WHO แจงตัวเลขประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น สสส.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม-WHO หนุน 4 มาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ดึงผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร-กำหนดนโยบายจัดซื้ออาหารอ่อนเค็มในองค์กร-ติดฉลากคำเตือน/สัญลักษณ์สี-สื่อสารสร้างความตระหนักรู้ ช่วยคนไทยปรับพฤติกรรมการกิน มุ่งเป้าลดกินเค็มลง 30% ลดเสี่ยงป่วย-ตายจากโรค NCDs ภายในปี 2568 มหาวิทยาลัยมหิดลผลิตเครื่องวัดความเค็มในอาหารแบบพกพา แผนเก็บภาษีความเค็มมีผลอีก 3 ปีข้างหน้า
โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่มีความจำเป็นต่อร่างกายในการควบคุมความสมดุลเป็นกรด-ด่างและของเหลวในร่างกาย ช่วยรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาท และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการดูดซึมอาหารผ่านทางลำไส้เล็กและไต ช่วยให้แคลเซียมและธาตุบางชนิดสามารถละลายในเลือดได้ สิ่งที่พึงระวังก็คือ ถ้าบริโภคโซเดียมมากเกินไปกลับมีผลเสียต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอัมพาต ส่งผลให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2565 ว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในเมืองไทย เป็นภารกิจสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา เกิดการสะสมพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไต หลอดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
โดยจากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข WHO และภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในประเทศไทย มุ่งเป้าปรับลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568 หรือบริโภคไม่เกิน 700-800 มก./มื้ออาหาร เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20%รวมทั้งยังช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้ 5-7%
“สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมลดการบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 1. ผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs 2.สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 3.พัฒนาสารทดแทนความเค็ม 4.พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม 5.นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร (CHEM Meter) 6. ระบบฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสในอาหารประจำภูมิภาคและอาหารแปรรูป 7.ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 8.สื่อสารรณรงค์แคมเปญลดเค็ม ลดโรค และลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในวงกว้าง” ทพญ.จันทนากล่าว
ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลผลิตเครื่องวัดความเค็มในอาหารแบบพกพา เพียงจุ่มเครื่องมือลงไปในอาหารซึ่งเป็นของเหลว ก็จะรู้ค่าความเค็มที่เหมาะสมกับการบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะนี้คนสหรัฐฯ ลดบริโภคเกลือวันละ 3 กรัม ช่วยปรับลดค่ารักษาพยาบาล 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี การรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประชาชนที่มีรายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง จะลดโซเดียมป้องกันการเสียชีวิต 14 ล้านคนใน 10 ปี ด้วยเงินลงทุนเพียง 13 บาท ถ้าคนไทยช่วยกันลดความเค็มวันละนิด ลิ้นเราจะเคยชินปรับได้ตามที่หมอให้คำแนะนำ
ในช่วงเทศกาลอาหารเจ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ย.-4 ต.ค. เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารเจมีรสเค็มและมัน ขณะนี้ได้ส่งทีมนักวิชาการด้านโภชนาการ สสส.รณรงค์วางแผนให้คำแนะนำกับผู้จำหน่ายและผู้บริโภคให้ลดความมัน ความเค็มเพื่อสุขภาพที่ดี เราไม่สามารถออกกฎข้อบังคับได้
พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-4,800 มก./วัน WHO จึงได้ประกาศเป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมทั่วโลกลงให้ได้ 30% ภายในปี 2568 พร้อมทั้งแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก./วัน โดยเสนอมาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” สำหรับผู้ประกอบการในไทย 4 ข้อ ที่จะช่วยลดบริโภคโซเดียมอย่างมีประสิทธิภาพ 1.ต้องปรับสูตรอาหาร กำหนดและตั้งเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมแบบบังคับ พร้อมพัฒนาเมนูลดโซเดียมในร้านอาหาร และใช้มาตรการทางการเงินจากภาครัฐ 2.นโยบายการจัดซื้ออาหารโซเดียมต่ำในองค์กร 3.ติดฉลากคำเตือนหน้าบรรจุภัณฑ์ ระบุปริมาณโซเดียมโดยสัญลักษณ์สี 4.สื่อสารรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียม
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ประกอบการด้านอาหารในประเทศไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจเกณฑ์ปริมาณโซเดียมสูงสุดในผลิตภัณฑ์อาหารและลักษณะทั่วไปของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในไทย ปี 2561-2564 พบแนวโน้มมีปริมาณโซเดียมลดลง 11.6% ในอาหารประเภทข้าวต้ม โจ๊ก บะหมี่ที่บรรจุแบบถ้วย ที่สำคัญยังพบว่ามีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพของ สสส.เพิ่มขึ้น จาก 4.5% เป็น 21.1% ในปี 2565 นี้ เครือข่ายฯ ได้ร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการลดเค็มเลือกได้ เร่งขยายความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียม สนใจรายละเอียดติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.lowsaltthai.com
ขณะนี้ผู้ประกอบการบะหมี่สำเร็จรูปภายในประเทศลดปริมาณโซเดียม 2% ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นเป็นเรื่อง win-winด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่บะหมี่นำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยังไม่ได้ลดโซเดียม ดังนั้นขอให้ช่วยกันบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีโซเดียมต่ำ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ลดปริมาณโซเดียมในอาหารแช่เย็น แช่แข็ง ขนมกรุบกรอบ โจ๊กซอง ในกรณีที่ผู้ผลิตไม่ได้ลดจำนวนโซเดียมภายในซองดังที่สลากกำกับระบุไว้นั้นเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบ ส่วนความผิดนั้นต้องดูข้อกฎหมายในการลงโทษ
ขณะนี้ อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เชฟกูรูสอนด้านการทำอาหาร ได้สอนวิธีการปรับสูตรอาหารลดโซเดียมให้ภัตตาคาร ร้านค้าอาหารไทย จีนตามสั่งกว่า 60 ร้านค้า ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นการสนับสนุนให้ทำอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพ ได้รับตราสัญลักษณ์สุขภาพ ต่อไปจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย
ส่วนการเก็บภาษีความเค็มนั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ แต่จะมีผลต้นปีหน้า และส่งผลให้มีการเก็บภาษีในอีก 3 ปีข้างหน้า หากปรับเพิ่มภาษีในจังหวะนี้ จะกระทบกระเทือนต่อผู้บริโภคที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับสูตรลดโซเดียมไม่ได้ใช้ในเครื่องปรุงรส เพราะ อย.ยังไม่ได้ออกกฎหมายควบคุมแต่อย่างใด แต่ภาษีจะมีผลบังคับใช้กับเครื่องปรุงอาหารที่มีฉลากพร้อมบริโภคที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ตามร้านอาหารริมทาง อาหารตามสั่ง หรือภัตตาคารแต่อย่างใด
การเลือกเก็บภาษีโซเดียมขณะนี้ได้มีการหารือกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ด้วยข้อมูลคำแนะนำจาก WHO ในการลดปริมาณโซเดียมในบะหมี่สำเร็จรูป โจ๊ก อาหารแช่เย็น แช่แข็ง อย่างไรขณะนี้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดปริมาณโซเดียมลงจากเดิมแล้ว
อนึ่งผลการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายลดบริโภคเค็ม พบว่า ค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปในปี 2564 เท่ากับ 1750.0 มิลลิกรัม/100 กรัม มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปี 2561 ประเภทข้าวต้มหรือโจ๊ก เส้นชนิดบะหมี่ ภาชนะบรรจุแบบถ้วย และอาหารที่ผลิตในประเทศไทยและจีน ส่วนค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์เดียวกันในปี 2561 และ 2564 ไม่เปลี่ยนแปลง มี 19 รายการที่ปรับสูตรปริมาณโซเดียมลดลง และสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 21.1 ในปี 2561 และปี 2564 ทั้งในประเทศบะหมี่และข้าวต้มหรือโจ๊ก รวมถึงอาหารที่ผลิตในประเทศไทย
***
ผู้บริโภคพึงรู้ถึงโซเดียมมีทั้งคุณและโทษ
ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ในผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ หรือเกลือโพแทสเซียมแทนเกลือแกง หรือเกลือโซเดียมเพียงอย่างเดียว ข้อดีของเกลือโพแทสเซียมมีโซเดียมต่ำ แต่ทำให้รสชาติไม่เค็มจัด ผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมระดับโซเดียมในเลือด
ผู้บริโภคควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดโซเดียม ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ปรุงรสสูตรลดโซเดียม บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป
ไข่ต้มมีโซเดียมเฉลี่ย 80 มิลลิกรัม, ไข่เค็มมีโซเดียม 380 มิลลิกรัม, แหนม 100 กรัม มีโซเดียม 990 มิลลิกรัม, เนื้อแดดเดียว 100 กรัม มีโซเดียม 1,514มิลลิกรัม, ปลาสลิดทอด 100 กรัม มีโซเดียม 1,694 มิลลิกรัม, หมูแผ่น 100กรัม มีโซเดียม 1,592 มิลลิกรัม, กุนเชียง 100 กรัม มีโซเดียม 1,303 มิลลิกรัม, ไส้กรอก 100 กรัม มีโซเดียม 680 มิลลิกรัม, ผักกาดดอง 100 กรัม มีโซเดียม 1,498 มิลลิกรัม, ผักกาดดอง 100 กรัม มีโซเดียม 1,498 มิลลิกรัม, มะม่วงแช่อิ่ม 100 กรัม มีโซเดียม 504มิลลิกรัม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ
สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ
เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน
สสส.ชวนคนรักสุขภาพ ร่วม'เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง' กระตุ้น'นักวิ่งหน้าใหม่'ลงสนาม8ธ.ค.นี้
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ที่สะพานพระราม 8 โดย สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info ระบุว่า ไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.56 ปี อายุยืนเป็นอันดับที่ 78 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 164,720 ราย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิต