7 ภาคีร่วมจัดประกวดองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2565

ผู้แทนหน่วยงานและภาคีเข้าร่วมงานแถลงข่าวการประกวดรางวัลสวัสดิการชุมชนระดับชาติ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / 7 องค์กรภาคีร่วมจัดประกวดรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ  “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’  ปี 2565”  โดยเปิดรับสมัครเพื่อเฟ้นหาสุดยอดกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีเด่น 10 ประเภท  ตั้งแต่ 8-30 พฤศจิกายนนี้  มอบรางวัลเดือนมีนาคม 2566

วันนี้ (8 พฤศจิกายน) ระหว่างเวลา 13.00-15.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการแถลงข่าว “โครงการมอบรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชน : ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ปี 2565”

โดยมี 7 องค์กรภาคีที่ร่วมจัดโครงการมอบรางวัลและร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับประเทศ 2.วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ 3.วิทยาลัยโลกคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  4.สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ismed) 5.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 6.เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  และ 7.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผู้แทนหน่วยงานภาคีร่วมแถลงข่าว

รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การมอบรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชน  : “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ปี 2565” ว่า

1.เพื่อยกย่อง เชิดชู  องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ  ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ

2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและกองทุนสวัสดิการในพื้นที่  โดยเสริมกระบวนเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของบริการ และขยายผลกองทุนให้เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศ

3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล  ภาคเอกชน  และสังคม  ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิตปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  และร่วมนำไปสู่การพัฒนานโยบายระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนและชุมชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงเหมาะสม

นายแก้ว  สังข์ชู  คณะอนุกรรมการส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับประเทศ  กล่าวว่า  เครือข่ายสวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2553  จึงได้ขับเคลื่อนงานเพื่อดูแลประชาชนไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ  และร่วมกับ พอช. ดำเนินการร่วมกันเพื่อทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  ต่อมาจึงได้พูดคุยกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย อึ๊งภากรณ์  เพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นเรื่องสำคัญจากฐานรากสู่นโยบาย  จึงมีการประสานการทำงานร่วมกัน  นำไปสู่การมอบรางวัลอาจารย์ป๋วย 

นายแก้วย้ำว่า รางวัลไม่ใช่เป้าหมาย  รางวัลเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เกิดคุณค่าทางสังคม  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีการยกระดับ  ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ว่ากองทุนนี้เกิดจากชาวบ้าน  โดยรัฐบาลและท้องถิ่นร่วมสนับสนุน  นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านและชุมชนได้รู้จักแนวคิดของอาจารย์ป๋วย  และนำไปสู่ความร่วมมือของหลายฝ่าย 

“หลักคิดของอาจารย์ป๋วย  เป็นหลักคิดที่ถูกต้องกับสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต”  นายแก้วกล่าวย้ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร  คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  กล่าวว่า   วันที่ 9 มีนาคมทุกปี (วันคล้ายวันเกิด อ.ป๋วย) เป็นวันที่ระลึกถึง อ.ป๋วยที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก  และมีการมอบรางวัลให้แก่บริษัทวิสาหกิจขนาดย่อมที่มีธรรมาภิบาล  หลังจากนั้นจึงนำแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย  มาเป็นหลักการพิจารณามอบเป็นรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชน  คือ “รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์”

ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่จะนำมาบอกเล่าและเป็นกรณีศึกษาให้อาจารย์  นักศึกษา  และผู้ที่สนใจที่จะร่วมกันพัฒนาสังคม  และนำมาส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  ความเข้าใจการเปลี่ยนของสังคม  โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  เป็นการหล่อหลอมปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน  ให้เรียนรู้การพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งวิทยาลัยฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการคัดเลือกองค์กรที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลต่อไป

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  พอช. ก่อตั้งเมื่อ 26 ตุลาคม 2543  มีบทบาทในการส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและประชาสังคมในด้านต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ซึ่งระบบสวัสดิการชุมชนถือเป็นระบบหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  โดยภายในปี 2579  พอช.ตั้งเป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย” ทั้งนี้ พอช.ได้ยึดหลักการ ‘จตุพลัง’ ตามแนวทางของอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ผู้ก่อตั้ง พอช. ที่ให้ความสำคัญกับ 4 พลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  เช่น  พลังจากองค์กรชุมชน  ผู้นำ  ภาควิชาการ  และภาคธุรกิจเอกชน  ซึ่งล้วนเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน

“พอช.พร้อมที่จะหนุนเสริมกระบวนการการขับเคลื่อนงานครั้งนี้ให้ไปสู่เป้าหมาย  โดยเติมเต็มพลังจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน  มาเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้  กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน  โดย พอช.มีบุคลากร  รวมทั้งงบประมาณที่จะหนุนเสริมการทำงาน  เพื่อเดินไปข้างหน้า  ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต”  ผอ.พอช. กล่าว

แนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

แนวคิด “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  ของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  เป็นบทความภาษาอังกฤษขนาด 2 หน้าที่ ศ.ดร.ป๋วย  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนตุลาคม  2516  หลังจากนั้นจึงได้มีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐ   ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาจนกระทั่งเสียชีวิต 

ศ.ดร.ป๋วยกับชาวบ้านในชนบท

ดังข้อความตอนหนึ่งว่า...“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี  และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันรักษาโรคแก่ผมฟรี  กับบริการการแพทย์  รักษาพยาบาลอย่างถูก  อย่างดี  เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอ  หาพยาบาลได้สะดวก  ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว  มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม  สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์  ดนตรี  ฯลฯ 

ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ  น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม....เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้   ผมไม่เรียกร้องเปล่า  ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ  ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัว  ผมต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ....”

ศ.ดร.ป๋วย  เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม  2459  เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2502-2514)  และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2517-2519) ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์  สมถะ     มีผลงานด้านการบริหารที่โดดเด่นหลายด้าน  ทั้งด้านการเงิน  การคลัง  งานวิชาการ  ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะในปี 2508   เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  รวมทั้งโครงการพัฒนาชนบทอื่นๆ  ท่านเสียชีวิตเมื่อ 28  กรกฎาคม 2542  รวมอายุได้ 83 ปี 

แม้ว่า ศ.ดร.ป๋วยจะเสียชีวิตไปแล้ว  แต่แนวคิดเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน  โดยเฉพาะประชาชนคนยากจนที่ไม่มีระบบสวัสดิการของรัฐมารองรับ  ได้ถูกนำมาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างเป็นระบบในปี 2548   ในชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ   โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้การสนับสนุน

กองทุนบางแห่งส่งเสริมให้สมาชิก  เด็กและเยาวชน  คัดแยกขยะรีไซเคิลนำไปขาย  รายได้นำมาจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก

มีหลักการให้สมาชิกสมทบอย่างน้อยวันละ 1 บาท  โดยรัฐจะสมทบ  1 บาท  และองค์กรปกครองท้องถิ่นสมทบ 1 บาท  แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  คลอดบุตร  500  บาท,  เจ็บป่วยช่วยค่ารถหรือรักษาพยาบาลครั้งละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 วัน,  เสียชีวิต  ช่วยเหลือตั้งแต่ 3,000 -20,000 บาท  (ตามสถานะของกองทุนและอายุการเป็นสมาชิก)  นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยคนพิการ  ยากไร้  ยามเกิดภัยพิบัติ  ฯลฯ 

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ  จำนวน  5,915 กองทุน  สมาชิกกองทุนรวม  6,486,679 ราย   เงินกองทุนรวมกันจำนวน 20,413  ล้านบาท  โดยมีผู้รับสวัสดิการไปแล้วรวม 1,970,314 ราย   เงินจ่ายสวัสดิการรวม 2,399,946,472  บาท        

10 รางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น

นายปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน  กล่าวว่า  การจัดประกวดรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ฯ ปี 2565  แบ่งออกเป็น 10 ประเภทๆ ละ 1 รางวัล  ประกอบด้วย  ประเภทที่  1. ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก  2. ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร  3. ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย  4. ด้านการพัฒนาการศึกษา  การเรียนรู้  ทักษะการดำรงชีวิต  5. ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  6. ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน  7. ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย  8. ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  9. ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม  และ 10. ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

สำหรับองค์กร/กองทุนที่จะสมัครเข้าประกวด  จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น  เช่น  เป็นองค์กรสวัสดิการชุมชนระดับชุมชน  หรือระดับที่ใหญ่กว่า  ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม   หรือกลุ่มชุมชนใดๆ ที่มีการสะสมทุนหรือพัฒนาทุนทั้งที่เป็นเงินและ/หรือทุนทางสังคมอื่นๆ เพื่อใช้จัดสวัสดิการให้สมาชิกของตน  มีโครงสร้างการบริหารงาน  ระบบบัญชี  กฎระเบียบการดำเนินงานขององค์กร  และดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี  ฯลฯ

ทั้งนี้องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่สนใจจะสมัคร  สามารถขอรับเอกสารและสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 8-30 พฤศจิกายนนี้  ที่กองเลขาคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนจังหวัด / ที่ทำการสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.codi.or.th

ส่วนการพิจารณาผลงาน  จะมีการประเมินผลงานตั้งแต่ ระดับพื้นที่  โดยคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนจังหวัด  ร่วมกับ พมจ.จังหวัด  เป็นผู้กระตุ้น/ส่งเสริม  รวบรวมข้อมูลกองทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์  รวมถึงกลั่นกรอง/ตรวจสอบข้อมูลกองทุนที่เสนอขอรับรางวัลในเบื้องต้น  ก่อนรวบรวมใบสมัครและนำส่งมายังการคัดเลือกในระดับภาค 

ระดับภาค  โดยคณะกรรมการระดับภาคที่มีองค์ประกอบมาจากหลายภาคส่วน  เช่น  คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนระดับภาค  ผู้แทน พมจ.  ผู้แทนคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมระดับชาติ    ผู้แทนภาคีวิชาการ  ผู้แทนจากองค์กรองค์กรร่วมจัด  ฯลฯ  โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกให้เหลือภาคละ 10 ประเภท ๆ ละ 1 องค์กร/กองทุน

ระดับประเทศ  โดยคณะกรรมการระดับชาติและผู้แทนจากองค์กรร่วมจัด 7 องค์กร   จะคัดเลือกให้เหลือองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่นประเภทละ 1 องค์กร/กองทุน  รวม 10 องค์กร/กองทุน  โดยจะประกาศผลรางวัลระดับประเทศในวันที่  9 มกราคม 2566  ส่วนพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศ.ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

ทั้งนี้การจัดประกวดรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ฯ  เริ่มจัดประกวดครั้งแรกในปี 2559  และจัดต่อเนื่องมาทุกปี  จนถึงครั้งที่ 5 ในปี 2563 และต้องยุติชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยพิธีมอบรางวัลครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 

ตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในปี 2563 เช่น  กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง  .จอมพระ  .สุรินทร์    ได้รับรางวัลด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ  มีผลงานเด่นด้านการส่งเสริมสมาชิกและเยาวชนในโรงเรียนดูแลป่าชุมชน  สร้างแหล่งอาหาร  อนุรักษ์พันธุ์ปลา  ปลูกผัก   ทำเกษตรอินทรีย์  ส่งเสริมการเลี้ยงควาย  นำมูลควายมาทำปุ๋ย  มอบเงินสวัสดิการให้แก่เจ้าของควายที่ออกลูก  ฯลฯ

พิธีมอบรางวัลครั้งล่าสุดเมื่อ 9 มีนาคม 2565 (ประกวดปี 2563) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา