เพิ่งคว้ารางวัลตำบลจัดการคุณภาพชีวิตดีเด่นระดับประเทศในปี 2565 จากนวัตกรรมดูแลใจวัยใส-ผู้สูงอายุ-ติดเตียง-ผู้พิการ สำหรับชุมชนตำบลเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือร่วมใจระหว่างบ้าน-วัด-ราชการ (บวร) ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม
การเรียนรู้จากชุมชนท้องถิ่นที่สามารถสานพลังสร้างการมีส่วนร่วม ถือเป็นเข็มทิศที่จะนำไปต่อยอดให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พร้อมด้วยเครือข่ายจึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จของนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา ที่ รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่ภาษีบาปที่เก็บจากภาษีเหล้า บุหรี่ 2% ขับเคลื่อนคนทำงานอย่างมีคุณภาพ เห็นผลในการทำงานสำเร็จเป็นทีม มีพลังมีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำคู่มือสุขภาพจิตคนแก้ไขได้ด้วยสถาบันองค์กรต่างๆ ให้ความร่วมมือกับสาธารณสุข การมีอาชีพ มีรายรับ มีที่อยู่ปลอดภัย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีสารพิษ สารเคมี การมีสุขภาพจิตที่ดี การสร้างองค์ความรู้ลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ ช่วยกันขับเคลื่อนสุขภาวะในชุมชน จับมือกันอย่างเหนียวแน่น สสส.หยิบประเด็นความสำเร็จไปขยายงานขับเคลื่อนต่อชุมชนอื่นๆ การสร้างผู้นำชุมชนตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในชุมชน
จากสถานการณ์สุขภาพจิตที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 14.5, 16.8 และ 9.5 สัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และอายุ 20-29 ปี ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการตกงาน สูญเสียรายได้ เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแล เยียวยาทางจิตใจ เนื่องจากมีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า สวนทางจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่มีจำกัด ไม่เพียงพอ สสส.จึงร่วมกับ มสช.พัฒนาแนวทางป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด
“ชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญมากในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ต้นทาง สสส.ร่วมกับ มสช. ดำเนินโครงการ 'พัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต' นำร่อง 10 พื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน มุ่งส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้คนในชุมชนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต ร่วมช่วยเหลือทางสังคม การเงิน การประกอบอาชีพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเครียดความกังวลของประชาชน” นายชาติวุฒิกล่าว
ส่วนนายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นฯ มสช.กล่าวเสริมว่า โครงการนี้มุ่งเน้นทดลองและพัฒนาตัวอย่างของชุมชนท้องถิ่น ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตด้วยกลไกที่แตกต่างกัน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา วัด หน่วยบริการสุขภาพนำร่อง 10 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค มี นสช.กว่า 200 คนซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข หรืออาสาพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว แต่เพิ่มบทบาทและเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพจิตเข้าไปด้วย
จากการดำเนินงานกว่า 1 ปี ทำให้เกิดกลไกการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพจิตที่เข้มแข็งตั้งแต่การส่งเสริม สอดส่อง และส่งต่อ มีการกำหนดกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาจิตเวช ผู้ติดยาเสพติด ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา อาทิ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่า สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ อีกทั้งผู้นำท้องถิ่นเห็นความสำคัญของงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายถอดบทเรียนทั้ง 10 พื้นที่ ขยายผลการดำเนินงานเป็น 100 พื้นที่ภายใน 5 ปี
โอกาสนี้ นายนิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลองเหมืองใหม่ ร่วมเปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ เศรษฐกิจ สัมพันธภาพในครอบครัว และสังคม รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ จึงจัดกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ลดขนาดผลกระทบ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแต่ละด้านครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ด้วยภาคีเครือข่าย บ.ว.ร. คือ บ้าน วัด หน่วยราชการ พัฒนาแนวทางส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนในสถานการณ์วิกฤต นำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเข้ามาช่วยบำบัด สร้างสติและสมาธิของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป
การสร้างแกนนำเครือข่ายประชาสังคม รพ.สต. อสม. อพม. อปท. สื่อสาธารณะ ระบบบริการสุขภาพ วัด มัสยิด เครือข่ายด้านเยาวชน ครอบครัว ผู้นำชุมชน เครือข่ายงดเหล้า การสร้างชุมชนท้องถิ่นสุขภาพดี ตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิด วัยเรียน วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุ โดยการนำของพระครูพิศิษฏ์ประชานาถ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ดร.หลวงพ่อแดง รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา และเจ้าอาวาสวัดอินทาราม และวัดทั้ง 9 แห่งในพื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมคือ ชมรมธรรมะหรรษาสามวัย ธนาคารผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อผู้สูงอายุติดเตียงและผู้พิการ กล่องเปิดใจวัยใส จนได้รับรางวัลตำบลจัดการคุณภาพชีวิตดีเด่นระดับประเทศในปี 2565
ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม กรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 (สสส.) กล่าวว่า ชื่นชมการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพจิตของ ต.เหมืองใหม่ มีจุดแข็งที่สามารถถอดบทเรียนไปเป็นต้นแบบขยายผลในพื้นที่อื่นได้หลายด้านมาก ทั้งประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ ผู้นำมีความเข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับปัญหา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ง่าย และมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบคลุมทุกกลุ่มวัย พร้อมฝากให้มีการส่งต่อโครงการนี้ไปยังรุ่นต่อๆ ไปเพื่อให้งานมีความยั่งยืน
“ต้นทุนของชุมชนดี มีทรัพยากรที่ดี คนมีความรักความผูกพันว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ ชีวิตเป็นของเรา ไม่ใช่ของส่วนราชการ ขอชื่นชม ผอ.โรงเรียนถาวรวิทยาที่ให้เด็กนำกล่องรวบรวมความคิดเห็น และข้อสงสัยเรื่องสุขภาพกายและเรื่องเพศด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เรื่องเพศวิถีเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรให้ชีวิตเกิดความปลอดภัย ส่วนปัญหาของผู้สูงอายุ ผ้าอ้อมแผ่นรองซับเป็นค่าใช้จ่ายทุกเดือน การสร้างทีมผู้นำในชุมชนที่มีความต่อเนื่องสืบทอดการทำงาน ในฐานะฉันคือเจ้าของชุมชน”
***
ดร.หลวงพ่อแดง หรือ พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ
เจ้าอาวาสวัดอินทาราม จังหวัดสมุทรสงคราม
“มีศีล สุขล้ำ มีธรรม สุขใจ โรงทานวัดอินทาราม Delivery”
“จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เราต้องช่วยกันทำให้ศีลธรรมกลับมา บ้านเมืองเข้มแข็ง เมืองไทยเป็นเมืองพุทธเป็นเมืองพระ ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ 90% สมาชิกในชุมชนขาดเหลืออะไรทางวัดพร้อมจัดให้ ในช่วงโควิดระบาดช่วยกันสร้างศูนย์พักคอย ร่วมกันคิดร่วมกันตัดสินใจ ลงมือช่วยกันทำเพื่อผลประโยชน์ทั้งหลายจะได้ตกอยู่กับประชาชน เงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ถ้าหลวงพ่อแดงทำห้องแอร์เย็นฉ่ำชื่นใจก็ทำได้ แต่เราไม่ตัดสินใจที่จะทำ เพราะคนเราทุกคนก็ต้องเดินทางไปสู่ความตายกันทั้งนั้น แต่เราทำศูนย์รับพิจารณาศพ ในช่วงสถานการณ์โควิดศพคนตายเกลื่อนมาก ต้องจัดโซนที่เผาไว้โดยเฉพาะ
พระที่นี่พร้อมที่จะเสียสละกันทุกรูป ทำให้ผลงานออกมาอย่างชัดเจน ทุกฝ่ายทำจริง บ.บ้าน ว.วัด ร.โรงเรียน ไม่เฉพาะโรงเรียนเท่านั้น ราชการต้องเข้ามาร่วมมืออย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำงานแบบปอกลอกปลิ้นปล้อน ต้องทำงานอย่างที่เรียกว่ารักประชาชน ไม่ใช่ทอดทิ้งประชาชน ข้าราชการบางคนเอาผลงานของประชาชนไปแล้วก็ทิ้งประชาชน บ้าน วัด โรงเรียนจะให้เด็กสองคนตาดำๆ ตัวน้อยๆ เข้ามาทำงานไม่ได้ งานไม่สำเร็จ ต้องให้ส่วนราชการเข้ามาทำงาน จะส่งผลให้บ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้นมาได้ พระสงฆ์ก็มีบทบาทช่วยพัฒนาสังคม ถ้าคุณมาไม่ว่าจะใหญ่มาจากที่ไหน แต่เมื่อมาแม่กลองแล้วไม่เคารพพระ ก็เป็นเรื่องที่หมดสมัยแล้ว จะมาใหญ่ยิ่งกว่าประชาชนกันได้อย่างไร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง