นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ส่วนหนึ่งที่โพสต์ระบุว่า เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบการเปิดกัญชาเสรีกับประชาชน ที่แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่ายังไม่มีงานวิจัย โดยระบุว่า
รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอและนำรายงาน ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน : บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565 เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประเด็นแต่มิติที่น่าสนใจคือกัญชาในฐานะไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่ยังอยู่ในฐานะเป็นสมุนไพรที่ส่งเสริมสุขภาพได้ด้วย
คำถามที่น่าจะพิจารณาต่อว่าหากกัญชาไม่ใช่มีแค่สรรพคุณ “รักษา” แต่มีสรรพคุณ “ส่งเสริมสุขภาพ” และลดความเสี่ยงโรคที่ประชาชนป่วยกันมากด้วยแล้ว ควรจะให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้กัญชาโดยไม่ต้องรอใบสั่งยาจากแพทย์หรือไม่?
ตัวอย่างเช่น “โรคเบาหวาน” !!!!
สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยประมาณการว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คนไทย ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน มี เพียง 1 ใน 3 คนที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 ราย/วัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Journal/ BMJ Open ในหมวดงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานและวิทยาต่อมไร้ท่อ เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2555พบเรื่องที่น่าสนใจว่าประชากรที่ยิ่งบริโภคกัญชากลับลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้
อย่างมีนัยสำคัญ
การสำรวจทางระบาดวิทยานี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการสำรวจกลุ่มประชากรผู้ใหญ่มากกว่า 10,896 คน พบว่าคนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น 2.4 เท่าตัว
โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเป็นเบาหวาน 8.7%, คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือนเป็น เบาหวานน้อยกว่าเหลือ 4.2%, และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไปยิ่งเป็นเบาหวานลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.2%
ตัวอย่างถัดมาคือบทบาทของกัญชาต่อการลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยถ้าการใช้กัญชาช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แล้วเราจะควรให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นหรือไม่?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Medicine ซึ่งยอมรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยเป็นการรวบรวมผลการศึกษาจากฐานข้อมูลของthe UK Biobank 500,000 คน เริ่มเก็บข้อมูล ปี พ.ศ.2549 ติดตามไปนาน ถึง 14 ปีและวิเคราะห์ผล ณ ปี พ.ศ.2563
โดยในจำนวนนี้ มีข้อมูลเรื่องการใช้กัญชา 151,945 ราย แบ่งเป็น ไม่เคยใช้กัญชา 118,496 ราย, เคยใช้ 33,449 ราย คิดเป็นเคยใช้ร้อยละ 28.2% โดยพิจารณาการใช้กัญชากับสถิติการเกิดโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะในประเทศอังกฤษ พบว่า คนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 4%, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 2% หรือต่างกัน 2 เท่า มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต 0.16%, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นเพียง 0.08% หรือต่างกัน 2 เท่า ในขณะที่บุหรี่และเหล้าได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปี พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ
โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งไซนัส มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งกรวยไต มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และการเลิกบุหรี่จะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเหล่านี้ด้วย
นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก ความน่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 57 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย
ยิ่งไปกว่านั้นด้วยกัญชาที่มีบทบาทมากขึ้น ยาที่มีความรุนแรงกดการหายใจอย่างเช่น มอร์ฟีน หรือยาที่ได้จากฝิ่นที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ลดลงไปด้วย
โดยกัญชาจะช่วยลดอัตราตายจากยาที่สกัดจากฝิ่น ตัวอย่างเช่น มอร์ฟีน มลรัฐโคโลราโด หลังจากแก้กฎหมายกัญชา ทำให้การสั่งยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ออกซี่โคโดน เมทาโดน มีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยลดลง 31.5% และการสั่งยาทสกัดจากฝิ่น ในภาพรวมของทั้งประเทศก็ลดลงเช่นกัน
มลรัฐที่แก้กฎหมายแล้ว มีอัตราตายจากยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน “น้อยกว่า” มลรัฐที่ไม่ได้แก้กฎหมาย ยิ่งนานไป ยิ่งมีอัตราตายจากยาทสกัดจากฝิ่น “ยิ่งน้อยกว่า” เฉลี่ย 24.8% นอกจากนั้นความเป็นจริงกัญชาอาจนำมาช่วยลดปัญหาบุหรี่และสุราที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพยิ่งกว่ากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้เลย โดยรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2557 ของแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย (BOD) พบว่า การเสียชีวิต จากบุหรี่ของประชากรไทย จำนวนการตายมีถึง 54,610 คน เป็นอันดับ 1 ของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทย โดยการสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุด คือ 20,863 คน (38% ของการการเสียชีวิตจากบุหรี่ทั้งหมด) ตามด้วยโรคหัวใจ 14,011 คน (26%) และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 13,964 คน (26%)
มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก การสูบบุหรี่ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 พบว่า การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจท้ังปี 74,884 ล้านบาท (คำนวณเป็นความสูญเสีย 42 บาท ต่อบุหรี่ 1 ซอง)
ในขณะที่ต้นทุนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน ประเทศไทยพ.ศ.2549 มีมูลค่า 156,105 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.99% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product ;GDP) หรือประมาณ 2,391 บาท ต่อคน ทั้งน้ีพบว่าต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดโดยคิดเป็นประมาณ 95.8% โดยต้นทุนที่มีมูลค่าสูงท่ีสุดได้แก่ ต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร (104,128 ล้านบาทคิดเป็น 65.7% ของต้นทุนทั้งหมด
โดยคนไทยติดสุราจำนวน 2.75 ล้านคน, เสียชีวิต 1 คน ทุก 10 นาที, ประชาชน 1 ใน 4 เคยถูกคุกคามทางเพศและทำร้ายร่างกายจากคนที่ดื่มสุรา, เกิดอุบัติเหตุ 20,000 รายต่อปี , 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด
แต่ปัญหาที่เกิดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสที่จะลดลงไปในสังคมไทยหากมีการใช้กัญชาเพื่อ “รักษาโรค” และ “ส่งเสริมสุขภาพ”มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่ากัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่าบุหรี่ โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อในปี พ.ศ. 2554 พบว่านับตั้งแต่สูบบุหรี่ครั้งแรกจะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่ 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้า 22.7%, และหากใช้กัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชา 8.9%[16]
ในทางตรงกันข้ามผลการศึกษาพบว่าการใช้กัญชานอกจากจะไม่ได้นำไปสู่การใช้สารเสพติดรุนแรงอื่นๆ แต่กลับทำให้เลิก หรือลดการใช้ยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆลงได้ด้วย การสำรวจที่ประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย 2,030 คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้แก่ สุรา 44.5%, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน 35.3%, บุหรี่ 31.1%, ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 26.6%
เมื่อกัญชาได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นย่อมส่งผลทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงซึ่งย่อมเท่ากับเป็นการลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของประชาชนในประเทศอันเนื่องมาจากการลดการบริโภคแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ด้วย
อย่างไรก็ตามกัญชานั้นไม่ได้มีแต่ผลดี แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน โดย รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทบทวนงานวิจัยแล้วสรุปว่า
“เมื่อมีจำนวนคนใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบางคนที่เกิดอาการแพ้กัญชา อาเจียนรุนแรง เมา ใจสั่น วิตกกังวล ง่วงนอน หลอน จนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล”
แต่จากสถิติของมลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งแก้กฎหมายให้ใช้กัญชาแบบนันทนาการได้ เมื่อปี พ.ศ.2557 กลับพบว่ามีคนไข้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากใช้กัญชาจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลง[17] เพราะประชาชนเกิด “การเรียนรู้” และ “เข็ด” ไม่ใช้เกินขนาด” รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จึงเห็นว่าการเข้าการรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นปรากฏการณ์ในช่วงแรกที่สังคมจะได้เรียนรู้และเข็ดจนลดระดับไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกเทียบกับผลดีต่อสังคมโดยรวมที่ประเทศจะได้ในเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ข้อมูลและการนำเสนอของ รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เป็นการพลิกความเชื่อเดิมๆของคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการถอดบทเรียนจากหลายประเทศที่มีการใช้กัญชามาแล้วนับสิบหรือหลายสิบปี จึงเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงเห็นว่าสมควรเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนผ่านบทความนี้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกและกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…
สภาผู้แทนราษฎร
6 ตุลาคม 2565
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=642156010611436&id=100044511276276&sfnsn=mo
อ้างอิง
รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน :บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเดชา ศิริภัทร' ทวงสัญญา 'แอ๊ด คาราบาว' อย่าทำแบบไม่แยแสเรื่องงานที่คุยกันไว้
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ มีข่าว(ฉาว)เกี่ยวกับ คุณแอ๊ด คาราบาว (ภาพบน) ซึ่งยังไม่ตัดสินว่าร้านถูกดีฯ (
ตามนัด! 9 ธ.ค. ‘สนธิ-ปานเทพ’ บุกยื่นหนังสือกล่าวหารัฐบาล ปมMOU44
พรุ่งนี้ 9 ธ.ค.67 9โมงครึ่ง คุณสนธิเเละ อ.ปานเทพ จะไปยื่นหนังสือกล่าวหารัฐบาล ปม MOU 44
ย้อนเจ็บ ไม่ปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา เป็นนายกฯและรมว.กลาโหมของไทยหรือกัมพูชา
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมแชร์คลิปการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ว่า
หนุ่มสมุทรปราการโร่แจ้งความ มือมืดปาถุงเลือดใส่หน้าบ้าน
นายปริญญา ไกรกิจธนโรจน์ อายุ 24 ปี เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ ว่า เมื่อเวลา 00.20 น. ได้มีผู้ก่อเหตุมาขว้างปาถุงเลือดสด