‘อภิสิทธิ์’ อดีตนายกฯ ร่วมงาน ‘20 ปี พม.’ เสนอแนวคิด 5 ข้อ “ปรับโครงสร้างเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย”

กระทรวง พม. /  การจัดงานสถาปนากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี “20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม ที่กระทรวง พม.  บรรยากาศคึกคัก  หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย

โดยวันนี้ (1 ตุลาคม)  เป็นการจัดงานวันที่  3  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และเครือข่ายองค์กรชุมชนได้จัดเวที “พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสวัสดิการชุมชน”  ที่ห้องประชุมประชาบดี  กระทรวง พม.  มีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาพิเศษ  หัวข้อ  “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยพลังชุมชนและเครือข่ายภาคีพัฒนา”  โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม.  พอช.  และผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ย้อนจุดกำเนิด พอช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีการครบรอบ 20 ปีกระทรวง พม. และ 22 ปี พอช.   ส่วนที่มาของ พอช.นั้น  ในช่วงปี 2540 – 2544   ในสมัยนั้นประเทศไทยประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง  ถ้าเราย้อนกลับไปก็จะทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9  มีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ในขณะที่คนไทยเดือดร้อนมาก  

ต้นเหตุของวิกฤตคือความไม่พอเพียงของการกู้ยืมเงินในระบบทุน  ไม่สามารถสร้างรายได้  สูญเสียความเชื่อมั่น  วิกฤตเงินทุนสำรอง  สถาบันการเงิน  ฯลฯ   และมีกระแสราชดำรัส  ทำให้เราย้อนมาดูตนเอง  การสร้างหลักประกัน  ความมั่นคง  มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเร่งรัดการเจริญเติบโต   เริ่มจากใกล้ตัวเราในชุมชน  จากทรัพยากร   สินทรัพย์ต่างๆ  บางครั้งมองข้ามเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว

“ท่านนายกฯ ชวน  (หลีกภัย) ให้ความสำคัญเรื่องสังคม  ทำอย่างไร  ไม่ให้วิฤตเศรษฐกิจลุกลาม  วิกฤตทางสังคมในหลายประเทศลุกลาม  แย่งชิงอาหาร  ท่านให้ความสำคัญกับสังคม   รัฐมนตรีที่มีบทบาท  คือคุณหญิงสุพัตรา  มาศดิตถ์   และตนได้รับมอบหมายให้ผลักดันการสร้างหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  คือ ‘องค์การมหาชน’  ซึ่ง พอช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มาจากแนวคิดตรงนี้   ที่ท้าวความเพื่อย้ำเตือนว่า  งานที่พวกเราทำทั้งหลายยืนอยู่บนหลักคิด  หลักการที่สำคัญที่ต้องไม่ลืม  คือ ท่ามกลางความผันผวนของโลก  ซึ่งเรามีบทเรียนจากปี  2540  เราต้องมีระบบส่งเสริมกิจกรรม  เพื่อให้เกิดอาชีพรายได้  คือความมั่นคงของมนุษย์”  อดีตนายกฯ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี

จากแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลักเศรษฐศาสตร์   การเตรียมความพร้อม  การออมเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม   งานสวัสดิการชุมชนที่เกิดขึ้น  เกิดจากธรรมชาติของชุมชนต่างๆ  ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’  นำเสนอใน  ครม.สังคม  ทำให้ราชการเริ่มขยับเข้ามา  เริ่มจากกองทุนผู้สูงอายุก่อน   ต่อมาในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกฯ  จึงขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการชุมชนอย่างจริงจัง  

อดีตนายกฯ กล่าวว่า  รัฐบาลทุกยุคมาทำงาน  มีโครงการไม่ให้คนเป็นหนี้   แต่มีน้อยที่ส่งเสริมเรื่องการออม   งานที่เริ่มจากปี 2540 อยู่บนหลักคิดที่สำคัญ  คือ  งานด้านนี้แม้ระบบราชการมีบทบาทสำคัญ  แต่ต้องพึ่งพลังชุมชน  พึ่งพาการทำงานของประชาชนเอง  ต้องอิงกับแนวคิดการกระจายอำนาจ  ทำอย่างไรให้เกิดระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้วย ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม  ความต้องการของประชาชน ยังไม่ได้รับการตอบสนอง   ยังติดขัดกฎหมาย  ระเบียบ  อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

“เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน   ผมบอกว่าตอนทำไม่ได้คิดว่ารัฐสมทบแค่  3 ปี   คิดว่าสมทบตราบเท่าที่ประชาชนยังออมเงินอยู่   อยากเห็นท้องถิ่นเข้ามาสมทบอย่างเต็มรูปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์  อยากให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วม  และเขาจะได้รับประโยชน์บางอย่างได้หรือไม่”  

อดีตนายกฯ ยกตัวอย่างเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งขณะนี้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเสนอให้รัฐสมทบเงินเข้ากองทุนมากกว่า 3 ปี  นอกจากนี้ยังมีเรื่องโฉนดชุมชนที่ประชาชนเรียกร้องแต่ขาดความต่อเนื่องเพราะเปลี่ยนรัฐบาล  และเรื่องบ้านมั่นคงที่ยังติดระเบียบ  ข้อกฎหมายต่างๆ

ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้ร่วมรับฟังปาฐกถา

ความผันผวนของโลกที่สังคมไทยต้องรับมือ

อดีตนายกฯ  กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สังคมไทยต้องเผชิญ  โดยกล่าวว่า  จะต้องประเมินอนาคตข้างหน้า  โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี   ความมั่นคงของมนุษย์  งานด้านเศรษฐกิจฐานราก  เศรษฐกิจสร้างสรรค์   ล้วนแต่จะมีความสำคัญมากขึ้น

ยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้างประชากร  ที่เห็นได้ชัดขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย  และจะเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบด้านปัญหาเศรษฐกิจ  การขาดแคลนแรงงาน  โดยส่วนหนึ่งมีการทดแทนแรงงานโดยหุ่นยนต์  เครื่องจักร    และแรงงานต่างด้าวจะมีบทบาทสูง   เราต้องดูแลคนที่มาทำงานในประเทศไทย  ถ้าหากเขาไม่ได้รับการดูแล สุขภาพ การศึกษาลูกหลานของเขา  จะเป็นปัญหาของสังคมเรา  

แนวคิดเรื่องแรงงานต่างด้าว   จะต้องมีการรื้อครั้งใหญ่  แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  เพราะทุกคนบอกว่าจะเป็นปัญหาของความมั่นคง  แต่ตนคิดว่าหากมีปรับเปลี่ยนแนวคิด  ดูแลแรงงานต่างด้าวเหมือนกับที่คนไทยไปแสวงหาโอกาสในการทำงานต่างประเทศ  จะทำให้คนเหล่านี้ผูกพันกับประเทศของเรา  แต่หากไม่ทำ  เขาก็มาทำงานเพื่อหาเงินอย่างเดียว

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ (พ.ศ.2551-2554) รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้สนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ที่เห็นชัดเจนคือ  เรื่องความไม่แน่นอน  ความผันผวน  ความแปรปรวนในโลก  ปัจจุบัน  3 ปีทีผ่านมา    ใครจะคิดว่าโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีจะเกิดขึ้นอีก  ทั้งที่โลกเรามีเทคโนโลยีถอดรหัสยีนได้  แต่โควิดก็ยังไม่หายไป  แสดงว่าเรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากภาะโลกร้อน  มาเปลี่ยนแปลงการผลิต  อุตสาหกรรมบริการ  การเดินทางได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

“ความผันผวนเหล่านี้แปลว่า  คนไทยต้องแสวงหาความมั่นคง   เสียงเรียกร้องที่สำคัญคือ  การมีสวัสดิการถ้วนหน้า คาดว่าปีหน้าพรรคการเมืองต่างๆ  มีการแข่งขันเรื่องนี้สูง  ทั้งที่ยังไม่เห็นว่ามีข้อเสนอในการระดมทรัพยากรมาสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร ?”  อดีตนายกฯ ตั้งข้อสังเกต

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า  สิ่งที่เราเห็นในรอบ 20 กว่าปี  ขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างเจริญก้าวหน้า แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ความยากจนยังมีมากขึ้น   ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของทุนระดับโลก  แรงงาน  คนตัวเล็กตัวน้อยมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจน้อย  และนโยบายมาซ้ำเติม   ในรอบ 6 – 7 ปีที่ผ่านมา  เราเห็นว่าระดับความยากจนยังเพิ่มขึ้นได้

ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากไว้เป็นข้อคิด  คือ  เมื่อความท้าทายต่างๆ เข้ามาแบบนี้  เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือทัศนคติ   มุมมองของฝ่ายที่ขับเคลื่อนนโยบายว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร  จึงขอฝากไว้  5  ข้อ

5 ข้อคิดจากอดีตนายกฯ

1.งานที่เกี่ยวข้องกับการปัญหาหรือพัฒนาสังคมถูกมองจากผู้บริหารระดับประเทศว่ามาทีหลังการพัฒนาเศรษฐกิจ  ความหมายคือ  พัฒนาเศรษฐกิจแล้วทุกอย่างจะดีเอง  ถ้าไม่ดีค่อยมาตามแก้  วิธีคิดแบบนี้ถ้าเดินต่อไปก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด  

สหประชาชาติมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน พยายามให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีมติการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมาย 17 ข้อ  ในการทำให้ผู้บริหารประเทศมองการพัฒนาแบบสมดุลและยั่งยืน  แต่ตนดูแล้วยังอยู่ในกรอบเดิม  บนความเชื่อว่าทำเศรษฐกิจโตก่อนแล้วมาแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้

“การทำนโยบายเศรษฐกิจจะดูตัวเลขการเติบโตไม่ได้   เพราะอัตราการเติบโตเดียวกันทำได้หลายวิธี บางวิธีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  คนเล็กน้อย  ดังนั้น ทำอย่างไร  กระทรวง  หน่วยงานต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปดูนโยบายด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น  ไม่ใช่ปล่อยแยกส่วน”  อดีตนายกฯ กล่าว  และว่า  การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องไปด้วยกัน  เป็นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับการพัฒนาสังคมตั้งแต่ต้น

มติ ครม. ปี 2553  ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์  สนับสนุนคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์

2.เป้าหมายการบริหารเศรษฐกิจปัจจุบันต้องมีการทบทวน  งานด้านการศึกษา  สุขภาพ  งานดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ  ในสังคมไทยผู้หญิงอายุเกิน 45 ปีต้องออกจากงานมาก  เพราะต้องออกไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

“ประเด็นคือ ต่อไปนี้ผู้บริหารทางด้านเศรษฐกิจต้องตระหนักว่ามีงานหลายอย่างมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  แต่เราไม่ได้ตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ  อนาคตเราจะเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ได้ไหม ?  ภาคเศรษฐกิจที่ดูแลผู้สงอายุ  ชุมชน  สิ่งแวดล้อมจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่จะเติบโตเร็วมาก  และเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่มนุษย์ได้เปรียบหุ่นยนต์   ถ้าเราปรับฐานคิดแบบนี้เราจะได้พลังเพิ่มเติมในการทำงานจากคนที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจด้วย”

อดีตนายกฯ ขยายความว่า  เศรษฐกิจการดูแลคน ชุมชน  สิ่งแวดล้อม  น่าจะได้รับการสนับสนุนขับเคลื่อนต่อไป เราจำเป็นต้องประเมินเป้าหมายความสำเร็จภาคเศรษฐกิจใหม่  เช่น  ปัจจุบันดูความสำเร็จจากการลงทุนจากต่างประเทศ  วันนี้ถ้าเราไม่เก็บภาษี  ยกเว้นภาษี  เอาเงินมาลงทุน  ใช้แรงงานเราไม่เท่าไร  ใช้โควตาการส่งออก  ล้วงข้อมูลคนไทย ถามว่าสังคมไทยจะได้อะไร  ?

3.สังคมไทย  โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ตกผลึกเรื่องสิทธิชัดเจนแล้ว  ฉะนั้นงานที่เราทำขณะนี้เชิงสงเคราะห์ ต่อไปต้องมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจะทำให้หลายอย่างตามมา   เช่น   เรื่องเงินเด็กแรกเกิดต้องไปที่สวัสดิการถ้วนหน้า สวัสดิการผู้สูงอายุ  เปลี่ยนจากโควต้าช่วยคนจนมาเป็นสิทธิของผู้สูงอายุ  เมื่อเราหมุนทุกย่างมาเป็นเรื่องสิทธิ  เราจะระดมทรัพยากรหรือเงินจากที่ไหนมา  ระบบภาษีของเราไม่เอื้อให้เกิดระบบสวัสดิการ  และยังไม่ทำหน้าที่ภาษีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ  การออมภาคบังคับ   สวัสดิการ  ปัจจุบันต้องรื้อปรับครั้งใหญ่

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. ร่วมแสดงความยินดีกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน

4.แม้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า  ไม่ได้หมายความว่างานที่เราทำกับชุมชนจะลดความสำคัญ  เพราะระบบระดับชาติ  ระบบที่ไปจากส่วนกลาง  ระบบถ้วนหน้าเป็นพื้นฐาน ปรับขยับได้ยาก  เป็นภาระมาก  เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น  คือ  งานชุมชนต้องมองหาสิ่งที่ระบบถ้วนหน้ายังหาคำตอบไม่ได้  หรือไม่คล่องตัวเพียงพอ   ขณะเดียวกันระบบของชุมชนต่างๆ ต้องมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย   เรียนรู้  แบ่งปันประสบการณ์  เพื่อมองเห็นมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน  ข้อนี้คือ ความสำคัญของฐานราก   ชุมชน   ต้องมีแน่นอนแต่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้สอดคล้อง

5.ต้องย้อนกลับไปว่า  ตอนที่เราเริ่มต้นงานหลายอย่าง  เราเชื่อเรื่องกระจายอำนาจ  เชื่อเรื่องความเป็นอิสระ   ต้องยอมรับว่าการทำงานสังคมหลายอย่างจะใช้กฎเกณฑ์  กติกา  ระบบราชการหรือเศรษฐกิจไม่ได้  การกระจายอำนาจไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ต้องการให้มีความคล่องตัว  ทำงานร่วมกับประชาชน  ชุมชนได้  

“นี่เป็นการบ้านใหญ่สำหรับ สตง.  ถ้ายังพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเหมือนกลไกราชการ  เป็นการทำลายศักยภาพของชุมชนที่มีศักยภาพในการออกแบบระบบให้สอดคล้องกับสภาวะของชุมชนได้  แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยระบบธรรมาภิบาล   หาทางทำให้ถูกต้องตามระเบียบ  ทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนแปลงหลักคิด”

20 หรือ 22 ปีที่ผ่านมา  เราเดินมาไกลพอสมควร  แต่โลกไม่ได้หยุดอยู่กับที่  มีความท้าทายที่เราต้องรับมือ และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายหลักคิดเดิม  แต่จะทำได้ต้องมีการปรับรื้อ  ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและความคิดที่กล่าวมา  5 เรื่อง  เพื่อพูดได้อย่างเต็มปากว่า  เราสร้างคุณภาพชีวิตความมั่นคงให้คนไทยทุกคน  ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร”   นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรีย้ำในตอนท้าย

ผู้แทนชุมชนรับมอบใบประกาศเกียรติคุณการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวชุมชน

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร

สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

'น้ำเจ้าพระยา' ขึ้นสูง! ผวาท่วมตลาด-สถานที่เที่ยวชื่อดัง

น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ลอดใต้พนังกั้นน้ำหน้าตลาดสรรพยา เทศบาลต้องเร่งสูบออก ป้องท่วมตลาดและโรงพัก ร.ศ.120 สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง