พอช.อนุมัติงบ 6.1 ล้านบาททำอาหารช่วยพี่น้องประสบภัยน้ำท่วม 16 จังหวัด 85 จุด ด้านเครือข่ายภัยพิบัติอุบลฯ เสนอรัฐตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสร้าง ‘บ้านลอยน้ำ’

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน อ.พยุหะคีรี และชมรมฅนหัวใจสิงห์  จ.นครสวรรค์  ทำครัวกลางและพายเรือนำอาหารไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย

พอช. / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พอช. อนุมัติงบ  6.1 ล้านบาท  ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม  เพื่อจัดทำครัวชุมชนหรือ ครัวกลางทำอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัย 4 ภูมิภาค  เหนือ  อีสาน  กลางตะวันตก  กรุงเทพฯ ปริมณฑล  รวม 16 จังหวัด  85 จุด 

ด้านเครือข่ายเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลฯ จ.อุบลราชธานี  เสนอรัฐตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสร้าง บ้านลอยน้ำ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยใกล้บ้าน   โดยชุมชนร่วมกันสร้าง  ใช้รูปแบบ บ้านมั่นคง ของ พอช.  ขณะเดียวกันเสบียงอาหารของชาวบ้านเริ่มร่อยหรอ  วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบงบค่าอาหารวันละ 150 บาทต่อคนตามระเบียบของกระทรวงการคลังถึงมือชาวบ้านหรือยัง !!

จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมเกือบทุกภาคของประเทศไทยในขณะนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด  โดยสำนักงานในภาคต่างๆ  ของ พอช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานความช่วยเหลือกับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน  เช่น  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล  ฯลฯ  นำข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ยารักษาโรค  สิ่งของจำเป็น  ฯลฯ  ไปมอบให้แก่ชุมชนผู้ประสบภัย

จนท. พอช.และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญนำสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยที่ศรีสะเกษเมื่อเร็วๆ นี้

พอช.หนุนทำครัวกลาง-จัดทีมเยี่ยมผู้ประสบภัย

ล่าสุด  พอช.ได้จัดทำโครงการบรรเทาความเดือดร้อนภัยพิบัติน้ำท่วมปี 2565  เพื่อสนับสนุนงบประมาณการจัดทำครัวชุมชน  หรือ ‘ครัวกลาง’ เพื่อทำอาหารปรุงสุก  แจกจ่ายให้แก่พี่น้องที่ประสบภัย  เนื่องจากขณะนี้หลายพื้นที่  หลายจังหวัดระดับน้ำยังไม่ลดลง  ชาวบ้านไม่สามารถออกไปทำมาหากินหรือหารายได้ได้ตามปกติ  เพราะบ้านเรือนโดนน้ำท่วม  เช่น  จังหวัดอุบลราชธานี  กาฬสินธุ์  ขอนแก่น  ฯลฯ  หลายชุมชนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว  บางส่วนอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้านเพื่อเฝ้าระวังทรัพย์สิน

โดย พอช. ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดทำครัวกลางใน 4 ภูมิภาค คือ  ภาคเหนือ   ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ  ภาคกลางและตะวันตก  กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก  รวม 16 จังหวัด  85 จุด  จำนวนผู้เดือดร้อนรวม 41,454 ครอบครัว  รวมงบประมาณทั้งหมด  6,100,000 บาท  (สนับสนุนจุดละ 50,000-200,000 บาท  ตามจำนวนผู้เดือดร้อน)

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้เครือข่ายชาวบ้านและองค์กรชุมชนในจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำครัวกลางขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่  เช่น  อุบลราชธานี  ขอนแก่น  นครสวรรค์ ฯลฯ  โดยมีเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชน  เครือข่ายบ้านมั่นคง  ฯลฯ  ระดมเงินบริจาค  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  สิ่งของจำเป็นไปมอบให้แก่พี่น้องที่มีความเดือดร้อน

นอกจากนี้  สำนักงานภาคกลางและตะวันตก  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน  และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พมจ.) จะเข้าไปเยี่ยมเยียนและมอบสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลคลองสระบัว  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 23  ตุลาคมนี้  และวันที่ 27-28 ตุลาคมที่จังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง  เช่น  อ่างทอง  สุพรรณบุรี  สิงห์บุรี  ฯลฯ

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน อ.พยุหะคีรี และชมรมฅนหัวใจสิงห์  จ.นครสวรรค์  ทำครัวกลางแจกจ่ายผู้ประสบภัย

เครือข่ายภัยพิบัติอุบลฯ เสนอรัฐตั้งกองทุนสร้าง ‘บ้านลอยน้ำ’

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีหลายอำเภอยังหนักหน่วง  โดยเฉพาะชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลในเขตอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง  เนื่องจากจังหวัดอุบลฯ เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากแม่น้ำ 2 สายสำคัญในภาคอีสาน  คือ  แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี  ก่อนจะรวมกันเป็นแม่น้ำมูลและไหลผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม

โดยล่าสุดวันนี้ (20 ตุลาคม)  แม้ระดับแม่น้ำมูลจะเริ่มลดลง  แต่แม่น้ำมูลยังคงสูงกว่า  11 เมตร  และสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมหนักในปี 2562  กว่า 4 เมตร   ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขายังถูกน้ำท่วมในหลายอำเภอ  ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวกว่า 20  แห่ง  และมีบางส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อเฝ้าระวังทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆ  

ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย  และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัยปี 2565) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา  จำนวน 18 อำเภอ  34 ชุมชน  670 หมู่บ้าน

สภาพน้ำท่วมชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลในเขตอำเภอวารินชำราบ

นายจำนงค์  จิตรนิรัตน์   มูลนิธิชุมชนไท  ที่ปรึกษาเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก  จ.อุบลราชธานี  กล่าวว่า  จากประสบการณ์ที่ชาวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขาถูกน้ำท่วมหนักในปี 2562  ชาวชุมชนต่างๆ จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก  มีสมาชิกประมาณ  30 ชุมชน  และต่อมาในปี 2563 ได้ร่วมกันต่อเรือติดเครื่องยนต์เพื่อเตรียมพร้อมอพยพ  รวม 28 ลำ  และต่อแพ 1 ลำเพื่อใช้ขนข้าวของออกจากพื้นที่น้ำท่วม  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น  ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลฯ  มูลนิธิชุมชนไท  เครือข่ายพี่น้องอันดามัน  พอช. ฯลฯ

เรือติดเครื่องยนต์ของเครือข่ายฯ 1 ใน 28 ลำ

“เมื่อเกิดน้ำท่วมในปีนี้  เรือของเครือข่ายฯ ได้ช่วยอพยพพี่น้องที่ถูกน้ำท่วมออกมาจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย  และแพก็ยังสามารถใช้เป็นที่พักชั่วคราวในช่วงน้ำท่วมได้ด้วย  นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านในตำบลหนองกินเพล  อำเภอวารินชำราบ  ทำแพเอาไว้ก่อนช่วงน้ำท่วมเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว  ไม่ต้องอพยพหนีน้ำ  ถือเป็นการปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำได้  เครือข่ายฯ จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย’ เพื่อนำมาสร้างเป็น ‘บ้านลอยน้ำ’  เพราะจังหวัดอุบลฯ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก”  จำนงค์เสนอแนวคิด

แพของเครือข่ายฯ ขนาด 6X6 ตร.ม. ใช้งบสร้าง 1 แสนบาท  ช่วยขนย้ายทรัพย์สินของชาวบ้านไม่ให้เสียหายได้ประมาณ 1 ล้านบาท  ‘1 แสนเซฟ 1 ล้าน’ และใช้เป็นที่พักช่วงน้ำท่วมได้ 2 ครอบครัว

เขาขยายความว่า  ‘บ้านลอยน้ำ’ มีลักษณะเป็นแพ   โดยใช้ถังพลาสติกขนาด 200 ลิตรแทนทุ่นไม้ไผ่เพื่อพยุงแพหรือบ้าน  ใช้เหล็กนำมาเชื่อมเป็นพื้น  ใช้ไม้อัดปูพื้น  ฝาบ้านและหลังคาใช้แผ่นสังกะสีหรือเมทัลชีท  ขนาดประมาณ 4 X 6 ตารางเมตร  ราคาวัสดุประมาณ 40,000 บาท  ใช้วัสดุเหลือใช้หรือรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบเพื่อลดต้นทุน ใช้แรงงานจากชาวบ้าน  ก่อสร้างบ้านลอยน้ำตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช.  โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณ  ชาวบ้านร่วมสมทบแรงงาน  นอกจากนี้ชาวบ้านในแต่ละชุมชนต่างก็มีกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนและของเครือข่ายฯ เป็นทุนตั้งต้นอยู่แล้ว

แพหรือบ้านลอยน้ำที่ชุมชนริมแม่น้ำมูล   สามารถอยู่อาศัยได้ 2 ครอบครัว

ที่ปรึกษาเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบกบอกด้วยว่า  ชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีคงจะต้องอยู่กับสภาพน้ำท่วมอีกนานนับเดือน  ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ  ขณะที่เสบียงอาหารที่ชาวบ้านเตรียมเอาไว้เริ่มร่อยหรอ  ครัวกลางที่ทำแจกจ่ายกันในศูนย์พักพิงวันละ 1-2  มื้อไม่เพียงพอ 

“ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง  ชาวบ้านจะได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติเพื่อจัดทำอาหารคนละ 50 บาทต่อมื้อ  หรือคนละ 150 บาทต่อวัน  แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเงินค่าอาหารตอนนี้มาถึงหรือยัง  หรือเอาไปจัดสรรอย่างไร  จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบหรือชี้แจงด้วย  เพราะตอนนี้อาหารที่ชาวบ้านทำแจกกันนั้นกำลังจะหมดแล้ว”  ที่ปรึกษาเครือข่ายกล่าวในตอนท้าย

ระเบียบช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 2563 ของกระทรวงการคลัง

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนน้ำท่วม อ.บ่อไร่ ฝนตกต่อเนื่องจ่อล้นตลิ่ง อุทยานฯประกาศปิดน้ำตกคลองแก้ว

สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด กำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังเนื่องจากระดับน้ำบริเวณสะพานหัวทุ่ง สะพานบ่อไร่ ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง และถนนหลายสายน้ำท่วมแล้วมและรถยนต์เล็กข้ามไปไม่ได้

'อมก๋อย' อ่วมหนัก! ฝนถล่ม 2 วัน ดินสไลด์ปิดถนนหลายจุด น้ำท่วมนาข้าว ไฟดับ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ว่า จากที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องช่วงตั้งแต่วันที่ 25 - 26 ก.ค. 2567 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและเกิดดินสไลด์ปิดในหลายเส้นทางสัญจรหลายจุดทั้งพื้นที่บ้า

“คลองเปรมประชากร…บ้านสวย น้ำใส” ด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง ร.10

คลองเปรมประชากรเป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของเมือง

เด้ง! ผู้บริหารชลประทานตราด เจ้าของวลี 'ถ้าเป็นเทวดาบอกได้'

ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารโครงการชลประทานตราดกับผู้บริหารท้องถิ่น โดยเฉพาะคำพูดของนายขรรค์ชัย ไชยคง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุง ที่ระบุตอนหนึ่งในห้องประชุมเมื่อ 22 ก.ค.

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 26 จังหวัด พายุ 'แคมี' อ่อนกำลังลง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและด้านตะวันตกของภาคกลาง

กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวังน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เมตร

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 2/2567 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ไปยังผู้ว่า