คลองสำโรงบริเวณชุมชนบาลาเซาะห์ (เดิมเป็นชุมชนเดียวกับชุมชนเก้าเส้ง) ก่อนไหลออกทะเลอ่าวไทยในเขตเทศบาลนครสงขลา ไม่ไกลจากแหลมสมิหลา ในอดีตมีความกว้างเกือบ 50 เมตร เรือใหญ่สามารถแล่นผ่านคลองเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาได้
คลองสำโรง ตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา มีความยาวเพียง 5 กิโลเมตรเศษ มีความกว้างประมาณ 40-50 เมตร แต่มีความสำคัญกับชาวสงขลามาแต่อดีต เพราะเป็นลำคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา ทำให้เกิดการหมุนเวียนระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศน์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนมาเนิ่นนาน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมสองฝากฝั่งน้ำ...เป็นที่หลบลมมรสุม...
ทว่าวันนี้คลองสำโรงเหมือนคนป่วยหนัก น้ำในคลองมีสีดำ เน่าเหม็น สัตว์น้ำหนีหาย คลองกลายเป็นท่อระบายรองรับน้ำโสโครกและขยะ ลำคลองตื้นเขิน...ไม่ต้องกล่าวถึงการเดินเรือในคลอง แม้แต่เรือพายลำเล็กๆ ยังไปไม่รอดตลอดคลอง เพราะมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กีดขวางลำคลอง !!
ภาพถ่ายทางอากาศ เส้นสีแดงแสดงแนวคลองสำโรง ด้านซ้ายทะเลสาบสงขลา ด้านขวาทะเลอ่าวไทย
40 ปีสายน้ำไม่เคยเปลี่ยน...
หากจะว่าไปแล้ว คลองสำโรงมิได้เพิ่งจะเน่าเสียเพียงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ย้อนหลังกลับไป
จากเอกสาร ‘การวิเคราะห์หาสารโลหะหนักในน้ำคลองสำโรง’ (THE DETERMINATION OF HEAVY METALS IN THE WATER FROM SUMRONG CANAL) โดยประดิษฐ์ มีสุข ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ (สืบค้นได้ที่ ...https://www.tci-thaijo.org › article › download การวิเคราะห์หาปริมาณ-โลหะหนักในคลองสำโรง)
โดยการเก็บน้ำตัวอย่างจากปากคลองสำโรงและปากระวะเก้าเส้ง (ปากระวะ คือบริเวณที่คลองเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย) เมื่อเดือนมีนาคม 2534 เพื่อนำน้ำตัวอย่างมาวิเคราะห์หาปริมาณสารโลหะหนัก 5 ชนิด คือ ปรอท ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส
ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณทองแดง ตะกั่ว และปรอท เกินค่ามาตรฐาน ส่วนสังกะสี และแมงกานีสยังไม่เกินคุณภาพมาตรฐาน
ตารางวิเคราะห์แสดงปริมาณทองแดง ตะกั่ว และปรอท เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ปี 2534 หรือเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้อ้างอิงค่ามาตรฐานน้ำทะเลสาบสงขลาว่า ควรมีปริมาณโลหะหนักไม่เกินดังนี้ ปรอท 0.001 ppm ทองแดง 0.005 ppm ตะกั่ว 0.01 ppm สังกะสี 1 ppm และแมงกานีส 1 ppm
การศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ระบุว่า ...โลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส เป็นธาตุที่สะสมในร่างกาย ถ้าร่างกายได้รับธาตุโลหะดังกล่าวจากสิ่งแวดล้อมสะสมจนถึงขนาดหนึ่ง จะทำให้เกิดโรคพิษโลหะหนักดังกล่าวได้...
นอกจากนี้ยังระบุว่า ...คลองสำโรงมีสภาพน้ำเสียราวสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากการรับน้ำเสียจากชุมชนใหญ่ในตัวเมืองสงขลา การรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ตั้งอยู่ริมคลองจำนวนกว่าสิบโรงงาน และรับของเสียจากชุมชนริมคลองสำโรง ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 5,000 คน)...
ผู้วิจัยมีข้อเสนอว่า...ปริมาณธาตุทองแดง ตะกั่ว และปรอท จากน้ำคลองสำโรงเกินกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลา ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนปริมาณธาตุสังกะสีและแมงกานีส ยังไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็ควรได้รับการตรวจสอบปริมาณอยู่เสมอ...
“ควรควบคุม หรือกำจัดโลหะหนักในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลบริเวณริมคลองอย่างเข้มงวด อาจใช้วิธีเรซินดูดซับโลหะ หรือการตกตะกอน และควรรณรงค์ให้ประชากรที่อาศัยอยู่ริมคลองสำโรงงดทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในคลองสำโรง และรักษาคลองสำโรงอย่างจริงจัง ควรขุดลอกคลองสำโรงอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อระบายน้ำได้รวดเร็วขึ้น”
จากผลการศึกษาคุณภาพน้ำในคลองสำโรงดังกล่าว สามารถอ้างอิงได้ว่า น้ำในคลองสำโรงเน่าเสียมาก่อนงานวิจัยในปี 2534 หรือไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งผู้วิจัยยังมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติ มุ่งเป้าสู่ต้นตอของปัญหา
ทว่าจนถึงทุกวันนี้...น้ำในคลองสำโรงยังเน่าเสียเหมือนเดิม และคงจะหนักกว่าเดิมเพราะปริมาณโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน บ้านเรือน สถานบริการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน...สิ่งที่น่ากังวลคือ ปริมาณสารโลหะหนักที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งในทะเลสาบสงขลาและในทะเลอ่าวไทยที่สะสมต่อเนื่องยาวนาน...!!
คลองสำโรงบริเวณที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ด้านซ้ายจะเป็นเพิงพักและที่จอดเรือประมง ด้านขวาเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
เสียงจากคนปากคลองสำโรง
ชุมชนท่าสะอ้าน อยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ชุมชนตั้งอยู่บริเวณปากคลองสำโรงด้านที่ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา (ใกล้กับสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.เมืองสงขลา) สภาพน้ำในคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลามีสีดำและเน่าเหม็น คลองช่วงนี้มีความกว้างประมาณ 30-40 เมตร มีปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ปลาขี้ตัง และปลากะพง 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อยจากทะเลสาบสงขลา และน้ำเค็มจากอ่าวไทย) แต่ปัจจุบันปลาเหล่านี้ลดน้อยลงเพราะสภาพน้ำเน่าเสีย
อำนวย สุวรรณละออง วัย 61 ปี ชาวชุมชนท่าสะอ้าน (ชุมชนริมคลองสำโรงตอนปลายที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา) อดีตคณะกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์คลองสำโรง บอกว่า ประมาณช่วงปี 2536-2537 นายอำเภอเมืองสงขลาท่านหนึ่งได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์คลองสำโรงขึ้นมา เพราะตอนนั้นน้ำในคลองเน่าเสียแล้ว ตนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคนหนึ่ง
ช่วงนั้นมีชุมชนต่างๆ ในคลองสำโรงประมาณ 7-8 ชุมชนร่วมเป็นสมาชิก มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคลองสำโรง เช่น ลอกคลอง เก็บวัชพืช ขยะในคลอง ทำเสากั้นริมคลองเพื่อไม่ให้รุกล้ำคลอง ฯลฯ ใช้งบประมาณราว 9 ล้านบาท แต่พอหมดงบประมาณ โครงการไม่ได้ทำต่อ ไม่นานคลองก็กลับมาตื้นเขินอีก
“ส่วนปัญหาน้ำเน่าเสียนั้น ผมว่าเป็นเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลมาตั้งอยู่ริมคลอง ก่อนจะถึงทะเลสาบสงขลาไม่ไกล โรงงานนี้จะปล่อยน้ำทิ้งลงคลอง เวลามีหน่วยงานมาตรวจก็จะเปิดบำบัดน้ำเสีย แต่ตอนกลางคืนก็จะแอบปล่อยเพื่อประหยัดค่าบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ยังมีน้ำทิ้งจากชุมชนที่ไม่ได้บำบัด บางชุมชนที่รถขยะเทศบาลเข้าไม่ถึง ตอนกลางคืนชาวบ้านก็จะแอบทิ้งขยะลงคลอง” อดีตกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์บอก
เขาให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เอาจริง ปล่อยปละละเลยมานาน ส่วนชาวบ้านก็ไม่มีจิตสำนึก รวมทั้งปัญหาคนจากต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเช่าบ้านอยู่ริมคลองใกล้โรงงานต่างก็มีส่วนทำลายคลอง เพราะถือว่าไม่ใช่บ้านของตัวเอง จึงทิ้งขยะ น้ำเน่าเสียลงคลอง...
อำนวย อดีตกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์คลองสำโรง (บริเวณริมทะเลสาบสงขลา)
“เราจะไม่ย้อนอดีต แต่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้”
หลายคนคงจะมีคำถามว่า ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา ตลอดจนนักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และบรรดาผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ไม่ได้ทำอะไรเพื่อจะแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองสำรองบ้างหรือ ?
มีคำอธิบายแบบกำปั้นทุบดิน !! นั่นคือ ไม่มีใครและหน่วยงานใดที่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาอาจจะมีบางหน่วยงานจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูคลองสำโรงบ้าง แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง และไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน นั่นอาจเป็นเพราะต่างมองเห็นเพียงว่า คลองสำโรงเป็นลำคลองสายสั้นๆ ไม่มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การฟื้นฟูขึ้นมา คลองสำโรงจึงถูกปล่อยปละให้เป็นเพียงท่อระบายน้ำโสโครกของเมืองเท่านั้น !!
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมิดดำสนิทของคลอง ยังมีแสงสว่างส่องรอดลงมา...โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดงาน “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมีหน่วยงานภาคีต่างๆ ในจังหวัดและส่วนกลางเข้าร่วม มีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ตนเคยรับราชการที่จังหวัดสงขลา และเคยมาสำรวจสภาพปัญหาในคลองสำโรงแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้แก้ไขปัญหา เพราะต้องย้ายไปรับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้นานหลายปี เมื่อปี 2564 ตนได้มารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่สงขลา จึงได้ประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขข้อติดขัด และได้ประกาศเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดสงขลาเพื่อแก้ไขปัญหาคลองสำโรง โดยให้รองผู้ว่าฯ มาดูแลงานโดยตรง เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ทำเรื่องเร่งด่วนและเรื่องระยะยาว โดยจะมีการประชุมติดตามเรื่องนี้ทุกเดือน
“วันนี้เราต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้ โดยการบูรณาการกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เรื่องสำคัญคือพี่น้องประชาชนที่เราจะต้องดูแลควบคู่ไปกับคลองสำโรงที่จะได้รับการฟื้นฟู โดยเราจะไม่ย้อนอดีต แต่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และจะทำให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับที่คลองแม่ข่า (จ.เชียงใหม่) และคลองลาดพร้าว” ผวจ.สงขลาย้ำ
นายเจษฎา ผวจ.สงขลา (ที่ 5 จากซ้าย) และผู้แทนหน่วยงานในท้องถิ่น และนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. (ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมงาน “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง” เมื่อ 31 พ.ย.ที่ผ่านมา
ตั้งคณะกรรรมการ 3 ชุดแก้ปัญหาแบบ ‘บูรณาการ’
ทั้งนี้จังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาคลองสำโรงขึ้นมาในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวม 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาคลองสำโรง 2.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และ 3.คณะทำงานจัดระเบียบและภูมิทัศน์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการ มีแนวทางการทำงานโดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมทั้งภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนในพื้นที่
การจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาคลองสำโรงขึ้นมาของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการการแก้ไขปัญหาคลองสำโรงเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น แม้จะเคยมีโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูคลองสำโรงอยู่บ้าง แต่ก็มีลักษณะ ‘ต่างคน ต่างทำ’ ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคือ ไม่มี ‘เจ้าภาพหลัก’ ที่มีบทบาทผลักดันให้กลไกต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้
เนื่องจากปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองสำโรงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ หรือเกิดขึ้นเฉพาะจุด แต่มีหลายปัจจัยและเป็นปัญหาร่วมกันทั้งเมืองสงขลา ทั้งน้ำเสียจากบ้านเรือน ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานบริการ โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ที่ต่างปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลลงสู่คลองโดยแทบจะไม่มีการบำบัด
ปัญหาสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนรุกน้ำคลอง กีดขวางทางไหลของน้ำ สภาวะธรรมชาติของท้องทะเลในช่วงมรสุมที่จะพัดพาเอาตะกอนทรายมาทับถมปิดกั้นปากคลองสำโรงบริเวณชุมชนบาลาเซาะห์ ทำให้น้ำทะเลไม่หมุนเวียนเข้ามาในคลอง น้ำจากคลองระบายออกสู่ทะเลไม่ได้ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การจัดงาน “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะชุมชนมีสุข” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือ ‘การลงนามบันทึกความร่วมมือ’ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 25 องค์กร ประกอบด้วยหน่วยงานในท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และหน่วยงานจากส่วนกลาง
มีเป้าหมายเพื่อ 1.เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัย ด้วยการสำรวจแนวเขตพื้นที่คลองสำโรงทั้งสองฝั่งตลอดสายคลอง และเพื่อทำให้น้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี 2.จัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงาน เพื่อจัดระบบคลองปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง และพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคง คลองสำโรงมีภูมิทัศน์สวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป
3.เกิดแผนการพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำในคลองสำโรงและคุณภาพชีวิตประชาชนริมคลองดีขึ้น โดยการบูรณาการงบประมาณ จัดกลไกที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 4.สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันทำงานด้วยการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการพัฒนา ทำให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
บางช่วงหน่วยงานในท้องถิ่นจะมาขุดลอกตะกอนทรายบริเวณที่คลองสำโรงไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่ชุมชนบาลาเซาะห์ เพื่อให้น้ำในคลองไหลสู่ทะเล และน้ำทะเลไหลเข้ามาหมุนเวียน แต่ไม่ต่อเนื่องและไม่ได้ทำตลอดลำคลอง
25 หน่วยงานจับมือร่วมแก้ปัญหา
ส่วน 25 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.สำนักงานจังหวัดสงขลา 2.ปลัดจังหวัดสงขลา 3.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา 4.อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา 5.ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา 6.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา 7.สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา 8.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา 9.ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา 10.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา 11.อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา
12.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 13.นายกเทศมนตรีนครสงขลา 14.นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง 15.นายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว 16.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา 17. สำนักงานการจัดการน้ำเสียสาขาสงขลา 18.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16
19.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา 20.อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 21.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 22.ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 23.ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 4 24.พลังงานจังหวัดสงขลา และ 25.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ส่วนแผนพัฒนาคลองสำโรงเบื้องต้น ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) จังหวัดสงขลา มีแผนงานหลักคือ 1.การขุดลอกคลองสำโรงตลอดลำคลอง ความยาวประมาณ 5.5 กิโลเมตร 2.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์และฟืนฟูสภาพแวดล้อมริมคลอง
เทศบาลนครสงขลา มีแผนงานหลัก คือ 1.การจัดการคุณภาพน้ำในคลองสำโรง 2.การจัดการภูมิทัศน์คลองสำโรง เทศบาลเมืองเขารูปช้าง มีแผนงานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตหรือพนังกั้นคลองสำโรง ดำเนินการระหว่างปี 2566-2570 ปีละ 695 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,780 เมตร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2564 องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลนครสงขลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งคลองสำโรง โดยใช้งบประมาณจำนวน 656 ล้านบาทเศษ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียให้ดีขึ้น โดยการสร้างสถานีสูบน้ำเสีย วางระบบท่อน้ำเสีย ฯลฯ เพื่อเข้าสู่โรงบำบัด เริ่มโครงการตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2564-15 ตุลาคม 2567 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
ชุมชนชาวประมงบาลาเซาะห์บริเวณที่คลองสำโรงไหลออกอ่าวไทย
‘ฟื้นคน - ฟื้นคลองสำโรง’
คลองสำโรงมีความยาวทั้งหมดประมาณ 5.5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปากคลองสำโรงด้านทะเลอ่าวไทยบริเวณชุมชนบาลาเซาะห์ (แยกออกมาจากชุมชนเก้าเซ้ง) ไหลผ่านชุมชนต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายหนาแน่นสองฝั่งคลองไปเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาที่ด้านข้างสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.เมืองสงขลา และชุมชนท่าสะอ้าน
นอกจากนี้คลองสำโรงยังเป็นคลองที่แบ่งเขตการปกครองระหว่าง 2 เทศบาล คือ ด้านบนของแนวคลองเป็นเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ส่วนด้านล่างเป็นเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง
จากการสำรวจข้อมูลชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และผู้แทนชุมชนริมคลองสำโรง ในช่วงเดือนกันยายน 2565 เป็นต้นมา พบว่า มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงจำนวน 15 ชุมชน อยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง 6 ชุมชน และในเขตเทศบาลนครสงขลา 9 ชุมชน เบื้องต้นพบครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม
เช่น สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ฐานะยากจน ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย ปลูกสร้างบ้านอยู่ริมคลอง รวมประมาณ 584 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,400 คน (ส่วนบ้านเรือนที่ไม่ได้ปลูกสร้างอยู่ริมคลองหรือสร้างอยู่บนฝั่ง ยังไม่มีการสำรวจแน่ชัด ประมาณเบื้องต้น หากรวมทั้ง 15 ชุมชนน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3,000 ครัวเรือน ประชากรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน)
ชาวริมคลองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ค้าขายเล็กๆ น้อย หาเช้ากินค่ำ ส่วนที่อยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลาจะมีอาชีพประมงพื้นบ้าน บางชุมชนไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า ต้องพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้ ไม่มีทะเบียนบ้านถาวร ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ ส่วนพื้นที่ในคลองและริมตลิ่ง กรมเจ้าท่าดูแล
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมลงนามแก้ปัญหาคลองสำโรง บอกว่า หลังจากที่มีการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นและมีการลงนามแก้ปัญหาแล้ว ขณะนี้ พอช. ร่วมกับสถาบันการศึกษาและชุมชน ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลชุมชนเป็นรายครัวเรือน โดยจะเน้นครัวเรือนที่อยู่ริมคลองทั้ง 15 ชุมชน ประมาณ 584 ครัวเรือน เพื่อให้ทราบปัญหา ความต้องการของครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งสำรวจด้านที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
โดยจะสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการพัฒนาทั้งระบบ ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การปรับปรุงหรือพัฒนาที่อยู่อาศัย ฯลฯ รวมทั้งจะนำข้อมูลมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทุกเดือน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“นอกจากนี้ พอช.จะสนับสนุนให้ชาวชุมชนริมคลองสำโรงทั้ง 15 ชุมชนรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างพลังในการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่ทำเฉพาะชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งมีหน่วยงานภาคีทั้ง 25 หน่วยงานมาร่วม รวมทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคลองสำโรงร่วมกันทั้งเมือง” ผอ.สำนักงานภาคใต้ พอช.บอก
เขาบอกด้วยว่า หลังจากสำรวจข้อมูลชุมชนรายครัวเรือนเสร็จแล้ว พอช.จะจัดทำพื้นที่นำร่องหรือพัฒนาชุมชนต้นแบบริมคลองสำโรง โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ชุมชนการเคหะ (ฝั่งซ้าย) และชุมชนการเคหะ (ฝั่งขวา) 2 ชุมชน รวมประมาณ 70 ครัวเรือน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนา เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเพื่อเป็นการรวมคน รวมเงิน ร่วมกันออกแบบ วางแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ น้ำทิ้งจากครัวเรือน ฯลฯ ตามแผนงานจะเริ่มภายในเดือนมกราคม 2566 นี้ ก่อนจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป
เจ้าหน้าที่ พอช. นำเสนอโมเดลผังชุมชนเก้าเส้งและบาลาเซาะห์ในการประชุมวางแผนการพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน
เสียงสะท้อนจากคนปลายคลองสำโรง
ชุมชนบาลาเซาะห์ (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเก้าเส้ง) เขตเทศบาลเมืองสงขลา ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวไทย ห่างจากแหล่งท่องเที่ยวแหลมสมิหลาประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นชุมชนปลายคลองสำโรงก่อนที่น้ำจากคลองจะไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมงพื้นบ้านและรับจ้างทั่วไป
นายเดอเล๊าะ ปอโด๊ะ อายุ 59 ปี ผู้นำชุมชนบาลาเซาะห์ บอกว่า ชาวบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2502 เดิมชุมชนอยู่ที่แหลมสนอ่อน แต่จอมพลสฤษดิ์เมื่อครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีเดินทางมาราชการที่ จ.สขลาและที่แหลมสมิหลาเมื่อปี 2502 สั่งให้ย้ายชุมชนมาอยู่ที่นี่ (ดูรายละเอียดตอนที่ 1) ส่วนที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ และบางส่วนเป็นพื้นที่ริมคลองสำโรง กรมเจ้าท่าดูแล เนื้อที่ทั้งชุมชนประมาณ 12 ไร่
“เมื่อก่อนน้ำในคลองสำโรงยังใสสะอาด สมัยเป็นเด็ก เวลาเลิกเรียน ผมก็จะมาเล่นน้ำในคลองสำโรง ตอนหลังประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานี้ น้ำในคลองเริ่มเน่าเสีย เพราะน้ำเสียจากในเมือง โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมทำปลากระป๋อง น้ำจากชุมชน ไหลมารวมกันลงในคลองสำโรง อีกทั้งช่วงลมมรสุม น้ำทะเลจะพัดพาทรายเข้ามาทับถมที่ปากคลองสำโรง ทำให้ปากคลองตื้นเขิน คับแคบ น้ำจากในคลองไหลออกไปทะเลไม่ได้ คลองจึงเน่าเสีย” ผู้นำชุมชนบอก
ในฐานะที่เกิดและเติบโตมากับคลองและทะเล เขาบอกว่า หากจะทำให้น้ำในคลองสำโรงหายเน่า ควรจะต้องทำ 1.สำรวจและทำแนวคลองให้ชัดเจน ไม่ให้มีการรุกล้ำคลอง ขุดลอกทั้งสายคลองเพื่อให้น้ำไหลเวียน 2.ให้บ้านเรือน ชุมชนมีระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน เช่น บ้านที่อยู่ใกล้กัน 5-10 หลัง ให้ทำระบบท่อน้ำทิ้งรวม และมีการบำบัดก่อนปล่อยลงคลอง 3.ให้มีการสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อไม่ให้น้ำทะเลพัดพาทรายมากองทับปิดปากคลองสำโรง ทำให้น้ำจากในคลองไหลออกสู่ทะเลได้ จะทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียน ไม่เน่าเสีย
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น เขาบอกว่า ชุมชนบาลาเซาะห์มี 184 ครอบครัว ประมาณ 880 คน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย หลังหนึ่งอยู่กันไม่ต่ำกว่า 5-10 คน บางหลังอยู่กัน 18 คน อยู่กันแบบแออัด จะขยายพื้นที่ก็ขยายไม่ได้แล้ว เพราะด้านหน้าติดถนน ตอนนี้ทางองค์การจัดการน้ำเสียกำลังทำสถานีสูบน้ำเสีย ส่วนด้านหลังชุมชนติดคลองสำโรง ถ้ามีการปรับปรุงคลองสำโรง จะต้องขยับบ้านที่อยู่ริมคลองออกไป เพื่อให้ไม่กีดขวางทางน้ำ แต่ชาวบ้านริมคลองประมาณ 23 ครอบครัวจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ต้องหาที่ดินใหม่รองรับ
“ตอนนี้ชุมชนได้เตรียมพร้อม โดยตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนทำเรื่องที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ให้ชาวบ้านออมเงินกันอย่างน้อยครอบครัวละ 100 บาท ตอนนี้มีสมาชิก 78 ครอบครัว และไปดูที่ดินแถวอำเภอจะนะเอาไว้แล้ว ห่างจากที่นี่ประมาณ 20 กิโลฯ เจ้าของจะขายที่ให้ราคาไร่ละ 7 แสนบาท ถ้ามีการปรับปรุงคลองสำโรง มีการรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลองออกไป ชาวบ้านจะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ รองรับครอบครัวขยายด้วย รวมแล้วกว่า 30 ครอบครัว อาจจะทำโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. โดยใช้เงินที่ชาวบ้านออม แล้วมีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันสนับสนุน” ผู้นำชุมชนบาลาเซาะห์บอกถึงแผนงานการเตรียมพร้อมเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน
นี่คือก้าวย่างสู่การฟื้นฟูคลองสำโรง เพื่อเปลี่ยนคลองที่เน่าเสีย ชุมชนแออัดเสื่อมโทรม ให้เป็น “คลองสวย-น้ำใส-ไร้ขยะ-ชุมชนมีสุข” โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน !!
สภาพบ้านเรือนและน้ำในคลองสำโรงที่กำลังจะได้รับการฟื้นฟูเปลี่ยนแปลง
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จนท. เร่งหาหลักฐาน ไล่กล้องวงจรปิด หาเบาะแสเหตุระเบิดแคมป์ก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม
ความคืบหน้าคนร้ายระเบิดแคมป์คนงานก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม อ.เทพา จ.สงขลา คนงานบาดเจ็บ 3 ราย ทรัพย์สินเสียหาย และมีการวางระเบิดอีก 2 ลูกเพื่อดักสังหารเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้นักเรียนที่กำลังเข้าค่ายกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี
ชาวประมงพื้นบ้านสงขลา ออกคราดหอยเสียบ สร้างรายได้งามช่วงฤดูมรสุม
ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนเก้าเส้ง ประกอบอาชีพคราดหอยเสียบขายรายได้ดีเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอิสระในช่วงฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือ คลื่นลมเริ่มมีกำลังแรงหอยเสียบตัวโต น้ำหนักดี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว
คนร้ายซุ่มยิง ลูกชายสมาชิกสภา อบต. สาหัสคาคอกวัว ตร.ตั้ง 2 ประเด็น
ตำรวจฝ่ายสืบสวนสอบสวน สภ.ควนเนียง และชุดสืบสวนตำรวจภูธร จ.สงขลา ชุดสืบสวนภาค 9 และเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 นำโดย พ.ต.อ.ศิรโกศล ปราบกรี ผกก.สภ.ควนเนียง ,พ.ต.อ.ดุสิต พรหมสิน ผกก.สส.ภ.จว.สงขลา
ประมงพื้นบ้านสงขลา อาศัยช่วงคลื่นลมไม่รุนแรง ออกจับปูม้ากำลังชุกชุม ขายได้ราคาดี
ที่ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านบ่ออิฐนำเรือหลายลำออกไปทำการประมงอวนปูกลางทะเล เนื่องจากในช่วงนี้คลื่นลมไม่รุนแรงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้
มอบตัวแล้ว! ลูกทนายดัง ยิงเพื่อนดับคาโต๊ะ สุดเลือดเย็น
ความคืบหน้าเหตุ นายนิติพันธ์ พวงสอน อายุ 37 ปี หรือเบียร์ ลูกทนายดังหาดใหญ่ใช้อาวุธปืนยิงนาย ยงยุทธ จงศรีเจริญวงศ์ อายุ 37 ปีคาโต๊ะต่อหน้าเพื่อนร่วมวงที่ตั้งวงดื่มกินกัน 5 คน
ลูกชายทนายดัง รัวกระสุนยิงเพื่อนร่วมโต๊ะ ดับคาที่
พ.ต.ท.สถาพร สุขสว่าง สารวัตร (สอบสวน) สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รับแจ้งเกิดเหตุยิงกันตายที่หน้าร้านสันติราษฎร์ปลาเผา ตั้งอยู่ในซอยสันติราษฎร์