การจัดกิจกรรม ‘ร่วมใจต่อต้านการทุจริต’ ที่กระทรวง พม.วันนี้
กระทรวง พม.-พอช. / ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.กระทรวง พม. นำผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ "พม.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต" เนื่องในวันต่อต้านการคอร์รัปชันสากล 2565 ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ประกาศมาตรการ 8 ข้อป้องกันการทุจริต และนโยบายไม่รับของขวัญของกำนัล ‘No Gift Policy’ จากการปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาติกำหนดให้เป็น ‘วันต่อต้านการคอร์รัปชันสากล’ หรือ ‘International Anti-Corruption Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2546 โดยมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ มีมติเห็นชอบ ‘อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003’ อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โดยประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2546 องค์การสหประชาติจึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล โดยจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วโลก
‘จุติ’ รมว.พม. ประกาศเจตนารมณ์ "พม.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต"
ในประเทศไทย หน่วยงานราชการและภาคเอกชนทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านการคอร์รัปชันสากลขึ้นทั่วประเทศ โดยที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ วันนี้ (9 ธันวาคม) เวลา 08.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวง พม. ทุกหน่วยงาน ประมาณ 300 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต “พม. โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 บริเวณลานพระประชาบดี
นายจุติ รมว.พม. (ยืนกลาง) นำประกาศเจตนารมณ์ที่ลานพระประชาบดี กระทรวง พม.
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล" (International Anti-Corruption Day) โดยได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ประกอบด้วย 1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก 2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบคืออาชญากรรม และ 3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง
กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ได้จัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยวันนี้ กระทรวง พม. ได้จัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต “พม. โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการขจัดปัญหาการทุจริต รวมทั้งสร้างค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ กระทรวง พม.ได้ส่งเสริมการสร้างคุณลักษณะ 10 ข้อ "คน พม. ทำได้" หรือ “Easy you can do it” ได้แก่ เคารพและให้เกียรติกัน มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา มีการวางแผน ซื่อสัตย์ พัฒนาตนเอง ทัศนคติดี มีวินัย โปร่งใส และบุคลิกภาพดี เพื่อสร้างสังคม พม. ให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและใสสะอาด ภายใต้แนวคิด "พม.ไม่ทนต่อการทุจริต มีเป้าหมายเพื่อเป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ
"ข้าพเจ้า นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวง พม. ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะทำหน้าที่นำบุคลากรกระทรวง พม. ให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ดี เป็นแบบอย่างด้านความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชน เสริมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน ปฏิบัติงานด้วยความอุตสาหะ เสียสละ ยึดหลักกฎหมาย หนักแน่น เที่ยงตรง มีเกียรติ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ กล้ายืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ไม่คดโกงแผ่นดิน ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง จะปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
ข้าพเจ้า คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะประพฤติปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อยอดศาสตร์ของพระราชาผู้ทรงธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ จะยืนเคียงข้างประชาชน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศสืบไป" นายจุติกล่าวนำ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม.กล่าวตาม
ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง พม. ร่วมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต
พอช.ประกาศ 8 มาตรการป้องกันการทุจริต-นโยบาย ‘No Gift Policy’
ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านการคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด “พอช. โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านทุจริต” โดยมีผู้บริหาร พอช. นำโดยนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวนำว่า ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่น และให้ความสำคัญในการสืบสานเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ปรากฏผลในเชิงประจักษ์ และจะขับเคลื่อนองค์กร โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรแห่งความโปร่งใส เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาแก่ประชาชนผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนี้
นายกฤษดา ผอ. พอช. (ยืนกลางแถวที่ 2 ) นำผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน
1.ผู้อำนวยการ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับชั้น จะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรง ทางอ้อม
รวมทั้งไม่นิ่งเฉย ไม่ทน และไม่ยอมรับการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันใด ๆ ทั้งสิ้น
2.ผู้บริหารทุกระดับจะต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ส่งเสริมให้มีการกำกับจริยธรรมในองค์กร ผู้บริหารทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การทุจริต หากพบว่าผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในกำกับมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตให้รีบดำเนินการป้องกันแก้ไขโดยเร็วและจริงจัง รวมทั้งต้องมีการลงโทษทางกฎหมายโดยเด็ดขาดและเป็นธรรม
3.ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติตามนโยบาย No Gift Policy โดยเคร่งครัด
4.ให้ความสำคัญต่อกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และจะต้องมีระบบการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตภายในองค์กร (Risk Assessment) อย่างสม่ำเสมอ ต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต ตลอดจนมีมาตรการที่เหมาะสมในการปิดความเสี่ยง
5.ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงาน ที่เหมาะสมกับบริบท สภาพปัญหา และพลวัตการทุจริตขององค์กร พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือและมาตรการเพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปิดโอกาสในการกระทำการทุจริต ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันทำได้ยาก มีโอกาสสูงที่จะถูกตรวจพบ และมีการลงโทษตามกฎหมายด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสม
6.ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริต ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนตน สิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม มีความละอายต่อการกระทำความผิด ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่คดโกง ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สอดส่องและแจ้งเบาะแสการทุจริต ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ
7.เมื่อพบว่ามีการกระทำการทุจริตจริง ผู้กระทำการทุจริตนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ ผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงาน จะต้องได้รับโทษทางวินัยของทางราชการ และหากการกระทำทุจริตนั้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย
8.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือส่งหลักฐานการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันของผู้ปฏิบัติงานนั้น
“สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ปฏิบัติงาน พอช.ทุกคน ปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ความสุจริต ใช้ระเบียบ กฎหมายเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และขอให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความราบรื่น ปราศจากอุปสรรค ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และมีความสุขทุกคน” ผอ.พอช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากการประกาศมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวแล้ว นายกฤษดา ผอ.พอช. ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ นโยบาย “ไม่รับของขวัญและของกำนัล” หรือ “No Gift Policy” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จากการปฏิบัติหน้าที่หรือในทุกช่วงเทศกาล เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติหรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" ย้ำ พม. ห่วงใย เหตุน้ำท่วมใต้ กำชับเยียวยากลุ่มเปราะบาง
วันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
“วราวุธ” มอบ "ปลัด พม." ร่วมคณะนายกฯ “แพทองธาร” ลุยน้ำท่วมนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ ช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567