงการนี้ว่า

โควิดระยะที่ 1  พอช. อนุมัติงบประมาณ 144.25 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง จำนวน  300 ชุมชน  และเครือข่ายบ้านมั่นคงในชนบท 1,500 ชุมชน

โควิดระยะที่ 3 อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 สู่การเข้าถึงชุมชนบุกรุก  ชุมชนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ให้ครอบคลุมทั้งเขต/เมืองใน กทม. ปทุมธานี  นนทบุรี  และสมุทรปราการ  ระดับเครือข่ายเมือง 63 พื้นที่  และระดับชุมชน 737 พื้นที่ 

ปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  5 ลำดับแรกที่พบ  ได้แก่ 1.หนี้สิน  2.ความรู้ในการรับมือกับโรคระบาดใหม่ 3.การดำเนินมาตรการกักตัว 4.จำนวนคนตกงาน/ว่างงาน 5.ความเพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันการระบาดของโรค

ชุมชนวัดบางบอน  กรุงเทพฯ  นำงบสนับสนุนจาก พอช.ไปจัดหาสินค้าจำเป็นมาจำหน่ายราคาถูกแก่ชาวชุมชน

ข้อสังเกตที่พบ  ความเครียด  กังวลใจของเครือข่าย/ชุมชน  ได้แก่ 1.รายได้ การประกอบอาชีพของสมาชิก 2.หนี้สินที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้  3.สุขภาพ สุขภาวะในชุมชน  4.ผู้เปราะบาง  ผู้สูงอายุ  เยาวชน  และ  5.อาหารและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

กิจกรรมระยะเร่งด่วน  1.เผยแพร่ความรู้และการป้องกันตนเองให้แก่คนในชุมชน  2.สำรวจข้อมูลความเดือดร้อน  3.ผลิตและแจกจ่ายหน้ากาก   4.จัดทำแผน   5.คลังอาหารชุมชน 

กิจกรรมระยะฟื้นฟู  1.การเกษตร  ผักสวนครัว  เพาะเห็ด  2.ทักษะการประกอบอาชีพ อาชีพเสริม   3. รวมกลุ่มอาชีพ  กลุ่มแปรรูป  4.ฟื้นฟูตลาดชุมชน   5.กองทุนชุมชน  กองทุนข้าวสาร  กองทุนอาหาร

แผนระยะยาว จัดทำแผนพัฒนา  จัดตั้งกองทุน  เชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ

การต่อยอดโครงการ  เช่น   เครือข่ายวังทองหลาง กรุงเทพฯ ฐานข้อมูลชุมชนที่มีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นข้อมูลที่นำมาใช้ในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่และจัดทำศูนย์พักคอย ระบบชุมชนดูแลกันเอง 

สภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร จ.สุราษฎร์ธานี ขับเคลื่อนวิถี “ข้าว ยา ปลา มี”  มีการพัฒนาและศึกษาวิธีการผลิต/สกัดสารเพื่อทำยาจากสมุนไพรพื้นบ้าน 

กิจกรรมระดับเครือข่ายเมือง  ตั้งศูนย์ประสานงาน Covid-19  สำรวจและจัดทำฐานข้อมูล เชื่อมโยงเครือข่ายเมือง  จัดหาและแจกถุงยังชีพ  ประชุมกำหนดทิศทางและแนวทางการแก้ไขปัญหา

กิจกรรมระดับชุมชน จัดซื้อ จัดหา ถุงยังชีพ  สำรวจข้อมูลชุมชน  จัดทำแผนผังชุมชน  ทำความสะอาดและฉีดยาฆ่าเชื้อในชุมชน   จัดตั้งครัวกลาง  ทำและแจกจ่ายอาหาร  ให้ความรู้การป้องกันการแพร่และติดเชื้อ

งานช่วยเหลือเฉพาะหน้า  จัดตั้งครัวกลาง  ร้านค้าชุมชน

งานป้องกันโรคและจัดการผู้ป่วยติดเชื้อ  จัดตั้งศูนย์ประสานงานโควิดระดับพื้นที่  ทำ Home Isolation  ศูนย์พักคอย Community Isolation (CI) ระดับชุมชน/เขต

