‘นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชน’ MoU. ร่วมมือทางวิชาการ “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ระยะเวลา 3 ปี

การลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย  นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชนที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

นิด้า /  ‘นิด้า’ จับมือ ‘พอช.’ และ ‘เครือข่ายองค์กรชุมชน’ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ  “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง”  ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติการ  การศึกษาวิจัยด้านการบริหารการพัฒนาร่วมกันระหว่าง  3 ฝ่าย นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สังคม  ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

วันนี้ (13 ธันวาคม) ระหว่างเวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์  สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ  ระหว่างสถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยมีผู้บริหารของ 2 สถาบันและผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมลงนาม  ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   นายจินดา  บุญจันทร์  ผู้แทนคณะประสานงานองค์กรชุมชน  และมีผู้แทนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีลงนามประมาณ  80 คน

ผสานพลังภาคี ‘นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชน

รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ  สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (National  Institute  of Development Administration = NIDA)  กล่าวว่า  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีภาระหน้าที่หลักด้านการจัดการศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการบริการวิชาการ  และมีสมรรถนะหลักด้านการพัฒนาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชน   พัฒนาสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงมีความมั่นใจที่จะให้การสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน  องค์กรชุมชน  และร่วมขับเคลื่อนในการนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การปฏิบัติ  โดยใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่เป้าหมาย  พัฒนาเป็นแนวทางและแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชมุชน (องค์การมหาชน)  และเครือข่ายองค์กรชุมชนในภารกิจต่างๆ ตามแนวทางการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้  เพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนระยะยาวสำหรับทั้งคนรุ่นปัจจุบันไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมาสืบทอดต่อไป

รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี  

“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิชการตอบสนองทิศความต้องการทิศทางของการพัฒนา  และเกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสามฝ่าย  ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาที่ยั่งยืน”  รศ.ดร.สมบัติกล่าว

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า  พอช. ก่อตั้งขึ้นมาภายใต้พื้นฐานปรัชญาเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง  เพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง  ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ  สังคม และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน    โดย พอช. ยึดหลักการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง   

ดังจะได้เห็นว่างานของ พอช.มีขบวนองค์กรชุมชนอยู่เกือบเต็มพื้นที่ของประเทศไทย  เช่น  สภาองค์กรชุมชน 7,801 ตำบล หรือ  99.65% ของตำบลในประเทศไทย       มีระบบสวัสดิการชุมชน 5,500  กองทุน  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ดูแลสมาชิก 6 ล้านกว่าคน  และเพื่อนๆ ร่วมตำบลที่ไม่ใช่สมาชิก   ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  มีโครงการบ้านมั่นคง   บ้านพอเพียง   การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง   บ้านของผู้ยากไร้  หรือคนไร้บ้าน    การพัฒนาเศรษฐกิจกิจและทุนชุมชนที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน    โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการดำเนินงาน   ซึ่งการขับเคลื่อนงานนั้น  ผู้นำองค์กรชุมชนถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ  เพราะฉะนั้น  พอช. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชน  ให้สามารถเป็นแกนนำไปร่วมทำงานกับหน่วยงานของรัฐ  ภาคีการพัฒนาอื่นๆ ทั้งภาควิชาการ และภาคธุรกิจเอกชนได้

นายกฤษดา  สมประสงค์

“การพัฒนาโดยการสร้างสานพลังความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  นี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่สำคัญของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  คือ ‘อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม’  ที่ท่านใช้คำว่า  ‘ขับเคลื่อนโดยใช้จตุพลัง’  เพราะฉะนั้น  พอช.ต้องทำหน้าที่ในการที่จะเชื่อมร้อยพลังต่างๆ  เช่น  ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น  ภาควิชาการ  เพื่อร้อยเรียงการทำงานเข้าหากัน   

ประเด็นต่อมาก็คือ  การนำเทคโนโลยีและวิชาการเข้าสู่กระบวนการในการบริหารจัดการ  นี้คือ  4 ประเด็นหลักที่นำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งเน้นความสำคัญเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง   เราเชื่อว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นทางรอดของประเทศไทย   ดังวิสัยทัศน์ของ พอช. ในปี 2579 คือ ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วทั้งแผ่นดิน’  ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังและคาดหวังจะให้เกิดขึ้นด้วยกลไกกระบวนการการทำงานที่เป็นความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ”  ผอ.พอช. กล่าว

นายจินดา บุญจันทร์  ผู้แทนคณะประสานงานองค์กรชุมชน (เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน)  กล่าวว่า  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีความเชื่อมั่นว่าสังคมจะเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ดีได้   ต้องเริ่มต้นเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่จากรากของสังคม ซึ่งความหมายตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ก็คือ ฐานรากของสังคมก็คือองค์กรชุมชนระดับเล็กๆ ในพื้นที่ที่ค่อยๆ ขยับจากที่เมื่อก่อนถูกบริหารให้เป็นผู้ที่ถูกปกครอง  ขยับมาเป็นผู้มีส่วนร่วม  แล้วค่อยๆ มีพลังในการที่จะจัดการชุมชนด้วยตัวเอง  โดยวิถีวัฒนธรรมของชุมชน

