Sandbox “เขตวังทองหลาง” ส่งเสริมการอ่านร่วมฝ่าวิกฤต

รู้ไหม?!? ว่า...เด็กปฐมวัย (แรกเกิด-6 ปี) มีอัตราเจริญเติบโตของสมองสูงสุด จึงเป็นพื้นฐานสำคัญพัฒนาทุกด้านในช่วงต่อไป หากเด็กได้รับการกระตุ้นเสริมให้ก้านสมองแตกยอดทอดกิ่ง จะเกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำอะไรได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในวัยนั้นๆ ได้อย่างดี

หนังสือภาพ..คือตัวช่วยเป็นอย่างดีที่จะทำให้เด็กมีสมรรถนะที่ดี

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้คำขวัญ “การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรี เป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคม และเป็นฐานรากของการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะก่อความรุดหน้าในทุกด้าน นับแต่เรื่องการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยด้านโภชนาการ การขจัดความยากจน ตลอดจนการสร้างเสริมการมีงานทำที่เหมาะสม”

แต่จากการสำรวจ มีตัวเลขที่น่าตกใจว่า เด็กไทยอายุแรกเกิดถึง 3 ปี ไม่มีหนังสือนิทานในบ้าน จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 53% เด็ก  8% เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง

เพราะเล็งเห็นประเด็นหนังสืออ่านสร้างเด็ก และเด็กก็จะสร้างโลกในอนาคต อีกทั้งลดทอนความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในสังคมไทย เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ประกาศปฏิญญาสนับสนุน “การจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” ในงาน BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ หรือ Learning Loss

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ของ สสส. กล่าวว่า หนังสือนิทานเหมือนหน้าต่างบานแรกที่บ่มเพาะให้เด็กปฐมวัยอายุ 0-6 ปี ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าผลกระทบทางสังคมช่วงโควิด-19 เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ

การอ่านทำให้เกิด “การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต” (lifelong learning) ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ สสส.พบว่า หนังสือนิทานส่งเสริมทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม 4 ข้อ

1.ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เพราะเปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหว แสดงบทบาทสมมติตามเนื้อหาในนิทาน ซึ่งจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ 2.ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เพราะนิทานจะสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ทำให้มีความสุข และสุขภาพจิตดี 3.ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม การที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทานให้เด็กฟัง จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว 4.ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา เพราะหนังสือนิทานช่วยให้เด็กมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีทักษะการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เหมาะสมตามวัย

“การอ่านเป็นระบบนิเวศการสื่อสารสุขภาวะที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย สสส. พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านเพื่อร่วมฝ่าวิกฤตภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เด็กๆ ต้องเรียนทางออนไลน์ ครอบครัวและชุมชนคือกุญแจสำคัญที่ช่วยแก้วิกฤตเรื่องพัฒนาการภาษาล่าช้า ลดภาวะถดถอยด้านต่างๆ ในเด็กปฐมวัยได้ การลงพื้นที่ชุมชนครั้งนี้  สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของหนังสือนิทานที่กระตุ้นทักษะด้านต่างๆ ได้จริง สสส.จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายสวัสดิการหนังสือเด็ก ให้กับครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยได้มีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม เพื่อจุดประกายให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ สร้างความรัก ความผูกพัน และฟื้นฟูวิกฤตจากโควิด-19 รวมถึงขอบคุณ กทม. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่เป็นพลังสำคัญช่วยกันทำให้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของเด็กกว่า 90% มีสุขภาวะที่ดีอีกครั้ง” นางญาณีกล่าว

ขณะที่นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ความท้าทายของกทม.เมื่อโควิดระบาด ทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอย เด็กไม่ได้เรียน การเรียนรู้ขาดหายไป ผู้ปกครองขาดอาชีพ หนังสือ 3 เล่มเป็นต้นทุนที่ดี ต้องลงมือแต่เดี๋ยวนี้ และหากิจกรรมเสริม กทม.มีบ้านหนังสือ 437 แห่ง ที่จะต้องจัดหาหนังสือเข้ามาเพิ่ม ในวาระเทศกาลเด็กและเยาวชน BKK เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง กทม. เราให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF และศักยภาพทุกด้านจากภาวะถดถอย หรือ Learning Loss ช่วงโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 9 มิติ ทั้งด้านสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ฯลฯ ซึ่งพบว่าหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ช่วยพัฒนาเด็กเล็กได้เต็มศักยภาพ

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ หากสามารถแปรนโยบายที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติประกาศรับเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ให้เกิดแนวปฏิบัติในการพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยอายุ (0-6 ปี) ด้วยสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กได้ จะก่อประโยชน์อย่างมากต่อแนวทางของเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ซึ่ง “หนังสือนิทาน” จะช่วยกอบกู้ทักษะของเด็กให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ ดังที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่า เด็กเล็กมีแนวโน้มสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กโต เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะต่อพัฒนาการตามช่วงวัย หากสามารถขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ และชุมชนท้องถิ่นได้ จะเป็นสัญญาณที่ดีในการทำเรื่องนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “อ่านยกกำลังสุข”

“หากชุมชนเข้มแข็ง จะช่วยนำพาครอบครัวและเด็กเล็กผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ปีนี้นอกจากขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เราต้องการส่งเสริมการอ่านให้เป็นรูปธรรม จึงขยายผลไปในระดับชุมชน เพื่อให้มีความต่อเนื่องและทำได้จริง โดยส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการหนังสือนิทานเพื่อเด็กแรกเกิด อย่างน้อย 3 เล่ม ร่วมกับ สสส. กทม. และภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมครอบครัวอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง” นางสุดใจกล่าว

นายชำนาญ สุขีเกตุ ประธานชุมชนเก้าพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ครอบครัวได้ร่วมโครงการรักการอ่านกับ สสส.ตั้งแต่ปี 2561 หลังพบว่าเด็กในชุมชนบางครอบครัวมีพัฒนาการล่าช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดทักษะเข้าสังคม จึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มาทำพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กและผู้ปกครองที่ศูนย์ชุมชนทุกวันหยุดหรือวันว่าง โดยจะอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากหนังสือให้กับเด็ก เช่น ทำอาหาร ปลูกผัก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 11 ครัวเรือน มีแผนขยายไปในครอบครัวรุ่นใหม่ และบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด เพื่อส่งเสริมให้ทุกบ้านมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบผู้ปกครองสนใจมากขึ้น เพราะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดจอมือถือ จากช่วงโควิด-19 ที่เด็กทุกคนต้องเรียนออนไลน์อยู่แต่ในบ้าน”.

***

แพทย์หญิงปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เพจหมอแพมชวนอ่าน กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

ทักษะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับโลกปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยน เด็กเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ดร.เบตตี้ ฮาร์ต และ ดร.ท็อด ริสลีย์ มหาวิทยาลัยแคนซัส วิจัยพบว่า การได้ยินคำศัพท์ของเด็ก 4 ขวบ เด็ก 1 คนมีความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการเรียนรู้ถึง 32 ล้านคำ เด็กจากชนชั้นวิชาชีพ 45 ล้านคำ เด็กชนชั้นแรงงาน 26 ล้านคำ เด็กจากชนชั้นพึ่งสวัสดิการ 13 ล้านคำ เป็นเรื่องสอดคล้องกับงานวิจัยของนักสังคมวิทยา จอร์จ ฟาร์กัส และเคิร์ต เบรอน พบว่าเด็กในครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า เมื่อเริ่มเข้าเรียนจะมีพัฒนาการในการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กอื่น 12-14 เดือน และเมื่อโตขึ้นก็ไม่สามารถชดเชยความรู้ได้....

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทศกาลกินเจ 2567 สสส. สานพลัง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชวนคนรุ่นใหม่ กินเจปลอดภัย ห่างไกล NCDs

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่อาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน และเค็มจัด จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า

ขับเคลื่อนแอป "เณรกล้า โภชนาดี" แก้ปัญหาทุพโภชนาการ...สามเณร

พระสงฆ์และสามเณร เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของพระสงฆ์ คือภาวะไขมันในเลือดสูง

“รองนายกฯ ประเสริฐ” ประชุมบอร์ด สสส. นัดแรก เห็นชอบแผนปี 68 มอบนโยบายเคลื่อนสุขภาพ 4 ด้าน “อายุคาดเฉลี่ย-ออกกำลังกาย-ยาเสพติด-ภัยออนไลน์”

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี

“สุขภาวะเพศคือ สุขภาวะของประเทศไทย”

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่น

เคาะ 6 ข้อเสนอ แผน 'สุขภาพจิตชุมชน' พร้อมดันสู่วาระชาติ

นายชาญชัย ทองสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ตัวแทนแกนนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความร่วมมือ