รัฐบาลเดินหน้าเตรียมแผนแก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง-กรุงเทพฯ ให้กรมชลฯ ขุดคลองระบายน้ำลงทะเล เริ่มปี 2567-2572 ใช้งบกว่า 1 แสนลบ. ด้าน พอช.เตรียมแผนรองรับที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลอง 8 พันหลัง

สภาพน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี (ภาพจากไทยพีบีเอส)

กรุงเทพฯ / ประวิตร รองนายกฯ เป็นประธานเปิดประชุมออนไลน์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำครั้งที่ 2/2565 ที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง-กรุงเทพฯ  โดยมี 2 โครงการใหญ่  ให้กรมชลประทานขุดลอกคลอง-ขยายคลอง  เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  และฝั่งตะวันตก  รวม 47 คลอง  เริ่มดำเนินการในปี 2567-2572  ใช้งบประมาณรวม 115,000 ล้านบาท  ขณะที่ พอช.ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 8 ,000 ครัวเรือน

ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  จากจังหวัดชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี  และกรุงเทพฯ  เกิดซ้ำซากแทบทุกปี  ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยผ่านแม่น้ำและลำคลองต่างๆ มีอุปสรรค  เช่น  มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ  ลำคลองคับแคบ  ตื้นเขิน  ฯลฯ  สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่ามหาศาล  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง   

ล่าสุดวันนี้ (15 ธันวาคม)  เวลา 9.30 น.  มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ  ครั้งที่ 2/2565 ผ่านสื่อออนไลน์  โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ เป็นประธานการประชุม  มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  เช่น  คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  กรมทรัพยากรน้ำ  มูลนิธิอุทกพัฒน์  กระทรวงมหาดไทย  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมชลประทาน  กรมเจ้าท่า  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

พลเอกประวิตร  ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ

เตรียม  2 โครงการใหญ่แก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 2 โครงการใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  คือ 1. โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  2.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  ทั้ง 2 โครงการดำเนินการโดยกรมชลประทาน

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากเดิม 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เพิ่มเป็น 400 ลบ.ม / วินาที  โดยจะดำเนินการ 1.ปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง   ความยาวรวม 490 กิโลเมตร   2. ก่อสร้าง /ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ  14 อาคาร  งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 2 อาคาร  ระยะเวลาโครงการ 6 ปี  (พ.ศ. 2567 – 2572 )  วงเงินค่าก่อสร้าง 64,000 ล้านบาท

ประโยชน์ที่จะได้รับ 1. เพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม.  เป็น 400 ลบ.ม./วินาที  2. มีแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้ง 18 ล้าน ลบ.ม./ปี 3. สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยหรือลดมูลค่าความเสียหายรวมจากอุทกภัยเฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท

ส่วนคลองที่จะมีการปรับปรุง  โดยการขุดลอกคลอง  ขยายแนวคลองที่มีสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนรุกล้ำคลอง  เช่น  คลองระพีพัฒน์  คลองรังสิตประยูรศักดิ์  คลองหกวาสายล่าง ในเขตจังหวัดปทุมธานี,   คลองบางขนาก  คลองพระองค์ไชยานุชิต คลองนครเนื่องเขต  คลองประเวศบุรีรมย์  ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ, คลองด่าน  คลองสำโรง  และคลองสาขา  ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ  ฯลฯ  เพื่อระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่างลงสู่คลองต่างๆ และไหลเข้าสู่แม่น้ำบางปะกงออกสู่ทะเลอ่าวไทย

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก 

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  มีเป้าหมายเพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้  ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา  ต่อเนื่องไปออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด  เพื่อลดภาระการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ  1.ช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา   ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน  จนถึงชายทะเลอ่าวไทย (2) สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา   และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โครงการ  (3) เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย  เพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

ตามแผนงานจะมีดำเนินการ  เช่น  1.ปรับปรุง/ขุดลอกคลองเดิม พร้อมอาคารบังคับน้ำ   ความยาว 300 กม. 2. ขุดคลองใหม่ 1 สาย (คลองร่วมถนน) 3. อุโมงค์ระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง   4.ปรับปรุงแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย  ความยาว 42 กม.เศษ  5. ปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย  จ.สมุทรสาคร  ความยาว 19 กม.เศษ  ฯลฯ  ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี  (พ.ศ. 2568 – 2571)  งบประมาณโครงการ 51,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำเห็นชอบในหลักการนี้จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป

พอช.เตรียมแผนรองรับที่อยู่อาศัยประชาชน 8 พันหลัง

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในฐานะผู้แทน พอช.ที่เข้าร่วมประชุม  กล่าวว่า  เนื่องจากโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกรุงเทพมหานครทั้ง 2 โครงการนี้  จะมีการขุดลอกคลองและปรับปรุงคลองต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่มีสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนปลูกรุกล้ำคลองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก 

“ที่ประชุมโดยฝ่ายเลขานุการได้เสนอให้ พอช.ในฐานะที่มีผลงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ  พิจารณาเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 ในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำเขตคลองชลประทานเพื่อให้กรมชลประทาน สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป”  ผช.ผอ.พอช. กล่าว

นายสยามกล่าวว่า  จากการสำรวจเบื้องต้นของกรมชลประทาน  พบว่า   โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  ตั้งแต่คลองบางขนาก คลองพระองค์ไชยานุชิต คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จะมีผู้ได้รับผลกระทบ ที่ต้องย้ายออกจากแนวคลอง  จำนวน 5,251 หลัง  (อยู่ในเขตที่จะก่อสร้างจำนวน 2.109  หลัง)  มีคลองที่เกี่ยวข้องจำนวน 25 คลอง

ส่วนโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 2,752 หลัง (อยู่ในเขตที่จะก่อสร้างจำนวน 1.559 หลัง) มีคลองที่เกี่ยวข้อง 22 คลอง   รวมทั้ง 2 โครงการจะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยจำนวน  8,003  หลัง

โดยก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา  มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารกรมชลประทานกับ พอช. ในประเด็นแนวทางการจัดหาที่อยู่อาศัยทดแทนให้แก่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำคลอง  โดยที่ประชุมมีแนวทางในดำเนินงานต่างๆ  เช่น  1.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน         2.จัดตั้งกรรมการระดับท้องถิ่น (พื้นที่ที่ปรับปรุงคลอง)  3.สำรวจข้อมูลผู้บุกรุกให้เป็นปัจจุบัน  เช่น  จำนวนครัวเรือน  ผู้อยู่อาศัย 

4.ยกร่างแผนงานรองรับที่อยู่อาศัย  5.กำหนดรูปแบบแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  รื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง  เพื่อก่อสร้างใหม่ในที่ดินเดิมหรือใกล้เคียง  กรณีอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้  อาจหาที่ดินใหม่รองรับ  หรือชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ  6.เสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  โดยมีกรอบเวลาดำเนินการในช่วงปี 2566-2568

“การรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนทั้ง 2 โครงการนี้  เบื้องต้น พอช.มีแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  คือจะให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  การจัดตั้งคณะกรรมการจากชุมชนขึ้นมาดำเนินการ  เพื่อสำรวจข้อมูล  ปัญหา  ความต้องการ  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ผังชุมชน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน  โดย พอช.และหน่วยงานภาคีจะร่วมกันสนับสนุน  และทำงานกันแบบบูรณาการ  เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  ถูกต้องตามกฎหมาย  รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชาวชุมชนให้ดีด้วย”  นายสยาม ผช.ผอ.พอช.  กล่าว

สภาพบ้านใหม่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ย่านสายไหม) ปัจจุบัน พอช.ดำเนินการแล้ว 35 ชุมชน  (จากทั้งหมด 50 ชุมชน) สร้างบ้านเสร็จแล้วกว่า 3,550 หลัง  ส่วนคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้วใน  10 ชุมชน (จาก 38 ชุมชน)  สร้างเสร็จแล้วประมาณ 640 หลัง

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

'ครูหยุย' แนะรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ เป็นของขวัญวันเด็ก แทนให้คำขวัญ

'ครูหยุย' แนะรัฐบาลเปลี่ยนจากให้คำขวัญวันเด็ก เป็นมอบของขวัญที่มีค่า ประกาศเจตนารมณ์ 'ไม่โกง-ซื่อสัตย์สุจริต-ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงเด็ก'

ข้องใจ! 'นายกฯอิ๊งค์-บิ๊กเพื่อไทย' ทำไมขยันลงพื้นที่ภูเก็ต

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต" โดยระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เช็กเลย! ของเล่นประเภทไหนบ้าง ผู้ปกครองอย่าซื้อให้เด็ก

'คารม' เตือนผู้ปกครอง ระวังอย่าซื้อของเล่นที่เป็นอันตรายกับเด็ก พร้อมแนะเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้-พัฒนาการ-จินตนาการ และผู้ปกครองควรแนะวิธีการเล่นของเล่นอย่างถูกต้อง