นายจินดา  บุญจันทร์

นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนไม่ได้ทำงานร่วมเฉพาะกับ พอช. แต่เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ผนึกกำลังกับคนอื่นด้วย  ทำทุกเรื่องด้วย  แต่เนื่องจากพื้นที่มันกว้างใหญ่เครือข่ายองค์กรชุมชน ใครๆ ก็เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนได้  เพราะฉะนั้นการจัดองค์กรจะไม่ใช่รูปแบบที่บริหารแบบมีผู้นำ  แบบการจัดการที่เข้มงวด  ไม่ใช่ระบบทหารที่สั่งหันซ้ายหันขวาได้  ขบวนองค์กรชุมชนก็แตกต่างกัน  เช่น  เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง  เครือข่ายองค์กรชุมชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  เครือข่ายชุมชนอันดามัน  ฯลฯ ตามวิถีวัฒนธรรม  และตามภารกิจที่ทำ

“เพราะฉะนั้นความคาดหวังอันแรกในเวทีวันนี้ก็คือ  ถ้าใช้ความรู้โดยเหตุโดยผลและด้วยข้อมูลที่ขบวนองค์กรชุมชนมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปแก้ปัญหาของตัวเอง รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม   ภาควิชาการน่าจะมีพลังสามารถเสริมพลังของขบวนองค์กรชุมชนได้ เพราะขบวนองค์กรชุมชนโดยภาพก็คือเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้มาทำงานพัฒนาโดยตรง”   นายจินดากล่าวถึงความคาดหวังจากการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้

ใช้ความรู้ทางวิชาการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้   มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1.ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน และสังคมฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติ  2.เพื่อร่วมผลักดันข้อเสนอจากการปฏิบัติจริงของพื้นที่สู่สาธารณะ  และส่งเสริมให้การทำงานด้านการพัฒนาชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  3.เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ  การเรียนการสอน  การฝึกอบรม  การศึกษาวิจัย  และการบริการวิชาการสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง  และ 4.เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องของทั้งสามฝ่าย ในด้านการพัฒนาชุมชน  ท้องถิ่น  ฯลฯ

โดยมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันคือ  1.ร่วมกันศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน และขับเคลื่อนในการนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาเป็นแนวทางและแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

2.ร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิชาการ  และบริการวิชาการในด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  การเผยแพร่องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชุมชนฐานราก 3.ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านชุมชนในหลักสูตรการศึกษา  และหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ให้ความร่วมมือทางวิชาการตามภารกิจด้านการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน  

4.จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาของชุมชนในด้านต่าง ๆ  และเสนอขอทุนสนับสนุนงานวิจัยต่อเนื่อง 5.ร่วมดำเนินการอื่นตามที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเห็นสมควร  ทั้งนี้โดยมีระยะเวลาความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย  ระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม (13 ธันวาคม) ร่วมกัน

ผู้ร่วมลงนาม (จากซ้ายไปขวา)  นายกฤษดา  ผอ.พอช.  รศ.ดร.สมบัติ  จากนิด้า  และนายจินดา  ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน

เปิดตัวหนังสือ “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง”

นอกจากพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว  ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ฐานรากประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”  เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ความยาว 130 หน้า  มีเนื้อหา 6 บท  เช่น  จากภูมิรัฐศาสตร์โลกสู่ภูมิรัฐศาสตร์ไทย  ประสบการณ์เชิงพื้นที่ในการจัดการชุมชนของสังคมไทย  แนวทางสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตยฐานรากในสังคมไทย ฯลฯ

ศ.ดร.บรรเจิด  ผู้เขียน

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เกริ่นนำหนังสือเล่มนี้ว่า  “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็งฐานรากประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”  เล่มนี้  อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามของหลายๆ ภาคส่วนที่พยายามจะหาหนทางหลุดพ้นจากวังวนของระบบการเมืองไทยที่วนเวียนขัดแย้งและเกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะในส่วนของผู้เขียน  ทำไมจึงมองว่าแนวทางของหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นทางเลือกและทางรอดของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยก็ด้วยเหตุผล 4 ประการ

ประการแรก ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยแบบตัวแทนของตะวันตกนับวันมีความถดถอย  ท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยตามแนวทางดังกล่าวกลับสร้างความเหลื่อมล้ำและเสื่อมโทรมของสังคมยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน  ประชาธิปไตยตามแนวทางของจีนกลับลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความรุ่งเรืองของสังคมโดยรวมมากขึ้น 

ประการที่สอง  ปัญหาการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองของไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันมีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ  แต่ก็ยังหาความลงตัวของการจัดโครงสร้างทางการเมืองของไทยไม่ได้  นัยก็คือ  พลังอำนาจทางสังคมของไทยยังไม่ลงตัว  รัฐธรรมนูญเป็นเพียงผลิตผลของความไม่ลงตัวในดุลอำนาจ 

ประการที่สาม  การที่สังคมไทยไม่สามารถเชื่อมต่อกับ  “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ได้อย่างลงตัวไร้รอยต่อนั้น  เกิดจากสภาพพื้นฐานของสังคมไทย หรือเรียกว่าสภาพสังคมวิทยาการเมืองของไทยนั้นแตกต่างไปจากสังคมตะวันตก  การนำหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยมาออกแบบเชิงกลไกและองค์กรจะต้องเชื่อมโยงกับสภาพสังคมวิทยาของสังคมไทยสามารถเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยได้

ประการสุดท้าย  สังคมไทยเป็นสังคมที่ชุมชนยังมีบทบาท  ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาชุมชนต่างๆ ได้พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน  และท้ายที่สุดหลายชุมชนได้สร้างนวัตกรรมในการจัดการเชิงองค์กรที่นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ  และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากสติปัญญาและความสามารถของชุมชนไทยที่พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคม

(ผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ติดต่อได้ที่คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)โทรศัพท์ : 0-2727-3664 ในวันและเวลาราชการ)

 

                                                                           **************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต