ปักธงสร้างเครือข่าย Happy Workplace เป้าหมายสถานประกอบการไร้ควันบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงถึงชีวิต และทำให้ผู้สูบเกิดความพิการตลอดชีวิตได้ เนื่องจากมีสารพิษต่างๆ ควันบุหรี่มือสอง เสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็ง โควิด-19 โดยเฉพาะสถานที่ทำงานที่พนักงานต้องใช้ชีวิตร่วมกันยาวนาน 8-10 ชั่วโมง/วัน การปล่อยให้พนักงานสูบบุหรี่โดยไม่มีมาตรการควบคุมมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน โอกาสที่จะเกิดอัคคีภัย การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการกำจัดกลิ่นของควันบุหรี่

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังคงเดินหน้ารณรงค์สร้างเสริม ความรู้ และต่อยอดกระตุ้นแนวทางการส่งเสริมการตระหนักรู้ในการดูแลป้องกันปัญหาสุขภาพอันเกิดจากควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเครือข่าย Happy Workplace ในสถานประกอบการต่างๆ  เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด ในงานสัมมนา “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของแรงงานและการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ให้โดนใจผู้ประกอบการ” ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ของสสส. ระบุว่า สสส.สนับสนุนสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2551 และพบว่าปัจจุบันสถานประกอบการเห็นความสำคัญการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่, สุรามากขึ้น โดยสามารถพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ได้ 2,000 แห่ง คุ้มครองสุขภาพของแรงงานจากควันบุหรี่ได้กว่า 300,000 คน และช่วยให้แรงงานเลิกบุหรี่ได้สำเร็จกว่า 4,000 คน

ขณะที่ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2562 พบว่า ประชากรวัยแรงงานสูบบุหรี่สูงที่สุด 21% มีอัตราการตาย 70,000-80,000 คน คนไทยตายจากบุหรี่มือสอง 10,000 คน โดยที่เจ้าตัวไม่ได้สูบบุหรี่ หากต้องการให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลง จำเป็นต้องทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรวัยทำงานลดลงให้ได้

“การขยายผลในระยะต่อไป สสส.จะเร่งผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่ช่วยให้การป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ของแรงงาน เช่น เครื่องมือ สื่อ ระบบให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ และระบบส่งต่อการบำบัดเพื่อให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ โดยบูรณาการประเด็นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ ของ สสส. พร้อมขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับเครือข่าย Happy Workplace ที่มีมากกว่า 10,000 หน่วยงาน จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

จากการสำรวจของสำนักวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้ชายมีอายุยืนเฉลี่ย 71-73 ปี ในขณะที่ผู้หญิงมีอายุยืนเฉลี่ย 78 ปี ทั้งนี้ ในปี 2583 ทั้งหญิงและชายจะมีอายุยืนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 3 ปี องค์การอนามัยโลก (WHO)  แจงตัวเลขคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรค NCDs (non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) 70% สำหรับเมืองไทยผู้ป่วย NCDs 74% ด้วยโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง หลอดเลือด คนกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือป่วยหนัก ยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัยที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย ไม่รับประทานอาหารครบหมู่ จะทำให้อัตราการตายก่อนวัยอันควรถึง 20 ปี บางคนเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 50 ปี ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเมื่อเริ่มป่วย องค์กรก็ต้องเตรียมรับมือกับการรักษาพนักงานที่ติดบุหรี่

ดังนั้น ต้องหามาตรการให้พนักงานลด ละ เลิกบุหรี่ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี สสส.ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ในการบริโภคบุหรี่และเหล้าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยองค์รวม ทุกวันนี้นวัตกรรมในการเสพสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีช่องทางในการซื้อผ่านออนไลน์ ทั้งๆ ที่ใช้มาตรการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เพราะถ้ากลุ่มนี้ติดบุหรี่จะติดยาวนาน โอกาสเลิกได้ยากมาก

ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ กล่าวว่า ได้สำรวจสถานการณ์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 53สถานประกอบการ เดือน ม.ค.-พ.ค.2565 พบแรงงานในสถานประกอบการสูบบุหรี่ 20.5% เพศชายสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง กลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงจะสูบบุหรี่น้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นความเคยชิน กินข้าวอิ่มแล้วสูบบุหรี่ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด มีคนอยากสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น คนที่ทำงานร้านค้าขายส่งแบกของยกของจะสูบบุหรี่สูง

แรงงานส่วนใหญ่ 56% เริ่มสูบบุหรี่อายุ 16-20 ปี เพราะอยากลองและสูบตามเพื่อน สูบบุหรี่โรงงาน 77% (สูบ 1-10 มวนต่อวัน) มีเพียง 8% ที่สูบทั้งบุหรี่โรงงานและบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่สูบบุหรี่หลังตื่นนอนมากกว่า 60 นาที มีแหล่งซื้อคือร้านค้าใกล้บ้านและร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยพบการสูบในที่ทำงาน 70% แบ่งเป็นสูบในพื้นที่ที่บริษัทจัดไว้ให้ 87% และสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ 13% ซึ่งพบเห็นการสูบในที่ห้ามสูบ 21% และมีแรงงานที่คิดจะเลิกสูบสูงถึง 79%

ดร.ศันสนีย์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่คือ ครอบครัวอยากให้เลิก โดยเฉพาะลูกที่ยังเล็กอยู่เป็นแรงจูงใจสำคัญให้เลิกบุหรี่ได้ และเป็นห่วงสุขภาพ ใช้ยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน เคี้ยวหมากฝรั่ง ปรึกษาคลินิกฟ้าใส สอบถาม 1600 สายเลิกบุหรี่ การเลิกบุหรี่ได้อยู่ที่การปรับ Mind Set ให้คิดถึงครอบครัวเป็นสำคัญ การเลิกบุหรี่สำเร็จต้องพึ่งตัวเอง ขณะที่ยังมีแรงงานพยายามเลิกสูบ แต่เลิกไม่สำเร็จ 59% ส่วนใหญ่พยายามเลิก 1-3 ครั้ง โดยใช้การเลิกด้วยตนเอง ไม่ขอคำปรึกษาจากหน่วยงานให้บริการช่วยเลิกสูบบุหรี่ โดยนิยมใช้วิธีหักดิบ ส่วนใหญ่เมื่อดื่มเหล้าก็อยากสูบบุหรี่ด้วย รองลงมาคือ ลดจำนวนมวนที่สูบ ส่วนสาเหตุที่เลิกไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถเอาชนะความเคยชินได้ และเห็นคนอื่นสูบแล้วอยากสูบตาม ทั้งนี้ ผลสำรวจนี้เป็นประโยชน์ให้สถานประกอบการมีข้อมูลการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการของตน นำไปใช้ในการวางแผนดำเนินงานและออกแบบกิจกรรมช่วยให้สถานประกอบการตนเองปลอดบุหรี่ได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้หน่วยงานราชการนำไปวางแผนพัฒนาการช่วยเหลือการเลิกบุหรี่ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

***

สุพิชญ์ชญา เสถียรยานนท์ ผู้จัดการแผนก CSR บริษัท คิวพี (ประเทศไทย) จำกัด

สมัยที่ทำงานบริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เคยสูบบุหรี่วันละซอง 20 มวน เมื่อ 15 ปีก่อน แล้วเลิกได้ เพราะรู้ตัวว่ากำลังจะมีลูก วันรุ่งขึ้นก็หยุดทั้งบุหรี่และเหล้าทันที 

หลังจากเปลี่ยนมาทำงานในโรงงาน บ.คิวพีฯ ซึ่งมีคอนเซปต์จะให้เป็นโรงงานปลอดบุหรี่ For a Better Life เพราะพบว่าพนักงานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs เนื่องจากมีพนักงานชายจำนวนหนึ่งที่สูบบุหรี่ 95 คน จากพนักงานกว่า 1,000 คน จำนวนนั้นเป็นพนักงานชาย 91 คน พนักงานหญิง 4 คน เมื่อชักชวนเพื่อนร่วมงานให้เลิกบุหรี่ เพื่อนก็ตอบรับ เพราะรู้ว่าเราก็เคยเป็นนักสูบมาก่อน พูดคุยกันได้ การปรับเปลี่ยน Mind Set การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การประเมินผลด้วยการให้พนักงานตอบแบบสอบถามทุกเดือน ใครอยากเลิกบุหรี่ส่งไปปรึกษาคลินิกฟ้าใส รพ.ราชบุรี มีพยาบาลวิชาชีพคอยให้คำแนะนำ มีกล้อง CCTV จับไปที่จุดสูบบุหรี่ เฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม บางคนไม่สูบบุหรี่ในที่ทำงานเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ที่บ้าน มีการประสานกับสมาชิกในครอบครัวนำสติกเกอร์ไปติดที่บ้านเพื่อเป็นการเตือนสตินักสูบทางอ้อม ปีแรกมีพนักงานเลิกบุหรี่ได้ 5 คน บริษัทได้รางวัล Healthy Happy Enterprise

พนักงานจำนวน 5 คนตั้งใจเลิกบุหรี่ในวันที่ในหลวง ร.9 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 เป็นการร่วมกันทำความดีถวายในหลวง หลังจากที่พนักงาน 5 คนพร้อมใจกันเลิกบุหรี่ สุขภาพของเขาก็ดีขึ้น.

***

ชาคริต หนูสงค์  พนักงาน บ.เคซี อิเล็กทรอนิก ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า

ผมเลิกสูบบุหรี่ได้จากเดิมสูบบุหรี่วันละซอง สมัยก่อนผมเคยเล่นเป็น stuntman ในฉากภาพยนตร์ที่ป๋า ส.อาสนจินดา กำกับการแสดง ป๋า ส.เป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมาก ป่วยเข้าห้องไอซียูโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สมัยนั้นคุณศันสนีย์เป็นพยาบาลอยู่ที่นั่น ผมเลิกสูบบุหรี่เพราะเห็นว่าบุหรี่เป็นทูตมรณะ ผมใช้เวลาเลิกบุหรี่ตั้งแต่ปี 2523-2551 ถึงเลิกบุหรี่ได้ ดังนั้นผมขอให้กำลังใจคนที่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ครั้งแรก!! สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง“สังคมปลอดคุกคามทางเพศ”

ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ร่วมกับสสส. ระดมสมองกว่า 20 ภาคี ร่วมจัดทำแผนจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปอด..คนไทยไม่ปลอดภัย "PM2.5-บุหรี่ไฟฟ้า"ตัวร้าย!!

อันตรายที่มองไม่เห็นอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังคร่าชีวิตและบ่อนทำลายสุขภาพของคนในสังคมไทยอย่างเงียบเชียบ ด้วยตัวเลขที่มีการยืนยันว่า คนไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5

ต้อนรับเทศกาลPride Month รู้ให้จริง..กม.รับรองเพศสภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากลฉบับที่ 10 (ICD-10)

โพลชี้เกือบ 1 ใน 4 เคยพบ/เห็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอีก 126 คน เจอกับตัว กอด-จูบ-ลูบ-คลำ มีครบ ม

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง ภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์การป้องกันการคุกคามทางเพศ โ