จัดทำ CI โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ

เตรียมชุมชนรับมือกับวิกฤตโควิด

นางสาวนพพรรณ  พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  กล่าวว่า  การทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คนไร้บ้าน  งานที่ทำ 3 เรื่องใหญ่  คือ 1. เรื่องการจัดระบบชุมชนในการรับมือโควิด  2.การสนับสนุนเรื่องอาชีพ  อาหาร  การลดรายจ่าย  ผักสวนครัว  การทำตลาด  ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในชุมชน  3.การสำรวจข้อมูลทำหลายรอบ   ภายหลังจะจัดทำฐานข้อมูลและสำรวจขนาดใหญ่ครั้งเดียว  สามารถนำไปใช้ได้เลย จะพัฒนาเป็น Application ในการเก็บข้อมูล

“ผลจากการถอดบทเรียน  พบว่า  บทบาทชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลจัดการโควิดต้องดำเนินการ ดังนี้  1. การสร้างความเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันแบบเข้าใจ  ไม่ตีตรากัน   2.การส่งเสริมให้เข้าถึงวัคซีนในชุมชน  3.การดูแลคนและเข้าถึงคนที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ  4.ดูแลคนที่ติดเชื้อเพื่อเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว   เน้นไปที่ระบบ Home Isolation  กรณีรุนแรงส่งต่อไปที่สถานพยาบาล  ทำงานร่วมกับภาคีที่เราจับคู่ คือ  คลีนิคพริบตา  และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ  เครือข่ายเข้าถึงเอดส์มาร่วมทำงานด้วย” นางสาวนพพรรณบอก 

เธอบอกถึงการเตรียมชุมชนให้มีความพร้อมว่า  1.เตรียมแกนนำชุมชน  ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิด ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง  เพราะความรู้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์  2.วิเคราะห์สถานการณ์ ความเสี่ยงของชุมชน  ต้องทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนการรับมือ   3.ประชุมทำความเข้าใจกับชุมชนและชุมชนรอบข้างด้วย  

4.สำรวจพื้นที่ในชุมชนว่าในชุมชนมีพื้นที่ในการทำศูนย์พักคอยหรือไม่  เพื่อแยกคนที่มีความเสี่ยงสูงออกมา  ใช้พื้นที่ชุมชนให้เกิดประโยชน์ 5.ต้องมีคลังยาหรืออุปกรณ์สำรองไว้ที่ชุมชน   6.ต้องพัฒนาศักยภาพแกนนำ  ทีมดูแลผู้ป่วย ทีมสนับสนุนอาหาร  ทีมรับ-ส่งผู้ป่วย  ทีมประสานงานหน่วยงาน  การทำความสะอาดสถานที่

7.จัดให้มีระบบการคัดกรอง โดยวิธีการตรวจแบบเร็ว ATK โดยฝึกให้ชุมชนตรวจได้เอง จะได้รู้ว่าใครเสี่ยง  จะได้แยกตัวได้  จัดการเข้าถึงระบบการรักษา  ลดการแพร่กระจายเชื้อ  ชุมชนสามารถควบคุมเรื่องการติดเชื้อได้   8. ต้องมีช่องทางการเข้าถึงการรักษาผู้ติดเชื้อ

ชมรมแพทย์ชนบทจัดทีมตรวจโควิดเชิงรุกชุมชนในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 

โควิดกับคนไร้บ้าน

ส่วนกลุ่มคนไร้บ้านนั้น  นางสาวนพพรรณบอกว่า ต้องพัฒนาช่องทางที่จะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงการช่วยเหลือ การบริการ การรักษาพยาบาลได้โดยง่าย โดยได้ประสานหน่วยงานจัดตั้งจุดประสานงานคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ  ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงได้ง่าย  มีอาหาร  อุปกรณ์การป้องกันการติดเชื้อ  การฉีดวัคซีน  การคัดกรอง  หากเจ็บป่วยจะเข้าถึงสถานพยาบาลอย่างไร ?  โดยจัดทำขึ้นในหลายจังหวัด  เช่น  ระยอง  เชียงใหม่ 

“จากการทำงาน พบว่าชุมชนมีศักยภาพในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ได้  หากหน่วยงานในระบบสาธารณสุขสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการเรื่องนี้ จะทำให้จัดการชุมชนได้เป็นอย่างดี และลดภาระของหน่วยบริการได้ และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว”  เธอบอก  และว่ากรณีคนไร้บ้านปัญหาสำคัญ  คือ  ปัญหาเรื่องอาชีพ  เรื่องรายได้  จึงสนับสนุนเรื่องอาชีพ  การปลูกผักสวนครัว  ให้เขามีพื้นที่ในการขายของ  ตอนนี้อาชีพที่สำคัญที่ทำได้ คือ อาชีพยาม ทำให้คนไร้บ้านมีอาชีพมากขึ้น 

