เลขาธิการ ส.ป.ก.และผู้บริหาร พอช.ร่วมงานที่ตำบลเขาพนม จ.กระบี่
รมว.พม.ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลคลองเคียน จ.พังงา
กระบี่-พังงา/ เลขาธิการ ส.ป.ก.ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดกระบี่ โดยติดตามความคืบหน้าการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนที่ยากไร้ในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลเขาพนม 72 ครอบครัว ส่วนนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ร่วมงานที่ตำบลคลองเคียน จ.พังงา แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยชุมชนชาวประมง ขณะที่ พอช.เตรียมขยายผลแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัดเพื่อให้ประชาชนมีที่ดิน-ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน เริ่มดำเนินการปีนี้
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับเครือข่ายบ้านมั่นคงภาคใต้ และหน่วยงานในท้องถิ่น จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2564 ภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่และพังงาในระหว่างมีการประชุม ‘ครม.สัญจร’ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและทีมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมงานเมื่อวานนี้ (15 พฤศจิกายน) ที่เทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
บ้านใหม่ ชีวิตใหม่ในที่ดิน ส.ป.ก.เขาพนม
ล่าสุดวันนี้ (17 พฤศจิกายน) ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และนายปฏิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกที่แปลงที่ดิน ส.ป.ก.เขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่ โดยร่วมพิธียกเสาเอกบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก. และติดตามความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนที่เข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.
นายปฏิภาณ รักษาการ ผอ.พอช.(ยืนซ้ายสุด) และ ดร.วิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. (ที่ 3 จากซ้าย) มอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ให้ประชาชน
ที่ดิน ส.ป.ก.เขาพนม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 991 ไร่ เดิมมีบริษัทเอกชนขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 2552 แต่ในสมัยรัฐบาล คสช. รัฐบาลมีนโยบายนำที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการเข้าทำประโยชน์หรือครอบครองโดยไม่ถูกต้องกลับคืนมา เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ยากไร้หรือไม่มีที่ดินทำกิน โดยยึดที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาในปี 2559
ต่อมาในช่วงต้นปี 2564 ส.ป.ก.ได้จัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ยากไร้ จำนวน 72 ครอบครัวๆ ละ 3 ไร่ เพื่อเข้าอยู่อาศัยและทำกิน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ในรูปแบบของสหกรณ์ ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์การเกษตรเมืองใหม่เขาพนม จำกัด’ ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ รวม 72 ครอบครัว งบประมาณรวม 3.4 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยครอบครัวละ 40,000 บาท) ขณะนี้สร้างบ้านแล้ว 26 หลัง นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ จะสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ฯลฯ
โดยในวันนี้เลขาธิการ ส.ป.ก.และรักษาการผู้อำนวยการ พอช. ได้ร่วมพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ของนางอมลวรรณ สุดจันทร์จรัส ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาในบ่อของนางหนูพิน ศิริพงษ์ ขณะที่สมาชิกชุมชนต่างกล่าวขอบคุณผู้แทนทั้ง 2 หน่วยงานที่สนับสนุนที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพ ทำให้มีชีวิตใหม่ เพราะเดิมส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำงานรับจ้าง ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เมื่อได้ที่ดินและที่อยู่อาศัยแล้วก็จะร่วมกันพลิกฟื้นที่ดินให้เป็นแปลงเกษตรกรรมอินทรีย์ ปลูกข้าวไร่แบบแปลงรวม ปลูกผักต่างๆ เพื่อกินและขาย และเลี้ยงปลาในบ่อ
มอบบ้านให้ชาวชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.
รมว.พม.ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลคลองเคียน จ.พังงา
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่ ในช่วงบ่าย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เดินทางมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลกะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เพื่อเยี่ยมเยียนและมอบสิ่งของจำเป็นให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ผู้ด้อยโอกาส เช่น มอบรถวีลแชร์ให้ผู้พิการ มอบนมผงให้แม่วัยใส และมอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้พิการ ฯลฯ
ความสวยงามของอ่าวพังงา มองจากจุดชุมวิวที่ตำบลคลองเคียน
จากนั้น รมว.พม.ได้เดินทางมาร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชนชาวประมงตำบลคลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินของหลายหน่วยงาน เช่น ที่ดินป่าชายเลน ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
นายอนันต์ ทอดทิ้ง อายุ 40 ปี ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นตำบลคลองเคียน บอกว่า ตำบลคลองเคียนมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 42,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา (ประมาณ 60 %) ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำที่สำคัญ คือปูม้าและกุ้งแชบ๊วย แตไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาสัย เพราะปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของหน่วยงานต่างๆ
“ที่ผ่านมาชุมชนพยายามแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ที่ให้ชุมชนเสนอเรื่องไปยัง คทช.จังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือน ผู้อยู่อาศัย จัดทำแผนที่ แล้วให้ คทช.จังหวัดส่งเรื่องการขอใช้ที่ดินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาตใช้ที่ดินอย่างถูกต้อง ซึ่งทางชุมชนได้ดำเนินการตามแนวทางนี้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว และเมื่อต้นปีนี้ ทางชุมชนก็ได้ทำบันทึกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินกับหน่วยงานเจ้าของที่ดินแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานเจ้าของที่ดิน” อนันต์บอก
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น เขาบอกว่า พอช.ได้มาสนับสนุนชุมชนเพื่อซ่อมสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท เพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรม เพราะที่ผ่านมาการจะปลูกสร้างบ้านหรือซ่อมบ้านนั้น ชาวบ้านจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน หากไม่ขออนุญาตจะมีความผิด แต่เมื่อ พอช.ทำบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้วจึงทำให้ลดปัญหาลงไป โดยมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในชุมชนเพื่อนำมาจัดทำโครงการตั้งแต่ต้นปีนี้
ชุมชนชาวประมงตำบลคลองเคียน
“ตำบลคลองเคียนมี 8 หมู่บ้าน สำรวจความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย บ้านเรือนทรุดโทรมทั้งหมด 866 ครอบครัว แต่จะเริ่มทำก่อนในช่วง 2 ปีนี้ จำนวน 337 ครอบครัว พอช.อนุมัติงบประมาณ 12 ล้านบาทเศษ ตอนนี้ซ่อมสร้างไปแล้ว 58 หลัง ส่วนที่เหลือจะทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2565” อนันต์บอก
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า กระทรวง พม. มีความรับผิดชอบเรื่องบ้าน อยากจะทำเยอะๆ แต่มีงบประมาณจำกัด ทั้งประเทศวันนี้ต้องการบ้าน 700,000 หลังภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนได้ทั้งหมด รัฐมนตรีจึงตั้งบริษัทลูกจากการเคหะแห่งชาติเพื่อทำบ้านเช่าราคาถูก เป็นอีกทางเลือกของพี่น้องประชาชนในการมีบ้าน ส่วน พอช.ทำงานกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้วในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
รมว.พม.มอบงบประมาณสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านรวม 337 ครัวเรือน 12.5 ล้านบาทเศษ
พอช.ต่อยอดพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการ ‘โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดพื้นที่อันดามัน 6 จังหวัด’ กล่าวว่า พื้นที่อันดามันภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และสตูล รวม 29 อำเภอ 139 ตำบล มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบทเป็นจำนวนมาก และมีชุมชนที่อาศัยและกินในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า ป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ที่ดินรัฐ และเอกชนประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง
“ที่ผ่านมารัฐหรือหน่วยงานที่ดินในเขตป่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหาแนวทางการแก้ไขและผ่อนปรนการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน เกิดแนวทางและรูปธรรมการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยของประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น การอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ควบคู่กับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ ป่า สอดคล้องกับวิถีชุมชนดั้งเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณจำนวนที่ได้ดำเนินการ พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีปัญหาอีกจำนวนมาก ดังนั้น พอช.จึงจัดทำแผนงานเพื่อร่วมมือกับองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายฝั่งอันดามันสู่ความยั่งยืนทุกมิติ” ผู้จัดการโครงการกล่าว
เขาบอกว่า โครงการนี้จะเริ่มต้นในปีนี้ โดยจะเริ่มต้นจากชุมชนชาวประมงหรือชายฝั่งทะเลก่อน เพราะสภาพพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันมีชุมชนชายฝั่ง ชุมชนในเขตป่าชายเลนจำนวนมาก โดยมีพื้นที่ตัวอย่างที่มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว เช่น ชุมชนชาวประมงในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ที่มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก (เมื่อ15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา) รวมทั้งชุมชนตำบลคลองเคียน จ.พังงาที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ท้องถิ่นจัดการ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานเจ้าของที่ดิน สามารถอนุญาตให้ชุมชนในเขตป่าไม้ ป่าชายเลน ชายฝั่ง เข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้อง และช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ขณะที่ พอช.ก็สามารถเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนได้
รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ร่วมงานที่ชุมชนชาวประมงเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
“ตอนนี้เรายังอยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลพื้นที่และชุมชนเพื่อนำมาวางแผนงานระยะสั้น 3-5 ปี โดยจะเริ่มในชุมชนที่มีปัญหาก่อน เช่น ชุมชนในเขตป่าชายเลน โดยมีเป้าหมายสร้างพื้นที่รูปธรรมจังหวัดละ 1 พื้นที่นำร่องเพื่อนำไปขยายผล จะมีการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย การซ่อมสร้างบ้าน การพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน คนจนได้รับการดูแล ได้รับโอกาสในการพัฒนา โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน มาร่วมมือกัน และถือเป็นส่วนหนี่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 20 ปีของรัฐบาลด้วย คือ คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579” นายธีรพลกล่าวทิ้งท้าย
บ้านใหม่ของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่เทศบาลตำบลทรายขาว ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการกระจายอำนาจด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ท้องถิ่นเข้ามาจัดการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร
สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
'น้ำเจ้าพระยา' ขึ้นสูง! ผวาท่วมตลาด-สถานที่เที่ยวชื่อดัง
น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ลอดใต้พนังกั้นน้ำหน้าตลาดสรรพยา เทศบาลต้องเร่งสูบออก ป้องท่วมตลาดและโรงพัก ร.ศ.120 สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย