ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่กระทรวง พม. ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ที่อยู่อาศัย
กระทรวง พม. / วันที่อยู่อาศัยโลก 2565 คึกคัก ขบวนองค์กรชุมชนร่วมกับ พอช.-การเคหะฯ จัดงานที่กระทรวง พม. ขณะที่เครือข่ายสลัม 4 ภาคตั้งขบวนที่ศาลาว่าการคนเมือง กทม. ยกพลกว่า 2,000 คนยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงคมนาคม-พม.-ทำเนียบเพื่อให้รัฐแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน ด้าน พอช. ภาคีเครือข่าย ขบวนองค์กรชุมชนจับมือเดินหน้าแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี เป้าหมาย ‘คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579’
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Mind the Gap Leave No One and Place Behind” หรือ “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ที่ผ่านมา ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs ทั่วโลก จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน
ขบวนองค์กรชุมชน พอช.-การเคหะฯ จัดงานที่กระทรวง พม.
ที่ห้องประชุมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วันนี้ (3 ตุลาคม) ซึ่งตรงกับการจัดงานสถาปนากระทรวง พม.ครบรอบ 20 ปี “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่กระทรวง พม.
โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. เป็นประธาน มีนายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนประมาณ 300 คนเข้าร่วมงาน
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม.
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. กล่าวมีใจความสำคัญว่า กระทรวง พม. มีแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน สภาพแวดล้อมที่ดี สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการ และบริการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ประชาชน เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส
เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในระดับสากล และระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดการและพัฒนาการอยู่อาศัย ซึ่งเน้นความสำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสร้างความเสมอภาค สิทธิ โอกาสการเข้าถึง การสร้างเศรษฐกิจเมืองที่เข้มแข็ง และการพัฒนาภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยทั้งในระยะสั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว 20 ปี อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 นับว่าเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ผมขอขอบคุณหน่วยงานหลักที่ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมถึงขอบคุณท่านผู้แทน UN HABITAT ประจำประเทศไทย และผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทยดำเนินการอย่างได้อย่างก้าวหน้า เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง ตามคำขวัญที่ว่า ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ ” ปลัดกระทรวง พม.กล่าว
ผู้บริหารกระทรวง พม. ถ่ายภาพร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชนที่ได้รับโล่และเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ กระทรวง พม. มีเป้าหมายกว่า 3 ล้านครัวเรือน มีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
โดยกระทรวง พม. มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดทำแผนดำเนินการ จำนวน 1 ล้าน 5 หมื่นครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ เช่น ชุมชนในที่ดินเช่าหรือบุกรุก ขณะนี้ พอช.ดำเนินการไปแล้วประมาณ 240,000 ครัวเรือน
การเคหะแห่งชาติ มีเป้าหมายดำเนินการประมาณ 2.2 7 ล้านครัวเรือน สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ในลักษณะให้ประชาชนเช่า และเช่าซื้อ ขณะนี้การเคหะฯ ดำเนินการไปแล้ว (ตั้งแต่ปี 2545) ประมาณ 367,000 ครัวเรือน เช่น บ้านเอื้ออาทร โครงบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย (เคหะสุขประชา) โครงการที่อยู่อาศัยประเภทเช่าสำหรับผู้สูงอายุ (เคหะสุขเกษม) ฯลฯ
‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม.พบเครือข่ายสลัม 4 ภาค
ขณะที่ประชาชนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคจากทั่วภูมิภาค ประมาณ 2,000 คนได้รวมตัวกันที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดเวทีและเตรียมเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องด้านที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ลานคนเมืองมีผู้ว่าฯ กทม. ลงมาพบปะกับผู้ชุมนุม
ผู้ว่า กทม. พบปะเครือข่ายสลัม 4 ภาค
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับผู้ร่วมชุมนุมว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก World Habitat Day ที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องสำคัญ หากมีที่อยู่อาศัย ชีวิตก็จะมั่นคง ลูกก็จะมีการศึกษา มีงานทำ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่สำคัญ หน้าที่หลักของหน่วยงานราชการคือการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของกทม. ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของที่สาธารณะ แต่เป็นฝ่ายดูแลที่สาธารณะ การบริหารจัดการจำเป็นต้องดูภาพรวม และทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน
“ส่วนเรื่องพี่น้องคนไร้บ้านก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องยืนยันว่าไร้บ้าน แต่ไม่ไร้สิทธิ์ ไม่ไร้โอกาส เราต้องสร้างโอกาส สร้างสิทธิให้เขาเหมือนกับคนทั่วไป คือคนไทยที่มีสิทธิเหมือนพวกเราทุกคน แต่บางทีอาจจะโชคร้ายชั่วคราว เพราะฉะนั้นเราต้องหาที่ที่ให้เขายืนหยัดและกลับมาสู่สภาพปกติได้” ผู้ว่า กทม.กล่าว และยืนยันว่าจะช่วยเหลือประชาชนเต็มกำลัง
นอกจากนี้นายชัชชาติได้ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรว่า เดิมเป็นชุมชนบุกรุกคลอง แต่รัฐได้หาที่ดินราชพัสดุริมคลองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ชุมชนเช่าระยะยาว โดยประชาชนร่วมกันอดออม จัดตั้งเป็นสหกรณ์ แล้วปลูกสร้างบ้านใหม่ คลองก็สะอาดขึ้น ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วน กทม.ก็จะดูที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ แต่ไม่ใช่สวนสาธารณะ เพื่อเอามาแบ่งปันเป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมด้วย และถ้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยได้ จะทำให้พลังสำคัญของเมืองกลับคืนมา
เครือข่ายสลัม 4 ภาคยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวง พม.
หลังจากตั้งขบวนที่ลานคนเมืองแล้ว เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้เดินทางมาที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก และบางส่วนเดินทางมาที่กระทรวง พม. สะพานขาว เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม. และ พอช. มาพบปะกับกลุ่มผู้ชุมนุม
เครือข่ายสลัม 4 ภาคหน้ากระทรวง พม.
โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาคมีข้อเรียกร้องถึงกระทรวง พม. หลายข้อ เช่น 1. ให้ผู้แทนกระทรวง พม.ลงนามเสนอนโยบายสนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
2.ให้เพิ่มเกณฑ์งบประมาณสนับสนุนต่อหน่วยของโครงการบ้านมั่นคงจากหน่วยละ 89,800 บาทเป็น 150,000 บาท และเพิ่มเกณฑ์สนับสนุนงบประมาณบ้านพักชั่วคราว (กรณีชุมชนเกิดไฟไหม้ โดนไล่รื้อ) จาก 18,000 บาทต่อหน่วยเพิ่มเป็น 25,000 บาท เนื่องจากปัจจุบันวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น
3.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมือง ให้เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายในการทำงาน โดยพัฒนามาตรการและนโยบายร่วมกับหน่วยงานและภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับกลุ่มผู้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมือง ฯลฯ
ผู้บริหารกระทรวง พม. และ พอช. มาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม
พอช.เดินหน้าแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เริ่มโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน” ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องอยู่ในที่ดินบุกรุก สภาพแออัด เสื่อมโทรม หรือถูกขับไล่อีกต่อไป
ส่วน ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ พอช. มีเป้าหมายดำเนินจำนวน 1 ล้าน 5 หมื่นครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ
โดยขณะนี้ พอช. อยู่ในระหว่างการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบท เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร โครงการบ้านพอเพียง (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน สภาพทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย) กลุ่มคนไร้บ้าน ชุมชนที่โดนไฟไหม้ ไล่รื้อ (บ้านพักชั่วคราว) ฯลฯ
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช.
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พอช.ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ทั้งในเมืองและชนบทแล้ว จำนวน 1,486 ชุมชน รวม 127,920 ครัวเรือน โครงการบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 4,195 ตำบล รวม 103,779 ครัวเรือน ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวม 45 ชุมชน 3,539 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 88 ชุมชน กว่า 10,000 ครัวเรือน)
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี รวม 1,395 ราย กรณีเร่งด่วน ไฟไหม้ โดนไล่รื้อ รวม 6,041 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 242,674 ครัวเรือน/ราย
“ในเดือนตุลาคมนี้ พอช. ชุมชน และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทั่วภูมิภาค เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ และเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของขบวนองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมียุทธศาสตร์ มีทิศทาง และทำงานเชิงขบวนการที่กว้างขวางมากขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางเข้าร่วม รวมทั้งผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับเมือง ตำบล และภูมินิเวศน์” ผอ.พอช.บอกถึงแผนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่จะเดินหน้าต่อ
ส่วนพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกัน ระหว่าง พอช. ชุมชน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ชุมชนในที่ดิน รฟท.ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด (ภูมินิเวศน์อันดามัน ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล)
การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ คลองสำโรง จ.สงขลา การฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุกในกรุงเทพ ฯ ทั้ง 50 เขต รวมทั้งการพัฒนาทั้งตำบลในเขตป่า อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีชุมชนตั้งอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงตามวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี คือ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
ผู้บริหารกระทรวง พม. พอช. ภาคีเครือข่าย และผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