คณะอนุกมธ. สภาผู้แทนฯ จวกการควบคุมยาสูบ -บุหรี่ไฟฟ้า ล้มเหลวทุกด้าน ถึงเวลาแก้ปัญหา

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและการบังคับใช้กฏหมายด้านสาธารณสุข ถกนัดสุดท้ายพิจารณาปัญหาการควบคุมยาสูบที่ไม่สามารถลดอัตราผู้สูบบุหรี่ได้ตามเป้า มีการเติบโตขึ้นของตลาดบุหรี่ลักลอบนำเข้า และ ตลาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการทั้งจากของไทยและต่างประเทศ การบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ ข้อร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และการคุกคามสื่อ

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 พ.ย.65  ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา ว่า ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของอนุกรรมาธิการในเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบ ก่อนที่จะสรุปเป็นเล่ม รายงานส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยที่ประชุมวันนี้ได้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนจากสื่อมวลชนที่ถูกคุกคามเสรีภาพการเสนอข่าวเกี่ยวกับบุหรี่ ด้วยการตีความกฏหมาย พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ ในเรื่องการโฆษณาที่กว้างเกินกว่าที่ตัวบทกฏหมายกำหนด ด้วยการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกสื่อมวลชนเข้าพบ หรือบางกรณีก็ถึงขั้นส่งดำเนินคดีก็มี และ อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การจับกุมผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตามที่เป็นข่าวหลายครั้ง ซึ่งทางอนุกรรมาธิการได้เคยมีการประชุมวาระประเด็นนี้โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาข้อกฏหมายร่วมกัน ได้ข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และมีประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องการห้ามจำหน่าย จ่าย แจก ให้บริการ แต่สำหรับผู้ครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับเดิม มีมาตรา 27ทวิ เขียนถึงความผิดเกี่ยวกับการครอบ ครอง การรับไว้ การเอาไปเสียซึ่งของต้องห้าม แต่ในพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ได้ตัดมาตราเดิมนั้นออก และในส่วนของการลักลอบสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร นั้น ตามาตรา 242, 246 ไม่ได้กล่าวถึงของต้องห้าม โดยใจความเป็นการเอาผิดกับของที่ลักลอบหนีภาษีไม่ผ่านพิธีการศุลกากร สรุปคือ เจ้าพนักงานตำรวจจะตั้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ศุลกากร กับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ จะถือว่าเป็นการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีโดยมิชอบ

นายแพทย์เอกภพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การดำเนินการด้านการควบคุมยาสูบควรต้องมีการทบทวนทั้งในส่วนของการดำรงตำแหน่งของกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทางอนุกรรมาธิการได้ส่งเรื่องกรณีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง และ กรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้กรรมาธิการ ปปช. สอบหาข้อเท็จจริงต่อไปแล้ว อีกทั้งต้องมีการทบทวนเรื่องข้อมูลทางวิชาการที่นำมาใช้อ้างอิงที่ต้องเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลทางวิชาการในต่างประเทศ พบข้อมูลทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น Cochrane review ได้รวบรวมทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบแล้วได้ข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้มีประสิทธิภาพกว่าการใช้นิโคตินทดแทนแบบเดิม อย่างพวกหมากฝรั่ง แผ่นแปะ มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจน้อยกว่าผู้สูบบุหรี่มวน ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสารบ่งชี้เกี่ยวกับโรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง น้อยกว่าผู้สูบบุหรี่มวน ดังนั้นจึงควรมีทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่เกือบสิบล้านคนได้มีโอกาสเลือก และมีทางใหม่ในการเลิกบุหรี่

“เราจะเห็นว่า การแบนบุหรี่ไฟฟ้า ที่ทำไม่ได้จริง มีการเติบโตของตลาดอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้ เป็นการปกป้องเยาวชนเลย แต่กลับทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าแบบควบคุมไม่ได้ แถมยังทำให้ตลาดบุหรี่ผิดกฏหมายโตมากจนนับวันจะยิ่งจัดการยากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า การจัดการลดการสูบบุหรี่ด้วยมาตรการทางภาษีก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ปล่อยให้บุหรี่ต่างประเทศกินตลาดบุหรี่ของการยาสูบไทย และปล่อยให้บุหรี่ลักลอบหนีภาษีกินส่วนแบ่งการตลาด จนทำให้ การยาสูบไทยที่เคยมีกำไรหลายพันล้านบาท เหลือแค่สองสามร้อยล้านบาทเพียงระยะเวลาแค่ 5-6 ปี ส่งผลไปถึงชาวไร่ยาสูบหลายแสนครอบครัวต้องถูกลดโควต้าเพาะปลูก แถมยังจะมีความพยายามเสนอให้แบนส่วนประกอบในบุหรี่ เช่น เมนทอล ที่นักสูบไทยเกินครึ่งสูบบุหรี่ที่มีรสชาติแบบนี้ แทนที่จะทำให้เลิกบุหรี่ก็ยิ่งจะทำให้ตลาดบุหรี่ลักลอบหนีภาษี และ ตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฏหมายเติบโตขึ้นไปอีก จำนวนผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ลด แถมรัฐยังเสียรายได้หลายพันล้านให้กับธุรกิจผิดกฏหมายอีก ถึงเวลาที่เราจะต้องปรับแนวทาง วิธีคิด และบุคคลในการควบคุมยาสูบเสียใหม่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป หากกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ จะมีการสรุปเป็นรูปเล่มเผยแพร่ให้กับสื่อมวลชนไปถ่ายทอดต่อไป” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอประกิต' กังขารัฐ รายได้ภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเแลกกับนักสูบหน้าใหม่พุ่งกระฉูด

“หมอประกิต” โยนคำถามใหญ่ให้รัฐบาล รายได้ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า กับการต้องแลกด้วยจำนวนนักสูบหน้าใหม่ผุดเพิ่มในประเทศ คุ้มค่าหรือชอบธรรมทางจริยธรรมหรือไม่

'มิวอ้อน ATLAS' สำนึกผิด โพสต์ขอโทษแฟนๆ-เพื่อนร่วมวงและต้นสังกัด

ก่อนหน้านี้เคยมีการแชร์คลิปของศิลปินวัยรุ่นคนหนึ่งที่กำลังยืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนในคลิปดังกล่าวคือใคร จนมีแฟนคลับบางส่วนของวงการ T-POP ได้ออกมาโพสต์ตำหนิและเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนร่วมวง และถึงแม้แฟนคลับของเจ้าตัวจะทราบว่าศิลปินคนดังกล่าวคือใครและมีการบอกกล่าวว่าเจ้าตัวรู้สึกผิด แต่ก็ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวหรือการออกมาขอโทษแฟนๆและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน สกัด 'บุหรี่ไฟฟ้า' รุกคืบสถานศึกษา

สสส. สัญจรสถานศึกษาต้นแบบ วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี ระนอง ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก ดึง “แดเนียล” ศิลปิน ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ช่วงวัยรุ่น ผ่าน “ดนตรีเล่าเรื่อง” สร้างภูมิคุ้มกัน ห่วงเด็กขาดความอบอุ่น-เอาใจใส่จากครอบครัว สาเหตุสำคัญทำเด็กเดินหลงทาง

ดีเดย์ ส.ค. นี้ ลุยปูพรมสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 7 รามาฯ - สธ. – สวรส. - สสส. สานพลัง มหาวิทยาลัย 4 ภาค ลงพื้นที่ประเมินสุขภาพกาย-ใจ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่นโฮเทล จ.นนทบุรี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

“สมศักดิ์” เห็นชอบตั้ง “ชาญเชาวน์” อดีตปลัดยุติธรรม จับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องปราบบุหรี่ไฟฟ้า กวดขัน “ห้ามพกพา-สูบ” ในสถานที่ราชการ สนามบิน

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1