“นอกจากนี้ปัญหาสำคัญ  คือ เรื่องความคิดความเชื่อของคนในชุมชน  รวมทั้งผู้ให้บริการด้วย  หากเจ็บป่วยต้องไปสถานพยาบาล ไปหาหมอ หรือบุคลากรทางวิชาชีพเท่านั้นที่จะต้องดูแลเรื่องนี้  เวลาที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการก็จะไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร  หรือการทำงานร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ ที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานสาธารณสุขอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ อาจเพราะเป็นเรื่องใหม่  ที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ จะเจอกับวิธีคิดแบบเดิม ๆ  ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์ในการขยายผล และต่อสู้กับวิธีคิดในเรื่องนี้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและลุกขึ้นมาจัดการให้ได้  หากเขาจัดการเรื่องนี้ได้เขาก็สามารถจัดการในหลาย ๆ เรื่องได้” เธอย้ำ

เจ้าหน้าที่ พอช. นำพืชผัก  อาหารที่ได้รับจากพี่น้องชุมชนในต่างจังหวัดมาแบ่งปันกลุ่มคนไร้บ้านที่บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี

บทบาท พอช.

นางสาวสุมล  ยางสูง หัวหน้าสำนักสินเชื่อ  พอช. บอกว่า  ในช่วงสถานการณ์โควิด พอช.ทำเรื่องการพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรที่ใช้สินเชื่อ (ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านของชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์เคหสถาน) เพื่อช่วยเหลือประชาชน  โดยไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  ทำให้หลายสหกรณ์บรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกได้ 

“นอกจากนี้ พอช.ยังเฉลี่ยคืนดอกเบี้ยที่ พอช.ได้รับกลับคืนไปสู่ชุมชน  เช่น  ที่จังหวัดตาก  สหกรณ์นำดอกเบี้ยที่ พอช.เฉลี่ยคืนไปซื้อข้าวสารอาหารแห้งไปแจกจ่ายให้แก่สมาชิก  ทำให้ช่วยเหลือสมาชิกได้มาก  ขณะที่เจ้าหน้าที่ พอช.ในช่วงสถานการณ์โควิดก็อาจจะเกิดความกลัว  พอได้ก้าวผ่าน  ได้เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน  ทำให้เกิดความรู้สึกดีที่ได้ช่วย ได้ไปรับรู้  ความทุกข์ของพี่น้อง”  หัวหน้าสำนักสินเชื่อ พอช.บอก

นายประพัฒน์  แซ่ฉั่ว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน  พอช.  บอกว่า  กรณีพื้นที่ชุมชนคลองเตย พี่น้องชุมชนมาร่วมประชุมกับเรา   อยากให้ชุมชนได้พูดเรื่องของตัวเอง  ผลที่เกิดขึ้น  คือ พี่น้องชุมชนรู้จักตัวเองมากขึ้น   มีการทำแผนที่ชุมชน  ทำให้รู้ว่ามีคนป่วยอยู่บริเวณไหน ใครจะเป็นคนดูแล  พอมีข้อมูล ทำให้เชื่อมโยงหน่วยงานได้มากขึ้น  ทำให้พี่น้องเข้าถึงการช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น  

นางสาวณัฐณิชา  อิ่มพันธ์ สถาปนิกชุมชน พอช. บอกว่า  คนที่ขับเคลื่อนหลักจะเป็นพี่ ๆ ในชุมชนที่รวมตัวกัน ลุกขึ้นมาจัดการปัญหา เช่น จัดทำจุดพักคอย  จุดคัดกรอง เชื่อมโยงเอกชนในการมอบของใช้ที่จำเป็น  และทำหลาย ๆ เรื่องไปพร้อมกัน  และทำข้อมูลสถานการณ์โควิดรายวันด้วย  มีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น  สปสช. สช.  กลุ่มเส้นด้าย 

“บทบาทของ พอช. เราช่วยกันเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงาน  เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ให้พี่น้องได้ดำเนินการ ปลุกพลังพี่น้อง  พี่น้องเป็นแกนหลักในการจัดการตนเอง  ตัวอย่างกรณีชุมชนราชเทวี  ทำระบบค่อนข้างจะดี  ชุมชนติดต่อตรงกับโรงพยาบาลได้เลย”  สถาปนิก พอช.บอก

ประสบการณ์จากกรุงเทพฯ และภาคตะวันตก

นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ  ผู้นำชุมชนคลองเตย  บอกว่า  ในคลองเตยมีหลายกลุ่มมาช่วยกันทำงาน  เช่น  พระเปิดศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน  รองรับได้ 500   คน  มีกลุ่มคลองเตย D จัง  ช่วยบันทึกข้อมูลคนป่วย   มีพยาบาลอาสาเก็บข้อมูล จนมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยเหลือ  ได้รับงบประมาณจาก พอช. มาส่งเสริมเรื่องอาชีพ  ไปซื้อปลาสดจากตลาดที่ขายไม่ได้มาทำปลาส้มให้ชาวบ้านหลายคนที่เข้าไม่ถึงโครงการของรัฐต่างๆ เพื่อให้มีอาชีพ  มีรายได้  และงบประมาณส่วนหนึ่งนำไปพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกับจิตอาสาประมาณ 20 คน

นางนุจรี  พันธ์โสม  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ   บอกว่า  สถานการณ์โควิด  เครือข่ายวังทองหลาง ใช้เครื่องมือ  ประเด็นงานบ้านมั่นคง  กองทุนสะสมทรัพย์  ประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ  ในระยะเร่งด่วนมีครัวกลาง   มีกองทุนสวัสดิการวันละบาท ทำงานภายใต้สภาองค์กรชุมชน  หลังจากช่วยเหลือสมาชิกพบว่า ทุนเริ่มลด เราไม่น่าจะช่วยเหลือพี่น้องได้  จึงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9  มาใช้  มีเงื่อนไขว่า ให้พี่น้องทำบัญชีครัวเรือน  หากใครเดือดร้อนให้ถือบัญชีครัวเรือนมาแลกข้าวแลกอาหาร

ปี 2564 วังทองหลาง พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่  สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางได้ประสานทุกหน่วยงาน เช่น สช.  สนง.เขต  เพราะเราไม่มีความรู้เลย  ไม่รู้ว่าดำเนินการแล้วผิดกฎหมายหรือไม่   โทรศัพท์ประสานสาธารณสุขเพื่อขอความรู้  เพื่อป้องกันโควิด จัดหาซื้อยาให้พี่น้อง  เราทำมากกว่าที่หมอสั่ง  ส่งอาหารที่ปรุงสุกไปให้สมาชิก

กรณีชุมชนรุ่งมณี  กลุ่มครูและเด็กติดเชื้อในครัวเรือน  จับมือคุยร่วมกันหาทางออกยังไม่ได้  จึงหาทางไม่ให้ติดเชื้อในครัวเรือน  ติดต่อ สนง.เขต  ทำความเข้าใจกับ สนง.เขต  คุยเรื่อง  พ.ร.บ.กักกัน   พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม  ทำให้ตั้งกลุ่มประสานงานได้ภายใน 1 วัน  พี่ช่วยเหลือน้องชุมชน  วันถัดไปพาพี่น้องมาอยู่ที่ศูนย์พักคอยได้ทันที

“สิ่งสำคัญ  คือ  มีข้อมูล   การใช้ทุนในชุมชน คนที่อยู่ในเมืองมีทุนขนาดไหน  เรื่ององค์ความรู้เราสามารถเรียนรู้ได้  หากมีงบประมาณของเราเองจะสามารถนำมาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้”  นุชจรีบอก 

นายพิพัฒน์  แก้วจิตคงทอง  ประธานวิสาหกิจชุมชน  ศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  บอกว่า  เมื่อกรุงเทพฯ มีสถานการณ์วิกฤตโควิด   มีการรวบรวมผัก น้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้งส่งไปช่วย  สภาองค์กรชุมชนให้ความร่วมมือ ทำให้เห็นว่าหากเครือข่ายเดือดร้อนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน ได้เห็นพลังที่สำคัญของเครือข่าย หากถอดชุดความรู้และวางแผนในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ได้

ครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  จ.กาญจนบุรี  ร่วมส่งน้ำใจช่วยเหลือพี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ

“คน  งาน  เงิน” มุมมองจากภาคอีสาน

นางสุดใจ  มิ่งพฤกษ์  เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองสุรินทร์  จ.สุรินทร์  บอกว่า โรคระบาดเหมือนไฟไหม้บ้าน หากควบคุมไม่ได้จะเกิดปัญหา  ที่สำคัญชุมชนจะต้องมี  “คน งาน เงิน”  หากพบผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละชุมชนจะกระจายการดูแลได้อย่างไร  ทุนข้อมูล จะทำให้เห็นความเชื่อมโยง สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  การสื่อสาร จะทำให้ช่วยเหลือกันได้ทัน  การเชื่อมโยงภาคีในการแก้ไขปัญหา  มีการทำดินขายในชุมชน  สร้างรายได้มีกำไรเท่าตัว มีการแจกพืชผัก เพาะต้นพริกขาย  เกิดรายได้กลายเป็นอาชีพหลัก  “ไม่มีใครดูแลชุมชนได้ดีเท่ากับชุมชนเอง” 

นางแสงเดือน  ศรีไพวัลย์  เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ  จ.ขอนแก่น บอกว่า ปี 2563  โควิดมาพร้อมกับความตื่นตระหนกแบบไม่ได้ตั้งตัว   เครือข่ายทำหน้ากากแจกให้สมาชิกในชุมชน ทำเจลแอลกอฮอล์    เครือข่ายมีกองทุนข้าวเปลือก  มีนารวม  รวบรวมข้าวสาร  อาหารแห้งส่งไปช่วยพี่น้องในกรุงเทพ  ประเด็นสำคัญคือ  เรามีทุนภายในชุมชน  ต้องสร้างให้มั่นคง  จะทำให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็ว 

“คนที่จะแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด คือ คนในชุมชน ที่ลุกขึ้นมาเรียนรู้ ก้าวข้ามปัญหา รวมพลัง ทุน  คน งาน  การทำฐานข้อมูล ไปสู่การเสนอต่อเทศบาล  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ปัจจุบันสมาชิกบ้านมั่นคงได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วทุกคน” แสงเดือนบอก

นางณัฐนิชา  อรรคฮาดจันทร์  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  บอกว่า โควิดตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 เมืองขอนแก่น ยกระดับจากครัวชุมชนเป็นครัว 15 บาท และทำ Food Stamp ไปสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน  จัดทำคูปองอาหารให้กลุ่มเปราะบางสัปดาห์ละ 100 บาท  สามารถนำไปซื้อสินค้า  ซื้ออาหารของคนในชุมชน  ทำให้ร้านอาหาร  ร้านขายของชำในชุมชนขายของได้ ทำให้มีเงินมาหมุนเวียน  นำไปสู่การเชื่อมโยงกับ พมจ. ทำให้ได้รับความร่วมมือ และเป็นการช่วยเหลือชุมชนได้จริง

“ในระดับภาค  สถานการณ์โควิดรอบ 3 ทำให้ผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ กลับมาบ้านเกิด  บางคนกลับมารักษาตัว  พร้อมกับตกงาน  เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายภาคอีสาน  คิดว่าจะให้คนเหล่านี้อยู่บ้านเกิดสร้างอาชีพได้อย่างไร   จึงประกาศหาอาสาสมัครที่กลับมาบ้านแล้วไม่มีงานทำ  มีคนสมัครเข้ามาเกือบ 500 คน  ผ่านการคัดเลือกจำนวน 100 คน   โดยมีการจัดอบรม  มีการจัดหลักสูตรต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน ให้อาสาสมัครกลับไปอยู่บ้านได้  ต้องมองเรื่องคนคืนถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญ”    นางณัฐนิชาบอก

ผู้สูงอายุในชุมชนเขตเทศบาลเมืองขอนแก่นกับคูปองซื้อสินค้าและอาหาร

เสียงจากพี่น้องภาคใต้ : จัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาล

นายดุลรอซัก เหมหวัง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล จ.สตูล  กรณีเกาะหลีเป๊ะ  มีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก  พี่น้องไม่ค่อยได้รับการดูแล  เครือข่ายเห็นจึงมีการระดมทุนสนับสนุนภายในและภายนอก  มีการพูดคุยกับพี่น้องผ่านระบบ zoom  นำไปสู่ประสานและเดินทางไปยื่นข้อเสนอกับผู้ว่าราชการจังหวัด  เช่น   1.เสนอให้มีการสนับสนุนให้เกิดการจัดการตนเองในระดับครัวเรือน  การจัดการระดับตำบล  2.ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการดูแลรักษา  3. การฟื้นฟู เยียวยาหลังสถานการณ์โควิด

“เดิมการทำงานที่ผ่านมายังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ว่าฯ กับท้องถิ่น และผู้ว่าฯ กับชุมชน หลังจากเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด  ทำให้หน่วยงานเกิดการประสานเชื่อมโยงกัน  ทำให้เกิดการดำเนินการต่างๆ  การยื่นข้อเสนอโครงการต่อจังหวัด  เกิดแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัดสตูล  ในระดับภาคใต้เกิดยุทธศาสตร์ภาคใต้ความสุขในการจัดการตนเอง” ประธานสภาฯ จ.สตูลบอก

นายไมตรี  จงไกรจักร  มูลนิธิชุมชนไท   เครือข่ายพังงาแห่งความสุข  บอกว่า  จังหวัดพังงามี 8 อำเภอ  49 ท้องถิ่น  มีการเชื่อมโยงการทำงานของภาคประชาชนกับประชาสังคม  ร่วมมือกัน 90 %  มีการบูรณาการงบประมาณเข้าด้วยกัน  เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ  จึงทำให้มีทรัพยากรจากทุกกองทุน  ทำงานทุกพื้นที่  ครอบคลุมทุกตำบล  มีการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด  มีผังเมืองแห่งความสุข  ฯลฯ

“สถานการณ์โควิด  มีการร่วมกันออกแบบ  มีคณะกรรมการโรคติดต่อ  ทำเรื่องผังชุมชน  ทำเรื่องข้าวแลกปลา ทำธนาคารอาหาร  แต่พบว่ายังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น  ส่วนการป้องกันโรคอุบัติใหม่ในระดับตำบล  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการขับเคลื่อนระดับจังหวัดมา 1 ชุด  มีการยกร่างแนวทางการขับเคลื่อน  รวมไปถึงแผนปฏิบัติการ  การเตรียมความพร้อม  เพื่อเชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด  จะทำเป็นข้อเสนอรัฐบาล  ให้กระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ  โดยใช้ พ.ร.บ.ภัยพิบัติ   ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤต”  ไมตรีบอก

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  จ.สุราษฎร์ธานี  ร่วมกับเครือข่ายทำหน้ากากผ้าแจกจ่ายประชาชนตั้งแต่โควิดปี 2563

นางสาวสินีนาฎ  กศิดิ  สภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  บอกว่า  สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในชุมชนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกไปประกอบอาชีพ  ออกไปหาปลา  จึงประสานงานพี่น้อง 4 หมู่บ้าน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่  มีสมาชิก  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์   กลุ่มอาชีพ  พัฒนาตัวยาสมุนไพร  ทำเรื่อง “ข้าวยาปลามี” ตามวิถีพี่น้องบางไทร 

พบว่ายังขาดความร่วมมือในหลายส่วน คนที่มาทำงานมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เวลาออกแบบการทำงานตั้งสมมติฐานว่าจะทำอย่างไร  พยายามประสานหลาย ๆ หน่วยงาน  มีการจัดงานเลี้ยงน้ำชาในป่าจาก  ชวนกลุ่มอาชีพ กลุ่มเย็บจาก  จัดครั้งแรกคนมากันเยอะ  พอเกิดโควิดก็คุยกลุ่มเล็กลง  ส่วนการผลิตยาสมุนไพร  ทำด้วยมือไม่มีเครื่องจักร  ปัจจุบัน อบจ. ให้การสนับสนุนเครื่องมือผลิตยาสมุนไพร 

“จากการดำเนินงานทำให้คณะทำงานได้รู้จักตัวเอง  ข้อมูลที่ทำไว้ควรนำมาใช้  ทั้งข้อมูลปัจจุบันและข้อมูลมือสอง  ข้อมูล จปฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน  ทำให้เห็นการเชื่อมโยงกัน  มีการนำอาหารทะเลไปแลกกับพี่น้องพื้นที่ภูเขาในช่วงฤดูมรสุม  ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้”   สิรินาฏบอกทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อนำไปต่อยอด  พัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  และร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยสู่วิถีใหม่ต่อไป !!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา