บ้านที่กำลังสร้างที่ชุมชนตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
บ้านชาวประมงตำบลทรายขาวปลูกสร้างในที่ดินป่าชายเลนและป่าสงวนฯ
กระบี่-พังงา / รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และรัฐมนตรี พม. จุติ ไกรฤกษ์ ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ที่กระบี่-พังงา โดย พอช. ร่วมกับเครือข่ายบ้านมั่นคงภาคใต้และหน่วยงานในท้องถิ่นร่วมกันจัด เพื่อนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินของประชาชนที่มีรายได้น้อยในช่วง ‘ครม.สัญจร’ ที่กระบี่ โดยมีทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลน ที่ดินป่าไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ในประเทศไทยขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนทั่วภูมิภาค
ที่ภาคใต้ กระทรวง พม. พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2564 ที่จังหวัดกระบี่และพังงาในระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีกำหนดประชุม ‘ครม.สัญจร’ ที่จังหวัดกระบี่ได้เห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ และขบวนองค์กรชุมชนร่วมกันดำเนินงาน เช่น โครงบ้านพอเพียงชนบท บ้านมั่นคงชนบท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ
รองนายกฯ วิษณุ- รมว.พม.จุติมอบบ้านใหม่ให้ประชาชนที่เดือดร้อน
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดกระบี่และพังงา จะจัดขึ้นในชุมชนที่มีการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยแล้ว แต่จะไม่เน้นปริมาณคนที่จะมาร่วมงาน และจะไม่มีกิจกรรมเดินรณรงค์ เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะมีเพียงการจัดนิทรรศการ แสดงผลงานและแผนงานในการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยในภาคใต้ 14 จังหวัด
โดยในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน ช่วงบ่าย จะจัดกิจกรรมที่ชุมชนทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน มีทั้งหมด 246 ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน ฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม สะพานไม้ในชุมชนผุพัง โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมงานเพื่อเป็นประธานในพิธีมอบบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนทรายขาวที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว จำนวน 12 หลัง โดย พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านใหม่ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น สร้างสะพานคอนกรีต รวมทั้งปรับปรุงกายภาพชุมชนให้ดีขึ้น รวมทั้งหมด 246 ครัวเรือน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท)
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานที่ชุมชนตำบลอ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน จำนวน 228 ครัวเรือน สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ทรุดโทรม โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณการซ่อมสร้างบ้านใหม่ รวมทั้งสร้างสะพานคอนกรีตในชุมชน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเดินทางมามอบบ้านและเยี่ยมเยียนชาวชุมชนในวันที่ 15 พฤศจิกายน
นอกจากนี้ รมว.พม.จะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนและมอบบ้านพอเพียงชนบทที่ตำบลเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ ในวันเดียวกัน จำนวน 17 หลัง งบประมาณสนับสนุนรวม 340,000 บาท รวมทั้งมอบงบประมาณรวมโครงการบ้านพอเพียงชนบทภาคใต้ ปีงบประมาณ 2565 รวม 4,800 ครัวเรือน งบประมาณ 100,320,000 บาท
ส่วนในวันที่ 16 พฤศจิกายน รมว.พม.จะเดินทางไปมอบบ้านมั่นคงชนที่ตำบลคลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านริมฝั่งทะเล รวม 337 ครัวเรือน งบประมาณสนับสนุน 12 ล้านบาทเศษ
ช่างชุมชนรวมพลังช่วยซ่อมสร้างบ้าน “3 วันเสร็จ 7 วันอยู่”
นายธนภณ ผอ.พอช. สำนักงานภาคใต้ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครอบครัว โดยการเคหะแห่งชาติดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน (ในลักษณะเช่า-เช่าชื้อ)
ส่วน พอช.ดำเนินการในชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1 ล้าน 5 หมื่นครัวเรือน ตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนในชนบท) การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร กลุ่มคนไร้บ้าน ฯลฯ โดยที่ผ่านมา พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้ว จำนวน 1,207 โครงการ รวม 124,045 ครัวเรือน
“หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. คือให้ชาวบ้านในชุมชนที่มีความเดือดร้อน ไม่มีความมั่นคงในที่ดินหรือที่อยู่อาศัยเป็นแกนหลักในการรวมตัวกันแก้ไขปัญหา เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาดำเนินการ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน โดย พอช.สนับสนุนความรู้ กระบวนการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหา สนับสนุนสินเชื่อ และงบประมาณบางส่วน นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นร่วมสนับสนุน เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปา การไฟฟ้า เป็นต้น” นายธนภณกล่าว
นายธนภณ กล่าวด้วยว่า ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบท’ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการซ่อมหรือสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ หรือซ่อมบ้านที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท หากเกินงบประมาณเจ้าของบ้านจะต้องสมทบเอง หรือชุมชนท้องถิ่นช่วยสนับสนุน โดยมีช่างชุมชน และช่างจิตอาสาที่มาจากภูมิภาคต่างๆ ประมาณ 100 คน ช่วยกันลงแรง ทำให้ประหยัดงบประมาณ และซ่อมสร้างได้รวดเร็ว กรณีซ่อมบ้านประมาณ 3-5 วัน สร้างบ้านใหม่ 7-15 วัน หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ (สร้าง) 3 วันเสร็จ 7 วัน (เข้า) อยู่”
ช่างชุมชนจากทั่วภูมิภาคมาช่วยพี่น้องภาคใต้
ภาณุวัฒน์ ทองอินทร์ วิศวกรอาวุโส สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช. กล่าวว่า พอช.ได้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการช่างชุมชนตั้งแต่เริ่มทำโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546 เพื่อให้ช่างก่อสร้างในชุมชนต่างๆ หรือชาวชุมชนที่ความสนใจอยากจะมาช่วยกันสร้างบ้านได้มาศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานช่าง เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนให้แก่พี่น้องที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถจ้างช่างมาซ่อมสร้างบ้านได้ ทำให้การซ่อมสร้างบ้านเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และประหยัดงบประมาณ
“ตอนนี้เรามีช่างชุมชนทั้ง 5 ภูมิภาคๆ หนึ่งประมาณ 100 คน เวลามีงานเร่งด่วน เช่น เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อหลายปีก่อน ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย เราก็จะระดมช่างชุมชนไปช่วยกันซ่อมสร้างบ้าน คราวหนึ่งเกือบ 100 คน เป็นช่างจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน ส่วน พอช.จะช่วยสนับสนุนด้านการเดินทาง ที่พัก และอาหาร รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นก็จะร่วมสนับสนุนด้วย ถือเป็นน้ำใจ การลงแรงช่วยเหลือกันของพี่น้องคนจน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านช่างด้วย” ภาณุวัฒน์บอก
เขาบอกด้วยว่า การซ่อมสร้างบ้านที่จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ มีช่างชุมชนจากทั่วภูมิภาคและช่างจิตอาสาในพื้นที่มาช่วยกันประมาณ 100 คน ทำตั้งแต่งานฐานราก เช่น ปรับพื้นที่ ลงเสาเรือน เทพื้น สร้างซ่อมบ้าน งานปูน สร้างสะพานคอนกรีต ฯลฯ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤศจิกายน ช่วยสร้างบ้านใหม่ไปแล้วกว่า 40-50 หลัง หากคิดเฉพาะค่าแรงงานวันละ 300 บาท จะช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท
อดุลย์ ชือมือ ตัวแทนช่างชุมชนจากภาคเหนือ (ชาวอ่าข่า จังหวัดเชียงราย) บอกว่าทีมช่างชุมชนจากภาคเหนือ เดินทางมาช่วยพี่น้องตำบลเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ตอนนี้ซ่อมและสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 3 หลัง
“รู้สึกภูมิใจครับที่พวกเราทีมช่างชุมชนจากภาคเหนือได้มีโอกาสมาช่วยพี่น้องที่มีฐานะยากจน บ้านเรือนทรุดโทรม พวกเราได้สร้างบ้านให้ใหม่ ให้เขาได้อยู่ดีขึ้น ถ้ามีงานแบบนี้ พวกเราก็พร้อมจะช่วยทุกที่ครับ” ตัวแทนช่างจากภาคเหนือบอก
สภาพบ้านของนายนิคม น้ำทอง ชาวบ้านตำบนเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่
ช่างชุมชนจากภาคเหนือ 12 คนช่วยกันสร้างใช้เวลา “3 วันเสร็จ” ใช้ค่าวัสดุก่อสร้างเพียง 45,000 บาท พอช.สนับสนุน 40,000 บาท และท้องถิ่นสมทบ 5,000 บาท
‘ตำบลทรายขาว’ รูปธรรมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ชุมชนตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็น 1 ใน 4 ชุมชนที่มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้มีจำนวน 246 ครอบครัว อาศัยอยู่ต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี ชาวบ้านอยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลน และยังมีที่ดินที่คาบเกี่ยวกับป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และกรมเจ้าท่า ดังนั้นการซ่อมหรือก่อสร้างบ้านจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน
นอกจากนี้หน่วยงานในท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาต่างๆ ในชุมชนได้ หรือหากชาวบ้านจะซ่อมสร้างโดยไม่ขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของที่ดินก็อาจมีความผิด ประกอบกับอาชีพประมงพื้นบ้านที่หากินไปวันๆ มีรายได้น้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงปล่อยให้บ้านเรือนผุพัง ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมทั้งไม่มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชน
สภาพชุมชนชาวประมงตำบลทรายขาว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายอนุญาตให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่อยู่อาศัยในที่ดินเขตป่า และมีการจัดทำข้อมูลรับรองร่วมกัน หรือผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น การพัฒนาอาชีพรายได้ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลโดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมา โดยมี รศ. ธนพร ศรียากูล เป็นประธานอนุกรรมการ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขอุปสรรค ปัญหา และข้อขัดข้องต่างๆ จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือของ 6 หน่วยงานเพื่อ ‘สนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล
พิธีลงนามที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2564
การลงนาม ‘บันทึกความร่วมมือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่กรมอุทยานรับผิดชอบดูแล
2.ฉบับที่เกี่ยวข้องที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้รับผิดชอบดูแล และ 3. ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแล โดยมี 6 หน่วยงานร่วมลงนาม คือ 1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2.กรมป่าไม้ 3.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4.สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) 5.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ 6.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
นายสมรักษ์ ทองรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ กล่าวว่า จากผลการลงนามของ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว โดยเทศบาลฯ ได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนชุมชนที่เดือดร้อนว่าแต่ละครัวเรือนอยู่ในที่ดินของหน่วยงานใดบ้าง เพราะมีทั้งที่ดินป่าสงวนฯ ป่าไม้ถาวร และป่าชายเลน โดยเทศบาลได้เสนอขอใช้ที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวชุมชนผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดหรือ ‘คทช.’ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธาน เพื่อเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อให้ชุมชนอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องต่อไปแล้ว
นายสมรักษ์ นายกเทศมนตรี (ยืนกลาง)
นอกจากนี้ พอช.ยังมีแผนในการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนครัวเรือนชุมชนทรายขาวที่มีสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ฐานะยากจน รวมทั้งหมด 246 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 12 ครัวเรือน และมีแผนพัฒนาชุมชนระยะ 3-5 ปี เช่น การปรับผังชุมชน ก่อสร้างสะพาน ทางเดิน รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาชุมชน เช่น พมจ.กระบี่ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ กรมประมง ฯลฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำ ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ
เสียงจากชาวชุมชน-ร่วมสร้าง-ร่วมฟื้นฟูทรัพยากร
พิมพารัตน์ สมันหลี คณะกรรมการชุมชนตำบลทรายขาว หมู่ที่ 4 บอกว่า ชาวบ้านทุกคนดีใจที่จะได้มีโอกาสซ่อมแซมบ้าน เพราะส่วนใหญ่บ้านเรือนปลูกสร้างมานาน สภาพบ้านจึงทรุดโทรมผุพัง และชาวบ้านมีอาชีพประมง หากินไปวันๆ ไม่มีเงินจะซ่อมแซมบ้าน เมื่อมีงบประมาณมาสนับสนุนชาวบ้านจึงช่วยกันซ่อมแซม บางคนไม่ใช่ญาติแต่ก็มาช่วยกัน เพราะเจ้าของบ้านบางหลังไม่เคยเป็นช่าง บางคนก็ช่วยกันออกแรง
“พอมี พอช.และหน่วยงานต่างๆ มาช่วยเหลือ ชาวบ้านก็ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา ออมเงินกันเดือนละ 50 บาท เพื่อสะสมเงิน และออมเข้ากลุ่มเพื่อเป็นกองทุนสร้างบ้านอีก 1 กองทุน เช่น หากได้รับงบสนับสนุนซ่อมบ้าน 40,000 บาท จะต้องคืนเงินเข้ากองทุนครึ่งหนึ่งหรือ 20,000 บาท โดยทยอยส่งเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 200-300 บาท จนกว่าจะครบ เงินจากกองทุนนี้ก็จะนำไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่เดือดร้อน หรือหากเราจะต่อเติมบ้านเราก็จะใช้เงินจากกองทุนนี้” พิมพารัตน์บอกถึงการสร้างกองทุนของชาวทรายขาว
ส่วนการซ่อมสร้างบ้านจะมีคณะกรรมการดำเนินงานในชุมชน เพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อนจริง มีการจัดซื้อวัสดุร่วมกัน เพื่อให้ได้ส่วนลด (จะไม่ช่วยเหลือเป็นเงินสด) มีคณะกรรมการจัดซื้อ ตรวจสอบ รับมอบงาน ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
จรินทร์ ศุภนิมิตวรกุล ประกองกลุ่มธนาคารปูม้าตำบลทรายขาว เล่าว่า ชาวบ้านร่วมกันทำธนาคารปูม้าตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน มีสมาชิกหมุนเวียนประมาณ 20 คน เมื่อสมาชิกคนใดจับปูไข่ได้ก็จะนำแม่ปูมาฝากไว้ที่ธนาคาร รอให้แม่ปูฟักไข่ประมาณ 2-7 วัน จากนั้นจะนำไข่ปูอ่อนไปปล่อยลงทะเล แม่ปูก็นำมาขาย แม่ปู 1 ตัวจะออกไข่ครั้งละประมาณ 2 แสนฟองขึ้นไป เมื่อปล่อยแล้วจะมีอัตรารอดประมาณ 2-5 เปอร์เซ็นต์ เดือนหนึ่งจะปล่อยไข่ปูประมาณ 10 ครั้ง ปูม้ารุ่นใหม่ๆ ก็จะเติบโตขึ้นมา เป็นการช่วยดูแลสัตว์น้ำ และทำให้ชาวบ้านมีอาหาร ทำอาชีพประมงได้ตลอดไป
หอยแครงตัวโต ชาวบ้านจับขายกิโลฯ ละ 90 บาท
กั้งตั๊กแตน ช่วงโควิดราคาถูกกิโลฯ ละ 600-700 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" ย้ำ พม. ห่วงใย เหตุน้ำท่วมใต้ กำชับเยียวยากลุ่มเปราะบาง
วันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
“วราวุธ” มอบ "ปลัด พม." ร่วมคณะนายกฯ “แพทองธาร” ลุยน้ำท่วมนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ ช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
ผู้สูงอายุผิดหวัง มติ ครม. ปรับเบี้ยคนชราแบบขั้นบันได แทนที่จะปรับถ้วนหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
เร่งแก้ปมเอกชนฟ้องขับไล่ชาวบ้านอาศัยเขตป่าชายเลนตามมติครม.
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุมชนประชาสามัคคี ต.เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ปมข้อพิพาทกับเอกชนชาวบ้านถูกฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์