น้ำท่วมอุบลฯ-ศรีสะเกษยังหนัก ชาวบ้านเจอลมหนาวซ้ำ ด้านเครือข่ายชุมชน-พอช. ระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

สภาพน้ำท่วมชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล  อำเภอวารินชำราบ  จ.อุบลฯ  ระดับน้ำบางพื้นที่สูงถึง 6 เมตร  ท่วมบ้านเรือนชั้นล่างจนมิด

เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญระดมข้าวของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อุบลฯ และศรีสะเกษ

ภาคอีสาน /  สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานยังไม่คลี่คลาย   โดยเฉพาะที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานีระดับน้ำยังไม่ลดลง  คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นเดือนกว่าระดับน้ำจะลดลงและเขื่อนปากมูลจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้  ทำให้ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวต่อไป  ขณะเดียวกันอุณหภูมิเริ่มลดลง  อากาศเริ่มหนาวเย็นเฉลี่ย 23-25 องศาฯ และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ  ทำให้กระทบต่อผู้สูงอายุคนป่วยและเด็ก  ขณะที่เครือข่ายชุมชนและ พอช. เร่งระดมช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้านกรมชลประทานเสนอโปรเจกต์ยักษ์ ‘ขุดคลองผันน้ำมูล’ ระยะทาง 97 กม. มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาทหวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งระยะยาว !!

อุบลฯ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รองรับน้ำของแม่น้ำสายหลัก 2 สายในภาคอีสานตอนบน  คือ  แม่น้ำชีที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดชัยภูมิ   และแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา  แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันที่บริเวณอำเภอวารินชำราบ  จ.อุบลฯ  และบริเวณอำเภอกันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ  ไหลผ่านอำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมืองอุบลราชธานี  และอำเภอต่างๆ เข้าสู่เขื่อนปากมูลและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม  จ.อุบลราชธานี

โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล  เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง  คือในปี 2521, 2545 และล่าสุดในปี 2562  เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน  มีชาวบ้านริมน้ำมูล 4  อำเภอ  คือ  อำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมือง  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง  บ้านเรือนถูกน้ำท่วม  ข้าวของ  พืชไร่  สัตว์เลี้ยง  ฯลฯ  เสียหายประมาณ 4,000 ครอบครัว  รวมผู้ประสบภัยประมาณ  10,000 คน  บางพื้นที่ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 6 เมตร  ถือว่าเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี 

แผนที่ดาวเทียม (ซ้ายบน)  แม่น้ำชีไหลลงมาเจอกับแม่น้ำมูล (ซ้ายล่าง) บริเวณรอยต่อจังหวัดอุบลฯ-ศรีสะเกษ (ภาพจาก GISTDA)

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ระบุความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2562ว่า  มี  23 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ  (จากทั้งหมด 25 อำเภอ)  มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ  2,000 ล้านบาท !!

ส่วนในปีนี้   ปริมาณฝนที่ตกลงอย่างหนักในภาคอีสานทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม  และเมื่อพายุ ‘โนรู’ (NORU ภาษาเกาหลี  หมายถึงกวางชนิดหนึ่ง) เริ่มพัดกระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทยเกือบทั่วทุกภาคตั้งแต่เช้าวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา  ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น  จนทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  รวมทั้งลุ่มน้ำต่างๆ ในภาคอีสาน  เช่น  จังหวัดนครราชสีมา  ขอนแก่น  มหาสารคาม  ชัยภูมิ  ร้อยเอ็ด  กาฬสินธุ์  ฯลฯ

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 14 ต.ค. 2565   ฤทธิ์จากพายุโนรูทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 56 จังหวัด  ทั้งภาคเหนือ  อีสาน  ภาคกลาง  ตะวันออก  และกรุงเทพ รวม 56 จังหวัด 297 อำเภอ 1,476 ตำบล  9165 หมู่บ้าน  ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,338 ครัวเรือน

คณะผู้ว่าฯ อุบลราชธานีมอบสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยที่อำเภอวารินฯ ช่วงปลายเดือนกันยายน (ภาพจากเทศบาลเมืองวารินฯ)

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานระดมน้ำใจช่วยผู้ประสบภัย

ที่จังหวัดอุบลราชธานี  ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่จำนวน 28 ชุมชน  ในจำนวนนี้มีกว่า 10  ชุมชนที่ตั้งในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง  โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำมูล  เช่น  ชุมชนหาดสวนสุข   หาดสวนยา  ท่าก่อไผ่ ท่าบ้งมั่ง  ฯลฯ 

เมื่อระดับน้ำสูงขึ้น  ชาวบ้านจึงเริ่มขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูง  และอพยพครอบครัวออกมาอาศัยอยู่ในเต๊นท์ผ้าใบที่ทางเทศบาลเมืองวารินชำราบเตรียมเอาไว้ให้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา  โดยทางเทศบาลฯ และจังหวัดอุบลราชธานีนำถุงยังชีพให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชาวบ้านที่ประสบภัย

สภาพเต๊นท์ที่พักพิงชั่วคราวที่ อ.วารินชำราบ

บุญทัน  เพ็งคำ  ประธานเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก  จ.อุบลราชธานี  บอกว่า  ขณะนี้เธอและครอบครัว  รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนต่างๆ  เช่น  หาดสวนสุข  คูยาง  ท่าบ้งมั่ง  ฯลฯ  ประมาณ  300 ครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในเต๊นท์ข้างเทศบาลเมืองวารินชำราบ  และมีการจัดทำครัวกลางวันละ 1 มื้อ  เพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องที่ประสบภัย 

โดยใช้เงินจากกองทุนเครือข่ายภัยพิบัติฯ  รวมทั้งข้าวสาร  อาหารแห้ง  จากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอ  เพราะมีคนที่เดือดร้อนเยอะ  มีศูนย์พักพิงต่างๆ กว่า 10 จุดที่กระจายอยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง   หากรวมผู้เดือดร้อนทั้งหมดน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัว

“ชาวบ้านตอนนี้เดือดร้อนเพราะหากินไม่ได้  ส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้างทั่วไป  หากินเป็นรายวัน  บางชุมชน  เช่น ชุมชนเกตุแก้ว  มีอาชีพเก็บของเก่าขาย  แต่พอน้ำท่วมก็ออกไปเก็บของไม่ได้  ขาดรายได้  ตอนนี้ก็ต้องอดทนกันไปก่อน  แต่ช่วง 2-3 วันมานี้อากาศเริ่มเย็นลง  หลายครอบครัวไม่ได้เตรียมเอาเสื้อผ้าหนาๆ มา  เพราะทางหน่วยงานไม่ได้แจ้งเตือนว่าน้ำจะมาเร็ว  คิดว่าน้ำจะท่วมไม่กี่วัน   พอจะกลับไปเอาเสื้อผ้า  น้ำก็ท่วมบ้านหมดแล้ว   ตอนนี้สิ่งของจำเป็นก็คือผ้าห่ม  เสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก  คนแก่  และคนป่วย  รวมทั้งข้าวสารและอาหารแห้ง  เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะลดลงเมื่อไหร่  คิดว่าต้องอยู่ที่นี่อีกเป็นเดือน”  บุญทันบอก

ชาวบ้านช่วยกันทำครัวกลาง

อย่างไรก็ตาม  ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง  ไม่ได้ถูกเพิกเฉย  เพราะขบวนองค์กรชุมชนในภาคอีสาน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  สภาองค์กรชุมชนตำบล  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  รวมทั้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ได้ระดมความช่วยเหลือไปยังพี่น้องที่ประสบภัยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  โดยมีการเปิดรับบริจาคข้าวสาร  อาหารแห้ง น้ำดื่ม  สิ่งของจำเป็น  เต๊นท์นอน  รวมทั้งเงินสดเพื่อนำไปซื้อสิ่งของจำเป็นเพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13-14  ตุลาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองธรรมเกษตรอำนาจเจริญ  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  ร่วมกับแกนนำเยาวชนเมืองธรรมเกษตร  พมจ. อำนาจเจริญ  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ระดมธารน้ำใจ  นำข้าวสาร  พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคส่งมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อุบลราชธานีและศรีสะเกษ

ช่วยผู้ประสบภัยที่ศรีสะเกษ

นายวิรัตน์  สุขกุล  แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ  บอกว่า  แกนนำองค์กรชุมชนและแกนนำเยาวชนจังหวัดอำนาจเจริญ  ได้ประกาศรับบริจาคสิ่งของผ่านไลน์   เฟสบุ๊ค  จากพี่น้องในจังหวัด  ใช้เวลา 3 วัน  ได้ข้าวสารเหนียวและข้าวเจ้า   ประมาณ 8 ตัน   น้ำดื่มประมาณ 100 โหล  และเครื่องครัว  น้ำปลา  พริก  กะปิ  ผ้าอนามัย   ยาสามัญประจำบ้าน  ผ้าห่ม ฯลฯ  นำไปมอบให้แก่พี่น้องที่ประสบภัยที่จังหวัดอุบลฯ และศรีสะเกษเมื่อวันที่ 13  ตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  ที่อำเภอราษีไศล  จ.ศรีสะเกษ  สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ร่วมกับแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชน  จ.ศรีสะเกษ  สมาชิกชมรมคนเมืองกัล (กันทรลักษ์) และนักธุรกิจเต๊นท์รถมือสองอำเภอราษีไศล ได้ร่วมกันนำสิ่งของเครื่องใช้  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  และน้ำดื่ม  ส่งมอบให้กับผู้นำชุมชนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย  3 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลหนองแค  อำเภอราษีไศล

ประสบการณ์การรับมือน้ำท่วมและการขุดคลองผันน้ำ

ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุบลราชธานี   เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา  ระบุว่า  ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย  มีระดับ 11.51 เมตร   อัตราการไหล 5,745  ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม  0.00 เมตร  (ทรงตัว)  และสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดปี 2564 อยู่ที่ 4.60  เมตร

จำนงค์  จิตรนิรัตน์   มูลนิธิชุมชนไท  ที่ปรึกษาเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก  จ.อุบลราชธานี  บอกว่า  ระดับแม่น้ำมูลในปีนี้สูงกว่าระดับน้ำท่วมในปี 2562  และอาจจะสูงกว่าระดับน้ำท่วมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  เพราะขณะนี้น้ำจากแม่น้ำมูลได้ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี  เหลืออีกประมาณ  100 เมตรจะท่วมถึง รพ.สรรพสิทธิประสงค์  ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับน้ำท่วมในปี 2521  ซึ่งในปีนั้น  บริเวณหน้า รพ.สรรพสิทธิประสงค์สามารถพายเรือได้

นอกจากนี้บริเวณชุมชนลับแล  (ติดสถานีรถไฟอุบลฯ) อ.วารินชำราบ  ซึ่งปกติไม่เคยเกิดน้ำท่วม  เพราะเป็นพื้นที่สูง  แต่ขณะนี้น้ำได้เอ่อท่วมชุมชนแล้ว  ชาวบ้านจึงเริ่มขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง  และจัดทำครัวกลางเพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันแล้ว

เรือของเครือข่ายภัยพิบัติฯ ที่ชาวบ้านช่วยกันต่อขึ้นมาหลังน้ำท่วมปี 2562  ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวม 28 ลำ  เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานรับมือภัยพิบัติของเครือข่ายฯ

“ปีนี้แม้น้ำจะท่วมสูง  แต่เครือข่ายภัยพิบัติฯ ได้ประชุมวางแผนรับมือกับน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้  เพราะเรานำประสบการณ์น้ำท่วมในปี 2562 มาใช้  เราจึงระดมเรือของเครือข่ายฯ จำนวน 28 ลำออกไปขนย้ายพี่น้องได้ทัน  รวมทั้งเตรียมแผนจัดทำครัวกลาง  จัดเตรียมพื้นที่อพยพ  แต่ปริมาณน้ำที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา  ทำให้มีชุมชนที่เดือดร้อนจำนวนมาก  พื้นที่ที่เตรียมรองรับเป็นที่พักชั่วคราวไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาห้องน้ำ  ห้องสุขาไม่เพียงพอ  และอากาศที่เริ่มหนาวเย็นจะทำให้คนแก่  เด็ก  เจ็บป่วยได้ง่าย”  จำนงค์บอก

เขาบอกด้วยว่า  ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะลดลง  ชาวบ้านที่อยู่ในศูนย์พักพิงอาจจะต้องอยู่อาศัยนานเป็นเดือน  เพราะเขื่อนปากมูลที่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง  ยังไม่สามารถช่วยระบายน้ำได้อย่างเต็มที่  เพราะตัวเขื่อนปากมูลมีลักษณะเป็นคอขวด  น้ำจากมูลแม่น้ำมูล  รวมทั้งลำน้ำสาขา  เช่น  เซบก  จึงไม่สามารถระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่น้ำโขงได้อย่างเต็มที่  ทั้งที่ระดับแม่น้ำโขงในขณะนี้ยังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาไม่ต่ำกว่า 1 เมตร

“หากน้ำท่วมปีนี้ลดลงแล้ว  เครือข่ายภัยพิบัติฯ จะจัดประชุมเพื่อสรุปบทเรียน  หาแนวทางป้องกัน  และมีข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การทะลุปีกเขื่อนปากมูลทั้ง 2 ด้านที่มีลักษณะเป็นคอขวดให้กว้างขึ้น  เพื่อให้น้ำระบายลงแม่น้ำโขงได้รวดเร็ว”  จำนงค์บอกถึงข้อเสนอ

แผนที่คลองผันน้ำของกรมชลประทาน  มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท  เส้นสีน้ำเงินด้านบนคือแม่น้ำมูลไหลเข้าสู่เขื่อนปากมูล (บนขวา)  เส้นสีชมพูด้านล่างคือแนวคลองผันน้ำ

ขณะที่กรมชลประทานได้ทำการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา  โดยมีโมเดลเบื้องต้น  คือ  การขุดคลองผันนํ้ามูลความยาวประมาณ  97 กิโลเมตร  เพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่จะไหลผ่านอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี   โดยคลองผันน้ำมูลจะรับนํ้าจากบริเวณเขื่อนหัวนา อ.วารินชำราบ  และระบายลงสู่แม่นํ้ามูลที่บริเวณท้ายแก่งสะพือ   ผ่านทางห้วยกว้าง  บ้านหนองเบ็น  ต.คันไร่  อ.สิรินธร

คลองผันนํ้าคู่ขนานแม่น้ำมูลจะมีขนาดความกว้าง 112 เมตร  ลึก 9 เมตร  มีอาคารประกอบคลองนํ้า และประตูระบายนํ้าเป็นระยะ  สามารถระบายนํ้าได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที   ลดพื้นที่นํ้าท่วมได้ 67,264 ไร่  ในพื้นที่  อ.เมือง   อ.วารินชำราบ  และ อ.พิบูลมังสาหาร   สามารถลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท/ปี 

โดยในช่วงที่พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ เดินทางมาเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยที่ จ.อุบลฯ และศรีสะเกษเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา  กรมชลประทานได้นำเสนอโมเดลคลองผันน้ำแก่พลเอกประวิตรด้วย  

ทั้งนี้ตามแผนงาน  โครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี  หากรัฐบาลมีความพร้อมก็จะสามารถเสนอโครงการและเริ่มดำเนินงานได้ภายในปี 2566 !!

ร่วมสนับสนุนเครือข่ายภัยพิบัติฯ หากเป็นสิ่งของสามารถส่งไปที่สำนักงานเทศบาลเมืองวารินชำราบ  ถนนปทุมเทพภักดี   ต.วารินชำราบ  อ.วารินชำราบ   จ.อุบลราชธานี  34190 (ส่งต่อเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและเซบก)

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร - สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ลมหนาวยังพัดแรง ใต้มีฝนเพิ่มตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 13 - 27 ม.ค. 68

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 11 เตือนหนาวจัดลมแรง ทะเลคลื่นสูง 4 เมตร

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยรวมทั้งทะเลอันดามัน

อุตุฯ เตือนอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิลดลงอีก ใต้ฝนฟ้าคะนอง 10-20%

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ลมหนาวพัดแรง ยาวถึงปลายเดือน

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 10 - 24 ม.ค. 68

ประกาศกรมอุตุฯ ฉบับ 5 อากาศหนาวลดฮวบ 3-7 องศา คลื่นลมแรงสูง 4 เมตร

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยรวมทั้งทะเลอันดามัน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2568) ฉบับที่ 5