‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. หนุนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมปลูกไม้มีค่าไร่ละ 2 ล้านบาท-สร้างป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

การปลูกไม้มีค่า  เช่น  ยางนา  ที่อำเภอหนองฉาง  จ.อุทัยธานี  เส้นรอบวงกว่า 3 เมตร  มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

พอช. : ‘กอบศักดิ์  ภูตระกูล’ ประธานบอร์ด พอช. หนุนโครงการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง  สร้างเศรษฐกิจชุมชน  โดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า  ต้นละ 2-3 หมื่นบาท  ไร่ละ 2 ล้านบาท  หากชุมชนปลูก 1 พันไร่จะมีมูลค่า 2  พันล้านบาท  พร้อมร่วมมือกับกรมป่าไม้ส่งเสริมป่าชุมชน  ตั้งเป้าปี 2570 สร้างป่าชุมชน 15,000 แห่งทั่วประเทศ  เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร  สร้างระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ  ป่า  เผยปัจจุบันมีป่าชุมชนแล้วกว่า 12,000 แห่ง  ชาวบ้านได้ประโยชน์เกือบ 4 ล้านครัวเรือน  มูลค่าการใช้ประโยชน์กว่า 4,900  ล้านบาท

วันนี้ (23 พฤศจิกายน)  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ครั้งที่ 17/2565 โดยมีนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานการประชุม  พร้อมด้วยคณะกรรมการ  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน   โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญเรื่องหนึ่ง  คือการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

นายกอบศักดิ์  อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด พอช.  เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา

ประธานบอร์ด พอช.หนุนปลูกไม้มีค่า-ป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ  กล่าวว่า  ในการประชุมในช่วงแรกๆ มีโครงการที่ได้หารือกับ ผอ.พอช.  และเตรียมโครงการไว้  คือจะมีการขับเคลื่อนโครงการเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง  โครงการ “การออมต้นไม้” และ “โครงการป่าชุมชน”  เป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านบริหารจัดการและไม่ผิดกฎหมาย  หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้  คือกรมป่าไม้ได้เล็งเห็นความสำคัญ  เพราะเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอในการดูแลและทำให้เห็นถึงพื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง

การประชุมบอร์ด พอช. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

แต่มีข้อสังเกต คือพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลมีพื้นที่สีเขียว  จึงเกิด พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  อยากให้มีพื้นที่ป่าชุมชน 20,000  แห่งทั่วประเทศไทย  ตนจึงอยากให้ พอช. ตั้งทีมและกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับชุมชน  และชุมชนใดที่มีความพร้อมก็จะมาร่วมกับกรมป่าไม้  และร่วมกับเอกชนที่มีความพร้อมในการลงทุนกับชาวบ้าน  ป่าชุมชนเป็นพื้นที่อาหาร  เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน  และมีโครงการที่เกี่ยวเนื่อง  เช่น  “ฝายมีชีวิต”  ที่สามารถดำเนินการในพื้นที่อุทยานและพื้นที่ป่าได้  หากทำ 2 โครงการนี้ได้  ป่าไม้ประเทศไทยก็จะอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านก็จะอยู่ดีมีสุข

“พอช.มีงบประมาณจำกัด  แต่สามารถเอาโครงการของภาครัฐมาให้ชุมชน  จะสามารถนำงบประมาณมาส่งเสริมพี่น้องชุมชนได้  มีการแบ่งกลุ่มป่าชุมชน  ทั้งขนาดเล็ก  กลาง  ใหญ่  เช่น 10,000 – 20,000 ไร่  จะเป็นพื้นที่เชิงภูมินิเวศน์ครอบคลุม 3 ตำบล  เป็นต้น  งานของ พอช. เป็นงานเปลี่ยนประเทศไทย  สิ่งที่มาร่วมหารือครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่จะร่วมขับเคลื่อนในการทำป่าชุมชนทั่วไทย  ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ 2 คณะ คือ   คณะทำงานป่าชุมชน  และคณะทำงานฝายมีชีวิต  โดยจะมีภาคเอกชนมาร่วมกัน และขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอนเครดิตอย่างเหมาะสม  รวมถึงการสนับสนุนชุมชน  โดยการลดหย่อนด้านภาษี”  นายกอบศักดิ์กล่าว

ตัวอย่างการปลูกไม้ยางนาซึ่งเป็นไม้มีค่า  เป็นธนาคารต้นไม้  หรือการ ‘ออมต้นไม้’ สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ได้

ประธานบอร์ด พอช. ยกตัวอย่างว่า  พื้นที่  1 ไร่  จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น  ได้ต้นละ 2-3 หมื่นบาท  จะได้มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท  หากทำ 1 ชุมชน  จำนวน 1,000 ไร่  จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท  ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปีด้วยมือเรา  และในอนาคตอาจจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์   สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างพื้นที่สีเขียวได้

ส่วนการสร้างฝายมีชีวิตนั้น  นายกอบศักดิ์ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในปี 2561 โดยสนับสนุนโครงการ ‘ประชารัฐร่วมใจสร้างฝายมีชีวิต’ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ  สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน  ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้   โดยใช้ “ฝายกั้นน้ำ”

หรือ “ฝายชะลอน้ำ”  เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้น  เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  ต้นน้ำลำธาร  คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน  โดยจะให้ พอช.  ชุมชน  ภาคีเครือข่าย  รวมทั้งภาคเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฝายมีชีวิตต่อไป

กรมป่าไม้ตั้งเป้าปี 2570 สร้างป่าชุมชน 15,000 แห่งทั่วประเทศ         

นางนันทนา  บุญยานันต์  ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน  กรมป่าไม้  ซึ่งเข้าร่วมประชุมบอร์ด พอช. กล่าวว่า   การผลักดันกฎหมายหลายๆ ฉบับ  พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายที่พี่น้องชุมชนรอคอยกว่า 20 กว่าปี  และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็น ‘วันป่าชุมชนแห่งชาติ’  เพราะเป็นวันที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธย   และการดำเนินงานการส่งเสริมป่าชุมชนได้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่  10 นำมาใช้  คือ  อยากเห็นป่าไม้หมู่บ้าน  อยากเห็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่มาดูแลปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า  พ.ร.บ.ป่าชุมชน  สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด

นางนันทนา  ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน  

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562  ให้ความหมายว่า  “ป่าชุมชน  คือ  ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ  นอกเขตป่าอนุรักษ์  ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน  โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู   จัดการ  บำรุงรักษา  ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”

ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวว่า  ชุมชนจะต้องมีแผนการจัดการป่าชุมชน และเสนอผ่านคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด  กลไกในพื้นที่จะรับรองแผน  ซึ่ง อปท. และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่สามารถที่จะสนับสนุนชุมชนตามแผนนั้นได้  รวมถึงแผนภูมินิเวศน์ที่มีการเสนอเป็นแผนอนุรักษ์  ฟื้นฟู  ควบคุม  พัฒนา  และแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน

ขณะที่ชุมชนสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนตามกฎหมายได้ในบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์  เช่น  เก็บหาของป่า  การใช้ประโยชน์จากไม้เพื่อการดำรงชีพ  และการใช้สอยและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ภายในชุมชน  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอื่น  เช่น  น้ำ   ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน  การใช้ประโยชน์จากไม้  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากภัยพิบัติหรือเหตุจำเป็น  ฯลฯ

ส่วนการจัดตั้งป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562  ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 12,117 แห่ง  ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่

จากการประเมินของกรมป่าไม้  มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675  ครัวเรือน  เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน  ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  จำนวน 4,907 ล้านบาท  การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  รวม 42 ล้านตันคาร์บอน  การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า  4.562  ล้านลูกบาศก์เมตร  และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า  595,857 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายภายในปี 2570  กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ  ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่

ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวด้วยว่า  สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นคือ  การพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้  การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์โดยชุมชน   ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและให้บริการ  ซึ่งรูปแบบการดำเนินการต้องดำเนินการในรูปแบบกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน  และการใช้ไม้ต้องไม่ใช่การใช้ไม้หวงห้ามในพื้นที่ป่าสงวน  เพื่อนำมาใช้ในการขายไม้ท่อน  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานราก (BCG)

“แต่ปัญหาอุปสรรคการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน  คือ  ชุมชนจะต้องได้รับการส่งเสริมและได้รับความรู้เพื่อจัดทำแผน  โดย พอช. เป็นภาคีสำคัญในการส่งเสริมกลไกในพื้นที่ให้เกิดกระบวนการสร้างความเข้าใจและการจัดทำแผน”  ผอ.ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวในตอนท้าย

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา