‘คลองสำโรง จ.สงขลา’ จากคลองเน่าเหม็น-ชุมชนแออัด ก้าวย่างสู่การฟื้นฟู “คลองสวย-น้ำใส-ไร้ขยะ-ชุมชนมีสุข” (1)

บริเวณปากคลองสำโรงชุมชนเก้าเส้งที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย  กำลังจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา

คลองสำโรง  อ.เมือง  จ.สงขลา   เป็น 1 ใน  4 ลำคลองสายหลักในประเทศไทยที่กำลังจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา  หลังจากที่มีการเริ่มต้นฟื้นฟูคลองที่เน่าเสียไปแล้ว  คือ  คลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ  และคลองแม่ข่า  จ.เชียงใหม่  โดยการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ  ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำหรือตลิ่งกั้นลำคลอง  ขุดลอกคลอง  ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  ปรับสภาพภูมิทัศน์ชุมชนให้ดูสวยงาม  ร่มรื่น  ฯลฯ 

ส่วนที่คลองสำโรงนั้น  ปัจจุบันสภาพน้ำในคลองมีสีดำ  เน่าเหม็น  มีบ้านเรือน  สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง  และมีสภาพเป็นชุมชนแออัดเสื่อมโทรมไม่ต่างจากคลองที่กล่าวมาเท่าใดนัก  !!

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  มีการจัดงาน “Kick off  การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง  คลองสวย  น้ำใส  ไร้ขยะ  ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา  อ.เมืองสงขลา  จ.สงขลา โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ  เวทีเสวนา  การลงพื้นที่ชุมชนสร้างเพื่อความเข้าใจกับชาวชุมชน  การสำรวจข้อมูล  และกิจกรรมฐานการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ  ในจังหวัดสงขลาและส่วนกลาง  รวมทั้งหมด 25 หน่วยงาน  เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและคลองสำโรง  โดยมีนายกองเอกพุทธ  กฤชคงพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นสักขีพยานการลงนาม  พร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่น  หน่วยงานต่างๆ  เช่น  อบจ.สงขลา  พมจ.จังหวัดสงขลา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  เครือข่ายชุมชนจังหวัดสงขลา  และผู้แทนชุมชนริมคลองสำโรง

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือฟื้นฟูคลองและชุมชนริมคลองสำโรง  เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

ย้อนอดีตคลองสำโรง-ทะเลสาบสงขลา

คลองสำโรง  เป็นคลองธรรมชาติ  มีที่มาจากต้นสำโรง  เป็นไม้ยืนต้น  ในอดีตคงจะมีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณริมคลอง  รวมทั้งบริเวณภูเขาที่อยู่ไม่ไกลจากคลอง  ผู้คนในท้องถิ่นจึงเรียกชื่อคลองและภูเขาตามชื่อต้นไม้ชนิดนี้ (ปัจจุบันเขาสำโรงอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง  อ.เมืองสงขลา)

คลองสำโรงมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ  เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย  ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่  มีความกว้างประมาณ  50  เมตร  เรือสินค้าหรือเรือสำเภาต่างชาติสามารถแล่นผ่านทะเลอ่าวไทยเข้าสู่คลองสำโรงเพื่อไปค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ ในทะเลสาบสงขลาได้ (นอกเหนือจากเส้นทางสายหลัก  คือ  ปากทะเลสาบสงขลา  บริเวณ ‘หัวเขาแดง’  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลา  อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร)

ภาพถ่ายดาวเทียม  เส้นสีแดงแสดงแนวคลองสำโรงเชื่อมกับทะเลสาบสงขลา (ซ้าย) และเชื่อมกับทะเลอ่าวไทย (ขวา)

ทะเลสาบสงขลา  มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตรเศษ  ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด  คือ  สงขลา  พัทลุง  และนครศรีธรรมราช  มีเมืองสำคัญตั้งอยู่รอบทะเลสาบ  เช่น  สิงหนคร  สทิงพระ  ระโนด  ปากพะยูน   ฯลฯ  โดยเฉพาะที่บริเวณเกาะสี่  เกาะห้า  อ.ปากพะยูน  จ.พัทลุง  มีสินค้าสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  คือ  ‘รังนกนางแอ่น’ ที่ส่งไปขายเมืองจีนตั้งแต่สมัยโบราณ  (มูลค่าสัมปทานช่วงปี 2565-2570 จำนวน 450 ล้านบาท)

จากสภาพภูมิศาสตร์  ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งรองรับน้ำจืดจากสายคลองต่างๆ  ที่ไหลมาจากพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบ  และมีน้ำทะเลจากอ่าวไทยที่หนุนเข้ามา  ทำให้ทะเลสาบสงขลามีทั้งน้ำจืด  น้ำกร่อย  และน้ำเค็มผสมกัน  คือตอนบนของทะเลสาบเป็นน้ำจืด  ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย  และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม  

สัตว์น้ำในทะเลสาบสงชลาจึงมีหลากหลาย  อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งปลานานาพันธุ์  พืช  ผักน้ำ  เป็นแหล่งอาศัยของนกและสัตว์ต่างๆ   เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบทะเลสาบมาช้านาน

ปลาท่องเที่ยว (ตัวเรียวยาวคล้ายปลาหลด) ชาวประมงหาได้เฉพาะฤดูนี้ในทะเลสาบสงขลาบริเวณที่เชื่อมต่อกับคลองสำโรง

ส่วนคลองสำโรงแม้จะมีความยาวเพียง 5.4 กิโลเมตร  แต่ในอดีตสายน้ำนี้ที่เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาก็มีความสำคัญไม่น้อย  เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  อุดมสมบูรณ์   เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนริมคลอง  เป็นที่หลบลมมรสุมของเรือใหญ่น้อย   ทั้งยังแล่นเรือจากทะเลอ่าวไทยผ่านคลองสำโรงเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาได้สะดวก  ไม่ต้องอ้อมไปทางปากทะเลสาบที่อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร

อำนวย  สุวรรณละออง  วัย 61 ปี  อดีตชาวประมงพื้นบ้านชุมชนท่าสะอ้าน  ริมคลองสำโรงตอนปลายที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา  บอกว่า  ก่อนปี 2527 ตอนนั้นน้ำในคลองสำโรงยังไม่เน่าเสีย  ชาวบ้านยังหาปลามากินและขายไม่อดอยาก  เช่น  ปลากะพงตัวใหญ่ๆ ขนาด 5-6 กิโลกรัม  ปลากระบอกหาได้วันหนึ่งเกือบเต็มลำเรือ

“เมื่อก่อน...วันไหนไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี  จะเอาหัวปลาที่กินเหลือจากเมื่อวานผูกเชือกแล้วโยนลงในคลอง  สักพักปูดำจะมารุมกินหัวปลา  แล้วสาวเชือกเข้ามา  เอาสวิงตัก  ได้ปูตัวเท่าฝ่ามือ  กุ้งกุลาในคลองก็มีตัวเท่าข้อมือผู้ใหญ่     ไม่ต้องออกไปหากินไกล  แค่ในคลองก็พออยู่ได้”  อำนวยบอกถึงวันวานที่ไม่หวนคืน

เพราะวันนี้น้ำในคลองสำโรงตลอดสายคลองเน่าเสีย  มีกลิ่นเหม็น  ดำกว่าน้ำโอเลี้ยง แต่กินไม่ได้ !!

บ้านเรือนริมคลองสำโรงบริเวณใกล้โรงงานคิงฟิชเชอร์  อ.เมืองสงขลา  บางช่วงมีความกว้างประมาณ 7 เมตร จากเดิมที่เคยกว้าง 40-50 เมตร

จอมพลสฤษดิ์และการก่อเกิด ‘เก้าเส้ง’ ชุมชนปากคลองสำโรง

ชุมชนเก้าเส้ง  ตั้งอยู่ปากคลองสำโรงบริเวณที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย  ไม่ไกลจาก ‘แหลมสมิหลา’ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสงขลา  ชุมชนแห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2502  หรือราว 63 ปีมาแล้ว  เป็นชุมชนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนภาพชุมชนริมคลองสำโรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดี

ใจดี  สว่างอารมณ์  หรือ ‘ป้าเอียด’  วัย 72 ปี  อดีตผู้นำชุมชนเก้าเส้ง (เป็นประธานชุมชนช่วงปี 2542-2548) เล่าว่า  ป้าเกิดเมื่อปี 2493  ที่จังหวัดพัทลุง  พ่อแม่มีอาชีพทำนา  แต่ได้ข้าวไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว  พ่อแม่จึงอพยพเข้ามาทำมาหากินที่จังหวัดสงขลาที่อยู่ติดกัน  ป้าได้เรียนถึงชั้น ป. 4 ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน  ทำงานหลายอย่าง 

พอเริ่มเป็นสาวก็มารับซื้อปลาแห้ง  ปลาเค็มจากชาวประมงที่เก้าเส้งเอาไปขายที่ชายแดนมาเลเซียด้าน อ.สุไหงโก-ลก  จ.นราธิวาส  พอค้าขายเริ่มดี  ประมาณปี 2511  ครอบครัวจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่เก้าเส้งเพื่อจะรับซื้อปลาได้สะดวก  โดยซื้อบ้านต่อจากคนที่เข้ามาอยู่ก่อน  ตอนนั้นป้าอายุได้ 18 ปีแล้ว

‘ป้าเอียด’

“คนรุ่นแรกๆ ที่มาอยู่เก้าเส้ง  พวกเขาบอกว่าเข้ามาอยู่เมื่อปี 2502  ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง  เดิมอยู่ที่แหลมสนอ่อน  ปีนั้นจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ  ชาวบ้านเล่าว่าจอมพลสฤษดิ์มาที่แหลมสมิหลา  แล้วเดินมาเที่ยวที่แหลมสนอ่อนที่อยู่ติดกัน  แต่ท่านเดินไปเหยียบเอากองอุจจาระของชาวประมง  เพราะสมัยนั้นยังไม่มีส้วม  ท่านจึงสั่งให้ย้ายชุมชนชาวประมงที่แหลมสนอ่อนมาอยู่ที่เก้าเส้ง  ปากคลองสำโรง  ห่างกันประมาณ  5 กิโลฯ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่จนถึงทุกวันนี้” ป้าเอียดเล่าจุดกำเนิดของชุมชนเก้าเส้ง    

นั่นเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ  แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจอมพลสฤษดิ์เดินทางมาที่จังหวัดสงขลาด้วยภารกิจใด  และในช่วงเวลาใดของปี 2502  แต่หลักฐานด้านหนึ่งก็อาจจะช่วยต่อภาพให้เห็นการพัฒนาเมืองสงขลาได้บ้าง !!

จากการสืบค้นประวัติของจอมพลสฤษดิ์  พบว่า  ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2502  จนถึงช่วงปลายปี 2506 นั้น   จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาประเทศหลายอย่าง  โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นประเทศส่งสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลก  เช่น  การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศ  และการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาใช้เป็นครั้งแรกและฉบับแรกในปี 2504

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2502  คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับเรื่องการสร้างท่าเรือว่า“ท่าเรือที่ดีนั้นควรจะสร้างที่ศรีราชา  และควรมีท่าเรืออีกสักแห่งที่จังหวัดสงขลา  และให้กระทรวงคมนาคมรับไปทำโครงการตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ  เพื่อพิจารณาต่อไป...” 

นี่เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นถึงเหตุผลที่จอมพลสฤษดิ์ต้องเดินทางมาดูชายทะเลสงขลาด้วยตนเองในปี 2502  เพราะเป็นโครงการที่ท่านจอมพลเสนอเอง  แต่ท่าเรือน้ำลึกสงขลากว่าจะได้ลงมือศึกษาก็ย่างเข้าปี 2505  โดยรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกามาสำรวจและศึกษา  ขณะที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไปก่อนในช่วงปลายปี 2506  

อย่างไรก็ตาม  การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ  ทำให้การศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างท่าเรือสงขลามีการเปลี่ยนแปลงไปมา  รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ก่อสร้างท่าเรือที่บริเวณปากคลองสำโรงด้วยจนถึงปี 2525  สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ท่าเรือน้ำลึกสงขลาจึงได้เริ่มต้นก่อสร้างที่บริเวณหัวเขาแดง  ปากทะเลสาบสงขลา และแล้วเสร็จในปี 2531…!!

(ซ้าย) กลางภาพ  จะเห็นปากคลองสำโรงบริเวณชุมชนเก้าเส้ง (ปัจจุบันแยกเป็นชุมชนบาลาเซาะห์) ที่ไหลออกทะเลอ่าวไทยมีสีดำ เพราะน้ำเน่าจากคลองสำโรงไหลออกมา  ส่วนน้ำทะเลไหลเข้าไปหมุนเวียนไม่ได้  เพราะมีตะกอนทรายทับถมปิดกั้นปากคลอง

เก้าเส้งกับการเปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับมาที่ชุมชนเก้าเส้ง  แม้ว่าชาวประมงที่ชุมชนเก้าเส้งจะโชคดีที่ไม่ต้องถูกรื้อย้ายเป็นครั้งที่ 2  เพราะรัฐบาลในสมัยต่อมาไม่ได้เลือกพื้นที่ปากคลองสำโรงเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา  แต่ชุมชนเก้าเส้งก็เสี่ยงกับการถูกไล่รื้อมาตลอด  เพราะที่ดินที่ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือน  จอดเรือประมง  ตากปลา  ทำปลา  เป็นที่ดินราชพัสดุที่ทางเทศบาลสงขลาดูแลอยู่  เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 21 ไร่เศษ  มีชาวบ้านอยู่อาศัยในช่วงแรกประมาณ  56 หลังคาเรือน  ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงจากแหลมสนอ่อนที่โดนไล่มา  (พื้นเพเป็นคนสทิงพระ  ระโนด  และชาวมุสลิมจากสงชลา)

 ป้าเอียดบอกว่า  ชุมชนเก้าเส้งเมื่อก่อนนั้นยังมีสภาพเป็นป่าเสม็ดริมทะเล  เป็นที่ดินรกร้าง  สมัยก่อนเทศบาลใช้เป็นที่ฝังกลบอุจจาระที่ขนใส่ถังเมล์จากในเมืองสงขลามาทิ้ง  มีประมาณ 2 หลุมใหญ่   แต่ช่วงที่ป้ามาอยู่เมื่อปี 2511 นั้น  เทศบาลได้กลบหลุมทั้งหมดแล้ว  และยังไม่มีการตัดถนนเลียบชายทะเลและถนนผ่านหน้าชุมชน 

“ชาวบ้านที่มาอยู่รุ่นแรกๆ  ไม่มีน้ำประปา  ไม่มีไฟฟ้า  ต้องขุดบ่อน้ำใช้  หรือใช้น้ำคลอง  เพราะตอนนั้นน้ำยังไม่เน่าเสีย  กลางคืนต้องจุดตะเกียง   คนภายนอกไม่กล้าเดินเฉียดมาที่เก้าเส้ง  เพราะทั้งมืด  ทั้งเปลี่ยว”  ป้าเอียดบอก

ต่อมาในปี 2520  ชุมชนเก้าเส้งเริ่มหนาแน่นขึ้น  เพราะมีหน่วยราชการต่างๆ ขยายพื้นที่เข้ามา   มีการตัดถนนเลียบชายหาด  ตัดถนนผ่านหน้าที่พักทหารเรือ (ผ่านหน้าชุมชน) มีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์น้ำ  แปรรูปอาหารทะเลเข้ามาตั้งในจังหวัดสงขลา   ฯลฯ  ทำให้มีชาวบ้านจากที่ต่างๆ  เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำงานรับจ้าง  บางส่วนเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนริมคลองสำโรง

ป้าเอียดเล่าต่อว่า  ในปี 2526 เริ่มมีข่าวว่าทางเทศบาลจะใช้พื้นที่ชุมชนเก้าเส้งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  เป็นสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนของประชาชน  เพราะสภาพชุมชนในเวลานั้นเริ่มแออัด  ทรุดโทรม     มีกลิ่นเหม็นจากการทำปลา  ตากปลา  ฯลฯ  เทศบาลสงขลาจึงต้องการพื้นที่เอามาพัฒนา

“พอปี 2527 ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันเพราะกลัวจะโดนไล่ที่  มีการจัดตั้งกรรมการชุมชน  ป้าก็เป็นกรรมการด้วย  มีกลุ่มแม่บ้าน  ช่วยกันทำน้ำเต้าหู้เป็นอาหารเสริมให้ชุมชน  ต่อมามีเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเข้ามาแนะนำการรวมตัว  เพื่อต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัย  พาไปดูงานที่ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนริมทางรถไฟที่กรุงเทพฯ  ได้เห็นชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้  เห็นเรื่องการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  เรื่องการตั้งศูนย์เด็กเล็กในชุมชน พอกลับมาเก้าเส้งก็มาประชุมกับชาวบ้านและกรรมการ”  ป้าเอียดบอกถึงจุดเริ่มต้นการรวมตัวของชาวเก้าเส้ง

ในปี 2531 ชาวชุมชนเก้าเส้งได้ร่วมกันก่อสร้าง ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน’  เพื่อให้นำบุตรหลานวัย 3-6 ขวบมาฝากดูแล  เสริมสร้างพัฒนาการ  พ่อแม่จะได้ออกไปทำมาหากิน   โดยชาวชุมชนช่วยกันบริจาคเงิน  ได้เงินกว่า 1 แสนบาท  หลังจากนั้นจึงมีกิจกรรมการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง  เช่น  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในปี 2533  โดยให้ชาวบ้านออมเงินเข้ากลุ่มเดือนหนึ่งอย่างต่ำ 50 บาท  ไม่เกิน 200 บาท  ยามเดือดร้อนจำเป็นสามารถกู้ยืมไปหมุนเวียนหรือประกอบอาชีพได้

ชุมชนชาวประมงเก้าเส้งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  ด้านบนห่างออกไปไม่ไกลเป็นวัด ‘เก้าแสน’  เป็นหมุดหมายของชาวเรือที่จะล่องเรือเข้าสู่คลองสำโรง  สันนิษฐานว่าชาวจีนในสมัยก่อนที่อพยพทางเรือเข้ามาอยู่สงขลาออกเสียงไม่ชัดจึงเรียกหมุดหมายนี้  จาก “เก้าแสน” เป็น “เก้าเส้ง”

‘บ้านมั่นคง’ ชุมชนเก้าเส้ง

ในปี 2546  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา  โดย พอช.มีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือเป็นพี่เลี้ยง  เช่น  ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่ม  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  สนับสนุนสินเชื่อ  ฯลฯ  โดยมีชุมชนนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก  10 แห่งทั่วประเทศ  เช่น  บ่อนไก่  กรุงเทพฯ  แหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  บุ่งคุก  จ.อุตรดิตถ์  เก้าเส้ง     จ.สงขลา  ฯลฯ

ป้าเอียด เล่าว่า  ชุมชนเก้าเส้งทำโครงการบ้านมั่นคงเพราะตอนนั้นชุมชนหนาแน่นแล้ว  มีประมาณ 480 ครอบครัว  สภาพบ้านส่วนใหญ่ทรุดโทรม  บ้านบางหลังสร้างมาตั้งแต่ปี 2502   สมัยโดนย้ายมาจากแหลมสนอ่อน  มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการประมาณ 340 ครอบครัว  โดยให้ผู้เข้าร่วมออมเงินเป็นรายเดือนเพื่อให้ได้เงินออมจำนวน 10 % ของวงเงินที่จะใช้ซ่อม-สร้างบ้าน  เช่น  หากจะกู้  300,000 บาท  จะต้องออมเงินให้ได้จำนวน 30,000 บาท  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อทั้งหมด 36 ล้านบาท  (อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี) และสนับสนุนงบสาธารณูปโภครวม 9.6     ล้านบาท

ต่อมาในปี 2547 กรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ดินราชพัสดุได้ให้ชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเก้าเส้ง  จำกัด’ เช่าที่ดินเนื้อที่ 21 ไร่  2 งานเศษ  ในราคาถูก  คือ  2 บาท/ตารางวา/เดือน  ระยะเวลา 30 ปี      เพื่อชาวบ้านจะได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ใช่เป็น ‘ผู้บุกรุก’ ที่ดินหลวงอีกต่อไป

ป้าเอียดบอกว่า   โครงการบ้านมั่นคงชุมชนเก้าเส้งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะกู้เงินมาซ่อมแซมหรือปรับปรุงต่อเดิมบ้านในที่ดินเดิม  ไม่ต้องย้ายไปไหนหรือกลัวว่าเทศบาล (ในฐานะที่ดูแลที่ดินราชพัสดุในท้องถิ่น) จะมาขับไล่อีกต่อไป  โดยชาวบ้านเข้าร่วมโครงการจริง 127 ครอบครัว  ซ่อม-สร้างบ้านเสร็จในปี 2549

ปัจจุบันชุมชนเก้าเส้งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  จากเดิมมีสภาพเป็นที่ดินรกร้าง  ที่ดินตาบอด  กลางคืนมืดและเปลี่ยว  แต่ทุกวันนี้มีถนนตัดผ่านทั้งด้านหน้าและหลัง  บ้านเรือนที่อยู่ริมถนนเป็นแหล่งขายอาหาร  เครื่องดื่ม ขายของชำ  ปลาแห้ง  ปลาสด  อาหารทะเล  ผู้คนพลุกพล่าน  ไม่เปลี่ยวมืดดังแต่ก่อน

ส่วนศูนย์เด็กเล็กที่ชาวบ้านร่วมแรงเงิน  แรงใจสร้าง  ปัจจุบันเทศบาลนครสงขลาเข้ามาบริหารและสนับสนุนงบประมาณ  มีกลุ่มออมทรัพย์ที่มีสมาชิกชาวบ้านกว่า 300 คนได้พึ่งพาอาศัย  กู้ยืมได้สูงสุดถึง 500,000 บาท  และมีสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเก้าเส้ง  จำกัด  เป็นเสมือนธนาคารของชุมชน  มีสมาชิกกว่า 400 คน  สามารถกู้ยืมได้สูงสุด 300,000 บาท  ฯลฯ

“ป้าภูมิใจที่ได้ทำโครงการบ้านมั่นคง  เพราะทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่ดีกว่าเดิม  ไม่ต้องกลัวโดนไล่อีก  ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น...ส่วนเรื่องการฟื้นฟูคลองสำโรงก็ต้องร่วมกันทำต่อไป  เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านเคยช่วยกันดูแล  มีเรือที่หน่วยงานเข้ามาสนับสนุน 1 ลำ  ช่วยกันเก็บขยะในคลอง  เอาวัชพืชในคลองขึ้นมา  เอาน้ำจุลินทรีย์เทใส่คลองให้น้ำดีขึ้น...ถ้าทุกชุมชน  ทุกหน่วยงานมาร่วมมือกัน   ป้าเชื่อว่าคลองสำโรงจะฟื้นฟูกลับมาดีได้”

ปากคลองสำโรงบริเวณชุมชนเก้าเส้ง (ปัจจุบันแยกเป็นชุมชนบาลาเซาะห์) หากเป็นช่วงน้ำทะเลขึ้น  หรือมีการขุดลอกตะกอนทรายที่ปิดกั้นปากคลองออก  จะทำให้น้ำเสียจากในคลองไหลออกมา  น้ำทะเลจะเข้าไปหมุนเวียน  ทำให้สภาพน้ำดีขึ้น

 

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวเลเดือดร้อนหนัก! คลื่นลมแรงซัดถล่มบ้าน จ่ออพยพหนี

หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนักคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงขึ้น ชาวบ้านซึ่งมีบ้านอยู่ติดชายทะเลได้รับความเดือดร้อน เช่น หมู่ 8 ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

'อนุทิน' ลงสงขลาเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์

'อนุทิน' ลงพื้นที่สงขลา เป็นประธานเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ย้ำบทบาทเทศบาลยุคใหม่ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกด้าน

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

พุทธศาสนิกชนแห่ร่วมพิธีบรรจุหัวใจ-ยกเศียร 'หลวงพ่อทวด' เต็มองค์

พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลร่วมพิธีบรรจุหัวใจและยกเศียร 'หลวงพ่อทวด' เต็มองค์ ที่วัดทรายขาว สืบสานศรัทธาแห่งมหาเกจิอาจารย์ สร้างสิริมงคล เตรียมฉลองเบิกเนตร 8 ก.พ.