ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ เช่าที่ดินรถไฟ 30 ปีสร้างบ้านมั่นคง ด้าน พอช. หนุนงบประมาณ 12 ล้านบาทสร้างบ้าน 166 หลัง

การจัดเสวนาแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ  ที่ มทร.อีสาน

นครราชสีมา / ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ  โดย ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ ประเดิมเช่าที่ดิน รฟท. บ้านพะไล  ต.หัวทะเล  อ.เมือง  ระยะเวลา 30 ปี  สร้าง ‘บ้านมั่นคง’ 166 หลัง  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ 12 ล้านบาทเศษ  เริ่มสร้างมกราคม 2566 เพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยใหม่  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เปลี่ยนจากชุมชนชนบุกรุกเป็นเช่าที่ดินและอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  ด้านเครือข่ายริมรางรถไฟ 5 ภาคเตรียมขยับแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ รวม 35 จังหวัด 346 ชุมชน  รวม 27,056 หลังคาเรือน  โดยขอเช่าที่ดิน รฟท.สร้างบ้านมั่นคง

การพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น  รถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  ฯลฯ  ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  จำนวน 35 จังหวัด 346 ชุมชน  รวม 27,056 หลังคาเรือน  ในจำนวนนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อหรือยกเลิกสัญญาเช่าไปแล้ว  ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการเจรจากับ รฟท. เพื่อขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

ชุมชนริมทางรถไฟในย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เคลื่อนขบวนคนจนริมราง รฟท.จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่โคราช

ขณะเดียวกันเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World  Habitat Day) ปี 2565  ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายจนคนทั่วประเทศในนามของสลัม 4 ภาค, สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายบ้านมั่นคง  ขบวนองค์กรชุมชน  ฯลฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง  เช่น  กรุงเทพฯ  สงขลา  ชัยนาท  และล่าสุด  ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม  จัดงานที่จังหวัดนครราชสีมา

โดยในวันนี้ (19 ธันวาคม) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน (มทร.อีสาน) อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  มีการจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลกประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใดไว้ข้างหลัง  สานพลังการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  นิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การเสวนา  การประชุมวางแผนเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.  ฯลฯ  โดยมีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ  ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมงานประมาณ 450 คน  ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจาก มทร.อีสาน  จังหวัดนครราชสีมา  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

บรรยากาศภายในห้องประชุมที่  มทร.อีสาน

นายสมพงษ์ แสงศิริ ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา  กล่าวว่า  วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในภาคอีสานได้ใช้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่จัดงาน  เนื่องจากขณะนี้มีชุมชนต่างๆ ในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟของ รฟท.  โดยที่ จ.นครราชสีมาได้มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน  พบว่า  มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 ชุมชน 1 กลุ่มบ้าน  รวม 342 หลังคาเรือน  โดยชุมชนเหล่านี้ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็น ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน

“การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จัดขึ้นในหัวข้อ ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใด ไว้ข้างหลัง  สานพลังการพัฒนา  ที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ’   มีวัตถุประสงค์  1.เพื่อให้ประชาชน  หน่วยงานภาคี และสถาบันการศึกษา  เห็นความสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   2.เพื่อเสนอรูปธรรมและแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  3.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์  และ 4.เพื่อเสนอและผลักดันนโยบาย  แผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  ตั้งแต่การบริหารสัญญาเช่าที่ดิน  การออกแบบวางผังชุมชนริมราง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชน”  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนกล่าว

ทั้งนี้โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ หนองคาย (กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทาง 609 กิโลเมตร  ขณะนี้กำลังก่อสร้างในช่วงนครราชสีมา  โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 8 ชุมชน  คือ ชุมชนเลียบนคร  กลุ่มประสพสุข  ชุมชนข้างทางรถไฟ  ชุมชนหลังจวน  ชุมชนราชนิกูล 1  ชุมชนราชนิกูล 3  ชุมชนเบญจรงค์   และชุมชนทุ่งสว่าง  รวม 342 หลังคาเรือน  ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง  จ.นครราชสีมา

ขณะเดียวกันชาวชุมชนที่เดือดร้อนได้รวมตัวกันจำนวน 166  ครอบครัว  เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2564   เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวแทน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน  รวมทุนแก้ไขปัญหา  และขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์   โดย รฟท. อนุมัติให้เช่าที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2565  เนื้อที่ 7 ไร่เศษ  ระยะเวลา 30 ปี  ค่าเช่าตารางเมตรละ 23 บาท/ปี  บริเวณชุมชนบ้านพะไล  ห่างจากที่อยู่อาศัยเดิมประมาณ  7 กิโลเมตร  เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เก็บของเก่าขาย  จำเป็นต้องหากินอยู่ในเมือง

สภาพชุมชนริมทางรถไฟในอำเภอเมือง  จ.นครราชสีมา

โดยชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ให้การสนับสนุน  จำนวน 166 ครอบครัว  ผู้อยู่อาศัยประมาณ  300 คน  ขณะนี้ผู้ที่มีความจำเป็นได้รื้อย้ายจากที่อยู่อาศัยเดิมมาอยู่บ้านพักชั่วคราว  จำนวน 27 ครอบครัว  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 486,000 บาท

ส่วนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเริ่มในเดือนมกราคม  2566  ในที่ดินที่แบ่งปันครอบครัวละ  5x9 ตารางวา  (ขนาดบ้าน 5x7 ตารางวา  ชั้นเดียว)  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 100,000 บาท  ตามแผนงานจะแล้วเสร็จในปี 2567    โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ  รวม  12,823,500 บาท ( อุดหนุนสร้างบ้านหลังละ 30,000 บาท)

“ชุมชนแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟฯ  ที่เกิดจากการบรูณาการความร่วมมือในการพัฒนาระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการพัฒนาระบบราง และเกิดการสื่อสาร สร้างกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจให้กับคนในจังหวัดนครราชสีมาและขบวนองค์รชุมชนที่เข้าร่วมงานจาก 5 ภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ”  ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมากล่าว

ทั้งนี้ชุมชนในที่ดิน รฟท. ในจังหวัดนครราชสีมาที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงโดยเช่าที่ดิน รฟท.  ประกอบด้วย  ชุมชนเลียบนคร 8 ครัวเรือน  กลุ่มประสพสุข 25 ครัวเรือน  ชุมชนข้างทางรถไฟ 31 ครัวเรือน  ชุมชนหลังจวน 12 ครัวเรือน  ชุมชนราชนิกูล 1 จำนวน 23 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกูล 3 จำนวน 18 ครัวเรือน ชุมชนเบญจรงค์ 28 ครัวเรือน และชุมชนทุ่งสว่าง 21 ครัวเรือน  ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง  จ.นครราชสีมา

โมเดลชุมชนใหม่

พอช.หนุนชุมชนทั่วประเทศแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิต

นายสุพัฒน์ จันทนา  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า พอช. สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อย  โดยมีความเชื่อมั่นว่า “บ้านโดยชุมชนที่ทุกคนร่วมสร้าง” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมจากชุมชนฐานรากและสร้างความมั่นคงของมนุษย์   โดย พอช. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสทั้งเมืองและชนบท  5 โครงการ

คือ 1.โครงการบ้านมั่นคง  2.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  3.โครงการบ้านพอเพียง 4.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว   กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ   และ 5.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ของรัฐบาล  มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579

ในปี 2566  พอช.กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์   เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาค/พื้นที่ ให้เกิดการหนุนเสริมช่วยกัน  โดยมีพื้นที่ขับเคลื่อนร่วมกัน   คือ 1.การแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วทั้งประเทศ  2.การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภูมินิเวศชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง  พังงา  กระบี่  ภูเก็ต  ตรัง  สตูล ) 3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง   คลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร กรุงเทพ  คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่  คลองสำโรง จ.สงขลา  

ตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กรุงเทพฯ  โดยชาวชุมชนได้ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนทางเรือเพื่อเป็นช่องทางในการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนด้วย

4.การฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนแออัด/บุกรุกในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต  5.การพัฒนาพื้นที่ชุมชนในเขตป่า อุทยาน  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  ในมิติชนบทที่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหลายภาคส่วน   โดยใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การคิดค้นนวัตกรรม และสร้างเครื่องมือการทำงานใหม่   เช่น  การสนับสนุนจากกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ (New Gen) เพื่อทำงานด้านการพัฒนาชุมชน และสถาปนิกออกแบบที่อยู่อาศัยและชุมชน

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดนครราชสีมาเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาตามแนวทางโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ชุมชนผู้เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  โดยมี พอช.  ภาคีเครือข่าย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหา   ซึ่งนอกจากที่ จ.นครราชสีมาแล้ว  ยังมีชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศอีก 346 ชุมชนใน 35 จังหวัด  ประมาณ  27,056  ครอบครัวที่อยู่ในกระบวนเตรียมการแก้ไขปัญหา

เส้นทางรถไฟรางคู่นครปฐม-หัวหิน   ขณะกำลังก่อสร้าง  มีหลายชุมชนได้รับผลกระทบโดนรื้อย้ายแล้ว

พลังคนจนเปลี่ยนแนวคิดการใช้ที่ดินรัฐ

การจัดกิจกรรมในวันนี้มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาที่อยู่อาศัย บทเรียนการพัฒนา โอกาสหรือความท้าทายกับการพัฒนา ความมั่นคงที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ”  โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งจากผู้ร่วมเสวนา  เช่น 

นายสังเวียน   นุชเทียน  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  ก่อนปี 2543  คนจนไม่สามารถเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ ได้โดยในปี 2539  มีข่าวว่า รฟท. จะเอาที่ดินทั่วประเทศไปให้เอกชนเช่าทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน  คนจนที่อยู่ในที่ดิน รฟท.จะถูกขับไล่  เราจึงเอาปัญหานี้มาคุยกัน  ซึ่งก็มีทั้งชุมชนที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม  ใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการรวมกลุ่มเจรจา  เรียกร้อง  และชุมนุมกดดันที่หน้ากระทรวงคมนาคม 3 วัน  จนในที่สุดบอร์ดรถไฟจึงมีมติเมื่อ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เจรจากับกระทรวงคมนาคม  คือ

1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี   2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร  ระหว่างการเช่า  รฟท.ต้องอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  ประปา  ไฟฟ้า  เข้ามาบริการชุมชนได้  ส่วนชุมชนจะต้องร่วมมือกับ รฟท.ในการจัดการสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย

3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาวให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  4.ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  มีส่วนร่างสัญญาและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินร่วมกับ รฟท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม

“ประเด็นสำคัญคือ  ถ้าพี่น้องไม่ลุกขึ้นสู้ก็จะไม่ได้มติบอร์ดรถไฟ  ทำให้พี่น้อง 61 ชุมชนที่ร่วมกันต่อสู้ได้เช่าที่ดิน 30 ปี”  นายสังเวียนกล่าว

เวทีเสวนา

นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  บทเรียนสำคัญของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในการต่อสู้เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ก็คือการเปลี่ยนหลักคิดการใช้ที่ดินของรัฐ  จากเดิมที่สังคมมองว่า “คนจนเป็นผู้บุกรุกที่ดินต้องถูกขับไล่ออกไป   เป็นคนจนเป็นผู้บุกเบิกที่ดิน  และมีสิทธิในการอยู่อาศัยและพัฒนาเมือง”   ซึ่งการที่บอร์ดรถไฟมีมติเมื่อ 13กันยายน 2543  เห็นชอบให้ชาวบ้าน  61 ชุมชนเช่าที่ดินกับ รฟท.ได้  ถือเป็นชัยชนะของพี่น้องทุกคนที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดนี้ได้  เพราะแต่เดิมที่ดินรถไฟจะต้องใช้วิธียื่นซองประมูล   แต่การต่อสู้ของพี่น้องทำให้เช่าที่ดิน รฟท.ได้ในราคาตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี

“ที่สำคัญก็คือ  การเปลี่ยนหลักคิดเรื่องการใช้ที่ดินของรัฐที่ไม่ควรมองเฉพาะเรื่องผลกำไร  แต่ต้องมองเรื่องสิทธิทางสังคม  สิทธิในการอยู่อาศัยของคนจน  สิทธิที่จะอยู่อาศัยในเมืองและพัฒนาเมือง  ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วย  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มาจากโชคช่วย  แต่มาจากพลังของพี่น้องที่ร่วมกันต่อสู้  กดดัน  ชุมนุม  จนได้มติบอร์ดรถไฟออกมา  จนได้เช่าที่ดินระยะยาว”  ที่ปรึกษาสลัม 4 ภาคกล่าว

เขาบอกด้วยว่า  แม้จะได้สัญญาเช่าที่ดินแล้วก็ตาม  แต่ปัจจุบัน รฟท.มีโครงการพัฒนาต่างๆ   เช่น  รถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  อาจทำให้ชุมชนต่างๆ ได้รับผลกระทบ  ดังนั้นพี่น้องจะต้องมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  เป็นขบวนการ  จะได้มีพลังในการต่อสู้เรียกร้อง

เครือข่ายริมรางรถไฟ 5 ภาคเตรียมเคลื่อนขบวน

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น    เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ   เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ได้ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทาง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ P-Move  ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

โดย ครม.เห็นชอบให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  และมอบหมายหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   โดยให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยเทียบเท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  พอช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. รวมทั้งได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลกับ รฟท. และจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  โดยมีแผนการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายดำเนินการครอบคลุมครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบ  จำนวน 27,096  ครัวเรือน   วงเงินรวม  9,478  ล้านบาทเศษ 

โดยที่ผ่านมาได้เสนอ รมว.พม.ลงนามเห็นชอบ  และเสนอสภาพัฒน์ซึ่งได้เห็นชอบแล้วเช่นกัน  และอยู่ในระหว่างการเสนอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ  รวมทั้งการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดวงเงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง จากครัวเรือนละ 89,000  บาท  เพิ่มอีกครัวเรือนละ 80,000 บาท  เพื่อให้เท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวตามมติ ครม. 

นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวเสริมว่า  ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.นั้น   เนื่องจากเดิมการเช่าที่ดิน รฟท.ตามมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  มีชุมชนที่เช่าที่ดิน รฟท. 61 ชุมชน  แต่ปัจจุบัน  รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางเพิ่มขึ้น  จำนวนผู้เดือดร้อนจากการสำรวจทั่วประเทศปัจจุบันมี 346 ชุมชน  รวมกว่า 27,000 ครอบครัว  จึงต้องนำเสนอข้อมูลผู้เดือดร้อนให้บอร์ด รฟท.รับรองก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.  ซึ่งคาดว่าบอร์ด รฟท.จะพิจารณาเรื่องนี้ได้ในช่วงต้นปี 2566 

รวมทั้งงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ขออนุมัติเพิ่มเติมจากครัวเรือนละ 89,000 บาท  เพิ่มอีกครัวเรือนละ 80,000 บาทต่อครัวเรือน  ซึ่งหาก ครม. และสำนักงบประมาณมีมติเห็นชอบ  ทางเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟทั้ง 5 ภาคที่มีความพร้อมก็จะเริ่มแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ภายในปี 2566  เช่น  ขอเช่าที่ดิน รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์   หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่  ฯลฯ  ส่วนรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็จะเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่  แต่ละชุมชน   โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  และการสมทบจากชาวชุมชน

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา