ตลาดนัดความรู้ที่ พอช. ประสบการณ์และแง่คิดจาก Smart Farmer

ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  (กลาง) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ร่วมงานและบรรยายเรื่องการจัดระบบเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  การส่งเสริมเศรษฐกิจ  พัฒนาอาชีพ  รายได้  ส่งเสริมคุณภาพชีวิต  ฯลฯ  และสนับสนุนให้นำประสบการณ์และความรู้ต่างๆ  จากการทำงานจริงในพื้นที่  จากผู้นำชุมชน  ปราชญ์ชุมชน  นักวิชาการ  และเจ้าหน้าที่ พอช. มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพูนความรู้

โดย พอช.ได้จัดงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’  เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ที่สำนักงาน พอช.  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีผู้นำชุมชน  ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน  นักวิชาการ  ผู้แทนหน่วยงานภาคี  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน   มีสาระความรู้ที่น่าสนใจมากมายจากผู้นำชุมชน   เช่น   ‘นิรันดร์  สมพงษ์’  เกษตรกรอัจฉริยะจากปากช่อง  จ.นครราชสีมา

นิรันดร์  สมพงษ์  นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในบ้านหลายอย่าง  เช่น  เปิด-ปิดประตู  ไฟฟ้า  เครื่องเสียงด้วยรีโมทคอนโทรล

เกษตรกรไร้ที่ดิน  แต่ไม่ไร้พลัง

นิรันดร์  สมพงษ์  อายุ  44 ปี  ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่อง  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  บอกว่า  ตนเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  จ.นครราชสีมา  เมื่อ 20 ปีก่อน  หลังจากนั้นเข้าทำงานด้านธุรกิจรีสอร์ทและโรงแรมนานหลายปี  ก่อนจะลาออกมาทำการเกษตรที่อำเภอปากช่อง  แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าที่ดิน

ในช่วงรัฐบาล ‘คสช.’ (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)  ราวปี 2559  คสช. มีนโยบายทวงคืนที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศ  จากผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้อง  เช่น  นักธุรกิจ  นายทุน  อดีตบิ๊กข้าราชการ  ฯลฯ  แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน (ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ก่อน)  ที่ อ.ปากช่อง  มีที่ดิน ส.ป.ก.ที่ยึดคืน 2 แปลง  เนื้อที่รวมประมาณ  1,500  ไร่

ในปี 2560  นิรันดร์กับเกษตรกรคนอื่นๆ  รวม 85 ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนผู้ไร้ที่ดินทำกิน ได้รับจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ครอบครัวละ  6 ไร่  แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่ดินทำกิน 5 ไร่ (ในลักษณะให้เข้าทำกิน  แต่ไม่ให้เอกสารสิทธิ์เป็นรายบุคคลเพื่อป้องกันการซื้อขาย)  โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’  ครอบครัวละ 4 หมื่นบาท  และงบสาธารณูปโภคส่วนกลางอีก 2 หมื่นบาท

โครงการบ้านมั่นคง  พอช.จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วน  เจ้าของบ้านต้องร่วมสมทบเพิ่มเติม  ส่วนขนาดและแบบบ้านขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของ

ขณะที่เกษตรกรทั้ง 85 ครอบครัวได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร  เพื่อบริหารจัดการที่ดิน  วางแผนการผลิต  ส่งเสริมอาชีพ  เช่น  ปลูกผักสวนครัว  เพื่อกินและขาย  มีรายได้เป็นรายวันเพื่อนำมาจับจ่าย  มีผักบุ้ง    ผักปรัง  ผักสลัด  มะเขือเทศ  ถั่วฝักยาว  มะเขือพวง  ชะอม  พริก  ข่า  ตะไคร้  มะนาว  ฯลฯ  ปลูกผลไม้  เพื่อมีรายได้เป็นรายเดือน  เช่น  ฝรั่ง  แก้วมังกร   กล้วย  มะละกอ   ดอกไม้  เช่น  ดาวเรือง  และปลูกพืชไร่   เพื่อมีรายได้เป็นรายปี  เช่น  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ฯลฯ   เน้นการปลูกแบบอินทรีย์  ใช้ปุ๋ยหมัก  น้ำหมักชีวภาพ 

