นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีร่วมงานที่เทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ร่วมงานที่ ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก
ภูมิภาค / เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศรวมพลังจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกทั่วภูมิภาค เชียงใหม่ ขอนแก่น อยุธยา กระบี่ พังงา เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจน ด้านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และรัฐมนตรี พม. จุติ ไกรฤกษ์ ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ในช่วง ‘ครม.สัญจร’ ที่กระบี่ ชูนโยบายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลน ที่ดินป่าไม้ ฯลฯ ขณะที่ พอช.หนุนงบกว่า 100 ล้านบาท ซ่อมบ้านคนจนทั่วภาคใต้ 4,800 หลัง
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก ในปี 2564 วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ในประเทศไทยขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนทั่วภูมิภาค
รวมพลังจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกทั่วทุกภูมิภาค
โดยในวันนี้ (15 พฤศจิกายน) เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและชาวชุมชนที่เดือดร้อนเรื่องปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยได้จัดกิจกรรมใน 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันตก และภาคใต้
ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายเมืองเชียงใหม่ร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้านและชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อน ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยหลายร้อยคนได้เดินทางมารวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา โดยมีคำขวัญในการรณรงค์ว่า “ราษฎร์รัฐฮ่วมแฮง แบ่งปันที่ดิน ปลดหนี้ปลดสิน ถิ่นฐานมั่นคง” นอกจากนี้ยังมีป้ายรณรงค์อื่นๆ เช่น “สิทธิชุมชน ภาครัฐ ต้องชะลอการไล่รื้อ”, “คนจนเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก รัฐต้องสนับสนุนที่ดินให้กับผู้ด้อยโอกาส” ฯลฯ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
กิจกรรมที่เชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดงานที่ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วมงาน มีผู้แทนเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน และมีการถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบ Zoom ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ เช่น เวทีแลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย การแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงชนบท การรับมือกับภัยพิบัติและการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสนอแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจังหวัดขอนแก่น ฯลฯ
ภาคกลางและตะวันตก เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนร่วมกันจัดงานที่ ชุมชนบ้านมั่นคงชะแมบพัฒนา ต.ลำตาเสา อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีการจัดกิจกรรม ‘บ้านมั่นคง บ้านรักษ์โลกกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ’ โดยมีนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหาร พอช. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร่วมงาน
การจัดงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ภาคใต้ จ.กระบี่-พังงา กระทรวง พม. พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2564 ที่จังหวัดกระบี่และพังงาในระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีกำหนดประชุม ‘ครม.สัญจร’ ที่จังหวัดกระบี่ได้เห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ และขบวนองค์กรชุมชนร่วมกันดำเนินงาน เช่น โครงบ้านพอเพียงชนบท บ้านมั่นคงชนบท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ
รมว.พม.จุติมอบบ้านใหม่ให้ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.กระบี่
วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ตั้งแต่เวลา 13.30 น. มีการจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชนตำบลอ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านในที่ดินป่าชายเลนและกรมเจ้าท่า สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณการซ่อมสร้างบ้านใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท จำนวน 124 หลัง รวมทั้งสร้างสะพานคอนกรีตในชุมชน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เดินทางมามอบบ้านที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 2 หลัง และบ้านคนพิการ 2 หลัง รวมทั้งร่วมทาสีบ้านด้วย
นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อนุญาตให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนได้อย่างถูกต้อง ตามนโยบายคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ (คทช.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่ป่าต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทาง คทช.จังหวัดกระบี่ (มี ผวจ.เป็นประธาน) ได้ส่งเรื่องขอใช้ที่ดินมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทางกรมฯ ได้อนุญาตการขอใช้ที่ดินดังกล่าว เนื้อที่รวมประมาณ 36 ไร่เศษ ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
นางสาวพาราตี กองแก้ว ประธานโครงการบ้านมั่นคงตำบลอ่าวลึกน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน มีอาชีพจับปลา ปู กุ้ง หอย และเลี้ยงปลาในกระชัง อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนและบางส่วนอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า จำนวน 228 ครัวเรือน (พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างบ้านในปีนี้รวม 124 หลัง งบประมาณไม่เกินหลังละ 40,000 บาท) ส่วนชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นทุนพัฒนาบ้านและชุมชนอย่างน้อยครอบครัวละ 30 บาทต่อเดือน
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาสนับสนุนทำให้ชาวบ้านมีบ้านและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขึ้นในชุมชน คือ 1.คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นเพราะมีบ้านที่มั่นคงแล้ว ยังมีกองทุน มีกลุ่มออมทรัพย์ 2.จะมีการสร้างกลุ่มอาชีพจากประมง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 3. ด้านทรัพยากร เพราะต่อไปเราจะสร้างศูนย์เพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน เพื่อนำมาปลูกเพิ่ม และทำซั้งปลาเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์” ประธานบ้านมั่นคงกล่าว
รมว.พม.มอบงบประมาณสนับสนุนชุมชน 228 ครัวเรือน
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า เรื่องบ้านมั่นคงตำบลอ่าวลึกน้อย กระทรวง พม.มอบหมายให้ พอช. เฝ้าติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ทำให้สำเร็จโดยเร็วทั้ง 228 หลัง โดยร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น ทั้งในส่วนของกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประสานงานกับ ส.ส.ในพื้นที่ ในการซ่อมสร้างบ้านเรือนให้กับประชาชนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กันไปด้วย
หลังจากเสร็จภารกิจที่ตำบลอ่าวลึกน้อย รมว.พม.ได้เดินทางไปเยี่ยมชุมชนและมอบบ้านพอเพียงชนบทที่ตำบลเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ ซึ่งซ่อมสร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 17 หลัง งบประมาณสนับสนุนรวม 340,000 บาท รวมทั้งมอบงบประมาณรวมโครงการบ้านพอเพียงชนบทภาคใต้ ปีงบประมาณ 2565 รวม 4,800 ครัวเรือน งบประมาณ 100,320,000 บาท
รมว.พม.กับครอบครัวเจ้าของบ้านหลังใหม่
สภาพบ้านหลังเก่า
ส่วนในวันที่ 16 พฤศจิกายน รมว.พม.จะเดินทางไปมอบบ้านมั่นคงชนที่ตำบลคลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านริมฝั่งทะเล รวม 337 ครัวเรือน งบประมาณสนับสนุน 12 ล้านบาทเศษ
รองนายกฯ วิษณุมอบเหรียญกล้าหาญให้ชาวบ้าน 1,200 คน
เวลา 15.30 น. วันเดียวกัน (15 พฤศจิกายน) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน นอกจากนี้พื้นที่ชุมชนบางส่วนยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่กรมเจ้าท่าดูแล มีทั้งหมด 246 ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม
โดย พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านใหม่ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น สร้างสะพานคอนกรีต รวมทั้งปรับปรุงกายภาพชุมชนให้ดีขึ้น รวมทั้งหมด 246 ครัวเรือน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท) โดยมีช่างชุมชนและช่างจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ มาช่วยสร้างบ้านใหม่สำหรับบ้านที่มีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้สร้างบ้านได้เร็ว ใช้เวลาประมาณ 14 วัน และประหยัดงบประมาณ
ขณะนี้สร้างบ้านใหม่เสร็จแล้วจำนวน 12 หลัง เป็นบ้านชั้นเดียวขนาด 5 x 7.5 ตารางเมตร โครงสร้างเป็นไม้ ฝาบ้านเป็นไม้เฌอร่า หลังคาสังกะสี ราคาวัสดุประมาณหลังละ 125,000 บาท (พอช.สนับสนุนหลังละ 40,000 บาท ชุมชนสมทบหลังละ 85,000 บาท)
บ้านนางกุไหรยะ
นางกุไหรยะ บิลพัธ อายุ 48 ปี เจ้าของบ้านใหม่ อาศัยอยู่กับหลานสาวอายุ 11 ปี บอกว่า เธอมีอาชีพหาหอยขาย เช่น หอยแครง หอยหวาน มีรายได้ประมาณ 50-60 บาทต่อวัน สภาพบ้านเดิมมีความทรุดโทรมมาก ปลูกสร้างอยู่ในเขตป่าชายเลน หลังคารั่ว เวลาฝนตกน้ำจะรั่วเข้าบ้าน ต้องหาสังกะสีเก่าๆ มาปิดรูรั่ว ไม่งั้นนอนไม่ได้
“ดีใจมาก ที่ได้บ้านใหม่ ชีวิตไม่เคยคิดว่าจะได้โอกาสแบบนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ” เจ้าของบ้านหลังใหม่บอก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนทรายขาวที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว จำนวน 12 หลัง และมอบเหรียญกล้าหาญให้แก่ตัวแทนชาวชุมชนทั้ง 5 ภูมิภาคที่มาร่วมงาน รวม 1,200 เหรียญ ในฐานะที่ชาวชุมชนร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยกันรับมือกับวิกฤตน้ำท่วม นอกจากนี้รองนายกฯ ยังร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและปล่อยพันธุ์กุ้งด้วย
รองนายกฯ เยี่ยมเจ้าของบ้านหลังใหม่
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชนทรายขาวครั้งนี้ มีชาวชุมชนและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน และมีการถ่ายทอดกิจกรรมผ่านระบบ Zoom ไปยังเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยตัวแทนเครือข่ายขบวนชุมชนแต่ละภาคมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยต่อรัฐบาล เช่น กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ท้องถิ่นสู่ชุมชนที่เป็นจริง ให้มีการดำเนินการอนุมัติการใช้ที่ดินสิ้นสุดในระดับจังหวัด (ผู้ว่าราชการมีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ) โดยให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการดูแล อนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เท่านั้น
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่ ในการย้ายที่อยู่ใหม่จะต้องไม่ห่างจากพื้นที่เดิม 5-8 กิโลเมตร รวมถึงการอาศัยในแนวสูง (แฟลตหรือเคหะ) เพราะบริบทอาชีพของผู้มีรายได้น้อยไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยในแนวสูง ควรเพิ่มตัวแทนผู้เดือดร้อนเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ฯลฯ
‘ตำบลทรายขาว’ รูปธรรมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจการจัดการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั่วประเทศสามารถอยู่กับป่าและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่งมีการลงนามร่วมกันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“แต่พอถึงวันนี้มีรูปธรรมความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วที่เทศบาลตำบลทรายขาว เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อนุญาตให้ประชาชนได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง และต่อไปจะนำไปขยายผลในพื้นที่ป่าชายเลน โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัดทะเลอันดามัน ซึ่งมีป่าชายเลนอยู่มาก ส่วนภาคอื่นๆ ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ในเขตป่าก็จะได้รับประโยชน์จากการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรฯ นี้เช่นกัน แต่ต้องช่วยกันดูแลป่าและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีอาชีพ สืบทอดไปให้ลูกหลาน” รองนายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าชายเลน และยังมีที่ดินที่คาบเกี่ยวกับป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และกรมเจ้าท่า ดังนั้นการซ่อมหรือก่อสร้างบ้านจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน
นอกจากนี้หน่วยงานในท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาต่างๆ ในชุมชนได้ หรือหากชาวบ้านจะซ่อมสร้างโดยไม่ขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของที่ดินก็อาจมีความผิด ประกอบกับอาชีพประมงพื้นบ้านที่หากินไปวันๆ มีรายได้น้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงปล่อยให้บ้านเรือนผุพัง ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมทั้งไม่มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชน
สภาพชุมชนชาวประมงเทศบาลตำบลทรายขาว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายอนุญาตให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่อยู่อาศัยในที่ดินเขตป่า และมีการจัดทำข้อมูลรับรองร่วมกัน หรือผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น การพัฒนาอาชีพรายได้ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลโดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมา โดยมี รศ. ธนพร ศรียากูล เป็นประธานอนุกรรมการ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขอุปสรรค ปัญหา และข้อขัดข้องต่างๆ จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือของ 6 หน่วยงานเพื่อ ‘สนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล
การลงนาม ‘บันทึกความร่วมมือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่กรมอุทยานรับผิดชอบดูแล 2.ฉบับที่เกี่ยวข้องที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้รับผิดชอบดูแล และ 3. ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแล โดยมี 6 หน่วยงานร่วมลงนาม คือ 1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2.กรมป่าไม้ 3.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4.สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) 5.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ 6.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
นายสมรัก ทองรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ กล่าวว่า จากผลการลงนามของ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว โดยเทศบาลฯ ได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนชุมชนที่เดือดร้อนว่าแต่ละครัวเรือนอยู่ในที่ดินของหน่วยงานใดบ้าง เพราะมีทั้งที่ดินป่าสงวนฯ ป่าไม้ถาวร และป่าชายเลน โดยเทศบาลได้เสนอขอใช้ที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวชุมชนผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดหรือ ‘คทช.’ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธาน เพื่อเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อให้ชุมชนอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ พอช.ได้ดำเนินงานตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท โดยสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนครัวเรือนชุมชนทรายขาวที่มีสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ฐานะยากจน รวมทั้งหมด 246 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 12 ครัวเรือน และมีแผนพัฒนาชุมชนระยะ 3-5 ปี เช่น การปรับผังชุมชน ก่อสร้างสะพาน ทางเดิน รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาชุมชน เช่น พมจ.กระบี่ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ กรมประมง ฯลฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำ ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา