ฟื้นวิถี ‘คน-คลองบางสน’ อ.ปะทิว จ.ชุมพร

คลองบางสนไหลลงทะเลที่อ่าวบางสน  ตลอดลำคลองมีชุมชนชาวประมงตั้งอยู่  เป็นทั้งแหล่งอาหาร  อาชีพ  วิถีชีวิต  และวัฒนธรรม

คลองบางสนเป็นลำคลองสายสั้นๆ ในอำเภอปะทิว  จังหวัดชุมพร  มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร  มีต้นกำเนิดจากน้ำตกทุ่งยอและลำห้วยเล็กๆ จากป่าต้นน้ำบริเวณพรุตาอ้าย  ไหลรวมกันเป็นคลองบางสน  ผ่านหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ออกสู่ทะเลที่อ่าวบางสน

สองฟากคลองบางสนร่มรื่นและเขียวขจีไปด้วยป่าโกงกางและป่าจาก  บนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองมีลิงแสมตัวเขื่องนอนกบดานเฝ้ามองผู้ที่ล่องเรือผ่านไปมา  ในป่าชายเลนและในลำคลองเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด  เช่น  หอยพู่กัน  หอยจุ๊บแจง  ปลาเสือตอ  กะพงแดง  กะพงขาว  กระบอก  ปลาเก๋า  กุ้ง  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีนกน้ำชนิดต่างๆ  และหิ่งห้อย...เป็นระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลทุกสรรพสิ่ง 

แต่กว่าจะมีสภาพอุดมสมบูรณ์แบบที่เห็นในวันนี้  คนและคลองบางสนได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง...!!

ลิงแสมในคลองบางสน

ภัยจากธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลง

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2532  ‘พายุไต้ฝุ่นเกย์’  ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทย  มุ่งหน้าเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณอำเภอท่าแซะและปะทิว  จังหวัดชุมพร  ด้วยความเร็วของลมพายุประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ทำให้ต้นไม้ใหญ่น้อยถูกถอนรากถอนโคน  อาคารบ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากแรงพายุ   เรือประมงในทะเลถูกคลื่นยักษ์ซัดจมลง  สายฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่

หลังพายุสงบ  มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า  พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมี 8 จังหวัด (เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  ระนอง  สุราษฎร์ธานี  ปัตตานี   ระยอง  และตราด)   มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ  602 คน  บ้านเรือนเสียหายประมาณ  58,000 หลัง  เรือประมงจมในทะเล 809   ลำ  รวมทรัพย์สินเสียหายกว่า  11,000 ล้านบาท  !!

สภาพความเสียหายในอำเภอปะทิว (ภาพจาก นสพ.มติชน)

ที่อำเภอปะทิวซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่พายุพัดขึ้นฝั่งได้รับความเสียหายหนักเช่นกัน  บ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง  ป่าชายเลนและสวนมะพร้าวริมคลองบางสนโดนมือพายุยักษ์หักโค่นราวกับหักไม้จิ้มฟัน...ไม่รวมชีวิตผู้คนและสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก

สมโชค  พันธุรัตน์  อดีตไต๋กงเรือประมงบ้านบางสน  ต.บางสน  อ.ปะทิว บอกว่า  หลังพายุเกย์ผ่านพ้นไปในปี 2532   คนปะทิวต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะฟื้นและสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่  เพราะทั้งทรัพย์สิน  บ้านเรือน  เรือประมง  สวนมะพร้าว   ยางพารา  ไม้ผล  ต่างย่อยยับไปกับพายุร้ายนั้น  ส่วนธรรมชาติ  ป่าชายเลน  ป่าโกงกางที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำต่างๆ  ในคลองบางสน  เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่  ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 - 15 ปีกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมา 

นอกจากนี้ในปี 2545  มีเอกชนเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนริมคลองบางสน  เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่เพื่อเลี้ยงกุ้ง  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อ  สู้คัดค้าน  ร้องเรียนให้ทางราชการเข้ามาตรวจสอบ  จนผู้บุกรุกต้องล่าถอย  ชาวบ้านได้พื้นที่ป่าชายเลนกลับคืนมา  แต่สภาพป่าก็เสื่อมโทรมเสียหายเพราะถูกบุกรุกทำลาย   

‘สมโชค’  จากไต๋กงเรือประมงสู่นักอนุรักษ์ท้องถิ่น 

จากการอนุรักษ์สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน

การทวงคืนผืนป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ในปี 2545  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนบางสนรวมตัวกันฟื้นฟูและดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง  แต่ในช่วงแรกยังไม่มีกลุ่มก้อนที่ชัดเจนมากนัก  จนราวปี 2550   กิจกรรมต่างๆ จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง  โดยมีสมโชคเป็นแกนนำ  ชักชวนเพื่อนชาวประมง  เยาวชน  มาช่วยกันปลูกป่าชายเลน   ปลูกต้นโกงกาง เก็บขยะในคลองและชายทะเล  ขยายพันธุ์ปูม้า (ธนาคารปู)  ดูแลป่าจาก  ป่าโกงกาง  ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของปลากะพงขาว  กะพงแดง  กุ้งก้ามกราม  หอยพู่กัน  ปลาเสือตอ  นกน้ำ  รวมทั้งหิ่งห้อย

เมื่อธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ทั้งในคลองและทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์  ในปี 2552  สมโชคจึงคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  เพราะได้รับรู้ว่ามีชุมชนท้องถิ่นต่างๆ  หลายแห่งทำเรื่องแบบนี้  แต่เมื่อไปชักชวนเพื่อนๆ  ก็ไม่มีใครเอาด้วย  หาว่าสมโชคสติไม่ดี  ไม่มีใครเชื่อว่าวิถีชีวิตแบบบ้านๆ  หากินกับการทำประมงในคลองและชายฝั่งทะเล   ไม่มีหาดทรายที่สวยงามและน้ำทะเลใสแจ๋วจะมีใครเข้ามาเที่ยว ?

แต่สมโชคไม่ถอย  เขาไปศึกษาดูงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เกาะพิทักษ์  จังหวัดชุมพร  ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  มีท้องทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงเป็นจุดแข็งและจุดขาย  ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบบรรยากาศแบบบ้านๆ  เป็นธรรมชาติ  และอาหารทะเลสดๆ 

นอกจากนี้เขาได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง  การทำธุรกิจชุมชน  การท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ  ใช้เวลาบ่มเพาะความรู้  ลองถูกลองผิดนานหลายปี  จนวิชายุทธ์เริ่มกล้าแกร่ง

บรรยากาศยามเย็นในคลองบางสน

ราวปี 2556 จึงชวนชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก  เชื่อมโยงเป็น เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอปะทิว  มีสมาชิก 4 ตำบล (ปัจจุบันมีสมาชิก 40 กลุ่ม/ราย)  มีการส่งต่อนักท่องเที่ยวไปดูแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  เช่น  ล่องเรือชมธรรมชาติในคลอง   ชมป่าจาก  ป่าโกงกางที่สมบูรณ์   ลิงแสม  ดูปลาเสือตอพ่นน้ำ  เก็บหอยพู่กัน  ตกหมึก   ตกปลาเอามาทำอาหาร   ดำน้ำชมทุ่งดอกไม้ในทะเล  ดูหิ่งห้อยในคลองยามค่ำคืน   มีที่พักแบบโฮมสเตย์  ชมสวนผลไม้  กินทุเรียน  สละ  อาหารทะเล  อาหารพื้นบ้าน   ฯลฯ   

ใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์  ผ่าน Facebook  ติดต่อกับบริษัทท่องเที่ยวให้ส่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจากยุโรปเข้ามา  ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป  เช่น  ฝรั่งเศสที่ชอบบรรยากาศแบบธรรมชาติ  วิถีชีวิตชาวบ้าน  เดินทางเข้ามาเที่ยวชม  นอกจากนี้รายการโทรทัศน์และสื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่   ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว 

รวมทั้งขยายตลาดไปยังกลุ่มอบรมสัมมนา  ศึกษาดูงานและพักโฮมสเตย์ที่บ้านคลองสน  จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตลอดทั้งปี  อย่างน้อยเดือนละ 200 คน  โดยเฉพาะช่วงทุเรียนออกผล  ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ  สมาชิกเครือข่าย ฯ  จะหักเงินรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ากลุ่มเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการจำนวน    3 %

นักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนสถานการณ์โควิด

พลิกโควิดเป็นโอกาส

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่ต้นปี 2563  นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้ามา  คนไทยเดินทางมาน้อยลง  แต่เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอปะทิวได้พลิกโควิดให้เป็นโอกาส  โดยใช้ Facebook  ขายสินค้าจากชุมชน   เช่น  แกงไตปลาสำเร็จรูป  ปลาอินทรีย์เค็ม  ปลากุเลา  ปลาดุกร้า  กะปิขัดน้ำ  น้ำผึ้ง  สละลอยแก้ว  ฯลฯ  ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เคยมาพักและกินอาหารที่นี่

โควิดรอบแรกผมทำไตปลาแห้ง  ปลาอินทรีย์เค็ม  ทำคลิปวิดีโอเอาไปลงในยูทูป  ทำให้เห็นตั้งแต่การตกปลาอินทรีย์สดๆ  แล้วเอาไปทำความสะอาด  เอาไปเข้าโรงอบแห้ง  ทำให้คนดูเห็นขั้นตอน  ช่วง 3 เดือนแรกผมขายไตปลาและปลาอินทรีย์เค็มได้ประมาณ 2 แสนบาท  ตอนนี้ก็ยังมีการสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ  เดือนหนึ่งขายได้ประมาณ  5 หมื่นบาท  สมาชิกคนอื่นก็เหมือนกัน  ใช้สื่อออนไลน์ขายของได้ตลอด  นักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้  ก็สั่งซื้อสินค้าจากเรา  เพราะเขาเคยกิน  และเห็นว่าของเรามีคุณภาพ สมโชคยกตัวอย่างการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส

เขาบอกด้วยว่า  แม้ว่าช่วงโควิด-19  นักท่องเที่ยวจะมาน้อยลง  แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  เพราะชาวบ้านใช้ต้นทุนของตัวเองที่มีอยู่แล้ว  เช่น  เรือและบ้านที่มีอยู่  มีรถซาเล้งพาไปเที่ยว  ไม่ต้องสร้างหรือซื้อใหม่  ไม่มีลูกจ้าง  ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง  เพราะชาวบ้านทำเอง  ไม่เหมือนรีสอร์ทหรือโรงแรมที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 

ส่วนหนึ่งของสมาชิกเครือข่ายการท่องเที่ยวฯ  แปรรูปผลผลิตขายช่วงโควิด (สมโชคขวาสุด)

ใช้สภาองค์กรชุมชนฟื้นชีวิต คน-คลองบางสน

ในปี 2565 แม้สถานการณ์โควิด-19 จะซาลงไป  ทว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ยังไม่คึกคักมากนัก  แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป  สภาองค์กรชุมชนตำบลในอำเภอปะทิว  3 ตำบลที่ใช้ประโยชน์จากคลองบางสนร่วมกัน  คือ  เทศบาลตำบลบางสน  ตำบลชุมโค  และตำบลทะเลทรัพย์  ได้ร่วมกันจัดทำ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมืองและชนบท  ภูมินิเวศน์คลองบางสนขึ้นมา  ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ จำนวน 3  แสนบาท 

สมโชค  ในฐานะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางสนบอกว่า   โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงคนทั้ง 3 ตำบลที่ใช้ประโยชน์จากคลองบางสนให้มาดูแลคลองร่วมกัน  โดยมีกิจกรรมหลัก  คือ 1.ปรับปรุงและซ่อมแซมฝายมีชีวิต  บริเวณ ‘พรุตาอ้าย’  ซึ่งเป็นฝายชะลอน้ำก่อนไหลลงสู่คลองบางสน  เพื่อช่วยกักเก็บน้ำ  และไม่ให้กระแสน้ำกัดเซาะฝายที่มีอยู่เดิม  

โดยใช้ก้อนหินนำมาวางเรียง  นำเสาไม้เนื้อแข็งมาปักทำเป็นหลักยึด  เทคอนกรีตให้แน่นหนาแข็งแรง  ขนาดกว้างยาว 8 X 15  เมตร  ทำในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  ใช้เวลา 4 วัน  มีชาวบ้าน  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เด็กนักเรียน  รวมทั้งคนงานบริษัทเอกชนในพื้นที่  รวมประมาณ 200 คนมาช่วยกันลงแรงจนแล้วเสร็จ

เสริมฝายชะลอน้ำให้แข็งแรง

2.ลอกคลองไส้ไก่  ซึ่งเป็นคลองแยกจากคลองบางสน  ความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร  เพื่อให้น้ำไหลสะดวก  ไม่เน่าเสีย  เกษตรกรที่อยู่ริมคลองจะได้มีน้ำใช้ในการทำนา  หน้าแล้งก็มีน้ำในการปลูกน้ำเต้า  ฟัก  แฟง  ฟักทอง  และผลไม้ต่างๆ 

3.ปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมบริเวณหมู่ที่ 2  ตำบลชุมโค  จำนวน 500 ต้น  เพื่อเสริมและทดแทนต้นที่ตายไป    ปลูกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

4.ส่งเสริมอาชีพ  การแปรรูป  และสินค้าชุมชน  เช่น  ปลาหวาน  กะปิ  ขนมพื้นบ้าน  ผ้ามัดย้อม ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเยาวชน  เช่น  อบรมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม  ช่วยกันดูแล  ไม่ทิ้งขยะลงคลอง  โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่สามารถย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติก  เมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไปก็อาจเกิดอันตราย  หรือส่งผลมาถึงคนที่กินอาหารจากสัตว์น้ำในคลองและทะเล   ทำทุ่นดักขยะในคลอง  ฯลฯ  รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มให้เยาวชนทำสื่อชุมชน    เน้นสื่อออนไลน์   เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ของชุมชนออกไป  มีสมาชิกกลุ่มเยาวชน 10 คน

กิจกรรมปลูกป่าชายเลน  มีคนในตำบล  นักเรียน  เยาวชน  ชาวบ้าน  พนักงานบริษัทในพื้นที่มาร่วมกว่า 200 คน

เชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่น

สมโชคบอกด้วยว่า   กิจกรรมที่ทำตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ นี้  จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้   แต่สภาองค์กรชุมชนทั้ง 3 ตำบล  รวมทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาล  สถานศึกษา  ภาคเอกชนในท้องถิ่น จะร่วมกันดูแล  ปกป้อง  ป่าชายเลน   ลำคลอง  และท้องทะเลต่อไป  เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของท้องถิ่น  โดยเฉพาะคลองบางสนและป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน  นอกจากนี้น้ำในคลองบางสนเทศบาลยังนำมาผลิตน้ำประปาใช้ด้วย

อาหารอุดมสมบูรณ์จากคลองและทะเลบางสน

“ช่วงออกพรรษาในวันที่ 10 ตุลาคมนี้  สภาองค์กรชุมชน 3 ตำบลจะร่วมกับท้องถิ่น  เทศบาล  ฟื้นฟูการจัดงานชักพระในคลองบางสนขึ้นมาใหม่  เพราะในอดีต  เมื่อถึงวันออกพรรษา  คนปะทิวจะจัดงานชักพระในคลองบางสนแล้วแห่พระไปทำบุญที่วัด  จัดงานต่อเนื่องกันมานาน  เพิ่งจะเลิกไปเมื่อตอนเกิดพายุเกย์ในปี 2532 นี้เอง”

สมโชคบอกและว่า  สาเหตุที่ชาวบ้านเลิกจัดงานชักพระในคลองบางสน  เพราะเมื่อเกิดพายุเกย์  ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองได้รับความเสียหายหนัก  เมื่อสร้างบ้านใหม่  จึงขยับบ้านถอยห่างจากคลอง  บางหลังที่เคยหันหน้าบ้านลงคลองก็เปลี่ยนด้าน  ที่เคยสร้างบ้าน 2 ชั้นก็เหลือชั้นเดียว  เพราะกลัวว่าจะเสียหายหนักหากเกิดเหตุร้ายเหมือนพายุเกย์อีก  คลองจึงลดความสำคัญลง

นอกจากนี้  ก่อนจะเกิดพายุเกย์หลายปี  ชาวบ้านริมคลองบางสนยังใช้เรือนำข้าวของ  ผลไม้  ขนม  อาหารทะเล  ฯลฯ  ไปขายหรือซื้อของที่ตลาดปะทิว   แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว   การใช้เรือในคลองก็ลดน้อยลง  เพราะเปลี่ยนจากเรือไปใช้รถยนต์กันเกือบหมด  เหลือแต่เรือประมงที่ยังแล่นอยู่ในคลอง

“แต่คลองบางสนยังมีความสำคัญกับคนปะทิว  เพราะคลองและป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำก่อนจะไปอยู่อาศัยในทะเล  คนปะทิวส่วนใหญ่มีอาชีพประมง  มีเรือประมงที่หากินชายฝั่งประมาณ 200 ลำ  หากินกันแบบครอบครัว  ไม่มีแรงงานต่างด้าว  เป็นอาชีพที่เลี้ยงดูคนปะทิวมานาน  เราจึงต้องช่วยกันปกป้องแหล่งอาหารและอาชีพเอาไว้   เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน  และฟื้นฟูประเพณีที่สำคัญกลับคืนมา  เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของคลองบางสน  และช่วยกันรักษาเอาไว้” สมโชคบอกทิ้งท้าย

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ดูข้อมูลได้ที่ Facebook  บ้านไม้ชายคลอง  โฮมสเตย์  บางสน  อ.ปะทิว  จ.ชุมพร 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สาวขับบีเอ็มชนดับ 3 ศพแม่ลูก ชิ่งไกล่เกลี่ย

สาวคนขับบีเอ็มเสยท้าย จยย.แม่ลูกดับ 3 ศพ อ้างป่วยไม่มาไกล่เกลี่ยตามนัดหมาย พ่อยืนยันไม่เผาศพจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ได้รับความเป็นธรรม

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

ญาติเหยื่อชน 3 แม่ลูกดับ จี้ตรวจสารเสพติดเพิ่ม

ญาติยืนยันไม่เผาศพจะเก็บไว้จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม พบกล้องวงจรปิดจับภาพเดินอุ้มแมวข้ามถนนไปฝั่งขาเข้าคาดเดินเข้าซอยไปซุ่มรอคนมารับ ขณะที่น้องสาวผู้ตายขอตำรวจตรวสารเสพติดเพิ่ม

เปิดความเร็วรถ สาวซิ่งบีเอ็มชน 3 แม่ลูกเสียชีวิต ตร.คุมตัวฝากขังศาล

เก๋งหรูชนดับฝันน้องโก้ตายพร้อมแม่และน้องสาว ที่ตั้งใจจะมุ่งมั่นเรียนหมอเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ต้องหาดอดมอบตัวตำรวจ หลังสอบปากคำนานกว่า 5 ชั่วโมง

หดหู่ใจ! โจรบุกวัดดัง ขโมยโกศทองเหลือง เทกระดูกคนตายทิ้งไว้

พระธรรมรัตน์ กันฺตธมโม พระลูกวัดบางหลง หมู่ 9 ตำบลท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร แจ้งตำรวจสายตรวจปากน้ำชุมพร ว่ามีคนร้ายบุกเข้ามาลักโกศทองเหลือง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’