พอช.งัดเอกสารชี้แจงชาวบ้าน จ.เพชรบูรณ์ กรณีค้ำประกันเงินกู้กลุ่มแปรรูปสมุนไพรกว่า 2.7 ล้านบาท

ชาวบ้านตำบลโคกสะอาด  อ.ศรีเทพ  จ.เพชรบูรณ์ ลงบันทึกประจำวันที่ สภ.อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ภาพจาก https://mgronline.com)

พอช.ชี้แจงกรณีชาวบ้าน จ.เพชรบูรณ์ร้องเรียนไม่เคยค้ำประกันเงินกู้จาก พอช. โดยมีหนังสือทวงหนี้รวมกว่า 2.7 ล้านบาท  โดย พอช.มีหลักฐานยืนยันการขอใช้สินเชื่อของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองสีเทพตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 เป็นเงิน 1.9 ล้านบาทเศษ  แต่กลุ่มมีปัญหาเรื่องการดำเนินการและไม่สามารถชำระหนี้คืน พอช.ได้  จึงมีการปรับโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้หลายครั้ง  แต่กลุ่มยังไม่สามารถผ่อนชำระได้  จึงมีหนี้สิน  ดอกเบี้ย และค่าปรับตลอดช่วง 10 ปีเศษ  เป็นเงินรวมกว่า 2.7 ล้านบาท  ด้านศูนย์ดำรงธรรมและ พอช.เตรียมนัดประชุมกลุ่มชาวบ้านเพื่อหาทางออก

กรณีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์สำนักหนึ่งได้ลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีเนื้อหาว่า  ชาวบ้าน  ต.โคกสะอาด  อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์  แจ้งว่า ได้รับหนังสือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  พร้อมกันทั้งหมด 51 คน ระบุเป็นหนี้จากการค้ำประกันเงินกู้ของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองศรีเทพ จำนวน 2,796,992.86 บาท   หากไม่ชำระทางสถาบันฯ จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนั้น

ชาวบ้านยืนยันไม่เคยคำประกันเงินกู้

โดย นายภิรมย์ อินปาน  หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับหนังสือแจ้งหนี้  กล่าวว่า  หลังจากได้รับหนังสือแล้วตกใจมาก  เพราะไม่เคยไปกู้ยืมเงินดังกล่าว  และเงินจำนวนมากขนาดนั้นจะเอาที่ไหนมาใช้คืน

(ภาพจาก https://mgronline.com)

ขณะที่ นางสมคิด โมงขุนทด  ชาวบ้านอีกรายที่ได้รับหนังสือทวงหนี้  กล่าวว่า  ตนได้รับหนังสือทวงหนี้ติดต่อกันถึง 3 ฉบับ ไม่รู้ว่ามาได้ยังไง  กลายเป็นปัญหาในครอบครัว  ถูกสามีด่าแทบตาย  เกิดมาก็ไม่เคยมีหนี้ขนาดนี้  ที่ผ่านมายังไม่เคยหาเงินได้ขนาดนี้เลย

นางสาวนราวดี  ดวงจันทร์  ตัวแทนชาวบ้านที่เสียหาย  กล่าวว่า  ตนและชาวบ้านที่ได้รับหนังสือแจ้งหนี้ดังกล่าว  รวม 51 คน  ยืนยันว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับการกู้เงินจำนวนเกือบ 3 ล้านบาท  ตามที่ระบุในหนังสือแจ้งหนี้นี้แต่อย่างใด   อีกทั้งไม่เคยลงชื่อกู้หรือค้ำประกันกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงอยากจะขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงและให้ความช่วยเหลือพวกตนด้วย

ล่าสุด  ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีเทพ  เพื่อร้องทุกข์และลงบันทึกประจำวัน เมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  โดยนางสาวนราวดี ดวงจันทร์  ตัวแทนชาวบ้าน  เปิดเผยว่า  พนักงานสอบสวนแนะนำให้ชาวบ้านลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว  ในส่วนของการดำเนินคดียังไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินคดี

ชาวบ้านทั้งหมดยืนยันด้วยว่า  พวกตนยังงงกันอยู่ว่าไปเป็นหนี้เกือบ 3 ล้านบาทตอนไหน  ยอดหนี้ที่มีจำนวนมากขนาดนี้คงไม่มีปัญญาหาเงินมาชดใช้ให้แน่นอน  รวมทั้งพวกตนก็ไม่ทราบว่าสถาบันดังกล่าวตั้งอยู่ที่ใด  มีผู้ถูกทวงหนี้บางรายเสียชีวิตไปนานแล้ว  แต่ก็ยังมีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันอยู่

หนังสือจาก พอช.(ภาพจาก https://mgronline.com)

พอช.งัดเอกสารชี้แจงทุกประเด็น

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ได้นำเอกสารชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นตามที่ชาวศรีเทพ  เมืองเพชรบูรณ์  กว่าครึ่งร้อยได้รวมตัวไปร้องทุกข์ต่อ สภ.อ. ศรีเทพ และศูนย์ดำรงธรรมศรีเทพ  กรณีที่พวกตนเองไม่เคยกู้เงินและค้ำประกันการการกู้เงินของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองศรีเทพ และได้รับหนังสือขอเชิญติดต่อเพื่อปรึกษาหารือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นั้น  

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น สถาบันฯ ขอเรียนชี้แจงว่า 1. กลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อนุมัติสินเชื่อจากสถาบันฯ ในเดือนเมษายน 2551 เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนของกลุ่มในการซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจำพวก สบู่เหลว แชมพู และเป็นกองทุนให้กับสมาชิกในการขยายกิจการทอผ้าไหมและผ้ามัดหมี่  จำนวนเงินที่ขอสินเชื่อในวงเงิน 1,919,700  บาท คณะกรรมการกลุ่ม  รวม 9 คน ได้ขอเบิกเงินกับสถาบันฯ แล้วเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 โดยมีเงินฝากของกลุ่มฯ จำนวน 95,985 เป็นหลักประกันและให้สมาชิกของกลุ่มจำนวน 51คน เป็นผู้ค้ำประกันร่วม  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมในการบริหารจัดการสินเชื่อ  ที่มีการกระจายไปยังสมาชิกด้วย  โดยไม่เป็นภาระของกรรมการกลุ่มเพียงลำพัง

2.ในการทำสัญญากู้และค้ำประกันดังกล่าวก่อนการลงนาม เจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ได้มีการทำความเข้าใจและชี้แจงต่อคณะกรรมการและสมาชิกทุกคนให้เกิดความเข้าใจในภาระที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันก่อนการลงนามแล้ว

(ภาพจาก https://mgronline.com)

พอช.อนุมัติปรับโครงสร้างหนี้-พักชำระสินเชื่อและหาทางช่วยเหลือ

3.ในช่วงระหว่างชำระคืนสินเชื่อ กลุ่มฯ ประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน  เช่น  การขาดรายได้ของสมาชิก  การย้ายถิ่นฐานของสมาชิก  ทำให้คณะกรรมการไม่ได้รับการชำระหนี้จากสมาชิกจึงได้ขอปรับโครงสร้างหนี้มายังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ตั้งแต่ในช่วงปี 2552 ถึงปี 2562  โดยสำนักงานภาคเหนือและสำนักสินเชื่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาร่วมกับคณะกรรมการและสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง  โดยสถาบันฯ ได้อนุมัติปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มฯ 6ครั้ง  และอนุมัติพักชำระหนี้ในช่วงโควิด19 ในปี 2563 ให้กลุ่มฯ 2  ครั้ง   รวม 6 เดือน ( เมษายน-กันยายน 2563) กลุ่มฯ ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 จำนวนเงิน 1,000 บาท และไม่มีการติดต่อชำระเพิ่มเติมแต่อย่างใด

4.ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 กลุ่มฯ ยังคงมีหนี้คิดเป็นเงินต้นคงเหลือ  1,500,239.72  บาท   ดอกเบี้ย 542,364.16บาท   ค่าปรับค้าง 754,388.98 บาท (ค่าปรับเกิดจากการชำระไม่ตรงงวดที่กำหนดในสัญญา  โดยตั้งแต่ทำสัญญาในปี 2551 ถึงปัจจุบัน  กลุ่มฯ มีการชำระคืน พอช. เพียง 28 งวด)  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,796,992.86 บาท  ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสถาบันฯ ยังมีแนวทางในการช่วยเหลือ  แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการและสมาชิก  ดังนั้นสถาบันฯ จึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการและสมาชิกผู้ค้ำประกันทุกคนเพื่อปรึกษาหารือและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2564

5.เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 สำนักสินเชื่อ สถาบันฯ ได้รับการประสานจากศูนย์ดำรงธรรมศรีเทพ  โดยนายอำเภอศรีเทพ  ได้ประสานขอเอกสารการทำนิติกรรมของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองศรีเทพเพื่อนำไปประชุมและทำความเข้าใจกับคณะกรรมการและสมาชิกจากสถาบันฯ แล้ว  ส่วนวันเวลาประชุมจะได้แจ้งมายังสถาบันฯ เพื่อทราบในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม  จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้สื่อข่าวพบว่า  มีรายชื่อชาวบ้านที่เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ศรีเทพ  มีรายชื่ออยู่ในหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้กลุ่มแปรรูปสมุนไพรและผ้าทอเมืองศรีเทพกับ พอช.  ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 ด้วย

หนังสือเสนอสินเชื่อของกลุ่มชาวบ้าน

พอช.ทำไทม์ไลน์ชี้แจงข้อเท็จจริง

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา