ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ร่วมสวดมนต์บท ‘โพชฌังคปริตร’ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

พอช. /  วันนี้ ( 3 มกราคม) ตั้งแต่เวลา 8.00 -9.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ      มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ   เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา  นเรนทิราเทพยวดี  กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร  มหาวัชรราชธิดา  โดยมีพระสงฆ์จำนวน 10  รูปจากวัดสาครสุ่นประชาสรรค์  (เขตลาดพร้าว) สวดเจริญพระพุทธมนต์  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ประมาณ  80 คน  นำโดยนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคลและร่วมสวดมนต์บทโพชฌังคปริตรเพื่อขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรและมีพระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ววัน

ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์

โพชฌงค์ เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่งที่อยู่ในบทสวดมนต์ ‘โพชฌังคปริตร’  ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้  คติความเชื่อนี้มีที่มาจากบันทึกในพระไตรปิฎกว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะ (พระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า) ที่อาพาธ  พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ  พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้

อีกครั้งหนึ่ง  พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ  หลังจากนั้น  พบว่าพระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ในที่สุด  เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ  จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น  สวดแล้วช่วยให้หายโรค  ซึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวว่า  ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง  เป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา  เป็นธรรมชั้นสูง  ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง  สะอาดผ่องใส  ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ  เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับร่างกาย  เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน  หลักของโพชฌงค์เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น  เพราะโพชฌงค์แปลว่าองค์แห่งโพธิหรือองค์แห่งโพธิญาณเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา   (ข้อมูลจาก  https://dhammatha.org)

(ภาพ  : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

บทสวดโพชฌังคปริตร

      โพชฌังโค สะติสังขาโต   ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติปัสสัทธิ    โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา        สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา            ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ        นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ           โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

      เอกัสมิง สะมะเย นาโถ   โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา             โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา         โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ           โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

      เอกะทา ธัมมะราชาปิ      เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ         ภะณาเปตวานะ สาทะรัง

สัมโมทิตวา จะ อาพาธา        ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ           โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

      ปะหีนา เต จะ อาพาธา   ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสาวะ             ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

เอเตนะสัจจะวัชเชนะ            โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

คำแปลบทสวดโพชฌังคปริตร

โพชฌงค์  คือ องค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ  เหล่านี้  คือ  สติ  ความระลึกได้   ธรรมวิจยะ  ความใคร่ครวญในธรรม   วิริยะ  ความเพียร  ปีติ  ความอิ่มใจ  ปัสสัทธิ  ความสงบ   สมาธิ  ความตั้งใจมั่น   อุเบกขา  ความวางเฉย

เป็นธรรมที่พระมหามุนีเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งปวงได้ตรัสไว้ชอบแล้ว ซึ่งถ้าบุคคลเจริญให้มากแล้ว ย่อมทำให้เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อพระนิพพาน  และเพื่อความตรัสรู้  ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้  ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดการทุกเมื่อ ฯ

ในสมัยหนึ่ง  พระบรมโลกนาถได้ทอดพระเนตรเห็น พระโมคคัลลานะ กับ พระกัสสปะ เป็นไข้มีทุกขเวทนา  จึงได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการนี้  พระเถระทั้ง 2 ท่าน ก็มีใจเพลิดเพลินกับพระธรรมที่พระบรมโลกนาถทรงกล่าวแล้วนั้น  และได้หายจากความเจ็บไข้ในขณะนั้น  ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้  ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดการทุกเมื่อ ฯ

ในกาลครั้งหนึ่ง  แม้พระพุทธเจ้า  ผู้เป็นพระธรรมราชาเอง ก็ถูกความเจ็บป่วยไข้เบียดเบียนเช่นกัน  พระองค์ทรงมีรับสั่งให้พระจุนทเถระแสดงธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการนี้โดยความยินดี  แล้วพระองค์ก็ทรงบันเทิงพระทัยหายจากความป่วยไข้ไปโดยฐานะอันควรนั่นแล  ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้  ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดการทุกเมื่อ ฯ

ก็ความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายนั้น  เป็นสภาวะที่พระผู้แสวงหาคุณใหญ่ทั้ง 3 องค์ละได้แล้ว  ถึงความไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อีกโดยธรรม  ประดุจดังกิเลสทั้งหลายถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้วฉะนั้นนั่นแล  ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้   ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดการทุกเมื่อเทอญ

(ข้อมูลจาก  https://kalyanamitra.org/th/)

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (2)

พวกเราได้รู้จักบ้านน้ำเชี่ยวจังหวัดตราดไปแล้ว ต้องบอกว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งในด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ผนึกพลังทุกภาคส่วนสร้างบ้านเพื่อทุกคน เสนอรัฐหนุนเสริมบ้านโดยชุมชน ปลดล๊อกสิทธิที่ดินและระบบการเงิน สู่ความยั่งยืนมั่นคง

กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”