นิรัดร์บอกว่า  สภาพเดิมของที่ดินแปลงนี้เป็นไร่ปศุสัตว์มาก่อน  สภาพดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์  หลายคนท้วงว่าปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น  แต่ตนมั่นใจว่าปลูกได้   เริ่มจากการฟื้นฟูดินก่อน  ในพื้นที่ 1 ไร่  ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน  เป็นปุ๋ยที่ผลิตเอง ทำจากมูลวัว  ฟางข้าว  ใบไม้ใบหญ้า  น้ำหมักชีวภาพ  เริ่มทำเกษตรในปี 2560  ปลายปี 2561 จึงเริ่มเห็นผล

สภาพดินส่วนใหญ่เป็นหินและลูกรัง  ไม่มีแร๋ธาตุเพียงพอสำหรับพืช

แต่มีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ  แม้ว่า ส.ป.ก.จะขุดบ่อน้ำให้เกษตรกรใช้  จึงต้องใช้ระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตร  โดยวางท่อเพื่อรดน้ำแบบสปริงเกอร์และระบบน้ำหยด  แต่ต้องใช้เวลาให้น้ำประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อพื้นที่ทำกิน  5 ไร่  และมีต้นทุนสูง 

นิรันดร์บอกว่า  เขาเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์  จึงศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมวาล์วเปิด-ปิดน้ำแบบอัตโนมัติ  แต่เมื่อนำไปให้บริษัทคิดราคาเพื่อติดตั้งระบบ  บริษัทคิดราคาวาล์วละ 8,000 บาท  แต่เขาไม่มีเงิน  จึงคิดหาอุปกรณ์ที่มีขายอยู่ทั่วไปในร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาประกอบเป็น ‘เครื่องควบคุมการจ่ายน้ำด้วยโทรศัพท์มือถือ’ 

โดยใช้แอพพิลเคชั่น E-Welink และใช้เครื่อง Sonoff  ควบคุมการสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือหรือรีโมทคอนโทรล  สามารถตั้งเวลาในการเปิด-ปิดน้ำ  (สั่งการด้วยเสียงพูดได้)   โดยใช้โทรศัพท์มือถือสั่งเปิด-ปิดน้ำจากที่ไหนก็ได้ที่มีสัญญานอินเตอร์เน็ท  ไม่ต้องมาที่ไร่  เป็นการนำเอาระบบ IoT (Internet of Things) มาประยุกต์ใช้  ใช้เงินไม่เกิน 350 บาทต่อ 1 วาล์ว  ใช้ท่อน้ำพลาสติกขนาดเล็ก 4-6 หุนเพื่อประหยัดงบ  ประหยัดน้ำ  ไม่ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่  และใช้แผงโซล่าร์เซลล์มาเป็นตัวจ่ายไฟ  ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้  เริ่มทำใช้ตั้งแต่ปี 2561  

นิรันดร์กับอุปกรณ์ IoT ในช่วงแรก

ขยายความรู้ Smart  Farm  IoT

ในปี 2562  นิรันดร์ได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  หรือ  depa  เพื่อฝึกอบรมการใช้เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัพท์มือถือให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ฯ จำนวน 60 ครอบครัว  เพื่อลดต้นทุนการทำเกษตร  ประหยัด เวลาจากเดิมต้องใช้เวลารดน้ำในแปลง 3-4 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง  เหลือเพียง 15 นาทีต่อครั้ง  และใช้เงินลงทุนไม่กี่ร้อยบาท  (หากจ้างติดตั้งระบบต้องใช้เงินหลักหมื่นบาท)

นอกจากนี้นิรันดร์ได้เผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรทั่วไป  โดยจัดอบรมแบบออนไซต์  และทำคลิป VDO สอนทางออนไลน์  มีเกษตรกรนำไปใช้มากมาย  ผลจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ทำให้เขาได้รับรางวัลและใบประกาศยกย่องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง  รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรหลายรายได้ว่าจ้างให้เขาไปวางระบบการดูแลแปลงเกษตรโดยใช้โทรศัพท์มือถือควบคุม  หรือ   ‘Smart  Farm  IoT’

กราฟฟิกแสดงระบบการทำงานของ IoT ในแปลงเกษตร  (ภาพจาก ส.ป.ก.)

ปัจจุบันนิรันดร์ปรับปรุงระบบ Smart  Farm  IoT ให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น  เช่น  ใช้เซ็นเชอร์วัดความชื้นและวัดอุณหูมิในดิน  โดยเซ็นเซอร์จะประมวลผลแล้วส่งข้อมูลไปที่สมาร์ทโฟน   เกษตรกรจะดูผลว่าดินมีความชื้นมากน้อยขนาดไหน  เพื่อควบคุมปริมาณการให้น้ำให้เหมาะสม  หากมีความชื้นมาก  ปริมาณน้ำที่ให้ก็จะน้อย  เป็นการประหยัดการใช้น้ำด้วย  นอกจากนี้ยังให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ  ปุ๋ยน้ำจากมูลวัว  จุลินทรีย์บำรุงพืช  หรือจุลินทรีย์ควบคุมแมลง  ผ่านระบบ  IoT นี้ด้วย

IoT เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเกษตร  เพราะช่วยบริหารจัดการแปลงเกษตร  ลดเวลา  ลดแรงงาน  ลดต้นทุน  และดูเท่  ทันสมัย  เหมาะกับคนรุ่นใหม่  ได้ผลตอบแทนที่ดี  อย่างเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่องตอนนี้  เช้าขึ้นมา  เก็บผักชะอม  ผักสลัดไปขาย  ก็จะมีรายได้แล้ววันละ  1 พันบาท  และยังมีผัก  ผลไม้  รายเดือน  มีข้าวโพด  มันสำปะหลังเป็นพืชรายปีอีก  หากเราบริหารจัดการเงินเป็น  เก็บออม  ทำบัญชีครัวเรือน  รู้รายรับ-รายจ่าย  รู้จักตัวเอง  ไม่ฟุ้งเฟ้อ  เราก็จะอยู่ได้”  นิรันดร์ให้แง่คิด

ส่วนหนึ่งของสมาชิกสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่อง

เขาบอกด้วยว่า  ตอนนี้ที่ดิน 5 ไร่ของเขา  ปลูก ‘มันขนม’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์มันสำปะหลัง  พัฒนาปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  มีจุดเด่น  คือไม่มีเส้นใย  ไม่มีสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษ  สามารถนำมาทำขนมได้หลายอย่าง  และนำมาทำแป้งเพื่อใช้แทนแป้งสาลี  ทำขนมปังหรือทำขนมเค้กได้  ราคาดีกว่าปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์ 1 เท่า

“ตอนนี้ผมปลูกมันขนม 3 ไร่  และอีก 2 ไร่  ปลูกขนุนทองประเสริฐ  รสชาติหวาน  เนื้อหนา  ตลาดต้องการ  ราคาดี  จะเริ่มออกลูกปีหน้า  แต่ที่ผมต้องการอีกอย่าง  คือ  ลูกขนุนอ่อน  เพื่อเอาไปทำโปรตีนแทนเนื้อสัตว์  เป็นโปรตีนจากพืช  รสชาติเหมือนเนื้อไก่หรือหมู  ทางยุโรปและอเมริกากำลังต้องการ  เหมาะกับคนรักสุขภาพ  ในประเทศไทยนำเข้าโปรตีนจากขนุน  แต่มีราคาแพง  ตอนนี้มีโรงงานผลิตแล้ว  แต่ตลาดยังต้องการอีกมาก   หากเป็นไปได้ผมมีแผนจะแปรรูปเองด้วย”  

Smart Farmer  ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งบอกถึงแผนงานที่จะก้าวต่อไป...

นี่คือตัวอย่างของ ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ ที่ พอช. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  จุดประกายความคิดให้สว่างไสว  และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ !!

ผลผลิตที่ได้จาก Smart  Farmer

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  (ผู้สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก : นิรันดร์  สมพงษ์)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ผนึกพลังทุกภาคส่วนสร้างบ้านเพื่อทุกคน เสนอรัฐหนุนเสริมบ้านโดยชุมชน ปลดล๊อกสิทธิที่ดินและระบบการเงิน สู่ความยั่งยืนมั่นคง

กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”