14 ปีสภาองค์กรชุมชน...เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น จัดประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล 29-30 พ.ย.นี้ (2)

สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา  สร้างการกระจายอำนาจ  สู่ความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น  ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น”  คือประเด็นสำคัญในการประชุมระดับชาติประจำปี 2565

ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’  มาตรา 30 กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดให้มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง  โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง...นั่นคือ

“เพื่อให้ที่ประชุมสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”

นั่นหมายความว่า...ปัญหาจากชุมชนคนรากหญ้าทั่วประเทศจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขโดยรัฐบาลได้ !!

ทั้งนี้จะมีการจัด ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2565’  ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ภาคประชาสังคม  และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย  เข้าร่วมประมาณ 200 คน

โดยมีประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้  คือ “สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา  สร้างการกระจายอำนาจ  สู่ความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น  ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น”

จุติ  ไกรฤกษ์  รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ร่วมงานประชุมสภาฯ ระดับชาติที่ พอช. เมื่อปี 2563  ส่วนปี 2564 ประชุมผ่านระบบออนไลน์เพื่อป้องกันโควิด

สภาองค์กรชุมชน เครื่องมือพัฒนาของประชาชน

ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  7,795 แห่งทั่วประเทศ  นอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายแห่งจะมีบทบาทในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิชุมชนท้องถิ่นดังที่กล่าวไปแล้ว (ดู 14 ปี สภาองค์กรชุมชน...ตอนที่ 1 / www.thaipost.net/public-relations-news/270916/) สภาองค์กรชุมชนตำบลยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่   อาชีพ  วิถีชีวิต  สภาพปัญหา  ประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

เช่น  ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือในการสำรวจข้อมูล  ปัญหาของประชาชนหรือผู้เดือดร้อนในตำบล  เพื่อนำมาจัดทำแผนงานแก้ไขหรือส่งเสริมการพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน  เป็นแผนที่มาจากประชาชน  ไม่ใช่เป็นแผนงานจากหน่วยงานภายนอก  หรือการสั่งการ จากบนลงล่าง เหมือนในอดีต 

ขณะที่หน่วยงานภายนอก  เช่น พอช. หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จะมีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุนงานพัฒนาของชุมชนและชาวบ้าน  ไม่ใช่ ผู้สั่งการเช่น  พอช. สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  การสำรวจข้อมูลปัญหา     นำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาโดยชุมชน  การฝึกอบรมเพิ่มพูนศักยภาพผู้นำชุมชน  ฯลฯ

ดังตัวอย่าง...จังหวัดน่าน  ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ  ป่าต้นน้ำ   สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดน่าน 34 ตำบลร่วมกับ อบต. กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจและจัดทำข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  เพื่อนำไปวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งจังหวัด  โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดอุทัยธานี  สภาองค์กรชุมชนในอำเภอห้วยคต 3 ตำบล คือ ห้วยคต  สุขฤทัย  และทองหลาง สำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีความยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น  แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การส่งเสริมอาชีพและรายได้  สร้างแหล่งน้ำ  พัฒนาคุณภาพชีวิต  ฯลฯ

หลังจากนั้นจึงเสนอโครงการต่อ พอช. และได้รับการสนับสนุนจาก พอช.ในปี 2564  ตามโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต  3 ตำบล  รวม  791 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 37 ล้านบาทเศษ  เช่น  ซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่มีสภาพทรุดโทรม   ส่งเสริมอาชีพ  ปลูกไม้ผล  เลี้ยงเป็ด  ไก่   ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ  สร้างแหล่งน้ำ  ทำประปาภูเขา  สร้างตลาดชุมชน   อนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง  ฯลฯ

ชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จัดทำแผนและพัฒนาชุมชนไปแล้วในช่วงปี 2565 เช่น  อนุรักษ์แหล่งน้ำ   ปลูกป่า  จัดตลาดนัดกะเหรี่ยง  สอนหนังสือเยาวชน  ทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  ฯลฯ

จังหวัดนครศรีธรรมราช  ต.นางหลง  อ.ชะอวด   ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  ปลูกยางพารา      แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ยางพารามีราคาตกต่ำ  แกนนำในตำบลจึงใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา  โดยนำปัญหาเรื่องปากท้องมาพูดคุยและวางแผนแก้ไขร่วมกันทั้งตำบล  

เช่น  รวมกลุ่มกันรับซื้อยางถ้วยเพื่อสร้างอำนาจต่อรองราคาซื้อขาย  ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ  เช่น  ทำน้ำพริกแกง  เลี้ยงผึ้งในสวนยางพารา  นำน้ำผึ้งมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า  จากเดิมที่ขายน้ำผึ้งได้ขวดละ 400 บาท  เมื่อนำมาทำ ‘สบู่น้ำผึ้ง’  1 ขวดจะทำสบู่ได้ประมาณ 250-300 ก้อน  ราคาขายก้อนละ 20 บาท  สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 5,000-6,000 บาทต่อน้ำผึ้ง 1 ขวด                               

น้ำผึ้งจากผึ้งเลี้ยงในสวนยางและสบู่น้ำผึ้ง

นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนฯ ยังร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในตำบลจัดทำแผนงานพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล  นำไปสู่การเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีภายนอกมาสนับสนุนชุมชน   เช่น  เกษตรอำเภอ  ให้ความรู้การปลูกพืชร่วมกับยาง  ปลูกผักเพื่อใช้ทำเครื่องแกง  การศึกษานอกโรงเรียน ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตการเกษตร  การยางแห่งประเทศไทย สนับสนุนการพัฒนาการผลิต  เพิ่มรายได้จากยาง  พอช. สนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย  ฯลฯ

จังหวัดระยอง ที่ตำบลเนินฆ้อ  อ.แกลง  ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี 2540  เมื่อจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อในปี 2551  จึงรวมกลุ่มต่างๆ ในตำบลมาพัฒนาชุมชนร่วมกัน  และใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลาง  สร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง  นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทั้งตำบล  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  

เช่น   ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์    แปรรูปอาหาร  ผลไม้  จัดตั้งตลาดในชุมชน  และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ มีฐานการเรียนรู้การเกษตรแบบพึ่งตนเอง  มีอาหารพื้นบ้าน  ผลไม้อินทรีย์  รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี  ก่อนสถานการณ์โควิดปี 2563 จะมีผู้มาเยือนประมาณปีละ 1 แสนคน  ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณปีละ 20 ล้านบาท 

รถยนต์ ‘ไทยประดิษฐ์’ พาผู้มาเยือนชมสวนผลไม้และฐานเรียนรู้ต่างๆ ในตำบลเนินฆ้อ

จังหวัดเชียงราย :  สร้างระบบการดูแลผู้สูงวัยในตำบล

นอกจากตัวอย่างการพัฒนาชุมชนดังกล่าวข้างตนแล้ว  ทองใบ  สิงสีทา  หัวหน้าสำนัก  สำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  บอกว่ายังมีสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายแห่งที่มีการคิดค้นแผนงานและนำมาจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพของชุมชนท้องถิ่นของตน 

เช่น  สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลป่าตาล  อ.ขุนตาล จ.เชียงราย  เนื่องจากในเขตเทศบาลมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก  สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลป่าตาลร่วมกับเทศบาลตำบลป่าตาล  สำรวจข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในตำบลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป   พบว่า  จำนวนผู้สูงอายุในตำบลมีทั้งหมด 1,642 คน  จากจำนวนประชากร 7,796 คน  คิดเป็นร้อยละ  21   และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เฉลี่ยร้อยละ 1.5 ต่อปี   ถือเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

‘โฮงเฮียน’ หรือ ‘โรงเรียน’ ผู้สูงวัย  มีกิจกรรมและการเรียนรู้ต่างๆ ตลอดทั้งปี  เมื่อจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150-200 คน

สภาองค์กรชุมชนฯ จึงร่วมกับเทศบาลเปิด ‘โฮงเฮียนผู้สูงวัย’  ตั้งแต่ปี 2556  โดยมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ รองรับสังคมสูงวัย  เพื่อให้ผู้สูงวัยในตำบลได้ทำกิจกรรม  และสร้างแนวทางร่วมกันในการดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่  เช่น มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสุขภาพ  สอนการออกกำลังกาย  การใช้ชีวิต  การรับประทานอาหาร  ดูแลสุขภาพ  ฯลฯ  เพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์  แข็งแรง  ไม่ซึมเศร้า  เพราะได้พบปะ  พูดคุยกับเพื่อนๆ  มีกิจกรรมทำร่วมกัน  และนำความรู้ที่ตนมีมาถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์

มีหลักสูตรส่งเสริมสุขภาพ  การออกกำลังกาย  การส่งเสริมอาชีพ  และพัฒนาหลักสูตรสู่ฐานเรียนรู้ภูมิปัญญานักเรียนผู้สูงวัย  มีฐานเรียนรู้ที่สำคัญ  เช่น  การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง   ดนตรีพื้นบ้าน   สมุนไพรหมอเมือง   อาหารและขนมพื้นบ้าน  การเรียนรู้งานฝีมือหัตถกรรม  สิ่งประดิษฐ์  ขยายผลไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัยโดยชุมชนท้องถิ่น  โดยเทศบาลตำบลป่าตาลให้การสนับสนุน  บรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น  และตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่องทุกปี  ทำให้โฮงเฮียนผู้สูงวัยเทศบาลตำบลป่าตาลเป็นต้นแบบ  มีผู้มาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปจัดตั้งโรงเรียนในท้องถิ่นของตน

โฮงเฮียนผู้สูงวัยไม่ตกยุค  ใช้เฟสบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์แจ้งข่าวสารกิจกรรมแก่สมาชิก

จังหวัดอำนาจเจริญ : สภาองค์กรชุมชนตำบลสร้างสวัสดิการจากป่า

สตพร   ศรีสุวรรณ์  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุก  อ.เมือง  จ.อำนาจเจริญ  บอกว่า  ตำบลกุดปลาดุกอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเพียง  8 กิโลเมตร  แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  คือมีป่าชุมชนในตำบล10  แห่ง เช่น ป่าชุมชนโคกห้วยตก  ป่าชุมชนดอนเจ้าปู่ลือคำหาญ  ป่าดอนเจ้าปู่บ้านวังแคน  ฯลฯ  เนื้อที่รวมกันจำนวน  1,228 ไร่   โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุกเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการป่า

ในปี 2553  สภาองค์กรชุมชนฯ  อบต.กุดปลาดุก  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ร่วมกันจัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ป่าทั้งตำบล  รวม 12 หมู่บ้าน  เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่า  ป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  เพื่อให้ป่าชุมชนทั้ง 10 แห่ง  เป็นแหล่งต้นน้ำ  แหล่งอาหารของชาวบ้าน  ถือเป็นสวัสดิการจากป่าที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้ามาเก็บหาเห็ด  หน่อไม้  สมุนไพร  แมลงอาหาร  ฯลฯ  เป็นอาหารได้  ถือเป็นชุปเปอร์มาเก็ตธรรมชาติของตำบล  ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา

ในปี 2563-2564  สภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุกร่วมกับ สกว.  และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (อพสธ.) มหาวิทยาลัยมหิดล  วิทยาเขตจังหวัดอำนาจเจริญ  ศึกษาประเด็น ‘การจัดสวัสดิการชุมชน  คน  และป่า’ ที่ป่าชุมชนกุดปลาดุก

“ผลจากการศึกษาพบว่า  ป่าชุมชนกุดปลาดุกทั้ง 10 ป่า  เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชนทุกฤดู มีสมุนไพร  พันธุ์ไม้นานาชนิด  ไม้ใช้สอย ที่คนไนตำบลกุดปลาดุกสามารถเข้ามาใช้บริการ  และนำไปใช้ประโยชน์  เช่น นำไม้ไปซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้   วัดบ้านนาสีนวนและวัดบ้านกุดปลาดุก กำลังบูรณะก็ใช้ไม้ที่มีอายุมากๆ ที่กำลังจะล้ม เอาไปใช้  แต่เรามีกติกาว่า  ถ้าเอาไม้ไป 1 ต้น  ต้องปลูกทดแทน 20 ต้น และต้องเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่าด้วย”  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดปลาดุกบอก  และว่า  มูลค่าที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนทั้ง 10 แห่งมีประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี !!

สภาพป่าชุมชนในตำบลกุดปลาดุก  จากการศึกษาพบว่ามีพืชอาหาร 144 ชนิด  สมุนไพร 177 ชนิด  พืชใช้สอย 32 ชนิด ฯลฯ

จากปัญหาท้องถิ่นสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย

ทองใบ  สิงสีทา  หัวหน้าสำนัก  สำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  บอกว่า  จากตัวอย่างต่างๆ ข้างต้น  เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น  ซึ่งเรื่องใดชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้เอง  สภาองค์กรชุมชนฯ และสมาชิกสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที  แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ  สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้

นอกจากนี้ยังสามารถนำปัญหาเชิงโครงสร้าง  ปัญหาจากนโยบาย  หรือผลกระทบจากการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนมานำเสนอในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’  มาตรา 30  กำหนดว่า  “ในปีหนึ่งให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดให้มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง” 

มาตรา 32  ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

(2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะ รัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ  อ.จะนะ  จ.สงขลา  เป็นโครงการหนึ่งที่ประชาชนหวั่นเกรงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  จึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2564 ที่ผ่านมา

การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติปี 2565

ทองใบ  ยกตัวอย่างปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา  เพื่อเตรียมนำเสนอต่อนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขตามตามมาตรา 32 (1), (2) และ (3) รวม 9 ประเด็น  คือ

1.การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในสถานการณ์การระบาดของโควิด     2. การบริหารจัดการงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด พ.ศ. 2563

3.การแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย  4.การสร้างความเป็นธรรม  ความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์  5.การทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล  โดยใช้การจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลางระดับตำบล  6.กฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชน กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกรณีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้

7.ความมั่นคงทางอาหาร 8.ข้อเสนอกรณีปัญหาเชิงพื้นที่ ได้แก่ โครงการผันน้ำยวม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่  ตาก , โครงการนิคมอุตสาหกรรม  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา , โครงการสัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง  จังหวัดสตูล , โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช  และ 9.ข้อเสนอต่อ พอช. เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล

ทั้งนี้จะมีการจัด ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2565’  ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ภาคประชาสังคม  และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย  เข้าร่วมประมาณ 200 คน

โดยมี    Theme หรือสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้  คือ “สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการกระจายอำนาจ  สู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น  ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น”

จากการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนทั้งในระดับตำบลและระดับชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนได้รับการยอมรับจากภาครัฐ  ทำให้สภาฯ เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานในระดับนโยบายร่วมกับองค์กรต่างๆ  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนในภาพเป็นความร่วมมือกับ ป.ป.ส. เพื่อใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่นำร่องในการควบคุมพืชกระท่อมในปี 2563

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