กลุ่มธุรกิจ TCP ชวนอาสาสมัคร TCP Spirit ลงใต้ ทำภารกิจปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ “แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ชูแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)” มุ่งสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิด “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ตั้งเป้าหมายระยะยาว 3 ปี สร้างต้นแบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังการบริโภค
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “TCP Spirit ในปีนี้เราได้ขยับมาสู่การทำกิจกรรมด้านการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เราจึงเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน TCP Spirit เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยสร้างโมเดลการจัดเก็บกลับบรรจุภัณฑ์และจัดการขยะ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับแนวปฏิบัติการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ที่เราได้ทำงานร่วมกับ IUCN ทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าที่จะจัดเก็บขยะอย่างน้อย 730 ตัน รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบความรับผิดชอบในการจัดการขยะของกลุ่มธุรกิจ TCP ภายในระยะเวลา 3 ปี”
TCP Spirit “คณะเศษสร้าง” แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ
TCP Spirit ปีนี้ปักหมุดที่จังหวัดระนอง ประตูสู่ภาคใต้ความงดงามของชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเครือข่ายพัฒนาโครงการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการปัญหาขยะ ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับ IUCN สำหรับครั้งนี้อาสาสมัครรุ่นใหม่และคนในชุมชนกว่า 200 คน จะได้เรียนรู้ปัญหาและผลกระทบจากขยะที่บ้านหาดทรายดำ จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวบ้านในชุมชนจึงมีรายได้หลักจากการทำประมงพื้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมีปัญหาปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะที่กำลังเริ่มสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่มากขึ้น
วิชารักษ์โลกที่อาสาสมัครจะได้เรียน
- วิชาธรรมชาติบำบัด: เรียนรู้ปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำที่รถเข้าไม่ถึง ระหว่างทางไปชุมชน จะได้ล่องเรือสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติและป่าชายเลนอายุกว่า 200 ปีที่อุดมสมบูรณ์และผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
- วิชารู้จักเขา เข้าใจเรา: ได้เข้าใจบริบทของชุมชนบ้านหาดทรายดำ ข้อจำกัด และความท้าทายของการจัดการขยะ
- วิชาลงทุนลงแรง: ได้เรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคผ่านการสำรวจ และอาสาเก็บขยะบริเวณชุมชนบ้านหาดทรายดำ ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านและเรียนรู้แบบอินไซท์ถึงความซับซ้อนของปัญหาขยะที่เกี่ยวโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการของภาครัฐ ความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
- วิชาเศษสร้าง 101: เรียนรู้การคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ทำให้ “เศษขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีคนต้องการได้ พร้อมนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ออกแบบการคัดแยกขยะในแบบฉบับของตนเอง
- วิชาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นวงกลม: เรียนรู้วิธีเปลี่ยน “ขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีมูลค่า และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการวนกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตได้ หรือต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นงานฝีมือที่หลากหลาย
- วิชาบัญชีธรรมชาติกับภาษีที่มองไม่เห็น: เรียนรู้ผลกระทบของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปัญหาขยะทะเล และต้นทุนจากการจัดการขยะที่มองไม่เห็น ทั้งต้นทุนธรรมชาติและต้นทุนการจัดการ
- วิชาปันผลความรู้และความรัก: ส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการจัดการขยะให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านทุ่งหงาว
- วิทยานิพนธ์: ตกตะกอนความคิดและต่อยอดความสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งหมด กลั่นออกมาเป็นวิทยานิพนธ์ตามแนวทางของ “คณะเศษสร้าง” คือ จัดการ “เศษ” เพื่อ “สร้าง” ประโยชน์
กิจกรรมตลอด 3 วันจะทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ลงมือเก็บขยะร่วมกับชาวบ้าน เข้าใจเรื่องการจัดการขยะในมิติต่างๆ เห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญและเริ่มลงมือแยกขยะ เพราะ “ขยะ” จะกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” ไม่ได้เลย หากไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผลที่ได้นี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กลุ่มธุรกิจ TCP และ เฟซบุ๊กกลุ่มธุรกิจ TCP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
”นฤมล“ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที SPIEF ย้ำ ไทยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) เวลา 11.00 น. (เวลาตามท้องถิ่น นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International
เศรษฐกิจหมุนเวียน สังคมแห่งการรีไซเคิล & อัพไซเคิล เพื่อชีวิตที่ดีกว่า บนเวที SX2023
แนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product
มุมมองกลุ่มธุรกิจ TCP ต่อการประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เผยมุมมองจากการเข้าร่วมประชุม APEC CEO Summit 2022 ในฐานะผู้สนับสนุนหลั