Time Out Bangkok ผู้จัดงาน Awakening Bangkok ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ, สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดจนพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เนรมิตเทศกาลแสงไฟประจำปีกรุงเทพฯ Awakening Bangkok 2022 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Endless Tomorrow : เพื่อพรุ่งนี้ และตลอดไป” จุดประกายย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เจริญกรุง-ตลาดน้อย ที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ ให้กลับมาคึกคัก มีขีวิตชีวา หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย เปิดพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับชีวิตความยั่งยืนในมิติต่างๆ เพื่อชีวิตในอนาคตที่ยืนยาวและเป็นมิตรสำหรับทุกคน ทั้งรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป
นายพงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหาร Time Out Bangkok (ไทม์เอาต์ กรุงเทพฯ) และ Festival Director งานเทศกาล Awakening Bangkok เปิดเผยว่า การจัดงานปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งเป็นการกลับมาจัดในช่วงปลายปีอีกครั้ง หลังจากครั้งที่ผ่านมาต้องเลื่อนมาจัดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับนักเดินทาง ท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมงานตลอด 10 วัน ระหว่างวันที่ 16-25 ธันวาคม 2565 พร้อมยกระดับสู่การเป็นหนึ่งในเทศกาลเมืองสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และเป็น “จุดหมายปลายทาง” ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
จากการจัดงานอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง นอกจากสะท้อนถึงความสำเร็จของงาน Awakening Bangkok แล้ว ยังตอกย้ำความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ และเป็นการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ระดับชาติ โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุน night-time economy ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกและฟื้นย่านเจริญกรุง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งจากการจัดงานในทุกครั้งที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งศิลปิน นักออกแบบ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมชมงาน ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างเมือง ชุมชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้เมืองเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานเทศกาล และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากความร่วมมือต่อเนื่องกับ ททท. และทีเส็บ เป็นครั้งที่ 5 ตลอดจนกรุงเทพมหานคร สะท้อนถึงการมีเป้าหมายร่วมกัน ที่ต้องการสร้างให้ Awakening Bangkok เป็นอีกหนึ่งสีสันของเมือง และปักหมุดเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์หลักในปฏิทินการท่องเที่ยวไทย โดยปัจจุบันเทศกาล Awakening ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญในโครงการ Colorful Bangkok โครงการขับเคลื่อนเมืองผ่านอีเวนต์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีเป้าหมายสร้างให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม อันส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนด้านสังคมและเศรษฐกิจ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานเทศกาลปลายปี หนีไม่พ้นเรื่องของแสงสี ดนตรี และศิลปะ ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ให้คนเข้าไปสัมผัสและเก็บเกี่ยวความทรงจำ เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับบรรยกาศของการเฉลิมฉลอง กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดงาน “Colorful Bangkok 2022” หรือ “ฤดูกาลศิลปะกรุงเทพฯ” ขึ้นตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมตลอด 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงมกราคม 2566 โดยแบ่งเป็น 3 เทศกาลย่อย ประกอบด้วย เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์, เทศกาลแสงสี และเทศกาลดนตรี เพื่อยจุดมุ่งหมายในการเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมให้เข้าร่วมได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจโดยรอบ กระตุ้นยอดขายจากการจัดงานเทศกาล และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“Awakening Bangkok ถือเป็นหนึ่งในงาน “เทศกาลแสงสี” ที่ปักหมุดอยู่ในปฏิทินกิจกรรมของ “Colorful Bangkok 2022” ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการเปิดพื้นที่ และพร้อมส่องให้เมืองมีชีวิตและเปล่งประกายขึ้นอีกครั้ง” นายศานนท์ กล่าว
นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ซึ่งผู้คนทั่วโลกต่างมองหาสถานที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งจากนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เตรียมพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการผนึกกำลังในการจัดงานเทศกาลในสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในฐานะ “จุดหมายปลายทาง” ชั้นนำระดับโลกกันมากขึ้น
“การจัดงาน Awakening Bangkok 2022 เป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างสรรค์งานสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่นอกจากมีความงดงามแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศ และการเฉลิมฉลองฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวปลายปี ที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ช่วยสร้างสีสัน และเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้คลี่คลายลง” นายกิตติพงษ์ กล่าว
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล หรือ “Festival Economy” มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองและชุมชนผ่านการจัดงานเทศกาล โดยใช้งานเทศกาลเป็นเครื่องมือในการนำเสนอให้เข้ากับผู้ที่เข้าชม นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในรูปแบบผสมผสาน ให้สามารถเข้าถึงง่ายขึ้นและมีความทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักเดินทาง ซึ่งปัจจุบันตลาดของนักเดินทางเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบความสนใจของนักเดินทางเข้าร่วมงานเทศกาลที่เปลี่ยนไป นักเดินทางรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับทางเลือกและประสบการณ์ที่เฉพาะมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้น ปริมาณการเดินทางของกลุ่มคนดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองเจ้าภาพและชุมชนโดยรอบ
ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายระยะยาวของนโยบาย Festival Economy คือ การสร้าง “หนึ่งเมือง หนึ่งงานเทศกาลนานาชาติ” ภายใน 5 ปี เพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเทศกาล Awakening Bangkok ถือเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ และนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของย่านเก่า เจริญกรุง-ตลาดน้อย ได้เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่าจากนี้จะเติบโตและก้าวไปสู่งานเทศกาลในระดับนานาชาติที่สำคัญของประเทศต่อไป
“ทีเส็บยังตั้งเป้าให้ Awakening Bangkok เป็นเทศกาลที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างคอมมูนิตี้ของศิลปินไทยและกลุ่มผู้ประกอบการศิลปะ เพื่อให้ผลงานของศิลปินเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่สนใจผลงาน เข้ามาเยี่ยมชมและเพิ่มโอกาสในการว่าจ้างหรือใช้บริการศิลปินในงานอื่นๆ ต่อไป” นางนิชาภา กล่าว
อีกหัวใจสำคัญของเทศกาลนี้ยังมุ่งส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันกับผู้สนับสนุนหลัก “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” (Johnnie Walker) ที่ผนึกความร่วมมือสนับสนุนงาน Awakening Bangkok ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
นางสาวจรินี วงศ์กำทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้างและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมโยงกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ทางแบรนด์เห็นความสำคัญของศิลปินและนักออกแบบไทยที่มีความสามารถในการต่อยอดผลงานสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับแผน SOCIETY2030: SPIRIT OF PROGRESS เป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืนของดิอาจิโอ ที่มุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในบริษัทอุปโภคบริโภคที่มีผลงานเป็นเลิศและได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากผู้บริโภค ตลอดจนปรัชญา KEEP WALKING ของแบรนด์ ที่สร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้คนก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
โดยในปีนี้ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กลับมาภายใต้คอนเซปต์ “ไม่ว่าโลกจะมาท่าไหน ก้าวต่อไปใช้ชีวิต” ซึ่งต้องการจะนำเสนอ 2 ประเด็นหลักให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งในด้าน การยอมรับในความหลากหลาย และการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยสะท้อนผ่านผลงานต่างๆ ที่จัดแสดงภายในงานและบาร์ทั้ง 2 จุดที่ออกแบบร่วมกับศิลปินชื่อดัง อีกทั้งการถ่ายทอดแนวความคิดดังกล่าวผ่านรสชาติใหม่ของเครื่องดื่มสูตรพิเศษทั้ง 4 สูตรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติโดยคิดค้นร่วมกับ WASTELAND คอมมูนิตี้ร่วมดื่มของผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเรายังคงสนับสนุนการดื่มอย่างรับผิดชอบด้วยการตอกย้ำข้อความและกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ภายในงานอีกด้วย
นายพงศ์สิริ กล่าวว่า “Awakening Bangkok” มุ่งส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จัก การจัดงานในแต่ละปีไม่เพียงแต่มีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์และชีวิตในย่านเจริญกรุง แต่ยังสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจมาจากพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ ผนึกความคิดสร้างสรรค์และความหมายของพื้นที่ เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
สำหรับเทศกาล Awakening Bangkok 2022 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Endless Tomorrow : เพื่อพรุ่งนี้ และตลอดไป โดยได้แรงบันดาลใจจากช่วงโควิด ช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของวันพรุ่งนี้ และตระหนักถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่ ถึงอนาคตที่เราอยากทำให้ยั่งยืนสำหรับทุกคน และยืนยาวสำหรับคนรุ่นถัดไป ซึ่งนอกจากงานทุกชิ้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องนี้แล้ว ยังได้ร่วมมือกับศิลปินรุ่นใหม่ เช่น COTH, 27 June, และ Alt+r เพื่อสร้างชิ้นงานไฮไลต์เพื่อสื่อสารเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
ความพิเศษของการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัด 2 เส้นทางสำหรับ 2 ธีมย่อย ประกอบด้วย ทิศใต้ เส้นทางบางรักในธีม “Sustainability” กับชิ้นงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน และทิศเหนือ เส้นทางตลาดน้อย ในธีม “Living Evidence” กับชิ้นงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยแต่ละเส้นทาง จะมีชิ้นงานไฮไลท์ ทิศใต้ อยู่ที่โรงแรม Swan, บ้านพักตำรวจน้ำ, และตึก East Asiatic ส่วนทิศเหนือ อยู่ที่ Patina Bangkok, บ้านริมน้ำ และท่าเรือภานุรังษี โดยปีนี้ยังได้เพิ่มความน่าสนใจด้วยโลเคชั่นใหม่ๆ พร้อมกับมุมมองใหม่ๆ คือ โรงแรม Swan ในซอยเจริญกรุง 36 และ ตึก East Asiatic อาคารสถาปัตยกรรมสไตล์เวนิเชียนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พร้อมเชิญชวนทุกคนให้ออกเดินเที่ยวเจริญกรุง-ตลาดน้อย ยามค่ำคืนกันอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เปิดความร่วมมือระหว่างประเทศกับเทศกาล iLight Singapore ที่ส่งชิ้นงานจากการจัดงานครั้งก่อนมาร่วมแสดง โดยจะจัดแสดงบริเวณ Warehouse 30 และเปิดโอกาสให้ผลงานจาก Awakening Bangkok มีโอกาสไปยังจัดแสดงยังต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกสำหรับความร่วมมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง TikTok ซึ่งตั้งเป้าสนับสนุนวงการศิลปะไทยผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยในงานมี TikTok creator ชื่อดังจำนวนมากเข้ามาร่วมทำคอนเทนต์ในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมา Awakening Bangkok มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น เพื่อสื่อสารกับทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย จากนี้ Awakening Bangkok จะก้าวสู่การหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ
นายพงศ์สิริ กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม Awakening Bangkok ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดย Awakening Bangkok 2021 (มีนาคม 2565) สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 90,000 คนตลอด 10 วัน แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economy Impact) 115.64 ล้านบาท และคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้ก็จะได้รับการตอบรับอย่างดีเข่นเดียวกับการจัดงานในครั้งที่ผ่านมา
“เชื่อว่า Awakening Bangkok จะเป็นอีกเทศกาลที่ช่วยส่งเสริมความตื่นเต้นของเมืองในช่วงนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจากรายงานของยูเนสโก ระบุชัดเจนว่าถึงการเติบโตขึ้นทั่วโลกของนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว จากค่านิยมที่เปลี่ยนไป ต้องการเรียนรู้ความดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อค้นหาและเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนการเรียนรู้และดื่มด่ำกับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น” นายพงศ์สิริ กล่าว
สำหรับทิศทางการจัดงาน Awakening จากนี้ ยังคงโฟกัสที่กรุงเทพฯ ณ ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย เป็นหลัก เพื่อตอกย้ำความเป็นต้นฉบับเทศกาลเมืองที่ส่งเสริม evening economy แต่ยังคงเปิดรับความเป็นไปได้สำหรับการจัดงานในพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองอื่นๆ ด้วยความเชื่อว่าเทศกาลในรูปแบบนี้จะช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในย่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาการจัดงานที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้การจัดงานในพื้นที่แปลกใหม่ และการทำงานกับศิลปินที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการนำประสบการณ์ดังกล่าวมาพัฒนาการจัดงานในพื้นที่หลัก และพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Time Out Bangkok ผนึกความร่วมมือพันธมิตร เนรมิตเทศกาลแสงไฟประจำปีกรุงเทพฯ “Awakening Bangkok 2022”
Time Out Bangkok ผู้จัดงาน Awakening Bangkok ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.), สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB),สํานักงานเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ (CEA) บริษัท Diageo Moet Hennessy (Thailand)