อพท. ผลักดันชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม ใช้ท่องเที่ยวรองรับแรงงานกลับถิ่นฐาน

นาวาอากาศเอกอธิคุณ  คงมี  ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อพท. ได้เตรียมยกระดับชุมชนที่ได้พัฒนาผ่านมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ขยายผลไปสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ด้านการท่องเที่ยว โดยการนำคนในชุมชนหรือเยาวชนของชุมชนมาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบ SE เพราะผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ภาคแรงงานถูกเลิกจ้าง และกลุ่มเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ ก็ยังอยู่ระหว่างรอการจ้างงาน บ้างก็ไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้  อพท. จึงเห็นว่าการท่องเที่ยวสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือแรงงานที่กลับบ้านเกิดให้ได้มีอาชีพ มีรายได้  ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีคุณภาพ  มีความรู้ มีประสบการณ์ที่จะนำมาช่วยยกระดับชุมชนบ้านเกิด ที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนและคุ้นเคยกับระบบออนไลน์มากขึ้น 

ทั้งนี้ข้อดีของการเป็น SE คือ การมีกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 รองรับอย่างชัดเจน ดังนั้นการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสังคม และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีไม่ปันผล

“ที่ผ่านมา อพท. นำร่องผลักดันชุมชนไปสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE ไปแล้ว 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนภูหลวง จังหวัดเลย และ กลุ่มชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมปรับรูปแบบเป็นนิติบุคคล ก่อนจะจดทะเบียนเป็น SE เพราะการเป็น SE จะต้องเป็นนิติบุคคลมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี”  นอกจากนั้นยังมีการปรับภารกิจการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งเรื่องของรูปแบบกิจกรรม การบริการและสินค้า ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเน้นพัฒนารูปแบบที่น่าสนใจและทำตลาดได้จริง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการยกระดับกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวมาเป็น SE คือการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้มีเป้าหมายการบริหารจัดการรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น และต้องมีการเก็บข้อมูลต่างๆ  เนื่องจาก SE ต้องสามารถรายงานผลลัพธ์ทางสังคมได้ ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาสังคมที่เป็นเป้าหมายหลักได้ ดังนั้นที่ผ่านมาการท่องเที่ยวโดยชุมชนถึงแม้จะเป็นอาชีพเสริมและมักไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่เมื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานมาเป็น SE แล้ว จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินงานให้คำนึงถึงเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้มีเงินทุนในการหล่อเลี้ยงตนเองในระยะยาวได้จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเองของชุมชนมากขึ้นนั่นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อพท.เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักสูตรบริหารจัดการท่องเที่ยวยั่งยืน

การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมถอดบทเรียนแนวทางการส่ง

อพท. ผนึก 5 มหาวิทยาลัย ปั้นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่มาตรฐานสากล

อพท. จับมือ 5 สถาบันการศึกษา ร่วมหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 4 ปี หวังยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล