‘30 ปีมูลนิธิชุมชนไท’ กับการพัฒนาภาคประชาชน

ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมงาน 30 ปีมูลนิธิชุมชนไท (จากซ้ายไปขวา) นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.  ดร.กอบศักดิ์  ภู่ตระกูล  ประธานบอร์ด พอช. นางปรีดา  คงแป้น  กรรมการสิทธิมนุษยชน  รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง  ประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนไท  ฯลฯ

มูลนิธิชุมชนไทเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2535 พร้อมกับการก่อตั้ง สำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองหรือ พชม.(ปัจจุบันคือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.)  ตลอดระยะเวลา 30 ปี  มูลนิธิชุมชนไทมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะในกลุ่มคนจน  คนด้อยโอกาส  กลุ่มเปราะบาง  ทั้งในเมืองและชนบท  เช่น  คนจนในชุมชนแออัด  กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  ชาวกะเหรี่ยง  คนไทยพลัดถิ่น  ผู้ประสบภัยสึนามิ  เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน  ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ  ฯลฯ

วันที่ 15 ตุลาคม 2565 มีการจัดงาน  “30 ปีมูลนิธิชุมชนไท  บทเรียนองค์กรชุมชนกับพัฒนาการของขบวนการ ประชาชน  สู่การขับเคลื่อนนโยบายอย่างยั่งยืน” ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย  ทั้งการปาฐกถา  เวทีเสวนา  เวทีศิลปะ  วัฒนธรรม  การออกร้านแสดงสินค้าภูมิปัญญาและอาหารจากท้องถิ่น  ฯลฯ

โดยมีพี่น้องเครือข่ายต่างๆ เช่น  ชาวเลอันดามัน  เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต  ชาวชุมชนตลาดสามชุก  เครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี  เครือข่ายสลัม 4 ภาค   กลุ่มคลองเตยดีจัง  ฯลฯ 

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเลอันดามัน   รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง  ประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนไท  ฯลฯ  เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

เวทีเสวนา

“พัฒนาการขบวนประชาชน 30 ปี”

ปรีดา   คงแป้น   อดีตผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท  (ปัจจุบันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)  ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในมูลนิธิชุมชนไทตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  กล่าวปาฐกถาเรื่อง  “พัฒนาการขบวนประชาชน 30 ปี” มีใจความสำคัญว่า  มีบุคคลสำคัญ 4 ท่านที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมูลนิธิชุมชนไท   คือ  อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนสิริธรรม   คุณสมสุข  บุญญะบัญชา  

ทั้งสองท่านเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิซึ่งแต่เดิมชื่อว่า มูลนิธิชุมชนเมือง  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิชุมชนไท เพื่อให้ทำงานครอบคลุมทั้งเมืองและชนบท   มูลนิธิตั้งขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง  (พชม.) ซึ่งก็คือ พอช.ในปัจจุบัน  เจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งเห็นว่า  เมื่อมีสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง  ภายใต้ร่มของการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ   ควรจะมีองค์กรที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว   เพื่อทำงานหนุนเสริมกันในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน

 “เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า  การพัฒนาหรือแก้ปัญหาชุมชนนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  เพราะภาครัฐอาจจะมีข้อจำกัดบางประการ  และสิ่งที่ท่านเน้นย้ำคือการแก้ปัญหาคนจนจะต้องคิดเชิงระบบด้วยเพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง”  อดีตผู้จัดการมูลนิธิกล่าว

 

ปรีดา   คงแป้น   อดีตผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท  ปัจจุบันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อีกสองท่านคือ  อดีตประธานและกรรมการมูลนิธิชุมชนไทที่เป็นแบบอย่างให้กับคนทำงาน  คือ  อาจารย์บัณฑร  อ่อนดำ   และอาจารย์หม่อมราชวงศ์อคิน  รพีพัฒน์     

อาจารย์บัณฑร  ท่านใส่ใจคนจนเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าจะมีการประชุม  หรือชุมนุม  เชิญไปที่ไหนท่านจะไปทันที ไปให้ข้อคิดคำแนะนำให้กำลังใจกับทุกคน

“รัฐควรกำจัดความจน...ไม่ใช่กำจัดคนจน” 

ส่วนท่านอาจารย์อคินนั้น   ตอนที่ท่านทำงานวิจัยเรื่องชุมชนแออัด  ท่านบอกว่า  “รัฐควรกำจัดความจน  ไม่ใช่กำจัดคนจน   แต่รัฐมักจะกำจัดคนจนเพื่อไม่ให้ใครมาเห็นความจน”

งานวิจัยที่ท่านทำในขณะที่ท่านอายุมากกว่า 80 ปี  คือ  “คดีที่ดินคนจน  ปัญหาและทางออก”  ซึ่งท่านระบุว่า  กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นระบบกล่าวหาเป็นภาระของคนจน  ท่านได้เขียนบทความเรื่อง “ความยุติธรรมตามตัวอักษร : ความเป็นธรรมตามความเป็นจริง”  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะต้องแก้ไข

ทุกท่านที่กล่าวมามีส่วนในการก่อตั้ง  สนับสนุนมูลนิธิชุมชนไท เพื่อให้สามารถทำงานกับชุมชนที่ประสบปัญหาได้ 

หนังสือ ‘คดีที่ดินคนจน’ ผลงานชิ้นสำคัญของ ม.ร.ว.อคิน

บทบาทของมูลนิธิ  9 ด้าน

มูลนิธิชุมชนไท ทำหน้าที่ในการเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  โดยประสานความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  ประชาสังคม  สถาบันวิชาการ  สื่อมวลชน  ฯลฯ  

มีผลงานที่โดดเด่นเป็นโมเดลในการพัฒนาและแก้ปัญหาหลายประการ  โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง  ในช่วงต้นมูลนิธิได้สนับสนุนเชื่อมโยงชุมชนเมืองมาทำงานร่วมกันกับภาคีต่างๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจนเกิดโมเดลการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น   

1.การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชนแออัดใน 39 เมือง  ได้งบสนับสนุนจากองค์กรเดนเซสและดานิด้า รัฐบาลเดนมาร์ก  

2.การพัฒนาเมืองน่าอยู่  จนเกิดการฟื้นฟูเมืองเก่า สามชุกตลาดร้อยปี’  และเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูเมืองเก่าทั่วประเทศ จนได้รับรางวัลจากยูเนสโก้

3.การสร้างโมเดลการจัดการขยะ  โดยการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน  โรงเรียน  เทศบาล  และภาคธุรกิจ 

4.การพัฒนาระบบสวัสดิการที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายใต้ SIF เมนู 5 

5.สร้างโมเดลการวางแผนพัฒนาระดับหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้โครงการชุมชนศรัทธากัมปงตักวา

6.การการสนับสนุนคนไทยพลัดถิ่นให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็น “เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย”  ร่วมมือกับภาคีต่างๆ  จนสามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายสัญชาติ  ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555  ว่าด้วยการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น และติดตามกระบวนการคืนสัญชาติมาอย่างต่อเนื่อง  

7.การสนับสนุนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  และร่วมกับภาคีต่างๆ  ผลักดันให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล   พ.ศ. 2553  รวมทั้งเชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ 

8.การสร้างโมเดลฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ  “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ให้เป็นชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ  จนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนดูงานของหลายประเทศและได้รับรางวัลจากหลายองค์กร  รวมทั้งขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีกจำนวนมาก

9.การร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ  เช่น  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ   สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็น “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง (เสื้อขาว)  ผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแก้ไขปัญหาชาวเล

สร้างกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ

รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางสังคม  ที่สำคัญคือ การเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายองค์กรชุมชน โดย “ใช้ปัญหาและการพัฒนา”เป็นเงื่อนไขในการรวมกลุ่ม “สร้างกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ”  

ทำให้กลุ่มเปราะบางเหล่านั้นมีตัวตนขึ้นมาในสังคม มีที่ยืนในระดับนโยบาย จนทำให้เครือข่ายเหล่านี้มีการพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ  เช่น  เกิดกลุ่มออมทรัพย์   ธนาคารเครือข่าย  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร  ฯลฯ

การพัฒนาที่กล่าวมานี้  คือ  การพัฒนาที่เน้นให้คนเป็นแกนหลัก  ให้เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  และนี่คือรูปธรรมของการพัฒนาที่ยั่งยืน 

“ปัจจุบัน  สถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ความไม่เป็นธรรมมีมากขึ้น  สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยเราติดอันดับโลก  ดังนั้นถ้าจะให้สังคมเกิดความสมดุล  เกิดความสงบสุข  จะต้องสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนเข้มแข็ง  เพื่อเป็นตาข่ายรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ความไม่เป็นธรรมที่มีมากขึ้น แทนที่จะออกกฎหมายลิดรอนและจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มของชุมชนและประชาสังคม”  ปรีดา  คงแป้น  อดีตผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทกล่าวในตอนท้าย

ปรีดา  คงแป้น (กลาง) พูดคุยกับผู้บริหาร พอช. (ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.(ขวาสุด)

เสียงจากชุมชนและมวลมิตร

ฉลวย  กะเหว่านาค  ผู้แทนชุมชนชาวมอญบางปรอก  อำเภอเมือง  จังหวัดปทุมธานี  ซึ่งทำเรื่องห้องสมุดเรือในชุมชน  โดยใช้เรือกระแชงเก่านำมาทำเป็นห้องสมุด  และทำเรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม บอกว่า  รู้จักมูลนิธิชุมชนไทเมื่อปี 2547  อยากสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  จึงไปดูงานที่สามชุก (ตลาดสามชุก จ.สุพรรณบุรี รื้อฟื้นตลาดเก่าเป็น ‘สามชุกตลาดร้อยปี’) จึงได้เป็นเครือข่ายกัน และได้ลอกเลียนแบบสามชุกมาเลย  แต่ที่ปทุมธานีไม่ได้มีปัญหาแบบสามชุก  แต่อยากให้ชุมชนมีความก้าวไกลมากกว่านี้   

มูลนิธิชวนหันกลับมาวิเคราะห์ชุมชนว่ามีดีอะไร  จึงพบว่า  เป็นคนเชื้อสายมอญ  วิถีชีวิตเดิมๆ  จึงตกลงรื้อฟื้นชุมชนเชื้อสายมอญบางปรอก  อยากทำห้องสมุดให้กับชุมชนเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ของชุมชน  ไปเสนอเทศบาลเขาไม่รับ  จึงปรึกษาลงแรงกันเอง  ด้วยการขอสิ่งต่าง ๆ ของบ้านมา ซึ่งมากกว่าเงิน  นำของที่ชาวบ้านให้มา  มาจัดกิจกรรมสอยดาว  ได้เงินจากสอยดาวมาสร้างห้องสมุด   และมูลนิธิเข้ามาเสริมในเรื่องการประชาสัมพันธ์   จนทำให้ชุมชนบางปรอกเป็นชุมชนน่าอยู่

“มูลนิธิเป็นหน่วยงานที่หล่อหลอมแนวคิดให้กับชุมชน   ช่วยวิธีคิดให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้  นอกจากนั้นยังนำแนวคิดไปช่วยเพื่อนที่มีปัญหามากกว่าได้ด้วย  คิดว่าที่มูลนิธิประสบความสำเร็จมา 30 ปี   เพราะมูลนิธิให้แนวคิดที่ดีกับชุมชน”  ฉลวยบอก

ชาวชุมชนนำอาหารมาร่วมงาน 30 ปีฯ

พูนทรัพย์  ชูแก้ว  ผู้นำชุมชนท่าหิน  อ.สทิงพระ  จ.สงขลา   ซึ่งทำงานพัฒนาชุมชนหลายด้าน  เช่น  นำวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ‘โหนด  นา  เล’  มาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  รวมทั้งเฝ้าระวังเรื่องภัยพิบัติเพราะชุมชนตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลาที่มักจะเกิดพายุบ่อยๆ  

พูนทรัพย์บอกว่า  ชุมชนรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2541  และรู้จักมูลนิธิชุมชนไทในปี 2542  ทำให้รู้จักการทบทวนตนเอง  ย้อนมองปัญหาเพื่อพัฒนาชุมชน มีการทำแผนชุมชนจากข้างล่างไปเสนอหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานไหนต้องการเข้ามาทำงานด้วย  ต้องทำตามแผนของชุมชน คือ ‘โหนด นา เล’ (ชุมชนมีต้นตาลโตนดมาก  ทำน้ำตาลโตนด  มีอาชีพทำนา  และทำประมงในทะเลสาบสงขลา)

“ปี 2553  เจอภัยพิบัติ  มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือ   แต่เจอสถานการณ์ที่รุนแรงมาก  มีการจัดทำข้อมูล  ประสานกับหน่วยงานแต่ยังไม่พอ มูลนิธิเข้าไปตั้งคำถามว่า   จะรอเพียงภัยพิบัติใช่มั้ย  จึงเป็นแง่คิดให้หารือกันมากขึ้น  มีการสำรวจข้อมูล  ทำแผนที่ภัยพิบัติชุมชน   เพื่อเตรียมรับมือ   โดยให้มหาวิทยาลัยทักษิณเข้ามาช่วยด้วย และไปเชื่อมกับกรมอุตุด้วย  เพื่อให้ชาวบ้านรู้สภาพอากาศตลอดเวลา  สามารถอพยพได้ทันเมื่อเกิดพายุ”  พูนทรัพย์บอก

กรณีที่มีภัยแล้ง  ก็มีแผนการขุดลอกคูคลอง สำรวจข้อมูล  และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมวางแผนด้วย และแผนของชุมชนได้ไปบรรจุในแผน อบจ.  ผลที่ตามมา  คือ  มีอาชีพ   ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น  ในอนาคตจะร่วมกับมูลนิธิ  และเครือข่าย หน่วยงาน  ทำงานมากขึ้น เช่น  ร่วมกับกรมอุตุฯ ในการพยากรณ์อากาศ  ให้มีนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน  การทำผังน้ำชุมชนซึ่งคิดว่าสามารถทำได้

ชาวเลอันดามันนำการแสดงรองเง็งมาร่วมสร้างสีสัน

รศ.ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  อธิการบดี  มหาวิทยาลัยทักษิณ  เสนอความเห็นว่า 30 ปีของคนอาจจะไม่ยาวนานเท่าใดนัก  แต่ 30 ปีของหน่วยงานจะมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่พบเจอในสังคม โดยมีขีดจำกัดที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. เผชิญกับความเสี่ยงภัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ทั้งโรคระบาด  ภัยพิบัติ  2.โครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่กดทับ และคงความเหลื่อมล้ำอยู่อย่างยาวนาน  3.ความท้าทายภายในของขบวนการประชาชนเอง  ที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้ เปลี่ยนคนแล้วคนเล่าที่ต่อสู้มายาวนาน

แต่ทั้ง  3 เรื่องสามารถก้าวข้ามได้  คือ 1. บทบาทที่โดดเด่นในการสร้างพื้นที่รูปธรรมทั้งกว้างและลึก ที่ทำให้ขบวนการชุมชนเติบโต  เห็นความหวังใหม่ 2.เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายได้  เช่น  ภาษีก้าวหน้า  กฎหมายที่ดิน ฯลฯ ทำให้ข้อเสนอเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้  3. เลาะตะเข็บของการเปลี่ยนแปลลงเชิงโครงสร้าง ทั้งระดับท้องถิ่นสู่ระดับหน่วยงานและประเทศ  ที่ทำให้เห็นข้อต่อใหม่ๆ ของการเชื่อมโยง   ผลักดันไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“30 ปีของมูลนิธิเป็นการเคลื่อนไหวที่รื่นรมย์  ที่เห็นพลัง   ความมีชีวิตชีวาของพี่น้อง  ไปสู่การแก้ไขทั้งในปัจจุบันและอนาคตส่วนทศวรรษหน้าของมูลนิธิ  มี 4 ข้อเสนอสั้นๆ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งของขบวนภาคประชาชน  และประสานพลังกับทุกภาคส่วน 2. รักษาเอกลักษณ์และความโดดเด่นในการจัดตั้งเชิงลึก เชิงกว้าง  และคิดค้นโมเดลนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสนอต่อสังคม 3.เชื่อมต่อนโยบายที่หลากหลาย  ทั้งแบบเปิดและปิด  เป็นข้อต่อสำคัญของนโยบายต่าง ๆ และ 4.สื่อสารสาธารณะให้เรื่องราวของประชาชนสู่สาธารณะมากๆ”   รศ.ดร.ณฐพงศ์กล่าวถึงข้อเสนอแนะ

ศาสตราจารย์สุริชัย   หวันแก้ว  นักวิชาการด้านสันติวิธีและนักพัฒนาสังคม  กล่าวว่า  อดีตของมูลนิธิกับปัจจุบันที่เจอกัน มันเปลี่ยนแปลงไปมาก  และมีความพิเศษมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา   โดยเฉพาะในเรื่องภัยพิบัติ และเห็นความสามารถของพี่น้องชาวบ้านว่า สามารถกระตุ้นให้หน่วยงานราชการหันกลับมามอง  มาร่วม  มาทำกับประชาชนมากขึ้น   มูลนิธิเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้หน่วยงานหันมาเคารพประชาชน

พลังใหม่ที่เกิดขึ้น  ไม่สามารถบังคับให้ใครมาทำตามได้  แต่ต้องมีข้อต่อที่สำคัญที่จะเชื่อมพลังชีวิตของคนที่ขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อไปได้   ที่เริ่มจากการชวนให้รู้จักตัวเอง  เห็นคุณค่าของตัวเอง ที่ทำให้เห็นโอกาสที่มากขึ้น  เห็นทั้งองคาพยพทั้งหมดที่จะเคลื่อนไปด้วยกัน   และนอกจากนั้น รู้จักตัวเองแล้วยังทำให้คนอื่นเข้ามารู้จัก  อยากมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย

30 ปีมาถึงจุดนี้ล้วนมีอะไรมาให้เรียนรู้เสมอ  จากความแข็งแกร่งของประชาชน  ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีความหมายที่ทำให้คนรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง ที่มูลนิธิทำ  เป็นการช่วยที่ไม่ใช่การสงเคราะห์  ซึ่งเป็นการพัฒนาที่น่าภูมิใจ   ไม่มีใครสั่งการหรือไปลดทอนศักยภาพของชุมชน  ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของพลังการพัฒนาที่แท้จริง

“ย้ำว่าที่เกิดขึ้นนี้  คือพลังใหม่   พลังสร้างสรรค์   เพียงแต่เมื่อเจอสถานการณ์ภายนอกที่แรง  อาจจะทำให้พลังนี้มองไม่เห็น   และอุปสรรคที่ต้องช่วยกันทำให้ลดลง  คือ   การลดข้อจำกัดของพลังการสร้างสรรค์  เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งการสร้างบทเรียน  แลกเปลี่ยนบทเรียนของการขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนด้วยกัน  ยืนยันว่า  สิ่งที่พี่น้องทำคือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ  มีเพื่อนมีภาคีเพิ่มมากขึ้น”  ศาสตราจารย์สุริชัยกล่าว

ไมตรี  จงไกรจักร์ (ขวาสุด)  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทคนปัจจุบัน      

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567